พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ผมมองว่าการมุ่งโจมตีใคร หรือองค์กรใดก็ตามที่ติดต่อกับล็อบบี้ยีสต์หรือองค์กรล็อบบี้ในอเมริกา น่าจะเป็นเรื่องของความไม่รู้ ไม่เข้าใจกลไกการทำงานในด้านการเมืองและด้านธุรกิจ รวมถึงด้านกฎหมายของอเมริกันอย่างแท้จริง เพราะล็อบบี้เป็นงานหรือธุรกิจอย่างหนึ่งที่ดำเนินการอย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมายอเมริกัน มีมาเป็นเวลาเนิ่นนาน หลายทศวรรษ นับแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ล็อบบี้ จึงเป็นงานอย่างหนึ่งที่ถูกกฎหมายอเมริกัน เป็นงานบนดิน ไม่ใช่งานใต้ดินตามความเข้าใจของคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่รู้สึกว่าการล็อบบี้ เป็นงานน่ารังเกียจและมีเงื่อนงำใต้ดินหรือใต้โต๊ะ
หากแท้ที่จริงแล้ว งานล็อบบี้ ที่อาศัยผู้ล็อบบี้ หรือที่เรียกกันว่า “ล็อบบี้ยีสต์” นั้นอาศัยศิลปะการเจรจาต่อรองผลประโยชน์อย่างยิ่งยวด “ล็อบบี้ยีสต์”แต่เดิมนั้น หมายถึง ผู้ทำการแนะนำชักชวนสมาชิกรัฐสภาให้เห็นด้วยกับร่างกฎหมายต่างๆที่นำเสนอในสภา แต่ต่อมาภายหลังการล็อบบี้ไม่ได้ถูกจำกัด เพียงแต่ประเด็นทางด้านกฎหมายหรือด้านการเมืองเท่านั้น การล็อบบี้ ได้ขยายออกสู่เรื่องทางด้านเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ อีกด้วย
เราไม่สามารถแยกเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจ ออกจากกันได้ เพราะเป็นเรื่องว่าด้วยผลประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งในอเมริกานั้น แต่เดิมการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะต้องผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เสียก่อน ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวโยงไปถึงกลุ่มทุนที่ได้หรือเสียผลประโยชน์ กลุ่มเหล่านี้จึงต้องกระโดดออกมาปกป้องตัวเองผ่านการเจรจาต่อรองในลักษณะต่างๆ เพราะย่อมแน่นอนว่า ในทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจนั้น ไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด แต่จะต้องมีฝ่ายได้บ้างเสียบ้าง ความสำคัญของงานล็อบบี้ จึงอยู่การเจรจาเพื่อให้ฝ่ายของตนเองได้ประโยชน์จากช่องทางกฎหมายที่มีอยู่
ชีวิตนักการเมืองอเมริกันนั้น ต้องยืนอยู่บนความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ กับคะแนนเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ (ประชานิยม) ให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ยังไม่ได้ชื่อว่า เป็นนักการเมืองอาชีพ กล่าวคือ ในแง่ผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ในประเทศนั้น นักการเมืองก็ทิ้งไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันในแง่ของคะแนนเสียงของประชาชนก็มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน
เมื่อนักการเมืองยังต้องสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าวก็จะสนับสนุนนักการเมืองต่อไป และเพื่อให้นักการเมืองมีกำลังเข้าถึงประชาชน ซึ่งนั่นก็หมายถึง “ทุน” สนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้งนั่นเอง หากไม่มีกลุ่มประโยชน์คอยจุนเจือนักการเมืองก็ “อาจไปไม่รอด”เหมือนกัน ธรรมนูญและประเพณีทางการเมืองของอเมริกัน จึงระบุให้ “ล็อบบี้ยีสต์” เป็นอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่ง
อาชีพล็อบบี้ในอเมริกามีทำกันทุกรัฐ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า บริเวณที่มีผู้ทำอาชีพนี้หนาแน่นมากที่สุดได้แก่ ดีซีแอเรีย หรือพื้นที่ 3 รัฐ ได้แก่ เวอร์จิเนีย แมรี่แลนด์ และวอชิงตันดี.ซี. แต่กระนั้น นักล็อบบี้ที่ทรงอิทธิพลกลับพบได้มากที่สุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผู้ที่ทำอาชีพนี้สามารถดำเนินธุรกิจทั้งในรูปบุคคลและองค์กร อดีตนักการเมืองจำนวนไม่น้อย ที่พลิกผันตัวเองมาทำธุรกิจล็อบบี้ จนประสบผลสำเร็จ เช่น Dick Gepthardt อดีต สส.พรรคเดโมแครต ที่ทำเงินนับล้านดอลลาร์จากลูกค้าอย่าง Goldman Sachs ซึ่งเป็นบริษัทการเงินใหญ่ในอเมริกา แม้แต่ John Breaux ก็ผันตัวเองจากสมาชิกวุฒิสภา (ซีเนเตอร์) มาเป็นล็อบบี้ยีสต์เช่นกัน
จากสถิติพบว่า ในปี 2011 มีการใช้เงินเพื่อการล็อบบี้ในอเมริกามากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปีก่อนหน้านั้นการใช้เงินล็อบบี้สูงถึง 3,500 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในเขตดี.ซี.แอเรียแห่งเดียวและมีแนวโน้มว่าการใช้เงินเพื่อการล็อบบี้จะเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ปัจจุบันธุรกิจล็อบบี้ในอเมริกา ได้ขยายออกไปในธุรกิจหลายประเภท เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร และอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจด้านการคมนาคม ธุรกิจด้านพลังงาน ธุรกิจด้านการเกษตร ธุรกิจด้านการทหาร ฯลฯ โดยธุรกิจล็อบบี้ที่มีเงินไหลเวียนมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจด้านเงิน การประกันและอสังหาริมทรัพย์ คู่กับธุรกิจด้านสุขภาพ
ตัวเลขเงินไหลเวียนดังกล่าวขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองของอเมริกาด้วยว่า มีประเด็นใดที่มีการขับเคี่ยวชิงผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นสาธารณะบางประเด็น ที่ต้องผ่านการอนุมัติจากทั้ง 2 สภา คือ สภาบนและสภาล่าง ก็อาจต้องอาศัยการล็อบบี้กันหนักหน่วงหน่อย นอกเหนือไปจากการล็อบบี้ ยังรวมถึงการทำแคมเปญ ทำโฆษณา เพื่อให้ประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ได้เข้าใจร่วมกัน เพื่อให้มวลชนให้การสนับสนุนนโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ที่ต้องการผลักดัน
ในปัจจุบันพบว่า มีหลายบริษัทและแม้กระทั่งรัฐบาลต่างประเทศ จ้างบริษัทล็อบบี้อเมริกันให้ทำงานให้ตน ส่วนใหญ่เป็นการทำงานล็อบบี้ในเชิงธุรกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงการคงหรือขยายตลาดสินค้าเข้าไปยังตลาดอเมริกัน อย่างไรก็ตามมีหลายบริษัทล็อบบี้ที่ดำเนินการอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถต้องโทษตามที่บทบัญญัติกฎหมายระบุไว้ ถึงขั้นจำคุก
ประเทศในเอเชียที่มีชื่อ ในการว่าจ้างนักล็อบบี้ หรือล็อบบี้ยีสต์ในปัจจุบันมากที่สุด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ บางประเทศถึงกับจัดสรรงบประมาณเพื่อการล็อบบี้โดยเฉพาะ แม้ตอนหลังรัฐบาลพม่าโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เอง ก็มีการว่าจ้าง ล็อบบี้ยีสต์ที่วอชิงตันดี.ซี. เช่นกัน จนกระทั่งพม่าได้รับการยอมรับจากรัฐบาลอเมริกันในที่สุด (ร่วมกับการให้ปะชาธิปไตยกับประชาชน) ยุทธศาสตร์ที่ล็อบบี้ยีสต์อเมริกันวางไว้ในกรณีของพม่า ได้แก่ การวางแผนให้สมาชิกสภาฝ่ายอเมริกันพบปะกับตัวแทนของรัฐบาลพม่าในระดับต่างๆ มีการจัดงานเลี้ยงในโรงแรมย่านดี.ซี.แอเรีย โดยตัวแทนของรัฐบาลพม่า รวมถึงการเจรจาเพื่อให้สมาชิกคองเกรสและสมาชิกซีเนตอเมริกันทั้งสองพรรคเดินทางไปเยือนพม่าจนประสบผลสำเร็จ ปรากฏว่ามีสส.และสว.อเมริกันเดินทางไปพม่าอยู่หลายเที่ยว ก่อนที่รัฐบาลอเมริกันจะยกเลิกการคว่ำบาตรรัฐบาลเนปิดอว์ในที่สุด ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปิดประเทศของพม่าสำเร็จลงได้นั้น เป็นผลงานของลอบบี้ยีสต์อเมริกันส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ ในส่วนของการคืนความสัมพันธ์กับพม่านี้ ได้รับการผลักดันจากกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มด้วย เช่น กลุ่มธุรกิจพลังงานในอเมริกา เพื่อให้นักลงทุนอเมริกันมีโอกาสเข้าไปลงทุนในพม่า หลังจากที่พวกเขาต้องเสียโอกาสให้กับชาติอื่นไปมาก เหมือนกับบริษัทของสหภาพยุโรป ที่ปากว่าตาขยิบ ปากก็พร่ำบ่นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า แต่บริษัทของยุโรปบางรายกลับแอบไปลงในพม่า โดยเฉพาะกิจการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
เมื่อผมไปเยี่ยม “แคปปิตัลฮิล” หรือสภาคองเกรส ที่วอชิงตันดี.ซี. หลายปีมาแล้ว ผู้ที่พาผมเข้าไปยังสำนักงานของนักการเมืองระดับชาติของอเมริกัน มีอาชีพเป็นล็อบบี้ยีสต์อเมริกัน เขาทำงานด้านนี้มานานหลายปี รวมทั้งเคยทำงานกับอดีตนักการเมืองไทยบางคนที่เข้าใจระบบการล็อบบี้ของอเมริกันว่า การล็อบบี้เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง และเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก คุณลักษณะของเขา ก็คือเป็นผู้ที่รู้จักนักการเมืองจำนวนมากและหลากหลายความคิด ทั้งสองฝั่งไม่ว่าจะเป็นฝั่งรีพับลิกันหรือเดโมแครต เขาบอกผมครับว่า ไม่ว่าเรื่องใดล้วน ต้องอาศัยเทคนิคการล็อบบี้ทั้งนั้น แต่ต้องเป็นการทำงานที่อยู่ในกรอบของกฎหมายอเมริกัน
ล้อบบี้ยีสต์อเมริกันผู้นี้เล่าให้ฟังว่า นักธุรกิจและนักการเมืองไทยเข้าใจระบบล็อบบี้ในอเมริกาน้อยมาก ที่ผ่านมาจึงมีการว่าจ้างล็อบบี้ยีสต์ค่อนข้างน้อย มีแค่บริษัทใหญ่ของไทยบางรายซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติที่สนใจเรื่องนี้ (จนทำให้ก่อนหน้านี้เกิดคดีความเรื่องเงินบริจาคเข้าพรรคการเมืองอเมริกันบางพรรค ผ่านการประสานงานโดยคนไทยบางคน แต่อย่างไรก็ตามถึงตอนนี้บริษัทแห่งนี้ก็ไม่ได้ละความพยายามในการล็อบบี้ผ่านบริษัทล็อบบี้อเมริกัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุนในอเมริกา)
เขาเล่าให้ฟังครับว่า หลายปีมาแล้วที่รัฐบาลไทยไม่ได้สนใจหรือมีความพยายามที่จะใช้ล็อบบี้ยีสต์อเมริกัน และไม่รู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากงานล็อบบี้ได้อย่างไร ผู้นำไทยยังมีวิสัยทัศน์ไม่กว้าง พลอยทำให้เจ้าหน้าที่ด้านการทูตของไทย ตลอดถึงกงสุลในเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่สนใจงานล็อบบี้ไปด้วย จนท.ของไทยเหล่านี้ จึงไม่มีสายสัมพันธ์เชิงลึกกับทางฝ่ายอเมริกันเลย ไม่เหมือนกับเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของประเทศอาเซียนบางประเทศ เช่น กัมพูชา พม่า มาเลเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ ซึ่งมักมีการเชิญและพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับค่าย (บริษัท)ล็อบบี้ยีสต์อเมริกันต่างๆอยู่เป็นประจำ ทำให้มีโอกาสทราบความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะการออกกฎหมายของรัฐสภาอเมริกัน และนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่มีผลกระทบกับประเทศเหล่านั้น เช่นกฎหมายด้านการค้าการลงทุนในอเมริกา หรือประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค เป็นต้น
สรุปแล้ว หากมองถึงสายสัมพันธ์และความใกล้ชิดระหว่างนักการเมืองอเมริกันกับเจ้าหน้าที่ทูตของไทยและรัฐบาลไทย หรือกระทั่งนักการเมืองของไทย เรายังตกเป็นรองในแง่ของการเข้าถึงข้อมูลและสายสัมพันธ์อยู่มาก ด้วยเหตุที่ไทยไม่มีการลงทุนด้านงานล็อบบี้เอาเลย เป็นอาการหวัง “เอาประโยชน์ฟรีโดยไม่มีการลงทุน”
ฉะนั้น ใครใช้บริการนักล็อบบี้อเมริกันแสดงว่า เขาเข้าใจกติกาข้อนี้ของอเมริกัน รวมถึงเข้าถึงหัวใจของการล็อบบี้ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นใคร ที่สำคัญคือ งานล็อบบี้เป็นประเพณี เป็นระบบและกติกาของคนอเมริกัน
คนใดหรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่ออกมาโวยเรื่องการล็อบบี้ในอเมริกา เป็นเพราะตัวเขาเองตะหากที่เข้าไม่ถึง หรือไม่รู้เรื่องระบบงานล็อบบี้ในอเมริกามากกว่า