พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
“คุณเอ มีดีกรีเป็นถึงดอกเตอร์มาจากอเมริกาเชียวนะ” ที่เมืองไทย คงเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้กันอยู่มากชื่อ“คุณเอ” นั้นผมสมมติขึ้นมาให้ฟังดูเข้าใจง่าย และเห็นภาพชัดมากขึ้น เพราะที่อเมริกา บอกได้เลยว่า ไม่ค่อยมีใคร Give a damn กับเรื่องของดีกรีมากมายเหมือนอย่างคนไทยที่เมืองไทยเป็นกัน
ขืนไปพูดย้ำบ่อย คนฟังอาจหมั่นไส้แล้วย้อนกลับเอาได้ว่า “So, what? หรือ “Who care? ”
เพราะที่อเมริกามีค่านิยม หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเมืองไทย นั่นคือ ผู้คนไม่เห่อดีกรี (ปริญญา)กันแบบบ้าคลั่งเหมือนที่เมืองไทย
อเมริกันวัดกึ๋นของคนกันที่คุณภาพ ความขยัน และความยากง่ายของงาน คนที่มีกึ๋น หรือความสามารถ และมีความเสี่ยงสูงในการทำงานสูง ย่อมต้องได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าคนไม่มีกึ๋น และไม่มีความเสี่ยง เป็นความยุติธรรมอย่างหนึ่งที่สังคมอเมริกันมีให้คนที่อยู่ประเทศนี้
ผมไม่ได้กล่าวว่า สังคมอเมริกันปฏิเสธดีกรี (ปริญญา) แต่สังคมอเมริกัน ยอมรับดีกรีอย่างสมเหตุสมผลต่างหาก เป็นพวงจากวัฒนธรรมปัจเจกนิยม ในทำนอง คุณก็อยู่ส่วนคุณ ฉันก็อยู่ส่วนฉัน เคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ก้าวก่ายกัน เพราะฉะนั้ไม่ว่าจบการศึกษาขั้นไหน ทำงานอะไร ย่อมเท่าเทียมกันเชิงปัจเจก
หากแต่สังคมไทยตรงกันข้ามกับลักษณะสังคมของอเมริกา ตรงที่เรายังเอาส่วนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก มาตรวัดของสังคมไทยจึงไม่ได้ใช้ฐานอันเป็นข้อเท็จจริง แต่พ่วงเอาค่านิยมเข้ามาไว้ด้วย ในประเด็นเดียวกันนี้คนไทยจึงมีความทุกข์มากกว่าคนอเมริกันที่ไม่แคร์มากนักกับเรื่องของดีกรีหรือปริญญา
ความทุกข์ของคนไทยในสังคมไทยในเรื่องดีกรีการศึกษา ในเวลานี้ ถูกแก้โดยหนทางแห่งความพยายามแข่งขันกันเรียนให้สูงๆมากขึ้น ผมไม่ทราบว่าขณะนี้คนไทยในประเทศจบปริญญาโทหรือปริญญาเอกกันกี่เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่า คงจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงแค่ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่รวมถึงการศึกษาระดับปริญญาตรีที่กลายเป็นของธรรมดาในขณะนี้ไปแล้ว ส่วนโทและเอกที่อ่านจากข่าวก็น้ำเน่าไร้คุณภาพมากขึ้นทุกทีไม่ต่างจากการหลอกขายปริญญาต้มตุ๋นกันซึ่งๆ หน้า
แต่ที่อเมริกากลับไม่ใช่ คนอเมริกันที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป เมื่อเทียบกับพลเมืองทั้งประเทศแล้วยังมีน้อย วิถีอเมริกันถูกกำหนดให้ช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย อย่างน้อยตามข้อกฎหมายก็ตั้งแต่อายุ 18 ปี อเมริกันหลายคนออกจากบ้านในช่วงอายุราวๆ นี้ พวกเขาไปทำงานตามที่ต่างๆ และส่งเสียตัวเองเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย หรือ คอลเลจ ตามกำลังทรัพย์ และสติปัญญาที่ตัวเองมี ไปได้ก็มาก แต่ที่ล้มเสียกลางคันก็เยอะ แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่า เมื่อพวกเขาไม่จบการศึกษา หรือต้องออกจากคอลเลจกลางคันแล้วจะเป็นจะตาย
คนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากในอเมริกาไม่ได้จบปริญญาตรี พวกเขาอาศัยทักษะ และความสามารถจากประสบการณ์การทำงาน การจ่ายค่าตอบแทนในอเมริกาไม่เหมือนกับเมืองไทย เขาจะพิจารณาจากประเภทของงาน ความเสี่ยง ระยะเวลาการทำงาน และความยากง่ายของการทำงาน
คนทำงานที่เคาน์เตอร์ธนาคาร แต่งตัวดี หรือที่เรียกกันว่า Teller ได้เงินค่าจ้างน้อยกว่า คนงานก่อสร้าง และไม่ใช่ได้น้อยแบบธรรมดา แต่น้อยมาก เมื่อเทียบกับคนทำงานในภาคสนาม พนักงานแบงก์อาจได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำไม่เท่าไหร่นัก ขณะที่คนงานแบบกรรมกรอาจได้รับค่าแรงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำราว 4 ถึง 5 เท่า ไม่แปลกที่คนงานเหล่านี้ มีสิทธิที่จะใช้รถ ใช้ของ หรือกินอาหารในร้านดีๆ มากกว่าพนักงานแบงก์ที่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า
ในอเมริกานั้น การงานเสมือนเป็นหน้าที่ และเป็นสารัตถะของชีวิต พอเลิกหรือออกจากงาน ทุกคนก็เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นชั้นนายพล หรือพนักงานทำความสะอาดห้องส้วม ไปกินข้าวที่ห้องอาหารเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือสิทธิของกันและกัน
เมื่อคราวผมไปเยือนค่ายทหาร Ft. Hood ที่อยู่เมืองซานแอนโทนิโอ รัฐเท็กซัส หากคุณไปซื้อของในบีเอ็กซ์(Base Exchange) ไม่ต้องแปลกใจหากจะเห็นนายทหารชั้นนายพล มีดาวประดับเต็มบั้ง ยืนเข้าเข้าคิวซื้อของเหมือนชาวบ้านทั่วไปร่วมกับนายทหารยศต่ำกว่า(ประเภทลูกพล)
ที่เมืองไทยนั้น อาจไม่จำเป็นต้องอธิบาย เพราะเชื่อว่า คนไทยแทบทุกคนสามารถมองภาพตัดกันที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะเมืองไทยมีวัฒนธรรมอำนาจนิยมในกองทัพอย่างชัดเจน
นี้เป็นโครงสร้างทางวัฒนธรรมด้วยประการหนึ่ง ที่สั่งสมกันมาแตกต่างกันเมื่อเกิดค่านิยม ในเรื่องการเห่อปริญญาบัตร(ดีกรี) ที่ส่งผลถึงกระแสความเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมในสังคมไทย นั่นคือ การมุ่งแสวงหาดีกรีไว้ประดับฝาบ้าน หรือเพื่อใช้วางโตโอ้อวดกันและกัน
เรื่องการส่งเสียลูกเรียนหนังสือของพ่อแม่ ความจริงเกิดขึ้นไม่จำเพาะแต่คนไทยเท่านั้น แต่ดูเหมือนมันเป็นวัฒนธรรมของคนเอเชียทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนจีน คนเกาหลี คนเวียดนาม หรือคนฟิลิปินส์ ที่ไม่ยอมปล่อยลูกให้โตชนิดที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อแม่ ผู้ปกครองของนักเรียนเชื้อชาติเอเชียในอเมริกาเองก็ปฏิบัติคล้ายกันกับพ่อแม่ผู้ปกครองในแต่ละประเทศมาตุภูมินั้นๆ
ตัวอย่างที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาเอเชียเป็นจำนวนมากนั้น ส่วนใหญ่พ่อแม่ชาวเอเซียส่งเสียให้ลูกเรียน เรียนอย่างเดียวไม่ต้องทำงาน หรืออาจทำงานบ้าง ไม่ซีเรียส นิดๆ หน่อยๆ
เพราะค่านิยมในเรื่องวุฒิบัตรที่มีมากนั่นเอง บางทีก็ผลักดันให้นักศึกษาบางคน มุ่งมั่นแต่เพียงแค่จบปริญญาเท่านั้นเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงสถาบัน หรือคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควร ไม่ว่าสถาบันการศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่อย่างไร ขอให้จบ และได้ชื่อว่า ได้ดีกรีจากเมืองนอก แต่ละปีจึงมีผู้จบมหาวิทยาลัยหรือคอลเลจเอกชนในอเมริกาจำนวนมาก
เกี่ยวกับคุณภาพของสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ สำนักงานข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ.ของไทยวางมาตรฐานไว้ค่อนข้างดีพอสมควร ก.พ.รับรองมาตรฐานสถาบันการศึกษาในอเมริกาบางแห่งเท่านั้น ผมเข้าใจว่า คนในเมืองไทย โดยเฉพาะบุคคลในวงการการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจในประเด็นนี้ได้ดี
หลายคนพูดกันปาวๆ ที่เมืองไทยว่า ฉันจบปริญญาโท ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยที่อเมริกามา บางทีมหาวิทยาลัยที่อ้างถึงก.พ. ไม่รับรองวิทยฐานะก็มี เป็นคล้ายๆ พวกต้มตุ๋นไป
มหาวิทยาลัยในอเมริกาจำนวนมากเปิดบริการการเรียนการสอนผ่านสื่อหลายรูปแบบ ยิ่งตอนนี้แล้วสามารถเรียนได้ทางอินเตอร์เน็ตหรือผ่านระบบออนไลน์ ไม่จำเพาะแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทั่วโลก
สถาบันการศึกษาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจที่มีการลงทุนและมุ่งหวังทำกำไร เหมือนเช่นธุรกิจแขนงอื่นๆ ยิ่งตอนเศรษฐกิจแย่ด้วยแล้ว หลายแห่งแข่งกันหานักเรียนเพื่อเรียนในสถาบันของตน มีการโทรหาแบบจี้ถึงตัวรายวัน จัดส่งโบรชัวร์ หรือเอกสารรายละเอียดของหลักสูตรที่สถาบันเหล่านี้เปิดแบบถึงบ้าน
จนถึงเวลานี้และที่ผ่านมาหลายปี อเมริกาสามารถทำรายได้จากการศึกษาจำนวนมหาศาล แนวโน้มใหม่ที่เห็นในตอนนี้ คือ มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาของอเมริกันกำลังรุกเข้าไปเปิดการสอน ในจีน และประเทศที่มีกำลังซื้ออื่นๆ ทั่วโลก
ระบบการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย หรือคอลเลจของอเมริกานั้น ไม่จำกัดสิทธิในการศึกษาแต่ละสาขาวิชาเอกหรือแต่แม้กระทั่งในเรื่องของสถาบันการศึกษา เพียงแต่ผู้สมัครเข้าเรียน จะต้องผ่านเกณฑ์หรือมีคุณสมบัติตามที่แต่ละสถาบันกำหนด หากเป็นไปตามเกณฑ์แล้ว ก็สามารถเข้าเรียนได้เลย รวมกระทั่งการไม่จำกัดในเรื่องของอายุ หมอหลายคนจบออกมา เมื่ออายุเกิน 40 ขึ้นไปแล้วก็มี เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่ในอเมริกาช่วยเหลือส่งเสียตัวเองเล่าเรียน อาจผ่านทุนกู้ยืม หรือวิธีการอื่นๆ
ที่เขตแอล.เอ. เมื่อก่อนมีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งโฆษณานักโฆษณาหนาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น รวมถึงหนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับ คนไทยชอบไปเรียน และจบที่นั่นกันมาก ก.พ.ก็ไม่รับรองวิทยะฐานะ ผมไม่ทราบว่าปัจจุบัน สถาบันแห่งนี้ได้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาจนก.พ.ประกาศยอมรับแล้วหรือยัง
ถ้าเทียบกันแล้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้คงไม่ต่างมหาวิทยาลัยห้องแถวในอเมริกานั่นเองครับ