พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ข่าวภัยแล้งของเมืองไทยแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เป็นสัญญาณของธรรมชาติที่ไม่ปกติ จนถึงกับผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับระบุว่า มันจะกลายเป็นวิกฤตขึ้นได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีมาตรการป้องกันและแก้ไขหรือรับมืออย่างจริงจัง
คนกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบ คือ เกษตรกรชาวนาในแถบที่ราบลุ่มเจ้าพระยาภาคกลางของไทยที่จะไม่มีน้ำมาใช้ในการทำนาปี ต้องย้ำว่าเป็น “นาปี”เสียด้วยซ้ำ มิพักต้องพูดถึงนาปรังซึ่งยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะกรมชลประทานไม่ส่งน้ำมาให้
ปัญหาสำคัญประการต่อมาคือ ปัญหาน้ำใช้หรือน้ำประปาขาดแคลนเพราะแหล่งน้ำดิบที่การประปาเคยสูบมาใช้แห้งเหือด ทำให้คาดการณ์ได้ว่า กรุงเทพอาจจะเป็นเมืองที่มีปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้อันในอนาคตอันใกล้นี้
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ความสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่เคยท่องจำกันอย่างภูมิใจนักหนาว่า “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ของเมืองไทยกำลังหมดไป เพราะน้ำเป็นทรัพยากรใกล้ตัวที่สำคัญอย่างมากเมื่อเทียบกับทรัพยากรอื่นๆ ที่สำคัญคือ นี่คือการบ่งบอกว่าการที่จะไปฝากความหวังไว้กับธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาอีกต่อไป และนี่คือภาพแห่งความร่วงโรยของเวนิชตะวันออกที่กำลังเกิดขึ้น และอาจส่งปัญหาร้ายแรงต่อผู้คนเมืองหลวงของไทยในอนาคต
รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเช่นเดียวกันกับเมืองไทย นอกจากรัฐแห่งนี้ได้มีการออกกฎหมายจำกัดการใช้น้ำของประชาชนแล้ว รัฐเดียวกันนี้ยังวางแผนดึงน้ำดิบจากรัฐใกล้เคียงและแหล่งอื่นมาใช้อีกด้วย รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพราะตระหนักถึงความไม่แน่นอนของปรากฏการณ์ธรรมชาติ เพราะจากสถิติพบว่า น้ำจากหิมะจากภูเขาลดน้อยลงทุกปีจากปรากฏการณ์โลกร้อนและปรากฏการณ์ ธรรมชาติอื่นๆ ทีเกิดขึ้นบนโลก
สรุปก็คือสถานการณ์ธรรมชาติทั้งที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์และเกิดจาก ธรรมชาติไม่แน่ไม่นอนอีกต่อไป รัฐแห่งนี้จึงจัดการประชุมวางแผนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำร่วมกับรัฐ อื่นๆ เช่น เนวาดา โคโลราโด เป็นต้น โดยรัฐบาลกลางอเมริกันลงมาให้การสนับสนุน เพราะปัญหาทรัพยากรน้ำถือเป็นปัญหาระดับชาติ ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกฝ่ายทีเกี่ยวข้อง ถ้อยแถลงของบารัก โอบามา หลายครั้งก็ชัดเจนว่าเขาปรารถนาที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาน้ำกินน้ำใช้ในรัฐทาง แถบตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ทางด้านกรุงเทพ, เราไม่แน่ใจว่ารัฐบาลทหารได้มีการวางแผนเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแล้วหรือไม่ อย่างไร เพราะนับแต่มีการวางแผนตามโครงการจัดการทรัพยากรน้ำในที่ราบลุ่มภาคกลาง ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เรื่องก็เงียบหายไป หากยังคงฝากชะตากรรมของชาวบ้านไว้กับฝนฟ้าอากาศตามธรรมชาติแบบเดิมๆ โครงการทั้งระยะสั้น-ยาวยังไม่ถูกดำเนินการและเดินหน้า ทั้งที่เรื่องน้ำ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ของประชาชนการวางแผนในการจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะทรัพยากรน้ำเป็นอีกวิสัยทัศน์หนึ่งที่มี ความร่วมสมัยและสำคัญต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคต เพราะถ้าไม่มีน้ำ ไม่ว่าชุมชมใดก็ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้
ขณะเดียวกันปรากฏการณ์ธรรมชาติของโลกก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก พื้นที่ราบลุ่มภาคกลางยังได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีอีกด้วย อย่างเช่น พื้นที่อยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง กรุงเทพและปริมณฑล พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี นอกเหนือไปจากผลกระทบที่เกิดจากการหนุนของน้ำทะเลจากอ่าวไทย ทำให้เกิดปัญหาน้ำเค็มไหลย้อนเข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นปัญหาการผลิตน้ำประปาอีกส่วนหนึ่ง
โครงการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของเมืองไทยก่อนหน้านี้ไม่ได้คำนึงอย่างเชื่อมโยงถึงระบบผังเมือง โครงการก่อสร้างขนาดต่างๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สัมพันธ์กับการใช้น้ำโดยตรง ยังไม่มีการพูดถึงแผนการในการจัดสรรทรัพยากรน้ำว่าควรเป็นอย่างไร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาซ้ำซ้อนเช่นเดียวกับปัญหาน้ำท่วม เพราะทั้งปัญหาน้ำท่วมและปัญหาฝนแล้งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกปีจากความไม่แน่นอนของสภาพ การณ์ทางธรรมชาติ
รวมถึงปัญหาสำคัญที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งที่จะเกิดขึ้นควบคู่กันกับ ปัญหาฝนแล้ง คือปัญหาแผ่นดินทรุดตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่มีการก่อสร้างและมีการดึงน้ำจากใต้ดินมา ใช้ในปริมาณมาก เพราะฉะนั้นแทนที่จะวางแผนจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกัน ปัญหาน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว รัฐบาลและหน่วยงานทีเกี่ยวข้องก็ควรวางแผนเพื่อบริหารจัดการในกรณีที่เกิดปัญหาน้ำแล้งอีกด้วย เพราะปัญหานี้กระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวเมืองกรุงและผู้คนรอบนอกโดยตรง
ปัญหาฝนแล้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่ที่เมืองไทยที่เดียว ในอเมริกาเวลานี้ เขื่อนหลายแห่งก็มีปัญหาระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายปี เช่น เขื่อนฮูเวอร์ที่กั้นแม่น้ำโคโลราโดระหว่างรัฐเนวาดากับอริโซน่า และเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำที่สำคัญของเมืองกลางทะเลทรายอย่างลาสเวกัส ระดับน้ำลดลงทุกปีเช่นกัน เนื่องจากปริมาณหิมะบนภูเขาร๊อกกี้ในรัฐโคโลราโดลดลง ทำให้เมืองลาสเวกัสต้องมาตรการ (ออกกฎหมาย) ควบคุมการใช้น้ำมาหลายปีแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นทางเมืองลาสเวกัสที่อยู่ในคลาร์คเค้าน์ตี้ก็ยังมีแผนที่จะเพิ่มมาตรการกดดันให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำลงไปอีกในบางภาคส่วน เช่น การคิดเพิ่มค่าน้ำแบบขั้นบันไดที่ผู้ประกอบการที่ใช้น้ำมากจำเป็นต้องจ่ายค่าน้ำในอัตราที่แพงขึ้น เพื่อกดดันให้ผู้ประกอบการใหญ่ๆ เช่น คาสิโน สนามกอล์ฟ ได้มีการวางระบบการใช้น้ำอย่างประหยัดมากขึ้นไปด้วย
ที่ลาสเวกัสนั้น การปลูกพืชหรือต้นไม้ที่ใช้น้ำในการบำรุงรักษาต้องได้รับอนุญาตจากทางเมือง (city) เสียก่อน มิใช่ว่าใครจะปลูกต้นไม้กี่ต้นก็ย่อมได้ นอกจากนี้การที่แคลิฟอร์เนียประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้น้ำจากเขื่อนหลายเขื่อนในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียที่มี อาณาเขตติดต่อกับรัฐเนวาดาถูกดึงไปใช้สำหรับเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียมากขึ้น โดยการจัดสรรทรัพยากรน้ำดังกล่าวอยู่ภายใต้ “คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ”จาก รัฐต่างๆ ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำโคโลราโด รัฐใดรัฐหนึ่งไม่สามารถมีเอกสิทธิ์และอภิสิทธิ์ในการจัดสรรน้ำเองได้ ต้องมีการประชุมหารือกันในรูปของคณะกรรมการดังกล่าว เพราะทุกรัฐต่างได้รับผลกระทบเหมือนกัน
สำหรับอเมริกา ปัญหาเรื่องน้ำถูกยกระดับให้ความสำคัญเป็นยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาล คองเกรสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างออกมากล่าวย้ำและให้ความสำคัญถึงปัญหานี้ผ่านสื่อบ่อยครั้งและแน่นอนว่าในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนี้ (2016) นโยบายเรื่องการบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศถูกหยิบยกขึ้นมาพูดจากแคนคิเดทประธานาธิบดี โดยทำเป็นแคมเปญเฉพาะเรื่องนี้
ภาพที่เห็นในขณะนี้ก็คือแคนดิเดททั้งพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตต่างออกโรงหาเสียงด้วยการประกาศยุทธศาสตร์เรื่องการจัดสรรทรัพยากรน้ำทั่วประเทศ ทั้งสองพรรคเห็นตรงกันว่ายุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องจำเป็นเร่ง ด่วนหรือเป็น “วาระแห่งชาติ”
ทุกฝ่ายต่างเห็นว่าพื้นที่ที่มีความจำเป็นในเรื่องการบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำอันดับแรกของรประเทศก็คือ พื้นที่ด้านตะวันตกที่มีแม่น้ำโคโลราโดไหลผ่าน เพราะแม่น้ำโคโลราโดเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเขตตะวันตกที่มีการใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อการเกษตร และเพื่อการบริโภค สายน้ำแห่งนี้หล่อเลี้ยงประชากรอเมริกันหลายล้านคน
ขณะที่พื้นที่ด้านบนของอเมริกานั้นมีทรัพยากรน้ำค่อนข้างสมบูรณ์กว่า อย่างเช่น น้ำตกไนแองการาที่เป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค แต่หลายฝ่ายทั้งฝั่งแคนาดาและอเมริกาก็มองว่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนไนแองการ่า ก็กำลังอยู่ในห้วงเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เนื่องจากปริมาณหิมะต้นน้ำลดลง โครงการยุทธศาสตร์ระยะยาวในการบริหารจัดการไนแองการ่าของทั้งแคนาดาและอเมริกาจึงเริ่มลงมือปฏิบัติไปแล้ว
การวางแผนเชิงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของอเมริกานั้นกระทำร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์การบริหารการบินและอวกาศหรือนาซ่า เพราะเขาคิดว่าน้ำ จะเป็นปัญหาและเป็นปัจจัยสำคัญชี้ชะตาของมนุษยชาติในอนาคต