พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
กรณีธรรมกายในประเทศไทย หรือแม้แต่กรณีของพระวีราธุ ผู้ที่เป็นแกนนำนำชาวพุทธต่อต้านชาวมุสลิมในประเทศพม่า ก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์ทั้งในส่วนของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธ รวมถึงรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการด้านศาสนาภายในอย่างขนานใหญ่ในเวลานี้
เพราะเรื่องศาสนาเกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อความศรัทธาของประชาชนในรัฐโดยตรง หากธรรมนูญแห่งรัฐหรือหลักการบริหารจัดการของรัฐไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกิดขึ้นตามมาได้ อย่างน้อยที่เห็นๆ ก็มีด้วยกัน 2 ประการ คือ
หนึ่ง เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนิกของแต่ละศาสนากับ สอง ส่งผลต่อจริยธรรมและวัฒนธรรมของศาสนิกในแต่ละศาสนา ซึ่งต้องไม่ลืมว่าจริยธรรมและวัฒนธรรมเป็นเบ้าหลอมให้เกิดรูปร่างและการคงอยู่ของสังคม เพื่อให้สังคมนั้นๆ อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดังนั้น ความเชื่อทางด้านศาสนาหรือลัทธิใดก็ตาม ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนในสังคมตนและสังคมคนอื่นๆ ก็น่าจะเป็นอันใช้ได้
การคำนึงผลกระทบด้านจริยธรรมและวัฒนธรรมของสังคมส่วนหนึ่ง เป็นที่มาของความพยายามอนุรักษ์หรือปกป้องลัทธิ/ศาสนา หรือความเชื่อของคนสังคม ซึ่งหากในสังคมใดมีความเชื่อ ความนับถือในศาสนาที่หลากหลายหรือแตกต่างกัน ก็อาจเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้ง ในหลายแง่มุม อย่างน้อยในแง่ “ความยุติธรรม” หรือความเสมอภาคที่คนในสังคมมองว่าพวกเขาที่เป็นศาสนิกพึงจะได้รับ ก็เป็นประเด็นหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติต่อประชาชนในรัฐในประเด็นความเชื่อที่แตกต่างกัน
การบริหารสังคมหรือบริหารรัฐไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันลักษณะของการบริหารจัดการ เพื่อคงอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมและความเชื่อ ความศรัทธาของประชาชน เพื่อจริยธรรมที่มีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันก็จำเป็นเฉกเช่นกัน โดยเนื้อหาประเด็นทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปอย่างสมดุล ยุติธรรม
สังคมอเมริกันได้บทเรียนเรื่องความขัดแย้งศาสนา หรือความเชื่อที่แตกต่างนี้มาจากหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตะวันตก หนึ่งในนั้นคือ สงครามครูเสด ซึ่งเกิดขึ้นอย่างยาวนานหลายร้อยปีในยุโรป อย่างน้อยก็สองศตวรรษ นอกเหนือไปจากบทเรียนเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างศาสนิกในศาสนาเดียวกันในหลายกรณี เช่น ความขัดแย้งของบรรดาคริสตศาสนิกด้วยกันในยุโรประหว่างนิกายใหม่โปรแตสแต้นท์ กับนิกายโรมันแคททอลิก โดยต้นเหตุความขัดแย้งเริ่มจากฝรั่งเศส (French Wars of Religion) เป็นต้น
สำหรับคนอเมริกันแล้ว การตระหนักถึงความขัดแย้งทางศาสนาดังกล่าว นำไปสู่การบัญญัติหรือกำหนดรัฐธรรมนูญข้อแรกที่ถือว่าสำคัญมาก (First amendment) นั่นคือ ไม่ให้มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวข้องกับศาสนา (Congress shall make no law respecting an establishment of religion.) โดยยังมีบางมาตราของกฎหมายที่กำหนดให้การสอบบรรจุเพื่อทำงาน ห้ามไม่ให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสนา เช่น ถามว่า คุณนับถือศาสนาอะไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงหลักการเชิงปรัชญาการบริหารจัดการของรัฐ (รัฐกิจ) ที่มีต่อศาสนา ตามคำกล่าวสัญญาประชาคมที่ว่า “เสรีภาพทางศาสนาเพื่อทุกคน (Religious Liberty for All)”
สหรัฐอเมริกา จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากของรัฐที่แยกกิจการของรัฐออกจากศาสนา (Secular State) เหมือนกับแคนาดา เม็กซิโก และอีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งการแยกดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคนอเมริกันไม่มีศาสนา หรือจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือศาสนาก็ได้ แต่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายรัฐธรรมนูญ คนอเมริกันมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการนับถือศาสนาของพวกเขาด้วย และเป็นความรับผิดชอบอย่างยุติธรรมและเสมอภาค เหตุดังกล่าว ทำให้หลายศาสนา รวมถึงพุทธศาสนาสามารถมาเบ่งบานอยู่ในดินแดนตะวันตกแห่งนี้
จะเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาตามรูปแบบของรัฐไทยคงไม่ได้ เพราะสำหรับรัฐไทยแล้ว รัฐเป็นฝ่ายออกแบบรูปแบบและลักษณะวิธีการในการนับถือศาสนาโดยรัฐเอง ผ่านระบบกฎหมายที่เรียก กฎหมายคุ้มครองพระพุทธศาสนา เช่น พระราชบัญญัติคณะสงฆ์(พ.ร.บ. สงฆ์) พ.ศ.2505 แก้ไข พ.ศ. 2535 ที่ออกโดยรัฐนั่นเอง
การออกกฎหมายดังกล่าว เท่ากับรัฐไทยได้ถูกออกแบบให้เป็นรัฐศาสนา(State Religion) ไปโดยปริยาย ศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสถาบันๆ หนึ่งในส่วนของรัฐ
ผลของการทำศาสนาให้เป็นสถาบันนี้ มีทั้งดีและเสีย
ผลดี ได้แก่ การสร้างอุดมการณ์/คุณค่าของรัฐ ในเรื่องของศีลธรรม และจริยธรรม รวมถึงการปกป้องศาสนาในขอบวงของอุดมการณ์/นิยามคุณค่าตามความหมายหรือการบัญญัติของรัฐ
ผลเสีย ได้แก่ การที่พระพุทธศาสนา ถูกจำกัดอาณาบริเวณ(นิยาม/ตีความ)โดยรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่การนิยาม/การตีความ ดังกล่าว ก่อให้เกิดการผูกขาดแบบแช่แข็ง(พุทธ)ศาสนาขึ้นในประเทศไทยในขณะที่การให้คุณค่าของการดำเนินชีวิตของคนในโลกปัจจุบันและทุกยุคทุกสมัยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ในอนาคตการให้คุณค่านี้ก็จะยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การผูกขาดการตีความของรัฐดังกล่าวส่งผลให้การนำคำสอนของศาสนามาใช้ ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมในปัจจุบัน ทำให้ศาสนาถูกแยกหรือถูกกันออกจากโลกที่เป็นข้อเท็จจริงในขณะนั้นๆ
นอกจากนี้ การที่(พุทธ)ศาสนาถูกจำกัดอาณาบริเวณ เช่น การตีความหรือถูกคลุมได้ด้วยกฎหมายคุ้มครองโดยรัฐ ยังเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคในแง่ของการปฏิบัติ แม้แต่ต่อศาสนิกในศาสนาเดียวกัน ไม่รวมถึงศาสนิกของศาสนาอื่น เกิดการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง โดยการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยรัฐอย่างไม่ยุติธรรม ขณะที่รัฐเองมุ่งสนับสนุนศาสนากระแสหลักเท่านั้น
น่าสังเกตว่าในสังคมอุปถัมภ์แบบสังคมไทย ศาสนาที่อยู่ในสังคมอุปถัมภ์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระแสชาตินิยมและจริยธรรมแบบผูกขาด เช่น จริยธรรมแบบหน้าที่พลเมืองที่ปลูกฝังโดยรัฐ เป็นต้น แต่จริยธรรมดังกล่าวกลับอยู่เหนือหลักจริยธรรมสากลอย่างเช่น สิทธิมนุษยชน ออกไป เป็นต้น
ดังนั้น กรณีของอเมริกา รัฐอเมริกันจึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเชิงการอุปถัมภ์หรือเกื้อกูลส่งเสริมศาสนาใดๆ โดยตรง เพียงแต่มีการอำนวยความสะดวกให้ศาสนิกและที่ไม่ใช่ศาสนิกใดๆ ในแง่ของสิทธิเสรีภาพในการทำกิจกรรมเชิงการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาเท่านั้น เพราะตระหนักถึงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศาสนาว่ามีอันตรายมากเพียงใด
เท่าที่ผมพอสรุปได้ การจัดการหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาของรัฐอเมริกัน มีลักษณะดังนี้ครับ
- ให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือแม้ไม่นับถือศาสนาใดก็ตาม
- สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของศาสนิก ต้องไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการตีความคำสอนในศาสนาเดียวกันที่แตกต่างกัน หรือละเมิดความเชื่อความศรัทธาของศาสนิกชนในศาสนาอื่นที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ความเชื่อของคนที่ไร้ศาสนาก็ตาม
- อาศัยหลักพื้นฐานด้านความเชื่อ “เชิงหลักการสิทธิมนุษยชน”ของปัจเจกบุคคลในระบอบประชาธิปไตย
- องค์กรศาสนาได้รับการยอมรับ (คุ้มครอง) ในบริบทกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับองค์กรทั่วไป กล่าวคือถือว่าองค์กรศาสนาเป็นองค์กรนิติบุคคล อาจเป็นองค์กรมุ่งผลกำไร (profit organization) หรือองค์กรไม่หวังผลกำไร(nonprofit organization) ก็ได้
- เมื่อองค์กรศาสนาถูกยอมรับภายใต้กรอบกฎหมาย ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างมีข้อยกเว้นหรือไร้ซึ่งอภิสิทธิ์ มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันกับองค์กรอื่นๆ หรือเท่าเทียมกับพลเมืองอเมริกันโดยทั่วไป
- มีการวิเคราะห์กันว่า การที่รัฐอเมริกันให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและแยกศาสนาออกจากรัฐอย่างเป็นทางการมีผลเชิงบวกต่อความมั่นคงของรัฐโดยปริยาย ในทางที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับรัฐโดยตรง เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งในส่วนของความเชื่อทางด้านศาสนาของประชาชนในรัฐจะลดลง ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้ นายวิลเลียม ไอโบเดน (Dr. William Inboden) แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส (เมืองออสติน) เคยศึกษาเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างรัฐศาสนากับรัฐโลกีย์ (รัฐฆราวาส- Secular State) พบว่า รัฐศาสนา (Religious Persecution) มีแนวโน้มก่อให้เกิดความขัดแย้งในประเทศหรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศสูง โดยเฉพาะกรณีศึกษาความมั่นคงของรัฐอเมริกันเอง
นอกจากนี้ น่าสนใจว่า องค์กรศาสนาในอเมริกา ซึ่งอยู่ในฐานะของนิติบุคคลนั้น นอกจากมีเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ยังมีเรื่องของ “หน้าที่”เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เป็นหน้าที่จากหลักความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐอเมริกัน เท่าเทียมกับหน้าที่ขององค์กรนิติบุคคลอเมริกันโดยทั่วไป เช่น หน้าที่ในการเสียภาษี หรือหากเป็นองค์กร (ศาสนา) ไม่หวังผลกำไรก็ต้องรายงานรายรับรายจ่ายให้กับรัฐอย่างไม่มีข้อยกเว้น
(ดูได้จากตัวอย่างองค์กร “วัดไทย”ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรนิติบุคคล ไม่หวังผลกำไร “วัดไทย”ทุกวัดต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะองค์กรนิติบุคคลเหมือนองค์กรนิติบุคคลอื่นๆ ทั่วไป)
ที่สำคัญ คือ มีการตรวจสอบบุคคลที่ทำงานในองค์กรด้านศาสนาเท่าๆ กับกับการตรวจสอบบุคคลที่ทำงานในองค์กรด้านอื่น อย่างเช่น บุคคลที่ทำงานในองค์กรศาสนาจะต้องรายงานการจัดทำงบดุลบัญชีขององค์กรอย่างโปร่งใสและเปิดเผย โดยกฎหมายบังคับให้องค์กรศาสนาต้องมีการายงานเป็นระยะๆ เพราะองค์กรศาสนาส่วนมากอยู่ได้โดยเงินบริจาค หากการบริจาค เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ใช่ปัญหาขององค์กรศาสนาในสหรัฐอเมริกา
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรเกี่ยวกับศาสนาในอเมริกาทีผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากความไม่โปร่งใสขององค์กรเหล่านั้นเอง เช่น กรณีของโยคีบางตนบางสำนัก ที่มาเปิดสำนักอยู่อเมริกาจนกระทั่งรัฐบาลอเมริกันตรวจพบความไม่ชอบมาพากลด้านการเงิน (ธุรกิจ)หรือแม้แต่ปัญหาเกี่ยวกับสถานะต่างด้าวของบุคคลเหล่านั้น
สำหรับกรณีของประเทศไทย ถ้าถือตามมาตรฐานสากลดังที่กล่าวมา อาจถือว่าประเทศไทยเป็นรัฐศาสนา เพราะมีพ.ร.บ.สงฆ์และหน่วยงานรัฐอย่างเช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมากำกับดูแลคณะสงฆ์ เป็นหน่วยงานคอยสอดส่องความเป็นไปเกี่ยวกับองค์กรพระพุทธศาสนา แต่ถึงแม้หน่วยของรัฐเหล่านี้ดูแลกำกับศาสนาตามหน้าที่อยู่แล้วก็ตาม ยังกลับพบพฤติกรรมของบุคคลและองค์กรที่แย้งกับ “ความเรียบร้อยทางศาสนา” อยู่จำนวนมาก พฤติกรรมของพระสงฆ์หลายรูปเป็นที่ขัดตาขัดใจชาวพุทธ ตามที่ปรากฏข่าวผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ นอกเหนือไปจากปัญหาของการเลือกปฏิบัติของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเหล่านี้อีกประการหนึ่ง
ด้วยความที่ไทยเป็นรัฐลักปิดลักเปิด วับๆแวมๆ แบบกึ่งๆ ดังกรณีใช้กฎหมายเข้าแทรกแซงเรื่องความเชื่อความศรัทธา จนบางครั้งก็ล้นทะลักออกมา จนเกิดเป็นสิทธิพิเศษสำหรับคนบางกลุ่มบางองค์กรแม้กระทั่งองค์กรศาสนาที่ส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยศรัทธาจากเงินบริจาค แต่องค์กรเหล่านั้นกลับตรวจสอบได้บ้าง ตรวจสอบไม่ได้บ้าง ทำให้งานศาสนาบางส่วนอยู่ในมุมมืด ไม่โปร่งใส ก่อให้เกิดความสงสัยขึ้นกับชาวพุทธและคนทั่วไป
งานกำกับดูแลด้านศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งการกำกับความเชื่อโดยรัฐจึงไม่ใช่ของที่กระทำได้โดยง่าย แถมยังมีผลเสียตามมาอีกตะหาก
รัฐอเมริกันจึงเลือกใช้หลักที่ว่า “การกำกับความเชื่อความศรัทธาที่ดี คือ การไม่กำกับ(ความเชื่อความศรัทธา)” ส่งเสริมให้ปัจเจกบุคคลมีการใช้วิจารณญาณ วิเคราะห์ศาสนาด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้เรียนรู้และศึกษาได้ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา เพราะมีประสบประสบการณ์มาแล้วว่าเรื่องศาสนา แม้เป็นเงื่อนปมเล็กๆ ก็ตาม แต่สามารถทำให้ประเทศชาติพังพินาศลงได้อย่างง่ายดาย.