พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

การกำหนดกฎหมายต่างๆ ของรัฐอเมริกัน มีรากฐานมาจากปรัชญา “มนุษยนิยม” เป็นส่วนใหญ่ หลายคนวิจารณ์ในเชิงตำหนิว่า นี่ทำให้มนุษย์หรือพลเมืองอเมริกันมีอัตตา (อีโก้) สูงมากกว่าชาติอื่นๆ หากแต่ไม่มีใครปฏิเสธว่า ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งนวัตกรรมด้านต่างๆ มากกว่าดินแดนใดในโลกนี้ นับตั้งแต่ด้านเทคโนโลยีหรือด้านวิทยาศาสตร์ตลอดถึงด้านสังคมก็ตามที

การความสำคัญกับ (ทรัพยากร) มนุษย์ นับตั้งแต่การจัดระบบการศึกษาเป็นพื้นฐาน หล่อหลอมให้สังคมอเมริกันมีความหลากหลายในตัวเองและยอมรับต่อความหลากหลายนั้น

ที่สำคัญความหลากหลายดังกล่าว ช่วยให้สังคมประเทศนี้พัฒนาไปได้ไวในแง่การเกิดขึ้นของนวัตกรรมต่างๆ แม้แต่งานในแขนงศิลปะ

ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว อเมริกันให้ค่ากับความหลากหลายในขั้นสูงสุด กิจการงานหรือวัตรปฏิบัติใดคล้อยตามกระแส กิจการหรือวัตรปฏิบัตินั้นอาจไร้ความสำคัญไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงปัจเจกหรือในเชิงธุรกิจก็ตาม

พูดง่ายๆ และตรงๆ ก็คือ ความหลากหลายหรือความแตกต่างคือ จุดขาย อเมริกันแข่งขันกันเพื่อที่จะเกิดขึ้นและเป็นอยู่อย่างแตกต่าง

กฎกติกา เป็นสิ่งที่อเมริกันให้ความสำคัญและเคารพ หากเป็นสิ่งที่มาทีหลังสิ่งที่เรียกว่า สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ ยิ่งคุณซื่อสัตย์ต่อความสามัญสำนึกมากของเท่าใด เมื่อนั้นคุณย่อมได้รับการยอมรับและเห็นใจจากชุมชนหรือสังคมอเมริกันมากเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่องค์กรอเมริกัน รัฐบาลอเมริกัน และหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการรณรงค์ (แคมเปญ)เกี่ยวกับเรื่อง สามัญสำนึกของมนุษย์ เช่น สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

เพราะการที่มนุษย์ประสบชะตาจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีสาเหตุจากการที่มนุษย์ขาดสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้หากขุดลงไปลึกๆ ก็เจอตาน้ำตาเดียวกัน ซึ่งก็คือ สำนึกของความเป็นมนุษย์

ในแง่มุมของศาสนา มนุษย์ให้พระเจ้า (God) รับรอง สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ในนามของพระเจ้า ซึ่งหากจิตของมนุษย์อยู่ในลักษณะ “วิสามัญสำนึก” มนุษย์ผู้นั้นก็ย่อมไม่ผ่านการรับรองจากพระเจ้า กล่าวคือ มนุษย์ขาดสำนึกความเป็นมนุษย์นั่นเอง

ในแวดวงความรู้ เป็นที่ทราบกันว่า ปรัชญามนุษยนิยมขึ้นในโลกตะวันตก และดูเหมือนอเมริกันจะก้าวหน้ากว่าชาติใดๆ แม้กระทั่งชาติยุโรป นักปรัชญาคนสำคัญอย่าง ฌ็อง-ปอลซาตร์(Jean-Paul Sartre) ที่เชื่อว่า มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีเสรีภาพที่จะเลือกทำในสิ่งที่เขาต้องการ และการที่มนุษย์สามารถเลือกได้ เสมอนั้นแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นยิ่งใหญ่โดยความเป็นมนุษย์เองการที่มนุษย์สามารถเลือกได้แสดงว่า ไม่มีสิ่งใดหรือใครสามารถบงการชีวิตของมนุษย์ได้ ชีวิตนี้เป็นของมนุษย์ มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถบงการให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยตัวเขาเองได้ แนวคิดของซาร์ต เป็นแนวความคิดแบบมนุษยนิยม (ขณะที่ซาร์ตเป็นทั้งนักเขียนและเป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลของโลก ในช่วงความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์สังคมนิยมกับเสรีนิยม จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามเย็น(cold war) อยู่หลายปี)

ในความเห็นของซาร์ต ปัจจัยภายนอก สามารถกระทำต่อมนุษย์แค่เพียงทางกายเท่านั้นเพราะร่างกายเป็นผลผลิตของธรรมชาติ แต่สำหรับจิตใจหรือวิญญาณที่เป็นแก่นแท้ของมนุษย์ ไม่มีอะไรที่จะเข้ามามีอิทธิพลได้ ทั้งมนุษย์เองมีสำนึกของมนุษย์เอง คือการเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์  นอกเหนือไปจากคำกล่าวของเฮเมิงเวย์(Ernest Miller Hemingway) นักเขียนอเมริกันผู้โด่งดังที่ว่า “มนุษย์ถูกทำลายได้แต่ไม่อาจถูกทำให้พ่ายแพ้ได้”

นอกจากนี้ความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทั้งในด้านความคิดและการกระทำยังปรากฎในงานเขียนของนักปรัชญาตะวันตกอีกหลายท่านด้วยเห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง การปกครอง หลักมนุษยนิยมดังกล่าวนำมาซึ่งหลักการประชาธิปไตย 3 ประการ คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพซึ่งหลักการนี้เน้นไปที่การจัดการในเรื่องความเป็นอยู่ของสังคมมนุษย์โดยตัวของมนุษย์ (พลเมือง)เอง กล่าวคือ เบื้องแรกต้องเคารพความเป็นมนุษย์ด้วยกันเองเสียก่อน

ดังนั้น “ลักษณะดียวกันของมนุษย์ทั้งมวล” ก็คือ สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ที่เชื่อว่ามีเหมือนกันหมด โดยไม่จำกัดเพศ ชนชั้นวรรรณะหรือฐานะ ระบบการเมืองการปกครองของอเมริกันจึงตั้งอยู่บนฐานของการมอบความเป็นใหญ่ให้กับสามัญสำนึกของมนุษย์

กระบวนการยุติธรรมก็คือ หนึ่งในนั้น เพราะควาเชื่อที่ว่า ความยุติธรรมอยู่ในสามัญสำนึกของมนุษย์เสมอ

สำหรับพระพุทธศาสนา ซึ่งมีแนวคำสอนมนุษยนิยมเช่นกัน  เพราะปฏิเสธการควบคุมกำกับหรืออาณัติจากของปัจจัยนอก พระพุทธองค์ตรัสทำนองว่าความเป็นไปของมนุษย์ขึ้นอยู่กับการกระทำ(กรรม)ของมนุษย์เองมนุษย์ทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์  สามัญสำนึกของ มนุษย์จึงย่อมได้แก่ เมื่อมนุษย์คนหนึ่งรู้ว่าสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นอย่างไร ตัวเองต้องการสุขหรือทุกข์ ? ก็ย่อมต้องรู้แก่ใจว่ามนุษย์คนอื่นๆ ต้องการและไม่ต้องการในสิ่งเดียวกันกับตนด้วยเช่นกัน

สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์  จึงสัมพันธ์กับสิทธิของความเป็นมนุษย์ (สิทธิมนุษยชน /human right)  ซึ่งตะวันตกให้สำคัญมากและเป็นหลักการสากลในแง่ความเหมือนกันของมนุษย์ทั้งมวล (สำนึกตามธรรมชาติ)

ความเชื่อมั่นในตัวตนและศักยภาพของมนุษย์ด้วยกันเองของสังคมตะวันตกจึงสูง หลังจากที่พวกเขาผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งมายาวนาน ประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์จะต้องคิดและเป็นอยู่อย่างไร  เพื่อให้เกิดความเบียดเสียดขัดแย้งเชิงการทำร้ายซึ่งกันและกันให้น้อยที่สุด

ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านความคิด เพราะมนุษย์แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แต่ก่อนเมื่อมนุษย์คิดต่างกัน มนุษย์อาจทำร้ายฝ่ายที่คิดไม่เหมือนตน  แต่คุณสมบัติที่ดีของมนุษย์อีกประการก็คือ การสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นๆได้ทำให้มนุษย์พัฒนาความคิดและรูปแบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติขึ้นมาได้ ซึ่งในรูปแบบของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติดังกล่าว คือ การวางกติกากลางและเคารพต่อกติกากลางนั้น

ความปรารถนาต่อเสรีภาพของมนุษย์ส่วนหนึ่งถูกกล่าวถึงโดย รุสโซ (Jean – Jacqnes Rousseau) ที่กล่าวว่า เสรีภาพเป็นสิ่งควบคู่กับสังคม แต่เมื่อมนุษย์ต่างต้องการเสรีภาพเหมือนกัน (เสรีภาพเป็นสำนึกปรารถนาสากลอย่างหนึ่งของมนุษย์) ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งจากการใช้เสรีภาพ ของแต่ละคนไปล้ำเส้นเสรีภาพของมนุษย์คนอื่น  และเพื่อไม่ให้มีการจำกัดเสรีภาพโดยรัฐหรือใครก็ตามจนกลายเป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมไป รุสโซได้เสนอให้มนุษย์สร้างเจตน์จำนงร่วม (General will) ซึ่งเป็นหลักในการนำสังคม เป็นเจตน์จำนงที่มุ่งสู่ความปรารถนา “ที่เหมาะสม”ของมนุษย์ทุกคน มิใช่การคำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะตนและเฉพาะกลุ่ม อาจเรียกว่า เป็นเจตน์จำนงของมนุษย์ในสังคมหรือในชาติ

สำหรับกระบวนการยุติธรรมในประเทศตะวันตก สิ่งที่พวกเขา(ประชาชน) ได้กลั่นกรองแล้ว จากประสบการณ์ร้อน-หนาวในอดีตก็คือ การหวนกลับไปหาสามัญสำนึกของมนุษย์ กระบวนการยุติธรรมในสหรัฐอเมริกา จึงเคารพสามัญสำนึก ยกให้สามัญสำนึกของมนุษย์เป็นสิ่งมีค่าสูงสุด มองว่าโดยสำนึกแล้วมนุษย์นั้น รักความยุติธรรม  เมื่อตนเองต้องการความยุติธรรม ดังนั้น มนุษย์คนอื่นก็ต้องการความยุติธรรมเช่นกัน

จริงอยู่มนุษย์อาจมีอคติ  แต่อคติของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดจากผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ หากตัดความเกี่ยวพันเรื่องผลประโยชน์ทั้งเบื้องหลัง ปัจจุบันและเบื้องหน้าออกไป ความยุติธรรมในใจของมนุษย์ก็คงเป็นไปตามปกติเช่นเดิม

จึงเป็นที่มาของระบบยุติธรรมของอเมริกัน ที่กำหนดให้มีคณะลูกขุน (jury duty) ที่ทำหน้าที่ตัดสินอรรถคดีต่างๆมาจากมนุษย์ (ประชาชน)ทั่วไปและอย่างหลากหลาย คนที่มาทำหน้าที่นี้ ต่างผ่านประสบการณ์การใช้ชีวิตรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบมาก่อนไม่มากกน้อย  เมื่อพวกเขาเข้าไปอยู่ในศาล ฮอร์โมนจากต่อมสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ผู้รักความยุติธรรมย่อมต้องหลั่งออกมาเสมอ

ฮอร์โมนจากต่อมสามัญสำนึกเหล่านี้ เชื่อกันว่า มีอยู่ในความเป็นมนุษย์ปุถุชน ผู้มีทั้งโกรธ  โลภ หลง และความสงสารเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเรียกมันว่าคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์หรือไม่ก็ตาม เพราะมีแต่สำนึกของมนุษย์เท่านั้นที่สามารถแทงทะลุข้อเท็จจริงของความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ระบบยุติธรรมของอเมริกัน จึงถูกออกแบบมาเพื่อสามัญสำนึกของมนุษย์โดยเฉพาะและออกแบบโดยอาศัย ความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ทั้งเชื่อว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ทุกสาขาอาชีพเป็นตุลาการได้หมด ทั้งปกติในชีวิตประจำวัน มนุษย์ก็ทำหน้าที่ในการตัดสินนี้อยู่แล้ว ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวของมนุษย์เองและที่เกิดขึ้นกับเพื่อน ของพวกเขา

สำหรับระบบอเมริกัน“วิสามัญสำนึกของมนุษย์” ที่อาศัยความรู้ เช่น ความรู้ด้านกฎหมายบ้าง อาศัยอายุงานบ้าง อาศัยประสบการณ์ในการทำงานบ้าง อาศัยตำแหน่งบ้าง เป็นเครื่องตัดสินชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ใช้ไม่ได้และขาดความยุติธรรม

มีแต่ “สามัญสำนึกภายใน”อันเปล่าเปลือยของมนุษย์ตะหาก ที่ทำให้อคติ ความลำเอียงในการชี้ชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันลดเหลือน้อยที่สุด หาใช่ความเป็นผู้รู้ เป็นนักกฎหมาย หรือความมีตำแหน่งอาชีพเป็นโน่นนี่แต่อย่างใดไม่ เพราะความรู้และตำแหน่งต่างๆ เป็นหัวโขนซึ่งเป็นของหลอกตาเท่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *