พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องถึงการรัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในเมืองไทยถูกเผยแพร่โดยสื่ออเมริกันจำนวนไม่น้อย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ของที่นี่
ถามว่าอเมริกันให้ความสนใจเหตุการณ์ที่เกิดในเมืองไทยมากน้อยขนาดไหน คงต้องบอกจากการประเมินด้วยสายตาและประสบการณ์ของผู้เขียนเองว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในเมืองไทยน้อยมาก เพราะยังมีเรื่องอื่นที่พวกเขาสนใจมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องที่ กระทบต่อความเป็นอยู่ของพวกเขาเองตามวิถีชีวิตประจำวันบั
อเมริกันส่วนใหญ่อาจมองไม่สนใจว่าการเมืองประเทศไทยเป็นอย่างไร เท่ากับความสนใจต่อการเมืองของพม่า การเมืองของลาว การเมืองของเวียดนามและการเมืองของกัมพูชา ซึ่งอเมริกันรู้จักมากกว่าการเมืองของประเทศไทย เพราะประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอเมริกันในเชิงความขัดแย้งด้านอุดมการณ์และแม้กระทั่งเคยเป็นคู่สงครามกันมาก่อน ดังกรณีของเวียดนาม เป็นต้น ที่สำคัญอเมริกาเป็นประเทศที่สาม ที่รับผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ในบรรดาหน่วยงานอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศและความมั่นคงแล้ว คงไม่มีหน่วยงานใด ไม่รู้จักเมืองไทย เพราะเมืองไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางด้านความมั่นคงของอเมริกันประเทศหนึ่งในภูมิภาค ทั้งยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานอเมริกันและองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร
แน่นอนว่า เหตุการณ์และผลกระทบเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทางการอเมริกันได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุให้บางช่วงกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกันต้องออกคำเตือนให้นักท่องเที่ยวอเมริกันหรือผู้ที่ไปติดต่อธุระกิจที่เมืองไทย พึงใช้ความระมัดระวัง ไม่ต่างจากหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศของอีกหลายประเทศ ที่ออกคำเตือนคนของประเทศตนเช่นเดียวกัน และคำเตือนดังกล่าวยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันเป็นระยะ
ไม่รวมถึงการติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยนชนในไทยของสมาชิกคองเกรสอเมริกัน (สส.)หลายคนที่มีมาอย่าต่อเนื่อง จนเป็นหตุนำไปสู่การเริ่มต้นคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย ซึ่งสื่ออเมริกันเชื่อกันว่า หากเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย สหรัฐฯก็จะกดดันคว่ำบาตรไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่เคยทำกับพม่าและคิวบา โดยที่คองเกรสเองก็เชื่อตามรายงานการวิจัยว่า “มันได้ผล”
ก่อนหน้านี้ การรายงานของสื่ออเมริกัน โดยเฉพาะการวิเคราะห์สถานการณ์ในเมืองไทยนั้น เป็นไปตามข้อมูล และประสบการณ์ของสื่อมวลชนส่วนหนึ่ง ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่ไม่พอใจสื่อต่างประเทศในประเทศไทยว่า สื่ออเมริกันเหล่านั้น ไม่รู้เรื่องเมืองไทยดีเท่าสื่อไทย สื่ออเมริกันจึงเชื่อถือไม่ได้
ขณะที่ในเมืองไทยเอง สื่อไทยเป็นส่วนมากถูกแยกข้าง ให้เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งทางสังคม จนกระทั่งคนไทยจำนวนไม่น้อยเองก็เชื่อว่าสื่อไทยเชื่อถือไม่ได้ กลายเป็นสื่อเลือกข้างกันแทบทั้งหมด การณ์จึงกลับกลายเป็นว่าหากต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทย สื่อต่างประเทศกลับมีความสำคัญในฐานะต้นขั้วของการค้นหาว่า ความจริงแล้วอะไรเกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองโดยประชาชนแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายมาอย่างยาวนานนับทศวรรษ
สื่ออเมริกันและสื่อต่างประเทศต่างพยายามค้นหาความจริงของเหตุการณ์การเมืองของไทยโดยการวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมโยงความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างฝ่าย กลุ่มอำนาจเดิมกับฝ่ายกลุ่มอำนาจใหม่ภายหลังการฟอร์มตัวของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่รัฐบาลทักษิณ จะโดนทำการรัฐประหารโดยคณะทหารในปี 2006
ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสาเหตุของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไทย โดยมองว่ากองทัพมีส่วนต่อชะตากรรมการเมืองของไทย ด้วยการวางสถานภาพของกองทัพเอง ขณะที่การวางตัวของผู้นำกองทัพได้รับการจับตาจากกลุ่มขัดแย้งทั้งสองกลุ่มแม้ว่าในการความขัดแย้งทางการเมืองกังกล่าวกองทัพจะอ้างถึงการวางตัวเป็นคนกลางก็ตามและขอเข้ามาทำให้เกิดความปรองดองระหว่างกลุ่มประชาชนขึ้น
Michael Peel แห่งไฟแนนเชียลไทม์ มองว่า สำหรับเมืองไทยแล้วไม่แน่ว่าอาจมีการกระทำ รัฐประหารขึ้นได้ตลอดเวลา แม้กองทัพบอกว่าได้พยายามเลี่ยงแล้วเนื่องจากมีประสบการณ์ในปี 2006 มาแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์หลายอย่างเปลี่ยนไปบรรดานายทหารบางคนก็มีความคิดที่จะทำรัฐประหารอีก เพราะเชื่อว่า เผด็จการหรืออำนาจนิยม คือหนทางของการแก้ปัญหาแบบไทยๆ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการรัฐประหารเป็นการมุ่งหวังทำลายอิทธิพลของฝ่ายการเมืองตรงกันข้ามกับชนชนชั้นนำของไทยเท่านั้น
กองทัพทำการรัฐประหารเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มคนชั้นนำดังกล่าว (โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจเก่าที่เกรงว่าจะสูญเสียอำนาจในด้านต่างๆ ไป) โดยไม่สนใจว่าการรัฐประหารสามารถนำไปสู่ “ความเสี่ยง” จากการนองเลือดหรือเกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ขึ้นมาอีกครั้งจากกับกลุ่มที่เป็นฐานของนักการเมือง ขณะที่คณะรัฐประหารได้กลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ของการเมืองไทย
สื่ออเมริกันจำนวนหนึ่งได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์รัฐ ประหารในปี 2006 ที่คณะผู้ทำการรัฐประหารที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นกำลังขัดแย้งกับกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตร แต่แล้วการรัฐประหาร นั้นก็นำมาซึ่งความแตกแยกของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณกับฝ่ายอำนาจเก่า ( Old elite) หลังจากที่ฝ่ายทักษิณประสบชัยชนะในการเลือกตั้งแม้ว่าทักษิณจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทยก็ตาม
ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารในปี 2007 มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ตัวนายกรัฐมนตีคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จนกระทั่งเกิดการประท้วงโดยกลุ่มเสื้อแดงในปี 2010 ทำให้กองทัพภายใต้การบัญชาการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องออกปราบปรามประชาชนผู้ประท้วง เป็นเหตุให้มีผู้เสีย ชีวิตประมาณ 90 กว่าคน บาดเจ็บราวๆ 2,000 คน (Charlie Campbell : Time Wold)
บนความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง รัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งจากการที่สส.พรรคเพื่อไทย พยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายบางหัวข้อ เช่น ให้ สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ที่แต่เดิมมาจากการแต่งตั้ง ประมาณครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่การแก้ไขดังกล่าวกลับไม่ได้รับการเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ รัฐบาล(ยิ่งลักษณ์)ในตอนนั้นระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งเกิดจากเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2006 พรรคเพื่อไทยเรียกว่า เป็นระบบการรัฐประหารอย่างหนึ่ง เป็นการรัฐประหารโดยคณะตุลาการ หรือ Judicial coup (Michael Peel : Financial Times)
Thomas Fuller แห่ง New York Times ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร มองว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่มาจากการกระจายผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายที่โดนกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่า ประชานิยม แต่ผลของนโยบายนี้กลับสร้างความพอใจให้กับคนในภาคชนบทมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชาวชนบทเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังจากรัฐบาลชนชั้นนำกรุงเทพ ที่หมายรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์(Bangkok elite) ด้วย
Fullerให้ความสำคัญกับการมองปัญหาความขัดแย้งในเมืองไทยแง่ แบ่งสรรปันส่วนอำนาจ ทางเศรษฐกิจ โดยอ้างการวิเคราะห์ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ว่า ชนชั้นกลางชั้นนำเก่า(อำนาจเก่า) อดรนทนไม่ได้กับการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นของคนในต่างจังหวัด ซึ่งพวกเขามองว่า คุกคามต่อสถานะความเป็นชนชั้นนำ (อำนาจเก่า) ที่เคยมีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการเข้าร่วมชุมนุมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เป็นแกนนำการชุมนุม เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการทำงานและที่สำคัญ คือ นายสุเทพ เสนอระบบให้ปฏิเสธเลือกตั้ง (abandon its electoral system) และจัดตั้งสภาประชาชน (People’s Council) ซึ่งการอธิบายรูปแบบของสภาดังกล่าวกลับไม่ชัดเจนแต่อย่างใด
Fuller ยังระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์พ่ายการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 1992เนื่องจากล้มเหลวในการได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอ้างการวิจัยของนักวิชาการอเมริกัน Charles Keyes ที่ระบุว่า คนไทยภาคอิสานและภาคเหนือมีอิทธิพลในการกำหนดการตั้งมั่นหรือเสถียรภาพของรัฐบาลไทยมากขึ้น เพราะฐานเสียงสนับสนุนสส.ส่วนใหญ่มาจากภาคนี้ เชื่อมกับนโยบายของรัฐบาลที่นำการช่วยเหลือลงไปสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้น
ขณะที่อีกด้านหนึ่งกลุ่มชนชั้นนำของไทยที่เป็นเสียงข้างน้อยเริ่มไม่พอใจมากขึ้น จนถึงกระทั่งเมื่ออ้างเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้ ก็มีการอ้างถึง “ความเป็นคนดีมีศีลธรรม” ที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายแทน แสดงให้เห็นว่า เสียงส่วนน้อยของคนดีมีศีลธรรมย่อมเป็นใหญ่ได้ นอกเหนือไปจากข้อกล่าวหาว่าคนต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือกับภาคอิสาน ซึ่งเป็นคนมีรายได้น้อยที่เรียกว่า รากหญ้า ไม่รู้เรื่องการเมือง ชนชั้นกลางเมืองผู้มีการศึกษาเท่านั้นที่รู้ ดังนั้นชนชั้นนำหรือชนชั้นกลางเก่าจึงคาดและประณามว่า คนจนเหล่านี้จะต้องเลือกนักการเมืองที่เสนอเงินให้กับพวกเขา หรือรอรับเงินจากนักการเมืองอย่างเดียว
Fuller มองว่าจากประวัติศาสตร์ กองทัพไทยยืนอยู่ข้างชนชั้นนำกรุงเทพ (Bangkok elite) แทบตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์ภายหลังยึดอำนาจทักษิณในปี 2006 กองทัพเข้าไปมีส่วนโดยตรงกับการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งต่อมาอำนาจของกองทัพดังกล่าวได้โยงไปถึงการแต่งสว.ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการทำงานขแงองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ และข้าราชการระดับสูงของไทย
นี่คือ ส่วนหนึ่งของมุมมองของสื่อเมริกันต่อประเทศไทยและการเมือไทยยามนี้ครับ.