พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

 การต่อต้านการคอร์รัปชั่น ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่มีอยู่ทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศด้อยพัฒนา กำลังพัฒนา หรือประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีระบบการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น ส่วนหนึ่งถูกตราเป็นกฎหมายเพื่อใช้ป้องกันและปราบปราม รวมถึงกำหนดบทลงโทษสำหรับ ผู้ที่กระทำความผิดที่มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไปแล้วแต่กรณี

ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังคงมีปัญหาการคอรัปชั่นเช่นเดียวกันกับประเทศทั้งหลายโดยทั่วไป ทั้งการคอร์รัปชั่นในประเทศนี้เป็นการกระทำที่แนบเนียนมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป จนกระทั่งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นระหว่างประเทศชื่อ “Transparency International” (T.I.) ได้ออกมาระบุว่า แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่ามีการคอร์รัปชั่นอยู่ในอันดับกลางๆ ของโลก ด้วยคะแนนในปี 2013 อยู่ที่ 73   ใกล้เคียงกับอันดับในปี 2012 ที่เรียงตามลำดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากไปหาน้อย อเมริกาอยู่ในลำดับ 24  ซึ่จากสถิติแล้วดีขึ้นกว่าปี 2000  ที่สหรัฐฯอยู่ในลำดับ 14 และในปี 2012 อยู่ลำดับที่ 19  จาก 177 ประเทศ โดยแคนาดา เยอรมันนี อังกฤษและญี่ปุ่น มีพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นดีที่สุด

องค์กรต้านคอร์รัปชั่น  Transparency International ยังวิจารณ์รัฐบาลและหน่วยงานอเมริกันว่า ยังมีความหละหลวมในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่นที่เกิดจาก โครงการที่รัฐบาลทำสัญญากับเอกชน (government contracting) เป็นจำนวนมาก แม้ว่าทางการอเมริกัน จะได้พยายามแก้ปัญหานี้จนดีขึ้นก็ตาม แต่จนถึงเวลานี้ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ให้เห็นแทบทุกรัฐ รวมถึงเกิดขึ้นในหน่วยงานกลางของรัฐบาลอเมริกันทั้งหลาย

จากสถิติของ T.I. ในปี 2013 ประเทศที่ได้ชื่อว่า คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด ได้แก่ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีคะแนนอยู่ที่ 91 (จากคะแนนเต็ม 100) ส่วนประเทศที่คอร์รัปชั่นมากที่สุด ได้แก่ อาฟฆานิสถาน  เกาหลีเหนือและโซมาเลีย โดยได้แค่ 8 คะแนนเท่านั้น ขณะที่รัสเซียได้ 28 คะแนน ส่วนจีนได้ 40 คะแนน เท่ากับกรีซ ที่อยู่ในลำดับที่ 80 จากบรรดาประเทศทั้งหมดทั่วโลก โดยเฉพาะกรีซหลังจากที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินขึ้นก็ได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในบรรดาชาติทั้งหมดในสหภาพยุโรป(E.U.)

สองในสามของ 177 ประเทศ ได้ชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นในระดับสูงจนเรียกว่า  ไม่สามารถยอมรับได้ โดยมีสาเหตุมาจากการใช้อำนาจเผด็จการของรัฐบาล(abuse of power) หรือผู้นำรัฐ การทำธุรกิจทั้งของ เอกชนและรัฐบาลอย่างลับๆ (secret dealings) รวมถึงการฉ้อฉล(bribery) ต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นประเทศเผด็จการ บริหารจัดการเพียงคนกลุ่มเดียวหรือเพียงไม่กี่กลุ่มในประเทศรวมถึงพรรคการเมืองที่เข้าไปบริหารกิจการประเทศ โดยเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและเครือข่าย

การให้คะแนนคอร์รัปชั่นกับประเทศต่างๆนั้น พิจารณาจากข้อมูลของ หน่วยงานทางด้าน เศรษฐกิจ ธนาคารโลก และเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก โดยเรียงลำดับคะแนนจากคะแนน 0 คือ แย่ที่สุด ไปหาคะแนน 100 คือ ดีที่สุด หากประเทศใดได้คะแนนนต่ำกว่า 50 คะแนนถือว่า เป็นประเทศที่มีการโกงหรือคอร์รัปชั่น มากกว่าการไม่โกงหรือพฤติกรรมสุจริต เรียกว่าเป็นประเทศที่แย่มาก

ประเทศในกลุ่ม E.U. ที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 ได้แก่ อิตาลี กรีซ โรแมเนีย สโลวาเกียและ สาธารณรัฐเช็ค ส่วนประเทศที่มีพัฒนาการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นดีขึ้นในปีนี้ ได้แก่ พม่า บรูไน เลโซโธ เซเนกัล เนปาล เอสโตเนียและลัตเวีย

ประเทศที่การปัญหาการคอร์รัปชั่นย่ำแย่กว่าปีก่อนๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย สโลเวนีย ไอร์แลนด์สเปน แกมเบีย กีเนีย-บิสซัว ลิเบีย มาลี อีริเทรีย  มัวริเทียส เยเมน กัวเตมาลา มาดากัสการ์ และสาธารณรัฐคองโก

T.I. ตั้งข้อสังเกตว่า ในบรรดาประเทศต่างๆนั้น การคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่เชื่อมโยงหรือเกิดขึ้นในภาครัฐมากกว่าการคอร์รัปชั่นในภาคอื่นๆ กล่าวคือ ในส่วนของภาคเอกชนมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า จากรูปแบบดังกล่าวจะส่งผลที่เลวร้ายต่อความยากจนของประชากรในประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ของประเทศและของโลก รวมถึงปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่จะตาม ซึ่งโดยรวมแล้ว แม้มีนัการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รับชั่นก็จริง แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนแล้วการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในหน่วยของรัฐ (ราชการ) มากกว่า เหตุผลก็คือ หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนถูกตรวจสอบจากประชาชนน้อยกว่านักการเมือง ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกตรวจสอบได้ง่ายกว่า

ถึงแม้ว่าแทบทุกประเทศจะมีการรณรงค์ในเรื่องการต้านคอร์รัปชั่น แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องค้ำประกัน ถึงการแก้ไขปัญหานี้แต่อย่างใด   เนื่องจากปัญหาการคอร์รัปชั่นได้หยั่งรากลึกในเชิงวัฒนธรรมเสียแล้ว ซึ่งหมายถึงว่าการคอร์รัปชั่นได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมวัฒนธรรมเชิงปัจเจก อีกนัยหนึ่งคือ คนในประเทศนั้นๆ มีวัฒนธรรมฉ้อฉลอยู่ในสายเลือดอยู่ก่อนแล้ว

ทั้งนี้หากปราศจาคความร่วมมือของประชาชนโดยทั่วไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมนิยมคอร์รัปชั่นของพวกเขา การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นย่อมเป็นไปได้โดยยาก เช่น การนิยมให้สินบนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการต่างๆ การพยายามเลี่ยงภาษีรายได้นิติบุคคล เป็นต้น

จากการเสนอรายงานของ T.I.ข้อสังเกตที่เห็นคือ การคอร์รัปชั่นใน ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่ม E.U. การคอร์รัปชั่น มักเป็นไปในกรณี อย่างเช่น การฟอกเงิน และการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ที่มีความลึกลับซับซ้อน และมีขนาดความใหญ่ “ของกรณีคอร์รัปชั่น” (Corruption case) กว่า การคอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย

การคอร์รัปชั่นในสหรัฐฯ ยังเชื่อมโยงไปถึงแก๊งค์อาชญากรรม และยาเสพติด  ที่สัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานด้านกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่คอร์รัปชั่นในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา มีการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ ทั้งในส่วนของการฟอกเงิน การทำสัญญาระหว่างรัฐกับบริษัทเอกชน การเลี่ยงภาษี การจ่ายเงินใต้โต๊ะให้ กับเจ้าหน้าที่รัฐ ชนิดที่ผู้จ่ายก็สมยอมที่จะจ่าย เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ อย่างเช่น การขอใบอนุญาตประเภทต่างๆ  หรือแม้กระทั่งการอำนวยความสะดวกในเรื่องเวลา การลัดคิว ก็ถือเป็นการคอร์รัปชั่นอย่างหนึ่ง ที่หลายประเทศในแถบเอเชียนิยมทำกันอย่างเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ

จากสิถติในปี 2012 T.I. ให้ไทยอยู่ในลำดับประเทศคอร์รัปชั่นที่ 88  จาก 176  ประเทศ โดยไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 34  คะแนน (2011) เป็น 37  คะแนนในปี2012  จากการวิเคราะห์ส่วนหนึ่งของสื่อต่างประเทศ สาเหตุของปัญหาการคอร์รัปชั่นของไทยมาจากระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นกันในระบบเส้นสาย หรือ “เด็กเส้น” โดยคำหลังนี้ เป็นที่รู้จักของคนอเมริกันจำนวนไม่น้อย ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากระบบอุปถัมภ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า “คอร์รัปชั่นในสายเลือด”

ขณะเดียวกันบางชาติได้พยามยามแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นอย่างหนัก อย่างเช่น จีน ที่มีการบัญญัติบทลงโทษอย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต  เพื่อให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกิดความกลัว ความเข้มงวดของทางการจีนดังกล่าวส่งผลให้การคอร์รัปชั่นในประเทศเดียวกันนี้ลดลง ถึงแม้จะลดลงไม่มากก็ตาม โดยทางการของจีนได้พยายามสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้เกิดร่วมในเวลาเดียวกันด้วย เพราะการสร้างจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค่อยๆเปลี่ยน วัฒธรรมใต้โต๊ะเป็นวัฒนธรรมบนโต๊ะแทน

นอกจากนี้ในเวทีสากลหลายที่ได้พูดถึงการคอร์รัปชั่นอำนาจโดยวิธีการรัฐประหาร หรือการยึดอำนาจไปจากประชาชนโดยกองทัพหรือคณะนายทหาร ซึ่งประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายยังนิยมกระทำอยู่ แม้กว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม

ย้อนกลับมาดูปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย หากในเมื่อประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่นิยมและอยู่ในกระแสต้านคอร์รัปชั่นหันอยู่ในขณะนี้ (ดูจากการรณรงค์ ต่อต้านนักการเมือง) สิ่งที่คนไทยต้องทำก็คือ ควรมีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกของตนเอง (ประชาชนไทย) เชิงปัจเจกหรือเชิงจิตสำนึกของแต่ละคนด้วย  เพราะลักษณะของปัจเจกชนเป็นฐานสำคัญของการยุติปัญหาคอร์รัปชั่น แทนที่จะไปเรียกร้องต่อนักการเมือง หรือคนอื่นๆ หรือหน่วยงานอื่นๆ หากควรเรียกร้อง (รณรงค์/แคมเปญ) ให้ประชาชนทั่วประเทศเกิดจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยควบคู่กันไปด้วย เพราะหากตีไปที่นักการเมืองอย่างเดียวก็อาจเป็นเหมือนเอาค้อนไปไล่ตียุง กล่าวคือทำให้ระบอบตัวแทนอำนาจอธิปไตยต้องพลอยเสียหายไปด้วยทั้งที่พฤติกรรมคอร์รัปชั่นปรากฏอยู่ทั่วไปทุกวงการ เช่น วงการยุติธรรมหรือวงการการศึกษา (เช่น บุคคลากรของมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นต้น)

ทั้งนี้ เพราะปัญหาการคอร์รัปชั่นมาจากการสมยอมและการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายประชาชน (ที่กลายเป็นวัฒนธรรม) ทั้งน่าเสียดายว่า บทบาทของสื่อมวลชนไทยและองค์กรรัฐ/เอกชนที่การรณรงค์เรื่องนี้ กลับไปให้ความสำคัญหรือพุ่งเป้าไปยังรัฐบาลและรัฐสภา (นักการเมือง) มากกว่าการปลูกจิตสำนึกให้เกิดกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป

หน่วยงานต้านคอรัปชั่นของไทยทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคณะทำงานอิสระ และภาคเอกชน(NGOs) ยังคงพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานและบุคคลสาธารณะในแวดวงการเมือง (นักการเมือง) ปลุกกระแสให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยที้เป็นตัวแทนเสียงส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เช่น วาทกรรมที่ว่า “นักการเมืองนั้นเข้ามาโกงกินเป็นส่วนใหญ่ ควรหันไปใช้ “ระบอบคนดี”เป็นผู้ปกครองมากกว่า เพราะ “คนดี” ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีการคอร์รัปชั่น”

ระบอบคนดี ซึ่งเป็นระบอบเสียงข้างน้อยปกครองประเทศเชื่อมโยงกับเครือข่ายอุปถัมภ์ชั้นบน (อภิชน) ระบบดังกล่าวถูกอ้างถึงอย่างมากในวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ที่มักอ้างเหตุผลของการชุมนุมประท้วงอย่างหนึ่งว่า เป็นเพราะรัฐบาลปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น  ซึ่งส่วนใหญ่พุ่งเป้าโจมตีไปที่นักการเมืองและเครือข่ายผลประโยชน์ของนักการเมือง

ขณะที่ลักษณะการคอร์รัปชั่นเชิงวัฒนธรรมปัจเจกประจำวัน อย่างเช่น  การเลี่ยงภาษี การยัดเงินใส่มือตำรวจเวลาตำรวจจะให้ตั๋วจราจร การตัดแปลงบัญชีกิจการร้านค้า การจ่ายใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่เพื่อความคล่องตัวฯ แป๊ะเจี๊ยะค่าเข้าโรงเรียน การจ่ายสัสดีเพื่อเลี่ยงเกณฑ์ทหาร แม้แต่การลัดคิวในสถานที่ราชการ ฯลฯ ยังดำเนินไปตามปกติเช่นเดิม.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *