พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

เคยมีเพื่อนจากเมืองไทยถามผมว่า วัฒนธรรมอเมริกันมีภาษาท้องถิ่น เหมือนที่เมืองไทยมีภาษาปักษ์ใต้ ภาษาล้านนา ภาษาอิสาน หรือภาษาสุพรรณ ราชบุรี เพชรบุรีประจวบฯ ที่สำเนียงออกเหน่อๆ หรือไม่?

คงต้องตอบว่า “มีครับ” และถือเป็นเรื่องปกติของอเมริกันชนที่นี่ ท่ามกลางความหลากหลายของเชื้อชาติของผู้คนในอเมริกากว่า 300 ล้านคน ที่สำคัญคือ จากความแตกต่างหลากหลายดังกล่าวนี้เองถูกมองว่าการที่อเมริกันแต่ละคนพูดด้วนสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ไม่นับรวมคนสำเนียงภาษาจากคนกลุ่มน้อย (minority groups) เชื้อชาติต่างๆ อีกนับร้อย เช่น จีน เกาหลี ไทย ฟิลิปปินส์ เม็กซิกัน ลาติโน(สเปนิส) อินเดียน (จากอินเดีย) อาร์มีเนียน ฯลฯ ซึ่งต่างก็มีสำเนียงการพูดที่แตกต่างกันออกไป

การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่งๆ ของแต่ละบุคคลเป็นเรื่องปกติของสังคมอเมริกัน โดยไม่มีการดูถูกดูแคลนว่า นี่พูดไม่ภาษาอังกฤษไม่ชัด ไม่ถูกต้อง ภาษาก็คือภาษาตราบเท่าที่สามารถสื่อสารกันรู้เรื่อง รู้ความหมายว่าต้องการอะไร อย่างไร ก็เป็นอัมใช้ได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เคยเดินทางไปอเมริกา อย่าได้วิตกว่าจะสื่อสารกับคนอเมริกันไม่รู้เรื่อง มีคนจำนวนมากในอเมริกาที่สื่อสารภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง คนไทยในอเมริกาเองประมาณว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ก็สื่อสารกับฝรั่งไม่ได้ แต่ก็อยู่กันมาได้ ที่ผมพูดมาไม่ได้หมายความว่า มาอยู่ที่นี่แล้วไม่สนใจ ขวนขวายเรื่องภาษา การสนใจศึกษาขวนขวายเรื่องภาษา เป็นเรื่องดีในตัวอยู่แล้ว

แต่การดูถูกใครว่าพูดภาษาไม่ได้เรื่อง สำเนียงไม่เอาไหน ไม่น่าจะเป็นสาระสำคัญของการใช้ชีวิตในอเมริกา (เหมือนที่สมัยหนึ่งนักการเมืองตัวแทนของชาวบ้านในรัฐบาลหนึ่งของเมืองไทยถูกดูถูกว่าใช้สำเนียงอังกฤษสนทนากับแขกบ้านแขกเมืองไม่ถูกต้อง) เพราะตราบเท่าที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ เข้าใจก็พอเพียงสำหรับการดำรงชีวิตในดินแดนแห่งนี้แล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีใครถือสาหาความกับสำเนียงการพูด (accent)

การใช้ภาษาในอเมริกาโดยทั่วไป ในชีวิตประจำวัน จึงไม่ได้หมายรวมถึงการใช้ภาษาพูด หรือภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการใช้ปฏิภาณไหวพริบในการสื่อสารเพื่อให้คนที่สื่อสารด้วย สามารถเข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการสื่อได้ เช่น อาจใช้ภาษากายคล้ายๆ ภาษาใบ้เป็นตัวช่วยให้การสื่อสารประสบความสำเร็จ คนที่สื่อด้วยเกิดความเข้าใจ โดยคนที่เก่งทางด้านภาษาเองก็มิใช่ว่าจะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเสมอไปก็หาไม่

เพียงแต่ภาษาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้การสื่อสารเป็นไปด้วยดีเท่านั้น และในปัจจุบันคนไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกามานานหลายสิบปีก็ใช่ว่าจะสามารถสื่อสารกับฝรั่งอเมริกันรู้เรื่องทุกคน ขึ้นกับประสบการณ์ สถานการณ์ การทำงานหรืออาชีพ และความสนใจศึกษาภาษา (อังกฤษ) ของแต่ละคน  เช่น คนที่ทำงานในครัวไทย ไม่มีโอกาสเจอกับคนภายนอก(ลูกค้าฝรั่ง) มากนัก โอกาสในการใช้ภาษากับคนทั่วไปก็พลอยลดน้อยไปด้วย

นอกจากนื้ เรื่องของการใช้ภาษาในอเมริกายังมีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อผู้คนอเมริกันเองที่มาจากแต่ละภูมิภาคต่างก็พูดด้วยสำเนียงที่แตกต่างกัน เช่น สำเนียงนิวยอร์คเกอร์ จากย่านนิวยอร์ค สำเนียงเท็กซัส สำเนียงเซ้าท์/นอร์ธแคโรไลน่า (Southern American) ในเขตนี้ก็มีสำเนียงอีกแบบหนึ่งหรือเรียกว่า “สำเนียงคาวบอย” (เหน่อแบบฉบับอเมริกัน) ซึ่งฟังไม่ง่ายนักหากไม่คุ้นชิน

ไม่เหมือนสำเนียงของผู้คนแถวแคลิฟอร์เนียหรือรัฐอื่นๆ เพราะฉะนั้นจะสื่อสารได้อย่างเข้าใจ ผู้สื่อสารจะเป็นต้องมีประสบการณ์ในการสื่อสารมาพอสมควร

แต่ถึงกระนั้น การสื่อสารในแบบฉบับหรือตามอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล ก็เป็นเรื่องปกติในอเมริกัน หมายถึงว่า สังคมที่นี่ยอมรับกันโดยวัฒนธรรม โดยไม่ได้ดูถูกว่า เอ้ย หมอนี่พูดสำเนียงไม่ถูกต้อง ไม่ได้เรื่อง หากคุณพอพูดได้ก็จงพูดไปเหอะ ใช้ภาษาใบ้ด้วยก็ได้ ไม่ว่ากับใคร มีตำแหน่งขนาดไหน กับ สส. สว. รัฐมนตรี หรือผู้พิพากษาก็ตาม

ขืนไปดูถูกและเอาประเด็นเรื่องสำเนียงภาษามาข่มกันประเดี๋ยวก็กลายเรื่องการทำผิดกฎหมายกลาง (federal laws) ไปก็ได้ ตามกฎหมายห้ามดูถูกในเรื่องเชื้อชาติ (Discrimination laws)  ซึ่งมีโทษรุนแรงทีเดียว อเมริกันส่วนใหญ่จึงใส่ใจหรือคำนึงถึงเรื่องนี้จนกลายเป็นวัฒนธรรม

ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของอเมริกันชนก็จริง แต่ก็ใช่ว่า คนที่สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ จะมีชีวิตต่ำค่าหรือด้อยกว่าคนที่สื่อภาษาอังกฤษได้ดีหรือรู้เรื่อง ภาษาจำเป็นในการสื่อสารแต่ภาษาไม่ได้เป็นเครื่องมือแยกชนชั้นในอเมริกา ความเท่าเทียมกันในแง่การใช้ภาษาถูกกำหนดไว้โดยกฎหมายอเมริกัน

นอกเหนือไปจาก การที่รัฐกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่นก็ตาม ต้องสนับสนุนหรือให้ความสะดวกทางด้านภาษาแก่ผู้คนหรือพลเมืองอเมริกันเชื้อชาติต่างๆ เท่าที่สามารถทำได้ เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนียแถบเมืองแอล.เอ. ที่รัฐบาลท้องถิ่นอำนวยความสะดวกทางด้านภาษาให้กับผู้ที่สอบใบขับขี่ ด้วยการพิมพ์หรือออกข้อสอบเป็นภาษาไทยและภาษาต่างๆ อีกหลายภาษาให้คนไทยและคนเชื้อชาติต่างๆ สะดวกในการสอบในภาษาของตนเอง เวลาไปสอบใบขับขี่คนไทยแถบแอล.เอ.เคาน์ตี้ที่ไม่รู้หรือไม่คล่องภาษาอังกฤษก็สะดวกสบายขึ้น สามารถทำสอบข้อเขียนภาษาไทยในห้องสอบของ DMV  (Department of Motor Vehicles) ตามเมืองต่างๆ ในแถบนี้ได้

นี่เรียกว่า เป็นการอำนวยความสะดวกหรือให้บริการด้านภาษาของสังคมอเมริกัน ที่มาจากรากฐานการเคารพในความเท่าเทียมกันทางภาษาและเชื้อชาติ หลักฐานนี้ปรากฏอยู่ในกฎหมายอเมริกัน คนพูดเหน่อ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็มีสิทธิ์เท่าเทียมกับคนพูดไม่เหน่อหรือคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งหลักการนี้รวมอยู่ในหลักการแห่งหลักสิทธิมนุษยชนของอเมริกัน

ดังนั้น โดยทางการแล้ว ในอเมริกา จะเอาการสื่อภาษาอังกฤษได้หรือไม่ได้มาข่มหรือมาดูถูกกันไม่ได้ ไม่ว่าโดยวิธีการใดก็ตาม และรัฐมีหน้าที่สนับสนุนด้านภาษาและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเพื่อให้เข้าถึงบริการของรัฐทุกประเภท โดยไม่ได้มีข้อยกเว้นว่าประชาชนจะต้องสามารถใช้ภาษาได้หรือใช้ไม่ได้

ทั้งหมดที่กล่าวมามิได้หมายความว่า การรู้ภาษาจนสามารถสื่อสารได้ จะไม่มีประโยชน์ เพราะรัฐตามใจ เอาใจสารพัด การมีความรู้ภาษากลางคือภาษาอังกฤษนั้นมีประโยชน์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว บุคคลที่อยู่ในอเมริกาไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดก็ตามจึงต้องขวนขวายเรียนรู้ และในส่วนนี้รัฐก็ส่งเสริมเช่นเดียวกัน

อย่างน้อยก็ การเรียนฟรีในโรงเรียนผู้ใหญ่ หรือ Adult School ตามเมืองต่างๆ นั่นไง !! และเขาไม่ได้สอบถามว่าคุณเป็นโรบินฮู้ดหรือไม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *