พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ตามวัดไทยต่างๆ แทบทุกวัดในอเมริกาคงมีการเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์กันแบบไทยๆ เช่นเดียวกับทางเมืองไทย ในขณะที่เมืองไทยอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อนทางโซเชียลมีเดียบางคนถามถึง“ลักษณะทางด้านความคิดของคนไทยในอเมริกา”ว่า ส่วนใหญ่เป็นแบบใด เสรีนิยม หรืออนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบไม่ง่ายครับ
เพราะความคิดทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ของคนไทยผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา คงไม่สามารถอธิบายหรือนิยาม “ความเป็นคนไทยในอเมริกา”ให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด เพียงแต่หากต้องการนิยามให้เห็นภาพบางส่วน เพื่อความเข้าใจของคนไทยในเมืองไทย หรือคนไทยที่เดินทางมาสหรัฐฯช่วงสั้นๆ ที่อาจมองภาพไม่ค่อยเคลียร์ก็น่าที่จะสามารถทำได้บ้าง ในลักษณะของการตั้งข้อสังเกต ซึ่งผู้รับฟังต้องใช้วิจารณญาณประกอบการรับฟังเรื่องราวดังกล่าว
ผมขอตั้งข้อสังเกตดังนี้นะครับ
ประการหนึ่ง ไม่เคยมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้จากฝ่ายรัฐและเอกชนของไทยทั้งในและนอกสหัฐอเมริกา
ประการสอง ไม่เคยมีการทำงานหรือส่งเสริมงานด้านวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเกี่ยวกับลักษณะความคิด (กระบวนทัศน์) ของคนไทยในสหรัฐฯมาก่อน
ความเห็นของผมต่อไปนี้จึงเป็นข้อสังเกตถึงลักษณะ (สาระนิยาม) ของคนไทยในสหรัฐฯ โดยรวมว่ามี ลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการสังเกตเชิงประจักษ์ ตามแนวทางประจักษ์นิยม
ข้อหนึ่ง เป็นเรื่องแปลกว่า จำนวนคนไทยในสหรัฐฯ นั้น ไม่สามารถระบุจำนวนอย่างแน่นอนได้ มีผลสำรวจอย่างเป็นทางการของฝ่ายสหรัฐฯเอง ที่เรียกว่า Census ซึ่งทำการสำรวจและแจ้งผลการสำรวจทุกๆ 10 ปี เช่น ผลจากการสำรวจคนไทยในอเมริกาปี 2010 ปรากฎว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 237,629 คน เพิ่มขึ้น 58.0831 เปอร์เซ็นต์ จากผลสำรวจประชากรเมื่อปี 2000 ขณะที่เมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้นมีตัวเลขคนไทยในสหรัฐฯเพียง 150,319 คน โดยรัฐที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด 10 อันดับได้แก่ 1.แคลิฟอร์เนีย 67,707 คน, 2.เท็กซัส 16,472 คน, 3.ฟลอริดา 15,333 คน, 4.นิวยอร์ค11,763 คน, 5.อิลลินอยส์ 9,800 คน, 6.วอชิงตัน 9,699 คน, 7.เวอร์จิเนีย 9,170 คน, 8.เนวาด้า7,783 คน, 9.แมรีแลนด์ 5,513 คน และ 10.จอร์เจีย 5,168 คน ซึ่งก็เป็นไปตามความเห็นของนาย นายกสนิกันติ์ คุณกำจร นายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ว่า แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของคนไทยในอเมริกาจะสูงขึ้นมาก แต่ถ้าดูตัวเลขรวมแล้วก็ยังเชื่อว่าน้อยกว่าตัวเลขที่เป็นจริง อาจมีคนไทยในสหรัฐฯ ถึง 400,000 คนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นการที่ผลสำรวจประชากรไทยของสหรัฐฯบอกว่ามีคนไทย 60,000 กว่าคนจึงน่าจะน้อยกว่าตัวเลขจริงอยู่มาก มีความเป็นไปได้มากว่าจำนวนตัวเลขคนไทยที่แท้จริงแล้วต้องเป็นแสนคนขึ้นไป น่าจะเป็นจริงมากกว่า
สาเหตุที่ตัวเลขอย่างเป็นทางการน้อยกว่าตัวเลขจริง น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ คือ ประการแรก คนไทย กระจายกันอยู่ในภูมิภาคต่างๆของสหรัฐฯทำให้ยากต่อการสำรวจและรวบรวมข้อมูล กับ ประการที่สองคือ คนไทย ที่ทำที่มาประกอบอาชีพต่างๆ ในสหรัฐฯนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ข้อมูลได้ เพราะเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จึงมีความกลัวต่อการให้ข้อมูลกับองค์กร Census (ว่าที่จริงแล้วองค์กรสำรวจประชากรองค์กรนี้ ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นคนละส่วนกับหน่วยงานอเมริกันที่ดูแลด้านต่างด้าวหรือ Department of Homeland Security ; Census ไม่มีหน้าที่ให้ข้อมูลการสำรวจประชากรต่อ DHS แต่กระนั้นก็มีคนไทย เข้าใจผิดอยู่มาก พวกเขาจึงไม่ให้ความร่วมมือในการสำรวจจำนวนประชากรของ Census
สำหรับศูนย์กลางของคนไทยในสหรัฐฯ เป็นที่รู้กันว่า คือ เมืองลอสแองเจลิส(แอล.เอ.) รัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยเหตุที่เป็นเขตที่มีคนไทยอาศัยอยู่หนาแน่นและจำนวนมากที่สุดมากกว่าพื้นใดๆ สัญลักษณ์ของพื้นที่นี้ คือ “ไทยทาวน์” ดังนั้น ถ้าจะมองกันถึง “ลักษณะเชิงความคิดหรือกระบวนทัศน์”ของคนไทยในสหรัฐฯ คนไทยในพื้นที่แอล.เอ. จึงอาจจะพอหยิบยกเป็นตัวอย่างได้บางส่วนนั้น เพราะลักษณะความคิดของคนไทยดังกล่าวจะไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมดทุกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า “รากฐานความคิด”ของคนไทยทั้งหมดในสหรัฐฯไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ซึ่งก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า คำว่าคนไทยในอเมริกานั้นย่อมต้องจำกัดความหมายไว้เพียงคนไทยที่มาจากเมืองไทยเท่านั้น ไม่ใช่ลูกหลานคนไทยที่เกิดและโตในสหรัฐฯจนกลายเป็นพลเมืองอเมริกัน ซึ่งผลในประการหลัง ทำให้ลูกหลานหรือเยาวชนไทยในสหรัฐฯสนใจความเป็นไปของเมืองไทยลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งหากพวกเขา สนใจเมืองไทย เช่น สนใจการเมืองไทย สนใจวัฒนธรรมไทย มักเป็นไปโดยการกล่อมเกลาเชิงการบังคับ จากพ่อแม่ผู้ปกครองคนไทยที่ย้ายตัวเองไปจากเมืองไทยมากกว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติของตัวพวกเขา
การกล่อมเกลา ที่ผมว่าหมายถึง การที่พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามฝังหัววัฒนธรรมไทยให้กับเด็กและเยาวชนลูกหลานไทยในอเมริกา เช่น การส่งลูกไปเรียนภาษาไทย การพาลูกเข้าวัดไทย ส่วนการบังคับหมายถึง การบังคับให้เด็กและเยาวชน ลูกหลานไทยเรียนรู้วัฒนธรรมไทย เช่น บังคับให้พูดภาษาไทยในบ้าน บังคับให้ไปวัดไทย บังคับให้ต้องแสดงความเคารพผู้ใหญ่ตามแบบอย่างมารยาท (วัฒนธรรม) ไทย ซึ่งผมเชื่อว่าหากมีการประเมินผลในขั้นปลายสุดแล้ว การกล่อมเกลาและการบังคับไม่น่าจะได้ผลในส่วนที่เป็นคุณูปการต่อสังคมไทยทั้งในสหรัฐฯและในเมืองไทยมากนัก อาจได้ผลบ้างในส่วนของปัจเจกหรือของครอบครัว แต่กระนั้นผลของวิธีการทั้ง 2 แบบก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของวัฒนธรรมไทยในสหรัฐฯ แต่อย่างใด ภาพที่เห็นจึงเป็นการสนองความต้องการ(ตัณหา) ของผู้ใหญ่(ผู้ปกครองเด็กและเยาวชน)คนไทยที่ย้ายตัวเองมาอยู่สหรัฐฯมากกว่าอย่างอื่น เพราะผู้ใหญ่เหล่านี้อาจมีแรงเก็บกดทางด้านศีลธรรมเชิงอนักษ์นิยม (เช่น ศีลธรรมเชิงพุทธ) และวัฒนธรรม(เช่น มารยาทไทย)มาก่อนจากเมืองไทย พวกเขาจึงต้องการระบายถ่ายทอดความคิดของตัวเองสู่ความคิดของเด็กเยาวชนที่เป็นรุ่นลูกหลาน แต่แล้วก็เป็นเรื่องยากเพราะเด็กไทยเหล่านี้อยู่กับสภาพแวดล้อมแบบอเมริกัน
2.จากเหตุที่กล่าวมาในประการที่หนึ่ง นำไปสู่ปฏิบัติการด้าน “ธุรกิจวัฒนธรรมไทย”เพื่อสนองเจตนารมณ์ “กล่อมเกลาและบังคับ”ของผู้ปกครองเด็กและเยาวชนในอเมริกา คนที่ประกอบอาชีพธุรกิจค้าวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีตั้งแต่ ฝ่ายเอกชนไทยและเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย (เช่น สถานกงสุล สถานทูต สายการบินของไทย) ในสหรัฐฯ พวกเขาเข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ทำนองนี้จึงดำเนินกิจกรรมแคมป์เยาวชนสัญจรเมืองไทย ท่องเที่ยวไทยขึ้น ซึ่งที่จริงแล้ว มันเป็นการสนองความอยากของผู้ปกครองคนไทยในสหรัฐฯมากกว่าความอยากรู้เรื่องเมืองไทยของเด็กและเยาวชนเชิงปัจเจก หรือมาจากฐานความต้องการอยากรู้อยากเห็นเมืองไทยของเด็กและเยาวชนจากตัวของพวกเขาเองด้วยซ้ำ ส่วนผลที่คาดหวังจากกิจกรรมดังกล่าวนี้ ในความเป็นจริงคือ ชุมชนไทยในอเมริกาแทบไม่ได้อะไรเลยจากกิจกรรมเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ว่านี้ นอกเสียจากการได้หน้า ได้เกียรติชื่นชมกันเองของผู้จัดกิจกรรมเพียงแค่ไม่กี่คน รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนซึ่งเป็นแบรนด์สินค้า
3.คนไทยในวัยผู้ใหญ่ที่ย้ายตัวเองมาจากเมืองไทยส่วนมาก สนใจกิจกรรมรำลึกความหลัง มากกว่ากิจกรรมที่เป็นนวัตกรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งนวัตกรรมของคนไทยกลุ่มนี้ คือ ประวัติศาสตร์ของเมืองไทยเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วที่พวกเขาได้รับการกล่อมเกลาไปจากเมืองไทยเมื่อสมัยเรียน “หนังสือหน้าที่พลเมืองไทย ตามแบบเรียนในชั้นประถม ชั้นมัธยม หรือแม้กระทั่งการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ในช่วงรัฐบาลเผด็จการ กึ่งเผด็จการหรือยุคประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเสี้ยวใบ ทั้งถูกฝังหัวไปด้วยระเบียบและความคิดรูปแบบหน้าที่พลเมืองศีลธรรมเชิงพุทธที่รัฐไทยพยายามยัดเยียดให้เรียนมาก่อน (เช่น ระบบศีลธรรมในแบบเรียน ) การอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐฯ พวกเขามีหน้าที่สำคัญ คือ ทำมาหากิน แบกภาระชีวิตรายวัน (ไปเช้า-เย็นกลับ) นั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้เรียนรู้และซึมซับ กระบวนการ ความคิดและวิถีประชาธิปไตยในรูปแบบวัฒนธรรมอเมริกันด้วยเสมอไป ดังนั้นความคิดต่อวิธีการและรูปแบบทางการเมืองของพวกเขาจึงหยุดอยู่ในช่วงประวัติศาสตร์ไทย 30-40 ปีที่แล้ว เช่นเดียวกับมิติทางด้านความคิดและกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมของพวกเขาที่เป็นทัศนคติการเมืองแบบคนดีปกครองประเทศ (อนุรักษ์นิยม) หาใช่รูปแบบประชาธิปไตย (เสรีนิยม) แต่อย่างใดไม่ ส่งผลต่อกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทยที่พวกเขาประกอบ เช่น การบริจาคเงินให้กับกลุ่มการเมืองบางเสื้อสีโดยข้ออ้างเพื่อนำไปใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองจากเมืองไทที่มาเปิดรับบริจาคถึงสหรัฐฯ และการรับบริจาคดังกล่าวเป็นไปในรูปแบบที่ผิดกฎหมายอเมริกัน (ตอนนี้กลุ่มเสื้อสีที่ว่าได้ปิดตัวเองไปแล้ว) รวมถึงการไล่ล่าประท้วงนักการเมืองไทยที่พวกเขาไม่ชอบ โดยเฉพาะการประท้วงในอเมริกา แม้ว่าการประท้วงดังกล่าวจะไม่เป็นไปตาครรลองของวัฒนธรรมอเมริกัน
- คนไทยในวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ยังมีความเป็นชนชั้นวรรณะสูง เป็นขุนนางในต่างแดน พิทักษ์ระบบอุปถัมภ์มากกว่าคนไทยในเมืองไทย ดูได้จากกิจกรรมที่พวกเขาจัด เช่น การจัดงานการกุศลเพื่อหาเงินสนับสนุนองค์กรของรัฐหรือองค์กรกระแสหลักในเมืองไทย(โดยที่องค์กรที่พวกเขาสนับสนับสนุนมีฐานการสนับสนุนที่มั่นคงในประเทศอยู่แล้ว) โดยหวังถึงผลได้ อย่างเช่น เหรียญตรา ประกาศเกียติคุณ เครื่องเชิดชูเกียรติจากเมืองไทย มีการแข่งขันกันเองอย่างออกหน้าออกตาระหว่างสมาคมคนไทยในรัฐต่างๆ มีการใช้ “ตัวกลาง”คือ คนของรัฐไทย เช่น กงสุลใหญ่ หรือเอกอัคราชทูตไทยเป็นตัวชูโรง ที่สำคัญคือ เวลามีการจัดกิจกรรมทำนองนี้ส่วนใหญ่ ฝ่ายอเมริกันหรือตัวแทนฝ่ายอเมริกันไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่พวกเขาจัดมากนัก การจัดกิจกรรมจึงเป็นไปในลักษณะ “ระหว่างคนไทยกับคนไทย” ด้วยกันมากกว่า “คนไทยร่วมกับคนอเมริกัน”ทำให้การจัดตั้งองค์กรไม่หวังผลกำไร(Nonprofit organization) เพื่อคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีประสิทธิภาพที่แท้จริง หากจัดตั้งเพื่อหน้าตาของผู้นำองค์กรบางคนมากกว่า หรือพวกเขาอาจตั้งองค์กรไว้เพื่อดักจับแมลงเม่า (คนที่มีเงินทุน) จากเมืองไทยที่พลัดหลงเข้าไปสหรัฐฯ ทั้งที่การจัดกิจกรรมโดยให้ฝ่ายอเมริกันซึ่งเป็นสังคมที่ใหญ่กว่าได้ร่วมกิจกรรมด้วยนั้นจะมีคุณูปการต่อชุมชนไทยในสหรัฐฯมากกว่าคนไทยจัดกันเอง
- การยังคงยอมรับรัฐไทยเป็นเจ้านายสูงสุดหรืออีกนัยหนึ่งคือ การอวยรัฐไทยของคนไทยเหล่านี้ จากลักษณะของผลประโยชน์ร่วมหรือผลประโยชน์สมยอมระหว่างฝ่ายรัฐไทยกับ ฝ่ายคนไทยในสหรัฐ ซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่คือ ประเด็นที่หนึ่ง โครงการของรัฐไทยที่เอื้อประโยชน์ต่อคนไทยบางคนบางกลุ่มในสหรัฐฯ เช่น ที่ผ่านมามีโครงการเงินกู้ของแบงก์ไทยสำหรับประกอบกิจการร้านอาหารไทย (ซึ่งสุดท้ายโครงการนี้ก็ประสบความล้มเหลว) โครงการ Cooking school (ซึ่งไม่มีการประเมินผล ที่ท้ายที่สุดก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน) โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก (ในที่สุดก็เงียบ ไม่ต่อเนื่องและไม่มีการประเมินผลเช่นกัน) โครงการเหล่านี้ ให้ผลประโยชน์กับคนไทยเพียงบางกลุ่มที่ถือตนว่ามี “รัฐไทย” เป็นเจ้านาย แต่ไม่กระจายผลประโยชน์ให้ถึงคนไทยในสหรัฐฯ ทั่วไปอย่างยุติธรรม
ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับบ่วงล่อหรือรางวัลเชิดชูเกียรติที่เสนอโดยฝ่ายรัฐไทยที่เชื่อมโยงถึง 2 ส่วน คือ ส่วนของการเป็น เอเย่นซี (Agency) ขายศิลปวัฒนธรรมไทยในเชิงการผูกขาดศิลปวัฒนธรรมไทยของคนไทยบางคนบางกลุ่ม เพราะวัฒนธรรมไทยในสหรัฐฯไม่ต่างจากสินค้าหรือโชว์ประเภทหนึ่ง เพียงแต่เอเยนซีเหล่านี้คือตัวแทนขายของรัฐไทย เช่น ททท. เป็นต้น แม้แต่ในหัวของเด็กๆเยาวชนไทในอเมริกา ภาพของศิลปวัฒนธรรมไทยก็คือโชว์ประเภทหนึ่ง ขณะที่ความเป็นสินค้าดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง “ความรักชาติ (ไทย-ของเยาวชนไทย)ในอเมริกาได้เลย” แม้พยายามส่งเสริมกันเท่าใดก็ตาม หากการส่งเสริมดังกล่าวกลับส่งผลต่อเนื่องในอีกส่วนหนึ่ง ก็คือ การวุ่นอยู่กับตัวเองแบ่งแยกแข่งขันกันเองในชุมชนไทยของกลุ่มผู้ใหญ่วัยมีความหลัง (ที่เมืองไทย) คนไทยวัยผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่สนใจว่ากระบวนทัศน์ของโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอยู่ในขั้นไหนแล้ว จะพูดไปไยถึงการยกระดับกระบวนทัศน์(Paradigm shift)ที่เป็นประเด็นต่อเนื่องด้วยเล่า
เหตุการณ์ประท้วงต่างๆ ทั้งเกี่ยวกับบุคคลและประเด็นสาธารณะทั้งที่แอล.เอ. นิวยอร์ค หรือเมืองไหนก็ตาม คือตัวอย่างเชิงประจักษ์ว่าพวกเขามีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ มากเพียงใด แม้จะอาศัยอยู่ในอเมริกามาค่อนชีวิตก็ตาม.