พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ข่าวสารที่ออกจากสหรัฐอเมริกา ไม่ต่างจากข่าวสารที่มาจากประเทศต่างๆเกือบทั่วโลก คือ ถึงกันแทบทั้งหมด ยิ่งในโลกปัจจุบันที่สื่อออนไลน์พัฒนาไปมากด้วยแล้ว  โอกาสในการเข้าถึงสื่อก็แทบเท่ากันทั้งหมด ยกเว้นแต่ในบางประเทศที่กีดกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ผมจึงถือว่าคนไทยเรารับรู้ข่าวสารจากสื่อ หลากหลากหลายประเภทกันเป็นปกติเท่ากับการรับรู้ของคนอเมริกัน หรือบางครั้งคนไทยที่สนใจความ เคลื่อนไหวของโลกอยู่แล้วอาจรับรู้ข่าวสารมากกว่าคนอเมริกันที่ไม่สนใจเสียด้วยซ้ำ ซึ่งนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ ทำให้ผมคิดว่าการนำเสนอเหตุการณ์ในเชิงของการวิเคราะห์ หรือสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น น่าจะดีกว่าการเล่าข่าวแต่เพียงอย่างเดียว

ข่าวที่เป็นการรายงานสถานการณ์นั้น จัดเป็นข้อมูลชั้นปฐมภูมิ หรือข้อมูลดิบ แม้ผ่านการรีไรท์(rewrite/edit) จากบรรณาธิการข่าวมาแล้วก็ตาม  อาจไม่ได้ตรงเป๊ะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อย มันก็มีลักษณะของความเป็นรายงานอยู่ คือ ผ่านการตีความในชั้นการกรองเท่านั้น ยังไม่ถูกตีความ ในเชิงการวิเคราะห์จากผู้นำเสนอ (ซึ่งหมายถึงการใส่ความเห็นของคนวิเคราะห์ เพื่อที่จะให้เป้าประสงค์ ของการนำเสนอโดดเด่นตามที่กำหนดหรือตามที่ต้องการ)และผมเชื่อว่า การวิเคราะห์ประเด็นข่าว น่าจะสำคัญเชิงการได้ประโยชน์เพิ่มกว่าการนำเสนอด้วยวิธีการเล่าข่าวหรือรายงานเหตุการณ์ชั้นปฐมภูมิเพียงย่างเดียว

สถานการณ์บางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับความเป็นไปและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก จากกระแสความเป็นไปหรือทิศทางของนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า new world order (NWD) ซึ่งมีความหมายอย่างน้อยก็ 2  ความหมาย

ความหมายแรก คือ หมายถึงกระแสความเป็นไปของโลกโดยสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายนำหรือ เป็นฝ่ายกำหนด กับ

ความหมายที่สอง ซึ่งอยู่ในบริบทเดียวกัน คือ world government หรือรัฐบาลโลก ที่รัฐบาลอเมริกันทำหน้าที่เป็นรัฐบาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบ(order)โลก ตามแนวทาง ความเชื่อ และปรัชญาความคิดแบบอเมริกัน

มีสิ่งที่ควรทราบอย่างน้อย 2 ประการเกี่ยวกับ new world order ที่หมายถึง สหรัฐอเมริกา ประการแรก คือ new world order  มีหลายด้าน เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เป็นต้น  ที่สำคัญคือ new world order อิงอยู่กับอำนาจทางการทหารเป็นสำคัญ, ประการที่สอง คือ order ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายในเชิงการเข้าไปปฏิบัติการควบคุมหรือบังคับโดยตรงเสมอไป แต่เป็นการกำกับทางอ้อม โดยใช้อุดมการณ์เป็นเครื่องมือ เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม ทุนนิยมเสรีสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย  ซึ่งว่าไปแล้วอุดมการณ์เหล่านี้ก็ดูสมเหตุสมผลในเชิงมนุษยนิยม หรือการให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะสิทธิ เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์เนื้อหาสาระของอุดมการณ์เหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกัน พลโลกผู้สนใจระเบียบเหล่านี้ ไม่พึงเพิกเฉยใส่ใจต่อรัฐธรรมนูญอเมริกัน เพื่อความเข้าใจอุดมการณ์ร่วมกันอย่างตรงกัน

ในระเบียบอเมริกันชุดนี้ ปัจเจกชน ได้รับการเชิดชูเป็นอย่างมาก ในนามของการมีสิทธิ เสรีภาพ ที่ไม่รุกล้ำก้ำเกินสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ที่สำคัญผลพวงของระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงพื้นฐาน ของความเป็นปัจเจกภายนอกเท่านั้น หากแต่ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนลึกถึงกระบวนการด้านจิตวิญญาณ ที่เป็นกระบวนการภายในของมนุษย์ ภายใต้ “ความเชื่อความศรัทธาต่อความมีสถานะเป็นมนุษย์” ที่สำคัญระเบียบดังกล่าว ไม่ได้ถูกจำกัดแค่ใน “รัฐชาติ” เพียงอย่างเดียว หากหมายถึง “รัฐโลก”เลยทีเดียว คือ มองมนุษย์จากการเป็นพลโลก (world’s citizen)

ในกรณ๊ของเสรีภาพทางด้านความเชื่อ ความศรัทธา อย่างเช่น การประกาศตนเองเป็นรัฐมนุษยวิสัย (secular state)  โดยไม่ยอมให้ความเชื่อและ ความศรัทธาด้านศาสนามาสัมพันธ์กับอุดมการณ์ของรัฐในเชิงของคำประกาศอุดมการณ์รัฐชาติอย่างเป็นทางการ แต่ปล่อยให้เป็นเรื่องของปัจเจก จนต่อมารัฐมนุษยวิสัยดังดล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจารีตอเมริกัน ที่เน้นศูนย์กลางความเป็นมนุษย์ หรือ “สิทธิมนุษยชน”นั่นเอง จากความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานความต้องการเหมือนกัน เช่น ความรักตัวกลัวตาย ความต้องการเสรีภาพ เป็นต้น นัยยะดังกล่าว หมายถึงความเป็นสากลของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหน เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม การที่จะไปกำหนดว่าชาตินั้นเผ่าพันธุ์นี้มีหลักสิทธิมนุษยชนแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบเดียวกัน ระเบียบอเมริกันถือว่าไม่มี หากจะมีก็ไม่ใช่เป็นวิธีการคิดหรือการเชื่อที่ถูกต้อง เพราะมนุษย์มีความปรารถนา พื้นฐานเหมือนกันการปฏิบัติหรือวัตรปฏิบัติด้านศาสนาหากขัดแย้งต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ แล้วถือว่าขัดต่อระเบียบ (พื้นฐาน) ด้านสิทธิมนุษยชน

แม้จะมีผู้มองว่าการจัดระเบียบของรัฐบาลอเมริกันส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอเมริกัน เองในหลายด้าน เช่น ด้านความมั่นคงปลอดภัย ด้านเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า กระบวนการจัดระเบียบของสหรัฐอเมริกานี้มีผลให้โลกเกิดกระบวนทัศน์ใหม่หลายประการ กระบวน ทัศน์ทางด้านสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในหลายกระบวนทัศน์นั้นและที่น่าประหลาดก็คือ อุดมการณ์เสรี นิยมของอเมริกันดันไปตรงกับอุดมการณ์มาร์ซิสต์ (คอมมิวนิสต์) ที่มีเป้าประสงค์ คือ “การปลดปล่อย”เพียงแต่ต่าง ฝ่ายต่างให้นิยามของการปลดปล่อยแตกต่างกันไป อุดมการณ์มากร์ก เน้นการปลดปล่อยคนจากทุน นายทุน หรือเจ้าของกิจการ ส่วนอุดมการณ์เสรีนิยมของอเมริกัน เน้นการปลดปล่อยในเชิงความเป็นอิสระของปัจเจกที่หมายถึง การที่เราสามารถอยู่กับทุนได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจอย่างอิสระของเราเอง (แน่นอนว่าเราทุกคนถูกทุนบังคับไม่มากก็น้อยให้เดินตาม) รวมถึงการที่เราจะเชื่อหรือศรัทธาอะไรก็ตามที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น จนเกิดกระบวนทัศน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งและสหรัฐอเมริกาได้นำมาเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบโลก คือ อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่อเมริกันเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากที่สุด 

หากกล่าวให้เลยไปจากผลประโยชน์นิยมเชิงวัตถุของอเมริกันแล้ว อุดมการณ์มนุษยนิยม ของประเทศนี้ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการจัดระเบียบ, new world order เป็นระเบียบสากลที่กำหนด จากพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ (สิทธิมนุษยชน) ภายใต้ระบบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ที่แม้แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจไปยุ่งเกี่ยวกับสิทธิที่เป็นความปรารถนา (ต้องการ) พื้นฐานของมนุษย์ และความปรารถนา (ต้องการ) ดังกล่าวยังรวมถึงความปรารถนาสากลในเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธาต่อลัทธิศาสนาของปัจเจก  เพราะแน่นอนว่า มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเชื่อปรากฎอยู่ภายในของเขาไม่ความเชื่อใดก็ความเชื่อหนึ่ง แม้ในบรรดาของคนที่อ้างตนว่า ไร้ศาสนาแต่ความไร้ศาสนา แต่ยังถือเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง

นับแต่ยุคสงครามเย็น ราวปี  1947 ถึง 1991 จากคองเกรส สื่อมวลชนอเมริกัน ตลอดถึงถึงวัฒนธรรมพื้นฐานของคนอเมริกัน ทำหน้าที่โดยอัตโนมัติกดดันสังคมโลกเพื่อจัดระเบียบดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ต้องยอมถอยร่นไปให้แก่การจัดระเบียบดังกล่าว พอหมดยุคสงครามเย็นเป้าหมายของการจัดระเบียบ ได้หันมาอยู่ที่การต่อต้านรูปแบบของการเป็นรัฐชาติที่เรียกว่า “รัฐศาสนา” (religious states) พ่วงเข้าไปด้วย (หรือถึงแม้รัฐชาตินั้นๆ จะไม่ประกาศตนเป็นรัฐศาสนาอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ประเทศที่มีลักษณะของความเป็นรัฐศาสนาซ่อนอยู่ภายในนั้น อเมริกันมองว่าไม่เข้ากับระเบียบของตนเช่นเดียวกัน)

นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจแล้ว สาเหตุของการจัดระเบียบดังกล่าว ยังขึ้นกับสภาพการณ์ของ รัฐหรือประเทศนั้นๆ ด้วย โดยมีเหตุผลสำคัญก็คือรัฐบาลของประเทศนั้นขัดแย้งกับแรงปรารถนาพื้นฐานของ มนุษย์ ซึ่งนั่นก็คือ สิทธิมนุษยชนนั่นเอง โดยเหตุดังกล่าว การบุกอิรัค อาฟฆานิสถานการถล่มลิเบีย และล่าสุด คือ การโจมตีซีเรียจึงเกิดขึ้น

ถัดจากช่วงสงครามเย็น โลกมุสลิมถูกรัฐอเมริกันมองในเชิงของการขยายการใช้ระเบียบและกลายเป็นหน้าด่านของการปะทะเพื่อการขยายระเบียบโลกในปัจจุบัน

ผลพวงจากการจัดระเบียบโลกดังกล่าวยังสัมพันธ์กับการกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ใหม่ กล่าวคือ อุดมการณ์ความเป็นปัจเจกในเรื่องความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนา โดยความเชื่อด้านจิตวิญญาณ ลัทธิศาสนาที่รัฐชาติเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้รัฐชาติได้รับผลกระทบจากการจัดหรือขยายระเบียบของสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ไปด้วย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในรัฐพุทธศาสนาอย่างศรีลังกา และสหภาพพม่า ซึ่งระเบียบที่ใช้ก็คือ ระเบียบว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในแง่ความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ (เพราะมนุษย์มีสิทธิ์เชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ตนเห็นดีเห็นงาม โดยคน อื่นไม่เดือดร้อนจากความเชื่อและความศรัทธานั้น)และระเบียบว่าด้วยประชาธิปไตย

แนวโน้มของจัดระเบียบส่วนหนึ่งที่รัฐอเมริกันกำลังขยายผล คือ การจัดระเบียบด้าน ความเชื่อ ความศรัทธา ลัทธิศาสนา รวมอยู่ในนั้นด้วยในเชิงการจำกัดอำนาจรัฐหรือแยกอำนาจรัฐออกจาก การจัดการหรือการควบคุมความเชื่อ ความศรัทธาในลัทธิศาสนา  บ่มเพาะความเป็นมนุษยนิยมให้เพิ่มพูนมากขึ้น นั่นคือ มนุษยชนสากล หาไม่เช่นนั้นแล้วรัฐที่ยังดำเนินการควบคุมความเชื่อของประชาชนดังกล่าว ย่อมขัดกับ new world order  ของอเมริกันไปด้วย

ระเบียบ new world order เป็นระเบียบเสรี ไม่ได้บอกให้คน ไม่สามารถมีความเชื่อ ความศรัทธาในลัทธิศาสนาใดๆได้ แต่ระเบียบ อ้างเหตุผลว่า การใช้ความเชื่อ ความศรัทธาที่นิยามและยึดกุมโดยรัฐ กระทำการอย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นการละเมิดต่อความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ สามารถนำไปสู่ความรุนแรงและ อาชญาได้ หากรัฐไม่ปลดปล่อยพันธนาการความเชื่อ ความศรัทธา เหล่านี้ให้เป็นเรื่องของปัจเจก

ผมไม่ได้บอกว่าระเบียบนี้ผิดหรือถูกนะครับ แต่เราคนไทยน่าจะต้องหันมาพิจารณาใคร่ครวญถึงระเบียบนี้กันบ้างแล้วว่า ท้ายที่สุดแล้วจะกระทบถึงความเป็นรัฐชาติปแบบเผด็จการและแบบอนุรักษ์นิยมของไทยอย่างไรบ้าง .

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *