พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
มิติของงานหรือหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือ สตม.โดยทั่วไปทั่วโลกนั้น มีอยู่ 2 มิติใหญ่ๆ ครับ ได้แก่ หนึ่ง มิติด้านความมั่นคงปลอดภัย (security duties) และสอง มิติด้านเศรษฐกิจ (economic duties) ซึ่งทั้งสองมิติดังกล่าวนี้เป็นจุดเน้นของงานตม. ทั้งสองส่วนคือ ในแง่นโยบายและแง่ปฏิบัติการ
ไม่ว่าจะเป็นมิติของความมั่นคง (ปลอดภัย) และมิติด้านเศรษฐกิจต่างก็เชื่อมถึงนโยบายของรัฐทั้งสิ้น มิติของความมั่นคงปลอดภัยนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า งานตม. เป็นด่านหน้าของการรักษาความปลอดภัยของประเทศหรือรัฐที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น การสกรีน (ตรวจสอบ) ผู้เดินทางเข้าเมืองจากต่างประเทศว่าเป็นบุคคลที่จะสร้างปัญหาด้านความปลอดภัยให้กับพลเมืองของรัฐหรือไม่ บุคคลเหล่านั้นมีประวัติเป็นอาชญากรหรือจะเข้ามาทำมิดีมิร้ายต่อสถานที่สำคัญและพลเมืองของรัฐหรือไม่ เป็นต้น
ว่าไปแล้วงานในแทบทุกประเทศ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเองให้ความสำคัญกับงานตรวจคนเข้าเมืองทั้ง สองมิติดังกล่าวในแง่ของความสมดุล ไม่ให้กระทบหรือเกิดผลเสียกับส่วนใดส่วนหนึ่ง กล่าวคือ พลเมืองหรือรัฐได้ประโยชน์ทั้งในด้านของความมั่นคงปลอดภัยและในด้านเศรษฐกิจ เพราะการกำหนดนโยบายตม.ที่เข้มข้นหรือเน้นไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปจะส่งผลต่ออีกด้านหนึ่งเสมอ
ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงให้ความสำคัญกับงานตม.อย่างมาก มีการแยกงานตม. ออกมาเป็นหน่วยงานเฉพาะหน่วยงานหนึ่งของรัฐ เมื่อก่อนเรียกย่อว่า INS ต่อมาในสมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช มีการแยกออกมาเป็นกระทรวงความมั่นคงภายในหรือ Homeland Security หรือที่รู้จักในชื่อย่อ DHS เป็นกระทรวงใหม่ล่าสุด แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของงานต่างด้าวอย่างมาก เพราะคนอเมริกันอยู่ร่วมกันหลายเชื้อชาติมากที่สุด นโยบายตม.ของรัฐบาลอเมริกัน จึงไม่ได้พุ่งเป้าประสงค์ไปที่ประเด็นความมั่นคงเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งผลด้านอื่นๆ อีกด้วย ที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงงานตม.กับเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนอเมริกันที่อิงหรือขึ้นอยู่กับแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยเฉพาะเฉพาะแรงงานต่างด้าวเชื้อสายละติน (Latino) ส่วนใหญ่มาจากประเทศแถบลาตินอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในบรรดาแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด
แน่นอนว่างานตม.ไม่สามารถดำเนินไปด้วยตัวของมันเองแต่เพียงลำพังได้ หากยังต้องอาศัยการทำงานร่วมกันหรือการประสานกับหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศ อาทิ กรมการสงสุล หรือหน่วยงานทางด้านความมั่นคงอื่นๆ ขึ้นกับพันธกิจเฉพาะที่ต้องการกระทำ เช่น ด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมระหว่างประเทศ ตลอดถึงด้านสาธารณสุข เป็นต้น
โดยภาพรวมแล้วงานตรวจคนเข้าเมืองจึงมีความสำคัญต่อความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ อย่างยิ่ง ผมพูดเรื่องนี้ หลังจากที่ได้ยินเสียงบ่นของเพื่อนๆ ทั้งไทยและอเมริกันที่เดินทางไปเมืองไทยหลายคนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับมาตรการหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับตม.ของไทยที่สร้างปัญหาให้กับพวกเขา โดยในจำนวนคนเหล่านี้นั้นแบ่งวัตถุประสงค์ของการเดินทางไปเมืองไทยออกเป็น 2 พวก
พวกแรกคือ พวกที่ไปเมืองไทยในฐานะของนักท่องเที่ยวทั่วไป
พวกที่สองคือ พวกที่ไปเมืองไทยในฐานะคนไทย คือกลับไปเยี่ยมบ้านและส่วนหนึ่งกลับไปรีไทร์ (เกษียณ)ที่เมืองไทย
จะเห็นได้ว่าผู้เดินทางทั้งสองพวกดังกล่าว สัมพันธ์กับประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาทั้งหมด ต่างต้องมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องไปใช้จ่ายในเมืองไทย แต่ประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาก็คือ การอำนวยความสะดวกในเรื่องวีซ่าสำหรับอยู่ในประเทศไทย ที่ปกติบุคคลที่เดินทางไปเมืองไทย (ที่ไม่ใช่สัญชาติไทย) ต้องขออนุญาตจากสถานกงสุลไทยในอเมริกาตามเมืองต่างๆ ซึ่งตามปกติแล้วตามสนธิสัญญาระหว่างไทย-อเมริกัน คนอเมริกันได้วีซ่าอัตโนมัติ (ในกรณีที่ไม่ไปขอกับสถานกงสุล) ประมาณ 1 เดือน
มองแค่นี้ยังไม่เป็นปัญหาครับ หากคนอเมริกัน เช่น นักท่องเที่ยวเข้าไปเมืองไทย และอยู่ไม่เกินหนึ่งเดือน แต่หากอยู่เกินพวกเขาต้องโดนบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งหากว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วเดือนหนึ่งสำหรับการเดินทางไปไทยหรือประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของคนอเมริกันถือว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยมาก โดยเฉพาะหากเทียบระยะทางและระยะเวลาของการเดินทางจาก port หรือเมืองต่างๆ ในอเมริกาไปยังเมืองไทยที่ใช้เวลานานมากกว่าเดินทางไปยังภูมิภาคใดๆ ของคนอเมริกัน
น่าแปลกที่ว่าประเด็นปัญหานี้กลับไม่ได้นำเสนอรัฐบาลโดยสำนักงานการท่องเที่ยว (ททท.)ภาคพื้นอเมริกาทั้งที่แอล.เอ.และนิวยอร์คมาก่อนเลย ทั้งที่รัฐบาลไทยมีสำนักงานททท.เหล่านี้เอาไว้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือต้องการดึงเงินตราต่างประเทศเข้าไทยนั่นเอง หากททท.ทั้งสองสำนักงานยังคงเพิกเฉยรัฐบาลก็น่าควรที่จะยุบหน่วยงานรัฐที่กินเงินงบประมาณ (ภาษี)เหล่านี้เสีย
ทั้งนี้ พบว่าโปรแกรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวอเมริกันส่วนใหญ่ถ้าไปเมืองไทยเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว มักใช้เมืองไทยเป็นฐานในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม เป็นต้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอเมริกันจำนวนมากที่มีปูมหลังเชื่อมโยงกับสงครามอินโดจีน ที่รับฟังได้ว่าพวกเขาและครอบครัวเดินทางไปเมืองไทยและประเทศต่างๆ เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ทำนองนี้ซึ่งที่ผ่านมาททท.และหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องไม่เคยได้สนใจเรื่องนี้เลย หากหน่วยงานเหล่านี้สนใจในเรื่องการจัดทัวร์เล่นกอล์ฟที่เมืองไทยในบรรดาคนไทยกันเองจำนวนหนึ่งมากกว่า
ประเด็นก็คือ ถึงนาทีนี้วีซ่าอัตโนมัติหนึ่งเดือนสำหรับคนอเมริกันที่เดินทางไปเที่ยวในเมืองไทยนั้นน้อยเกินไป จากการพูดคุยกับเพื่อนๆอเมริกัน ผมพบว่าส่วนมากอยู่เกินหนึ่งเดือน (โถ…กว่าจะเดินทางไปถึงเมืองไทยก็หืดขึ้นคอแล้ว) ถูกระบบวีซ่าบังคับให้เดินทางออกนอกระเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เดินทางไปยังประเทศเพื่อนก่อน เช่นออกไปกัมพูชา ลาว มาเลเซีย หรือพม่า เป็นต้น ช๊อปพาสพอร์ตกลับไทยอีกครั้งเพื่อยืดระยะเวลาของการเที่ยวไทยให้ยาวนานขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้วีซ่าแบบนี้ให้นักท่องเที่ยวจำนวน 15 วัน เท่านั้น
จึงแปลกประหลาดที่ว่าระบบวีซ่าของไทยในปัจจุบันกำลังบีบบังคับ (force) ให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยต้องเดินทางไปใช้จ่ายเงินยังประเทศเพื่อนบ้านแทนที่จะให้ใช้จ่ายอยู่แต่ในเมืองไทย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยให้วีซ่าอัตโนมัติกับนักท่องเที่ยวอเมริกันมากกว่าหนึ่งเดือนแทบทั้งสิ้น ไม่เว้นแต่มาเลเซียที่ให้วีซ่าถึงสองเดือนกับนักท่องเที่ยวเหล่านี้
เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้น แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่อยู่ในภาคส่วนของเศรษฐกิจโดยตรง มิหนำซ้ำยังกระทบกระเทือนไปถึงการทำงานของสตม.ที่ต้องทำงานหนักขึ้น มิใช่หนักขึ้นเฉพาะภาคส่วนของรัฐเท่านั้น หากแต่ในภาคส่วนของนักท่องเที่ยวก็หนักขึ้นอีกด้วยแทนที่จะมาเที่ยวอย่างสบายๆ กลับต้องพบกับความยุ่งยากด้านพิธีการตม.ที่ยุ่งยากน่ารำคาญ แถมยังสื่อสารกันลำบากอีกด้วย เพราะงานตม. โดยเฉพาะงานตม.ของไทยดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นด้านความมั่นคงเป็นหลัก แต่ถูกเพิกเฉยในประเด็นผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
ผมจะพูดเรื่องนี้ในตอนหน้าครับ