พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ในยุคปัจจุบันการเดินทางไปติดต่อระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เสมือนถูกตัดขาด หลังจากที่ไม่มีเที่ยวบินของการบินไทยบินมาลงที่นี่ครับ ไม่ว่าเป็นเมืองหรือสนามบินใดๆ โดยที่หน่วยงานสำคัญของรัฐบาลไทยทางด้านการท่องเที่ยว คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแอล.เอ.และนิวยอร์ค ก็ยังมีสถานะเช่นเดิม (ขณะที่งานของเจ้าหน้าที่ททท.ทั้งสองเมืองในอเมริกาก็มิได้ลดลง แถมจะเพิ่มมากขึ้นและทำงานยากขึ้น เพราะไม่มีฐานสนับสนุนการเดินทาง…ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องคง 2 สำนักงานททท.ในอเมริกาเอาไว้ให้สิ้นเปลืองเงินงบประมาณ) แต่จะพูดอย่างนี้ก็ไม่ถูกทีเดียวนัก เพราะมีสายการบินอื่นเช่น สายการบินไต้หวัน ของฮ่องกง และของเกาหลี ที่เปิดโอกาสให้นักเดินทางอเมริกันได้เดินทางไปเมืองไทย ทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อกิจธุระอื่นๆ อยู่
นอกจากนโยบายตม. ไม่สะท้อนถึงการส่งเสริมทางด้านมิติเศรษฐกิจแล้ว มิหนำซ้ำกลับยังเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากขึ้นในหน่วยงานแห่งนี้ ร่วมกับปัญหาของผู้ใช้แรงงานต่างด้าวโดยทั่วไป ที่เป็นปัญหาสะสมอยู่เดิมแล้ว
โดยเฉพาะในส่วนของกฎหมายหรือระเบียบที่ใช้บังคับกับคนไทย-อเมริกัน ตัวอย่างเช่น กฎหมายการควบคุมต่างด้าวที่เดิมเป็นคนไทยจากระเบียบของการรายงานตัวทุกๆ 90 วัน ซึ่งตามปกติแล้ว ต่างด้าวเดิมเป็นคนไทยนั้นต้องรายงานตัวต่อตม.ไทยทุกๆ 90 วัน (เช่นเดียวกับต่างด้าวอื่นๆ) จากระบบการอนุมัติวีซ่าแบบปี (365 วัน) หรือที่เรียกกันว่า “วีซ่าใหญ่” กล่าวคือ แม้คนไทย-อเมริกันจะได้วีซ่าปีจากสตม.แล้ว แต่ก็ยังต้องรายงานตัว ทุกๆ 90 วัน เช่นเดียวกับต่างด้าวสัญชาติอื่นๆ
เรื่องนี้มองแล้วไม่ใช่เรื่องผิดปกติครับ แต่ปัญหาก็คือ ผู้ที่มาขอวีซ่าแบบปี (คืออยู่ได้หนึ่งปี) นั้นส่วนใหญ่ คือ คนไทย-อเมริกันที่รีไทร์ หรือไม่ทำงานแล้ว พวกเขากลับไปรีไทร์ ใช้ชีวิตที่เมืองไทยกับญาติพี่น้องหรือลูกหลาน เรียกว่าส่วนใหญ่ก็กลับไปใช้เงินที่เมืองไทย แล้วพวกนี้อยู่เมืองไทยนาน นานๆ ทีจึงกลับอเมริกา จึงต้องอาศัยวีซ่าใหญ่หนึ่งปี ก็อยู่แบบคนไทยทั่วไป รับเงินโซเชียลฯ (เงินรีไทร์) จากรัฐบาลอเมริกันเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในเมืองไทย คิดดูครับปีหนึ่งแป๊บเดียวเอง พวกเขาก็ต้องไปจ่ายค่าธรรมเนียม 1,900 บาท เพื่อต่อวีซ่าอีกแล้ว ส่วนใหญ่ก็อยู่เมืองไทยกันยาวครับ เรื่องจำนวนเงินค่าธรรมเนียมจึงไม่ใช่ปัญหาหลักของพวกเขา
คำถามคือทำไมรัฐไทยไม่ให้วีซ่าที่ยาวนานกว่านี้ต่อคนกลุ่มนี้??? เช่น อาจเป็นสองหรือสามปีเหมือนของทางการเวียดนาม ที่อำนวยความสะดวกให้กับคนของเขา ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้มีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงเงินไหลเข้าอย่างเดียว แต่มันสมองยังไหลเข้าอีกด้วย โดยต้องไม่ลืมว่าคนไทย-อเมริกันจำนวนหนึ่งที่ต้องการกลับไปรีไทร์เหล่านี้ ยังมีศักยภาพในด้านต่างๆ อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือแขนงอื่นๆ หากรัฐบาลไทยจะคิดค่าธรรมเนียม เพิ่มขึ้นแบบรวมทีเดียว เช่น ถ้าขออยู่สองปีจำนวน 3,800 บาท ก็คงไม่มีใครว่า การดำเนินการดังกล่าวเท่ากับเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ แถมรัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น (มิติเศรษฐกิจ)
การมองแค่มิติความมั่นคงอย่างเดียว ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์จากระบบงานตม.ที่ล้าหลังอยู่มาก ทั้งที่จริงแล้ว คนไทย-อเมริกาเหล่านี้ มีแบ็คกราวด์ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งจากสองรัฐบาล (คือทั้งรัฐบาลไทยและอเมริกัน) ยิ่งการต้องไปรายงานตัว 90 วันด้วยแล้วนับว่าเป็นเรื่องหยุมหยิมที่สุด ไหนเลยถ้าลืมไปรายงานตัวพวกเขาต้องโดนค่าปรับวันละ 2,000 บาท ก็คงไม่มีปัญหาอีกเช่นกัน แต่แล้วกลับมีจนได้ เพราะเจ้าหน้าที่ ตม.ไทยบางพื้นที่ ดันไปต่อรองกับพวกเขาให้จ่ายค่าปรับเพียงครึ่งเดียว คือ จ่ายแค่วันละ 1,000 บาท โดยไม่ออกใบเสร็จรับเงิน มิหนำซ้ำยังกระทำกันเป็นกิจลักษณะ (คือทำกันเป็นประจำ) อย่างน้อยเรื่องนี้ คนต่างด้าวแถวนนทบุรีก็พูดกันให้แซ่ด
สำหรับพี่น้องคนไทยที่อยู่ในอเมริกา ที่ต้องการกลับไปรีไทร์ที่เมืองไทย โปรดทราบครับว่า การไปติดต่อกับตม.ในเมืองไทยเพื่อต่อวีซ่าหรือเพื่อการอื่นๆนั้น เดี๋ยวนี้เขาแบ่งพื้นที่ แบบเขตใครเขตมัน เช่น ถ้าท่านไปพำนักอยู่บ้านท่านหรือบ้านญาติพี่น้องของท่านในเขตจ.นนทบุรีก็โปรดไปติดต่อ สตม.นนทบุรี (ที่ตั้งอยู่แถว อ.บางบัวทอง) ให้ช่วยอำนวยความสะดวกกับท่านเถอะครับ
สำหรับคนที่พำนักอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็ให้ติดต่อ สนง.ตม.ที่อยู่ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะครับ ไม่ใช่ สตม.ที่ซอยสวนพลูเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป หลังจากติดต่อแล้วท่านค่อยพิจารณาเอาเองครับว่าท่านจะพำนักในเขตหรือพื้นที่ไหนจึงจะสะดวกกับท่าน
ครับ การอำนวยความสะดวกที่กลายเป็นอุปสรรคในส่วนนี้ก็คือ ทั้งที่ขอบเขตการทำงานของสำนักงานตม.นั้นครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ถึงขนาดแบ่งพื้นที่กรุงเทพกับพื้นที่ต่างจังหวัด ขณะที่ในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายจังหวัดกลับไม่มีสำนักงานตม.ตั้งอยู่เลย
การเดินทางเข้ามาทำงานของแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านของไทยจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เจ้าหน้าที่ตม.ต้องทำงานหนักมากขึ้น เป็นทั้งแรงงานที่ถูกและผิดกฎหมาย (แรงงานเถื่อน) ประเด็นนี้ส่งผลถึงการที่น่าจะต้องปฏิรูปหน่วยงานราชการไทยสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติแห่งนี้ โดยน่าที่จะให้หน่วยงานตม.มีบทบาท ที่เป็นเอกเทศ คอยทำหน้าที่กำกับและควบคุมแรงงาน ต่างด้าวทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศไทย เพราะนับวันปัญหาแรงงานต่างด้าวจะมีมากขึ้น ทั้งปัญหาแรงงานโดยตรงและปัญหาด้านอาชญากรรม
การแยกสำนักงานตม.ออกมาทำหน้าที่อย่างเอกเทศและแยกการจัดการต่อปัญหาแรงงานข้ามชาติออกจากเรื่องพลเมือง น่าจะถูกนำมาศึกษาวิจัยอย่างจริงจังจากสำนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรัฐบาลที่เป็นโต้โผใหญ่ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่กำลังเป็นอยู่ ขณะที่ในปัจจุบัน ปัญหาเป็นถึงขนาดแยกได้ยากมากขึ้นระหว่างคนไทยกับคนต่างด้าวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย เพราะหน้าตาเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ในยามที่แรงงานต่างด้าวเองนับว่ามีปัญหาไม่น้อยทั้งในเรื่องความปลอดภัย หรืออาชญากรรม เรื่องความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ตม.เสียเอง (เรื่องนี้ต้องถามเจ้าของกิจการจำพวกโรงงานต่างๆ ว่าพวกเขาดีลกับเจ้าหน้าที่ สตม. อย่างไรบ้าง)
ขณะที่ระบบการรักษาความปลอดภัยก็มีความสำคัญมาก ต่อบรรดานักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมด ทั้งยังเป็นประเด็นในอันดับต้นๆ ของการพิจารณาประเทศที่จะไปเดินทางไปท่องเที่ยวของพวกเขา
นอกจากนี้ ยังมีข้อที่นักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางไปทำธุรกิจที่เมืองไทยวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ค่อยเหมาะสม ได้แก่ การแลกเปลี่ยนเงินตรา (ตามระบบอัตราแลกเปลี่ยนตามธนาคารต่างๆ) แบงก์ไทยจำนวนมากขอพาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวประชาชนจากนักท่องเที่ยวไปถ่ายเอกสาร(สำเนา)เก็บไว้ เรื่องนี้ ถึงแม้ว่าแบงก์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมองในประเด็นความปลอดภัย แต่หากพนักงานแบงก์เกิดทุจริตสับเปลี่ยนเงินที่แลก เป็นเงินปลอม ก็อาจทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวเหล่านั้น
นักท่องเที่ยวอเมริกันหลายคนบ่นว่า จะขอดูเอกสารทุกอย่างได้ แต่การนำเอกสารสำคัญไปถ่ายสำเนา เป็นเรื่องที่ไม่สามารถไว้วางใจได้ นอกเหนือไปจากให้ความรู้สึกกับประหนึ่งว่า พวกเขาเป็นอาชญากร ซึ่งไม่เป็นผลดีด้านธุรกิจ และการท่องเที่ยวของไทยเอง
ในแง่ของมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงนั้นเชื่อว่า นักท่องเที่ยวทุกคนคงยินดีให้ความร่วมมือครับ ซึ่งระหว่างความปลอดภัยกับการส่งเสริมการค้าขายหรือเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและรายได้เข้าประเทศ รวมถึงเรื่องแรงงาน) ก็น่าจะเป็นสิ่งที่รัฐเลือกทั้งสอง
จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะวางกรอบนโยบายอย่างไรให้งานทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้อย่างมีดุลยภาพระหว่างความมั่นคงกับเรื่องเศรษฐกิจ