พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ความฝันของผมและเพื่อนรุ่นพี่บางคนในอเมริกา เมื่อหลายปีมาแล้ว หนึ่งในเพื่อนเหล่านี้ เขาคือ เสวี เรืองตระกูล นักธุรกิจเจ้าของร้านอาหารไทยหลายร้าน แถบ ออเร้นจ์ เค้าน์ตี้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อผมเจอกับเสวี เขามักสาธยายความฝันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาเมืองไทยให้ฟังอยู่เสมอ
ความฝันที่เสวีมักสาธยายมักเป็นความฝันโครงการด้านการพัฒนาเมืองไทยในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และด้านการศึกษา เขาอยากเห็นนวัตกรรมเกิดขึ้นหลากหลายในเมืองไทย
ผมเห็นว่า เขาให้น้ำหนักโครงด้านการศึกษามากเป็นพิเศษ อาจเพราะส่วนหนึ่งเขาเองจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเขาไปเยือนเมืองไทยจึงเห็นช่องว่างและช่องทางในการพัฒนาหรือยกระดับการศึกษาของไทยอยู่เสมอ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเพื่อนรุ่นพี่อีกคน คือ จ้อบ ฉันทฤทธิ์ วิโรจน์ศิริ ศิษย์เก่าแคลิฟอร์เนียเหมือนกัน ต่างกันตรงที่เสวียังประกอบอาชีพของเขาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่จ้อบกลับไปอยู่เมืองไทยนานหลายปี ซึ่งผมขอเดาเหตุผลของเขาว่า ความพอใจในไลฟ์สไตล์แบบไทยๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อประมวลความคิดของจ้อบกับเสวีเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองไทยแล้ว ความคิดของทั้งคู่ไม่น่าจะต่างกันมากนัก หากมันเต็มไปด้วยเจตนาดีของผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์มาอย่างยาวนานในสหรัฐอเมริกา ทั้งการศึกษาและการดำรงชีพ
มิใช่ว่าอะไรๆ ทุกอย่างของอเมริกันจะดีไปหมด หรือมีความเป็นอเมริกันนิยม แต่ผมเชื่อว่า สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกามีระบบหลายอย่างที่ดีกว่าประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง การเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี นวัตกรรม และโดยเฉพาะด้านการศึกษา
ผม เสวี และจ้อบ เราพูดเรื่องทำนองนี้กันมานานหลายปีดีดัก ทั้งสองคนแก่ดีกรีการศึกษาและประสบการณ์กว่าผมมาก ส่วนใหญ่เราโฟกัสในประเด็นการถ่ายทอดองค์ความรู้จากอเมริกาไปสู่ไทย โดยเฉพาะความรู้ในด้านความคิด วิธีคิด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม การจัดการด้านความรู้ ซึ่งเราเห็นตัวอย่าง จากนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านของไทยบางประเทศ อย่างเช่น เวียดนาม เป็นต้น โดยที่รัฐบาลเวียดนามนั้น สนับสนุนอย่างยิ่ง ในการสร้างแรงจูงใจให้คนเวียดนามในอเมริกากลับประเทศของเขา เรียกง่ายๆ ว่า ดึงมันสมองกลับประเทศแม่ด้วยการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งปรากฏว่านโบบายดังกล่าวของรัฐบาลฮานอยประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งอย่างน่าภูมิใจ
แต่เมื่อกลับมาดูเมืองไทยปรากฏว่า แตกต่างจากของเวียดนาม ทั้งๆ ที่ เราเองมีคนไทยพลังสมองในอเมริกาจำนวนไม่น้อย และคนไทยเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ หากคนไทยเหล่านี้กลับไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆ เลยกับเมืองไทยและคนในประเทศ ในเชิงสนับสนุนหรือเอื้อต่อการพัฒนาประเทศไทยเอาเลย โดยเฉพาะบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ แม้กระทั่งคนที่กำลังจะรีไทร์ หรือรีไทร์ไปแล้ว
เมื่อหลายปีก่อน “ทีมไทยแลนด์” ซึ่งเป็นองคาพยพของหน่วยงานราชการไทยในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เคยหารือกันถึงปัญหาของประเทศและโครงการพัฒนาทำนองเดียวกันนี้ แต่จนแล้วจนรอดก็มิอาจไปรอดได้ เพราะความไม่จีรังของนโยบายของรัฐบาลที่เปลี่ยนบ่อยๆ ทำให้ทีมไทยแลนด์เหลือแค่ซากและอดีต
แนวคิดของเสวีและจ้อบมาจากปัญหาที่ว่า ทำอย่างไร knowhow หรือความรู้จากฝั่งอเมริกา จึงจะถูกถ่ายทอดไปยังฝั่งโดยต้นทุนที่ถูกที่สุด
คำตอบส่วนหนึ่งก็คือ เราต้องใช้ฐานคนไทยด้วยกันนี่แหละเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีการถ่ายโอนองค์ความรู้ นวัตกรรมต่างๆ กลับไปยังเมือง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพลังของคนไทยในอเมริกาที่รีไทร์แล้วมีมากมายเหลือเกิน แต่เราก็ไม่ทราบจะเอาพลังของพวกเขาไปใช้อย่างไร แล้วเรื่องสำคัญแบบนี้ นโยบายหรือกฎหมายที่ออกโดยรัฐไทยกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้เกิดการขับเคลื่อนการทำงานเชิงบวกได้
กฎหมายของรัฐไทยที่ว่าก็อย่างเช่นกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เป็นต้น ที่ให้ความสำคัญหรือเน้นไปที่ปัญหาด้านความมั่นคงมากกว่าด้านเศรษฐกิจหรือด้านอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนของไทยประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามดังที่ได้กล่าวมา ทำให้การเคลื่อนย้ายมันสมองคนไทยกลับจากอเมริกาไม่ประสบผลสำเร็จที่ควร หรือถึงขั้นว่า ไร้ผลสำเร็จใดๆ เลย
ในส่วนตัวนั้นผมคิดว่า เหตุที่ไม่ประสบผลสำเร็จดังกล่าวเกิดจาก การไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอ มิใช่ว่าแรงจูงใจจะหมายถึง ผลตอบแทนหรือรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงแรงจูงใจทางด้านสิ่งแวดล้อม ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตที่เมืองไทยของคนไทยเหล่านี้อีกด้วย
สรุปลงแล้วสิ่งที่ผม เสวีและจ้อบคุยกัน การพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวโน้มของยุคสมัย (trend) จะเกิดขึ้นหรือถูกขับเคลื่อนได้ก็ต่อเมื่อ คนไทยได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง นั่นทำให้เราต้องหันมามองในเรื่องการศึกษากันใหม่ ให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น โดยอาจอาศัยฐานปัญญาญาณของคนไทยหรือมิใช่คนไทยก็ตามในสหรัฐอเมริกาหรือต่างแดนประเทศอื่นๆ
ผมไม่คิดว่าถ้าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงแล้วมันจะไปไหว กิจกรรมด้านการสนับสนุนการศึกษาในประเทศไทยลาสเวกัส-จ.แพร่ (ต. เวียงต้า อ.ลอง) เมื่อประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้วด้วยความช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากเอลวิส ลาสเวกัส (ประสิทธิ์ แสงอ่อน) และหน่วยงานราชการในจังหวัดแพร่ อาทิ กรมอุทยาน สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (โดยท่านหน. อช. พินิจ คงประพันธ์) เป็นต้น จึงเป็นแค่การบรรเทาความขาดแคลนด้านศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พวกเขาในท้องถิ่นจะไม่ประสบปัญหาการศึกษาแบบเดิมๆ อีก การให้วัตถุสิ่งของที่ขาดแคลนเป็นการเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น
หากในระยะยาวคือทัศนะคติในการจัดวางระบบการศึกษาหรือการเรียนการสอน (ครู/นักเรียน)ต่างหาก ซึ่งควรน่านำรูปแบบที่พิสูจน์แล้วว่าสำเร็จในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่ม OECD เป็นต้น มาประยุกต์ใช้กับระบบการศึกษาของไทยบ้าง
ผมไม่คิดว่าการประยุกต์ระบบการศึกษาที่ว่าต้องทำกับเด็กปฐมวัยเพียงอย่างเดียวครับ หากแต่สามารถนำมาใช้กับการศึกษาของไทยในทุกระดับและแม้กระทั่งกับผู้ใหญ่ก็ตาม
เมื่อไม้ซีกงัดไม้ซุงไม่ได้ผมก็มาปรึกษากับจ้อบว่า เราน่าจะทำอะไรแบบร่วมกันทำหลายๆ คน ดีกว่าการทำอะไรคนเดียวที่มีพลังน้อย ความคิดเรื่องการตั้งองค์กรด้านการศึกษาแบบถาวรจึงเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าถ้าเสวีอยู่ด้วยในที่ประชุมเขาคงเห็นด้วย เพราะเราคิดหาทางออกเรื่องนี้กันมานานหลายปีดีดักแล้ว
“มูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ” หรือ the Education for Freedom Foundation ชื่อย่อ EFF จึงเกิดขึ้นในประเทศไทยและจะเริ่มทำงานเพื่อสังคม 4.0 นับต่อแต่นี้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของเพื่อนๆ ทุกคน ผม 1. สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยในประเทศไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา 2. สนับสนุนให้สร้างภาคีเครือข่ายด้านการศึกษา 3. สนับสนุนและบริการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษากับองค์กรการศึกษาต่างๆ 4.ระดมทุนเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศไทย 5. สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศไทย และ 6. ร่วมมือกับองค์กรการกุศลเพื่อการกุศลและองค์กรสาธารณะประโยชน์อื่นเพื่อกิจการสาธารณะประโยชน์ทั้งหลาย
หวังว่าองค์กรการกุศลที่ผมและเพื่อนๆ จัดตั้งขึ้นนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของไทยในมิติที่กว้างและลึกในระดับการเปลี่ยนแปลงและยกระดับกระบวนทัศน์ ตามเจตนารมณ์ที่ผมและเพื่อนทั้งในไทยและในอเมริกาคิดกันไว้แต่ต้น