พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
นับเป็นยุคหนึ่งที่ระบบการศึกษาของไทยถูกวิพากษ์อย่างมาก อย่างน้อยก็ในแง่ “คุณภาพ” อันเนื่องมาจากการที่สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตออกมา ไม่เป็นไปตามเกณฑ์สากล หรือแม้แต่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการศึกษาของไทยเอง อย่างเช่น ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นต้น จนทำให้ต้องวิ่งไล่ตรวจสอบการเรียน การสอน ตลอดถึงหลักสูตรต่างๆ ของแต่ละมหาวิทยาลัยให้วุ่น
ไม่รวมถึงการขยายสาขาและเปิดหลักสูตรของสถาบันการศึกษาบางแห่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่ดำเนินการกันอย่างคึกคัก ด้วยหวังผลในแง่รายได้ที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันและบุคลากรคือตัวผู้สอน
ตอบสนองวัฒนธรรมการเห่อปริญญาบัตรแบบไทยๆ
เรื่องนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทยอยเดินทางมาดูงานการศึกษาในอเมริกาไม่ขาดสายและมีอาจารย์ซึ่งเป็บุคคลากรของมหาวิทยาลัยเองก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในอเมริกาจำนวนไม่น้อย แต่ก็น่าสนใจว่า วัฒนธรรมทางการศึกษาของไทยดูไม่คล้ายกับวัฒนธรรมทางการศึกษาของอเมริกันเอาเลย
ตามข่าวที่พบนั้น น่าสนใจว่า รัฐบาลไทยจากอดีตถึงปัจจุบันได้พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเรียนการสอนมาตลอด โดยเฉพาะวิธีการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแทนที่จะให้ผู้สอนเป็นศูนย์กลางเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
อีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งทำให้ผู้เรียนสามารถแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อความรู้หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้รับจากผู้สอน หมายถึงว่าผู้สอนเองต้องมนสิการต่อผู้เรียนในเวลาเดียวกัน ซึ่งระบบดังกล่าวนี้เป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในอเมริกาตั้งแต่มัธยมจนถึงะดับมหาวิทยาลัย
ขณะที่บรรยากาศของการศึกษาของไทยยังเต็มไปด้วยความกลัวและการแทรกแซงโดยระบบสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหรือผู้บริหารในสถาบันการศึกษา สิ่งที่ควรจะได้เห็นจากการศึกษาในขั้น อุดมศึกษา อย่างเช่น ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ กล้าวิพากษ์อย่างสมเหตุสมผล กลับไม่เป็นไปเท่าที่ควรจะเป็น
ผู้เรียนและผู้สอนต่างก็ถูกเงื่อนไขของความกลัวครอบงำ ปราศจากความกล้าหาญทางวิชาการ
การศึกษาในสถาบันการศึกษาของไทยโดยมาก จึงเป็นไปในลักษณะที่ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต่างมี ความกลัวฝังหัว ไม่กล้าแสดงออกทางความคิดที่ตัวเองคิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การนำเสนอข้อมูลทาง วิชาการบางด้านบิดเบือนไปมากก็น้อยโดยเฉพาะวิชาการสายสังคมศาสตร์ ยิ่งสถาบันการศึกษาใดอยู่ในแนวทางจารีตนิยมความกลัวในการแสดงออก เชิงการวิพากษ์และการเสนอความเห็น จนเกิดความอึมครึมในสถาบันย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น
สาเหตุของความกลัวในการแสดงความเห็นเชิงการวิพากษ์ด้วยเหตุและผลตามกระบวนการทางวิชาการ เท่าที่นักวิชาการอเมริกันนำเสนอไว้ อย่างเช่น
ผู้เรียนผู้สอนมีความรู้ไม่พอที่จะวิพากษ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เรียนและผู้สอนไม่ พยายามแสวงความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่หยุดหย่อน เพราะในโลกนี้มีความรู้เกิดใหม่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่าง รวดเร็วเสียด้วย หากสถานการณ์ของผู้เรียนผู้สอนเป็นอย่างนี้ ทั้งผู้เรียนหรือผู้สอน ย่อมจึงเกิดความกลัว ในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะการนำเสนองานวิชาการหรืองานวิจารณ์แสดงความเห็นโดยทั่วไปจึง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถเข้าถึงความจริงในประเด็นต่างๆ
ระบบอุปถัมภ์ภายในสถาบันการศึกษา เป็นระบบที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงค่อนข้างมาก หมายถึงระบบเส้นสายในสถาบันการศึกษา เครือข่ายอุปถัมภ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน (อาจารย์) หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทั้งสองฝ่ายสามารถอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นดังนี้จึงทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนไม่กล้าแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกเชิงการวิพากษ์ในแง่มุมวิชาการได้อย่างเต็มที่ เพราะความกลัวต่อระบบอุปถัมภ์ เช่น ผู้เรียนกลัวอาจารย์ผู้สอนจะกลั่นแกล้งเล่นงาน หากว่านำเสนอชุดความเห็นไม่ตรงกับความเห็นของอาจารย์ หรือแม้แต่ผู้บริหารของสถาบันการศึกษา นั่นคือหากผู้เรียนเผลอหรือตั้งใจวิจารณ์เพื่อหาความจริงด้านวิชาการที่คาบเกี่ยวกับตำแหน่งและการบริหารงานของผู้บริหารคนนั้น หรือไปวิจารณ์คุณภาพการศึกษาของสถาบันการศึกษาก็อาจซวยทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ปัญหาของผู้เรียนและผู้สอนที่โลกทัศน์แคบ ตีความ วิเคราะห์และขยายความประเด็นทางด้าน วิชาการไม่เป็นซึ่งว่ากันตามจริงแล้วข้อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ของทั้งผู้เรียนและ ผู้สอนที่มีไม่มากพอ ปัญหานี้เป็นกันมากในสถาบันการศึกษาทั่วไป หากผู้สอนมีโลกทัศน์แคบก็พลอยทำให้กรอบ การเรียนการสอนพลอยแคบไปด้วย แม้ว่าผู้เรียนจะมีประสบการณ์เชิงประจักษ์มากมายเพียงใดก็ตาม แต่ก็จะถูกจำกัดการถ่ายทอดความรู้ออกสู่สาธารณะ เช่น การนำเสนอความเห็นของผู้เรียนที่เกิดความกลัว ต่อผู้สอนเนื่องจากความเห็นจากการตีความ การวิเคราะห์หรือการขยายผลไม่ตรงกัน เพราะผู้สอนคือ ผู้ควบคุมผู้เรียน เช่น ผ่านระบบการออกเกรดหรือให้คะแนน เป็นต้น ความกลัวดังกล่าวให้ความเห็นที่ควรแสดง ต่อสาธารณะอย่างน้อยก็แสดงในห้องเรียนของผู้เรียนถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย
การที่ผู้เรียนและผู้สอนมีโลกทัศน์แคบ ทำให้การตีความประเด็นหรือเรื่องที่เรียนแคบมาก ยิ่งการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาด้วยแล้ว หากผู้เรียนหรือผู้สอนก็ตามมีประสบการณ์เชิงประจักษ์น้อย ก็จะทำให้การตีความพลอยแคบไปด้วย เราสามารถเรียกการตีความหรือการวิเคราะห์ดังกล่าวว่า เรียกการตีความแบบแบบนี้ว่า การตีความแบบสูตรคูณ เพราะอาศัยการอ้างอิงแบบสูตรคูณที่แน่นอนตายตัว คือ ดึงข้อมูลที่มีอยู่เดิม ในลักษณะของสูตรตายตัวมาใช้ โดยไม่มีการพลิกแพลงตามบริบท อย่างเช่น บริบทเวลา บริบทสถานที่ บริบทสถานการณ์ เป็นต้น ผลงานหรือการแสดงความเห็นจึงทึ่มทื่อ ไม่ทันต่อการณ์ และความรู้ที่ได้ยังอยู่ ในกรอบของความรู้ ไม่ใช่ความรู้ใหม่ ไม่กว้างและไม่รอบด้านซึ่งผู้สอนนับว่ามีบทบาทในการส่งเสริมผู้เรียน ในเรื่องนี้อยู่มาก หากผู้สอนตัดบทไม่ใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้เรียนแล้ว เท่ากับเป็นการตัดโอกาสใน การแสดงความเห็นที่หลากหลายมากขึ้นของผู้เรียนบางคน
อำนาจรัฐก่อให้เกิดความกลัวและสกัดกั้นพัฒนาการการเรียนการสอนได้มาก โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่มีไว้เล่นงานผู้ที่ชอบแสดงความเห็นเชิงวิชาการทำนองวิพากษ์รัฐ หรือแม้แต่การที่รัฐมีกฎหมายป้องกันรัฐหรือสถาบันสำคัญของรัฐ ทำให้การแสดงความเห็นทางวิชาการ ไม่อาจเป็นไปอย่างเต็มที่เพราะลึกๆแล้ว ผู้ที่แสดงความเห็นที่คาบเกี่ยวกับรัฐและสถาบันย่อมมีอาการประหวั่นเกรงกลัวอำนาจ(กฎหมาย) ที่รัฐมีอยู่ในมือและพร้อมที่จะใช้เล่นงานทั้งผู้เรียนและผู้สอนในสถาบันการ ศึกษาที่แสดงความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐ
ความสุกเอาเผากินผู้เรียนที่หวังแค่ใบปริญญา ไม่ได้หวังความรู้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริงรวมถึงการใช้เงินทุนปูทางไปสู่วุฒิทางการศึกษา เช่น การบริจาคให้กับสถาบันการศึกษาหรือบริจาคให้กับอาจารย์ผู้สอนในกิจกรรมต่างๆทำให้การแสดงความเห็นทาง วิชาการ หรือการแสดงความคิดเห็นเชิงเหตุและผล ไม่สามารถเป็นไปอย่างเสรีหรือเต็มที่ได้ เพราะผู้เรียนไม่ ได้ตั้งความหวังเรื่องความรู้มากนัก ขณะที่การบริจาคเงินก็มักปิดปากผู้สอนและผู้บริหารให้เงียบสนิท อย่างน้อยผู้สอนและผู้บริหารก็ไม่กล้าวิพากษ์ผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมา เกิดการเกรงใจกัน ท้ายที่สุดความมืดทึบทางวิชาการก็ยังคงอยู่ในห้องเรียนหรือในสถาบันการศึกษาเหมือนเดิม
นอกจากนี้ ยังมีความกลัวความผิดต่อจารีต หรือความกลัวต่อการผิดต่อประเพณีของสถาบันการศึกษาและสถาบันสังคมที่หมายถึงผู้เรียนหรือผู้สอน ไม่กล้าแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เพราะเหตุของความกลัวต่อจารีต ประเพณีของสถาบันการศึกษา บางสถาบันการศึกษาของไทยถึงกับอาศัยพิธีกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงความสนใจผู้เรียนและ บุคลากรของสถาบัน แต่เป็นการสร้างความสนใจที่ผิด เพราะพิธีกรรมหากมีมาก ก็ย่อมลดความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ลง
พิธีกรรมได้กลายเป็นเครื่องถ่วงความก้าวหน้าเชิงวิชาการแบบที่เป็นเหตุเป็นผล รวมทั้งได้สร้างความหวาดกลัวแบบใหม่ให้เกิดขึ้น คือ ผู้เรียนหวาดกลัวว่าพิธีกรรมจะกลายเป็นเครื่องบีบบังคับ ให้ผู้เรียนและผู้สอนต้องใช้เวลามาซูฮกต่อพิธีกรรมดังกล่าวมากขึ้น ขณะที่หน้าที่ของผู้เรียนผู้สอน คือ งานความรู้และแสวงหานวัตกรรมความรู้
พิธีกรรมของสถาบันการศึกษาบางแห่งทำให้ผู้เรียนเสียเวลา และเกิดความกลัวในฐานะของการสร้างให้พิธีกรรมและจารีตครอบงำทั้งผู้เรียนและผู้สอน จนเกิดความหวาดในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น
ความหวาดกลัวในสถาบันการศึกษาจะยังคงมีอยู่ ตราบเท่ากลไกเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไม่ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อนั้นความหวาดระแวงกันและกันในสถาบันการศึกษาและหวาด ระแวงต่อบุคคลและสถาบันภายนอกก็ยังคงแก้ไม่หาย สังคมไทยก็คงพูดแสดงความเห็นอะไรแบบตรงๆ ไม่ได้เหมือนเดิม เพราะดีไม่ดีก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวผู้พูดวิจารณ์นั้นเองหลายคนจึงหันมาวิธีการใช้เล่ห์เหลี่ยมเช่นการวางเฉยต่อปัญหาวางเฉยต่อประเด็นความรู้ ทำสถานการณ์ด้านวิชาการตกต่ำ
ทั้งหมดนี้ประมวลมาจากความเห็นของอาจารย์ของ USC ท่านหนึ่งที่รู้จักกันครับ ท่านยังย้ำด้วยว่า “ศิษย์ต้องมีอะไรใหม่มากกว่าอาจารย์เสมอ แม้สิ่งใหม่นี้จะขัดกับกับคำสอนของอาจารย์”