พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ข่าวใหญ่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเมื่อไม่นานมานี้ คือ ข่าวที่คณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่ว โลกของยูเอ็น (UN) เสนอให้ลดเกรดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของไทย จากระดับ A เป็นระดับ B โดยระบุสาเหตุกระบวนการคัดเลือกขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีการประชาสัมพันธ์การรับสมัคร ฯลฯ โดยให้เวลา 1 ปีหาเอกสารหลักฐานยืนยันปฏิบัติตามหลักการปารีส ก่อนที่อาจจะตัดสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในฐานะสมาชิก

สำหรับผม ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกครับ เพราะคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นแล้วจากปัญหาการปล่อยปละละเลยต่อประเด็นสิทฺธิมนุษยชนมายาวนาน อย่างเป็นรูปธรรม คือเห็นชัดเจน จนเราไม่รู้ว่ามันคืออะไร สังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ ในระบบการศึกษาของไทยตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัยไม่มีหลักสูตรหรือแผนการศึกษาในเรื่องนี้

ที่น่าขำไปกว่านั้นก็คือ หลักสูตรสันติศึกษาของไทย ไม่ว่าของสถาบันการศึกษาไหน ไม่มีการใส่เนื้อหาเรื่องสิทธิมนุษยชนเอาบรรจุไว้เลยด้วยซ้ำ ทั้งที่ควรเป็นเนื้อหาหลักในหลักสูตรประเภทนี้ แต่เราไพล่ไปกำหนดเนื้อหาอื่นๆ สำหรับศึกษากันมากกว่า อย่างเช่น หลักคำสอนทางด้านศาสนา โดยมุ่งไปที่ความเป็น “รัฐศาสนา”เป็นประการสำคัญ คือ การพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐชาติควรนำศีลธรรมทางศาสนาไปบังคับใช้กับประชาชนอย่างไร ซึ่งเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน อันเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

ทั้งดูเหมือนหลักสูตรดังกล่าวจะเน้นการศึกษาบุคคลต้นแบบคนต่างๆ เช่น คานธี แมนเดลา พุทธทาสภิกขุ แต่แล้วก็กลายเป็นการนำความคิดแบบอนุรักษ์นิยมไปครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง แทนที่จะปลดปล่อยมนุษย์เพื่อให้มีเสรีภาพ เพื่อให้ความเป็นมนุษย์ได้สำแดงศักยภาพอย่างเต็มที่ทั้งกายและใจ

และแน่นอนเรื่องดังกล่าวนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วที่กสม.ของไทย ไม่เคยให้ความสำคัญเลย จนเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง กสม.ก็ไม่ได้ลงไปแก้ไขหรือแม้แต่การแสดงจุดยืนที่ถูกต้อง จนกล่าวได้ว่าความคิดของของกสม.แต่ละท่านอุดมไปด้วยความคิดแบบอำนาจนิยมเสียเป็นส่วนมาก สาเหตุอาจมาจากหลายเรื่อง เช่น กสม. เองมาจากชนบุคคลที่เป็นกลุ่มชั้นกลางในเมือง เช่น ข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการถูกละเมิดสิทธิ์มาเลยทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ไม่ได้มีที่มายึดโยงกับประชาชนอะไรเลย หากแต่เป็นกลุ่มบุคคลที่ลอยอยู่เหนือความขัดแย้งต่างๆ ไม่รู้สึกร้อนหนาวแทนประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ์แต่อย่างใด

ในสหรัฐอเมริกา รัฐให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก มีการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่การศึกษาขั้นต้นๆ เช่น กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถม ขณะที่ในแง่การปฏิบัติเองถึงกับมีหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในองค์กรการปกครองระดับท้องถิ่น เช่น ซิตี้ เค้าน์ตี้ เป็นต้น และในระดับรัฐบาลกลางหรือในระดับประเทศ

จึงทำให้เราเห็นว่า คนอเมริกันถือหลักสิทธิมนุษยนชนเป็นเรื่องสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ทั้งโดยตัวกฎหมายสูงสุด คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญและระบบวัฒนธรรมของพวกเขาเอง

ความจริงบุคคลที่เป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงมาจากสหรัฐอเมริกา จึงน่าจะเป็นเหตุทำให้น่าเชื่อได้ว่า ไม่มากก็น้อย ย่อมต้องได้รับการซึมซับ เรื่องราวเชิงความรู้และเชิงวัฒนธรรม ความคิดและค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนของอเมริกันมาก่อนอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องราวพวกนี้ เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่พึงมีพึงได้ ในฐานะของการเกิดมาเป็นมนุษย์ จึงเป็นเรื่องสากล  กล่าวคือ เป็นเหมือนกันหมดทั่วโลก

เมืองไทยเองตระหนักอยู่บ้างถึงความเป็นสากลดังกล่าว จนเกิดเป็นกสม. มาตั้งแต่ปี 2544 พร้อมกับข้อกำหนดเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้  ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนครั้งใหญ่ เมษายนและพฤษภาคม 2553 คนไทยหลายคน คงไม่มีใครรู้ว่า คณะกรรมการสิทธิฯในเมืองไทยนั้นมีอยู่  รวมถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการฯว่ามีอย่างไรบ้าง

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ที่ผ่านมา ทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทั้งในและต่างประเทศมีคำถามมากมายต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการองค์กรอิสระแห่งชาติที่พิลึกพิลั่นชุดนี้

เหมือนกับที่ประชาชนทั่วไปหรือองค์กรภาคประชาชนที่เดือดร้อนเกี่ยวกับการถูกเบียดเบียนเรื่องสิทธิ์ ไม่ทราบว่าพวกเขาสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิฯได้

หน้าที่บางประการของคณะกรรมการสิทธิฯ เช่น ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือการกระทำอันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็น ภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการ กระทำดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการ รวมถึงหน้าที่เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ดังนี้เป็นต้น

ที่ผ่านมา ไม่ใช่กสม.ไทยไม่ทำหน้าที่ครับ แต่กสม.ไทยเลือกปฏิบัติในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากรัฐเป็นฝ่ายกระทำต่อประชาชน กสม.กลับไม่กล้าส่งเสียง คือเงียบราวเป่าสาก

นอกเหนือไปจากการสลายการชุมนุมในกรุงเทพจนเห็นเหตุให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากซึ่งเห็นชัดเจนประการหนึ่งแล้ว ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ในเมืองไทยมีหลายรูปแบบ ที่มองไม่ค่อยเห็นกัน แต่มีอยู่ และคณะกรรมการสิทธิฯไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้เกิด“ความอยุติธรรม”ขึ้นในสังคมไทยเสมอมา กล่าวคือมีให้เห็นอยู่ตลอด

ตัวอย่างเช่น การรับสมัครคนเข้าทำงานในเมืองไทย โดยแบ่งแยกและถือเกณฑ์ตาม “เพศและอายุ” พฤติกรรมดังกล่าวกฎหมายสิทธิ์ฯ ไม่เคยคุ้มครอง คือเข้าไปคุ้มครองไม่ถึง อาจไม่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วเป็นประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในแง่เศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยซ้ำ

ข้อจำกัดเรื่อง“เพศและวัย” ที่ถูกละเมิดในแง่ของการทำงานที่เห็นมากที่สุดในเมืองไทย ได้แก่ การที่ผู้มีอายุเกิน 35 หรือ 40 ปีขึ้นไป ถูกปฏิเสธรับเข้าทำงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตามนัยของสิทธิมนุษยชน คือการแบ่งแยกหรือ discrimination อีกอย่างที่มีการละเมิดจนเป็นเรื่องธรรมดาและกลายเป็นความ “อยุติธรรม”ธรรมดาๆ อย่างหนึ่งในสังคมไทย

สำหรับในอเมริกาแล้วเรื่องสิทธิดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ นักศึกษาอเมริกันจำนวนมาก ในหลากหลายสาชาวิชา กว่าจะเรียนจบระดับปริญญาตรี หรือหลักสูตรต่างๆ อายุก็ปาไปค่อนครึ่งชีวิต เพราะพวกเขาต้องทำงานส่งเสียตัวเอง อย่างเช่น มีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งเรียนจบเอาตอนที่เขามีอายุ เลย 45 ปี แล้ว รวมทั้งอเมริกันอีกหลายคน ที่อาศัยความพยายามอย่างไม่ย่อท้อ “วัย” จึงไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงาน ตราบเท่าที่ร่างกาย และจิตใจของพวกเขายังสามารถทำงานตามลักษณะของงานได้ที่กำหนดให้ทำได้ ซึ่งนี่ก็คือตัวอย่างเรื่องความเท่าเทียมกันเรื่องวัย ที่ให้ภาพที่แตกต่างไปจากเมืองไทยอย่างชัดเจน

คณะกรรมการสิทธิฯ ของไทยอาจไม่ได้เคยได้ทราบถึงเรื่องราวปลีกย่อยลึกซึ้งในเรื่องสิทธิพลเมืองหรือสิทธิมนุษย์ทำนองนี้ เพราะในประเทศไทยยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิขั้นหยาบทางกายอยู่มาก เช่น การล้อมปราบประชาชนโดยกองกำลังของรัฐในอดีตที่ผ่านมา หรือแม้แต่การจองจำจากเหตุความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่าง รวมถึงการเรียกปรับทัศนคติที่มีให้เห็นบ่อยครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *