พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการกันในเมืองไทยเวลานี้ มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ หนึ่งในหลายประเด็นดังกล่าว คือ การกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่ง กรธ.มีแนวโน้มจะกำหนดให้เป็นลักษณะของสว.สรรหาจากตัวแทนของสาขาอาชีพต่างๆ

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ไทยดังกล่าว มีการถกเถียงกันมานมนาน แต่เผอิญภายหลังเหตุการณ์เม.ย.และพ.ค. 2553 กระแสประชาธิปไตยในเมืองไทยเบ่งบานท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่สิ้นสุด ความเห็นต่อที่มาของ สว.ไทยจึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมาเช่นกัน ซึ่งว่าไปแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวนี้ก็มีน้ำหนักอยู่มากทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบถึงที่มาของสว.ของประเทศที่ได้ชื่อว่า “เป็นประชาธิปไตยสากล” โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

เหตุที่ต้องบอกว่า เป็นประชาธิปไตยสากล ก็เพราะมีบางกลุ่มคนในฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย ชอบใช้ คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”   ซึ่งหมายความว่าอย่างไรก็ไม่ทราบได้ จนต่อมาเกิดมีวาทกรรม “แบบไทยๆ” ตามมามากมาย เช่น สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ รูปแบบของเศรษฐกิจแบบไทยๆ เป็นต้น ทั้งที่วาทกรรมเหล่านี้สมควรเป็นของสากล คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจ ฯลฯ ที่เป็นระบบเดียวกัน โดยการถือเอาลักษณะและคุณค่าและลักษณะความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้ง กล่าวคือสำหรับมนุษย์นั้น ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ตามในโลกล้วนมีความต้องการแบบเดียวกัน เช่น ความต้องการในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเสมอภาคเหมือนกัน ลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ดังกล่าวนี้จึงได้ชื่อว่า “เป็นลักษณะสากล”

หากกล่าวในเชิงเปรียบเทียบถึงหลักการ ที่มาและหน้าที่ของสว. (Senator) ของอเมริกันแบบง่ายๆ เพื่อให้ภาพของความเป็นสากลของมนุษย์ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในเชิงกระบวนทัศน์ (paradigm)ประชาธิปไตยนั้น จะเห็นได้ว่า กระบวนทัศน์หรือมุมมองความเป็นมนุษย์แบบไทยมีลักษณะแตกต่างจากกระบวนทัศน์สากล เพราะกระบวนทัศน์แบบไทยแสดงให้เห็นถึงการมีอัตลักษณ์รูปแบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ  (ตามที่ชอบอ้างกัน) ซึ่งก็ยังไม่ทราบจะไปหาแหล่งอ้างอิงจากที่ไหน เพราะแม้จะไปหาจากประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์ไทยก็ดูคลุมเครือในเรื่องประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ไม่เคยมีใคร หน่วยงานไหนชำระสะสางประวัติศาตร์ไทยในเรื่องนี้ให้ชัดเจน (เคลียร์) เสียที

หลักการแห่งหน้าที่ของซีเนต (Senate)หรือที่มักเรียกกันอีกชื่อว่า สภาสูง  ของอเมริกันก็คือ การที่สมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนในแต่ละรัฐเหล่านั้น คอยเป็นมือ เป็นหูตา ดูแลกลั่นกรองงานของทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายสส. (House of representative) งานของฝ่ายรัฐบาล หรือแม้แต่งานด้านตุลาการ เพื่อให้กระบวนการทำงานรอบคอบรัดกุมมากยิ่งขึ้น

อำนาจหน้าที่ของซีเนต อย่างเช่น  ซีเนตมีอำนาจในการรับรองการยอมรับหรือปฏิเสธตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายบริหารที่ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อ และตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ, อำนาจออกเสียงรับรองการ ยอมรับหรือปฏิเสธการทำสนธิสัญญา ข้อตกระหว่างประเทศ, อำนาจในการตัดสินสมาชิกที่ได้รับการเลือก ตั้งเข้ามานั้นว่ามีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ , อำนาจตัดสินคดีการถอดถอนฝ่ายบริหารออกจากตำแหน่งตามที่ หรือหากฝ่ายสส.เสนอมา , อำนาจในการเลือกตำแหน่งรองประธานาธิบดีในกรณีที่ไม่สามารถเลือกได้จากการเลือกตั้ง เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถสมัครเป็นซีเนเตอร์อย่างเช่น ผู้สมัครเป็นซีเนเตอร์ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี, ผู้สมัครไม่จำเป็น ต้องเป็นบุคคลที่เกิดในอเมริกา เพียงแต่จะต้องเป็นพลเมืองอเมริกัน ถือสัญชาติอเมริกันไม่น้อยกว่า 9 ปี, ผู้สมัครต้องมีภูมิลำเนาในเขตที่ตนรับสมัครเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้ง 90 วัน , ผู้สมัครต้องไม่เป็นข้าราชการ สังกัดหน่วยงานใด

วาระการดำรงตำแหน่งของสว.อเมริกันมีระยะเวลา 6 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งสว. หนึ่งในสามของสมาชิกทั้งหมดทุก 2 ปี ส่วนการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งโดยตรง (popular vote) ประชาชนออกไปโหวตเหมือนกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยสว.เป็นตัวแทนมลรัฐๆ ละ 2 คน ทั้งหมด 50 รัฐ เท่ากับอเมริกามีสว.ทั้งหมด 100 คน

ทำให้เห็นว่าหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นนักการเมืองอเมริกัน คือ การยึดโยงกับอำนาจของประชาชนไม่ว่าเป็นการยึดโยงโดยตรงหรือโดยอ้อม ซีเนตจึงเป็นสภาของการตรวจสอบทุกอำนาจในชั้นที่สอง ดังอำนาจในการรับรอง อย่างเช่น รับรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รับรองผู้พิพากษาศาลกลาง รับรองเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารส่วนกลาง เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่การทูตระดับสูง เป็นต้น นอกเหนือ ไปจากอำนาจหน้าที่ในการเสนอกฎหมายที่เห็นว่าสมควรได้รับการนำเสนอ เพียงแต่กระบวนผ่านกฎหมาย นั้นอาจต้องไปถึงสภาล่างหรือสภาสส. (คองเกรส) เท่านั้น สภาซีเนตจึงเหมือนสภาพี่เลี้ยงคอยดูแลงานครอบจักรวาลทั้ง 3 ฝ่าย คือ นิติบัญญัติ  บริหารและตุลาการ โดยที่ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายตุลาการในอเมริการนั้น ก็มาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งตามกลไกการเลือกตั้งทางตรงและทางอ้อม

ในระดับท้องถิ่นผู้พิพากษาในอเมริกามาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ในส่วนกลาง ประธานศาลสูงสุด (Chief Justice of the United States) มาจากการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี และให้การรับรองโดยซีเนต

นัยยะดังกล่าวสะท้อนถึงคำกล่าวที่ว่า “สว.ต้องมีความเป็นกลาง”ว่า แท้จริงแล้วผู้กล่าวข้อความดังกล่าวไม่เข้าใจการเมืองภายใต้กระบวนการประชาธิปไตยสากล เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีนักการเมืองคนใดมีความเป็นกลางจริง กล่าวคือเป็นวาทกรรมดัดจริต เพื่อความสวยงามทางคำพูดมากกว่า หาใช่วาทกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะยิ่งสว.ด้วยแล้วสมควรแสดงจุดยืนของตนเองต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจนเสียด้วยซ้ำ

เท่าที่ผมได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งหลายครั้งทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งในทุกระดับของ อเมริกัน มีเป้าหมายเพื่อดึงอำนาจของประชาชนไปใช้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือการเลือกตั้งในระดับกลาง นั่นคือ การยอมรับข้อเสนอของประชาชนในสองกระบวนการนำเสนอกฎหมาย  เช่น กระบวนการที่หนึ่งการนำเสนอกฎหมายโดยกลุ่มประชาชนที่เรียกว่า Assembly  ในระดับต่างๆ เช่น ในระดับชุมชน ระดับรัฐ  และกระบวนการที่สอง นำเสนอโดยตัวแทนของเขตพื้นที่ อาจเป็นสส.หรือสว.ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับกลาง

บทบาทของสว.หรือซีเนเตอร์อเมริกัน จึงยึดโยงอย่างยิ่งกับอำนาจของประชาชน ให้ค่าความสำคัญ อย่างยิ่งกับประชาชน และมีอำนาจในอำนาจทั้งสาม (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) ซึ่งต่างจากหลักการสว.สรรหาของไทย ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายความ ว่า ที่มาของสว.ไทยต้องเป็นแบบเดียวกับที่มาของสว.อเมริกันในเชิงอำนาจหน้าที่ แต่ในมุมนิติบัญญัติบนความเป็นประชาธิปไตยสากล อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติจะมีได้ต้องมีรากเหง้ามาจากประชาชน ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเมื่อนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ทรงเกียรติ” ตัวจริง เพราะเป็นเกียรติที่ประชาชนทุกชั้นวรรณะมอบให้  เป็น“ประชาชนในฐานะปัจเจกชน”มิใช่ใครคนใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมอบให้

ความจริงกระบวนทัศน์ความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันก้าวมาถึง “ความเป็นอิสระและการมีอัตลักษณ์ของผู้คน” มากกว่ายุคใดๆ การเชื่อใจ ไว้วางใจ ในความคิดเห็นของมวลชนน่าจะได้รับความใส่ใจมากขึ้นจากชนชั้นนำของไทย แต่ก็น่าแปลกที่ยังมีการปล่อย ให้ระบบอุปถัมภ์ทำงานอยู่ โดยเฉพาะที่มาของบุคคลในกระบวนการนิติบัญญัติที่ถือเป็นความล้าหลังและห่างไกลจากความเป็นสากลอย่างยิ่ง ขณะที่หลักการในการเชื่อมั่นต่อประชาชนทุกระดับเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันของไทย ยังไปไม่พ้นเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ แต่เชื่อว่าด้วยตัวเร่งหลายปัจจัยจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไป กล่าวคือ ประชาชนเกิดความเข้าใจความเป็นไปของกระบวนการทางการเมือง สิทธิและหน้าที่ของตนมากขึ้น

ยิ่งที่มาของสว.ด้วยแล้ว ควรเป็นตัวแทนของประชาชนเชิงปัจเจกชนครับ ไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์อุปถัมภ์หรือที่สังคมไทยสมัยก่อนเรียกว่า “มูลนาย”

 

กระบวนทัศน์ใหม่ ที่อาศัยการสื่อสารไร้พรมแดน โซเชียลมีเดียและการสื่อสารทางตรงในระนาบเดียวกันได้ทำให้ผู้คนให้คุณค่าเชิงปัจเจกสูงขึ้นมากกว่ายุคใดๆ ที่ผ่านมา สว.ที่ไม่มีหน้าที่ที่ควรจะมี หรือควรจะเป็น รวมถึงสว.ที่ไม่มีรากเหง้าจากประชาชน จะกลายเป็นส่วนเกินของสังคมไปโดยปริยาย.    

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *