พีร์พงศ์พิพัฒนพันธุ์

สิทธิเสรีภาพในการพูดจัดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในคำพูด  Freedom of speechรวมทั้งสิทธิในการแสดงออก หรือ Freedom  of expression ได้รับการยอมรับเป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและได้ถูกยอมรับในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights -ICCPR)

ข้อ 19 แห่งกติกาดังกล่าว บัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิออกความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง” และ “ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพการพูด สิทธินี้จักรวมไปถึงเสรีภาพในการแสวงหาได้รับและส่งต่อข้อสนเทศและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียนหรือการพิมพ์ ในรูปของศิลปะหรือผ่านสื่ออื่นใดที่เป็นทางเลือกของคนพูดหรือแสดงออก”

บัญญัติข้อ 19 ยังระบุด้วยว่าการใช้สิทธิเหล่านี้มี “หน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษ”และอาจต้องถูกจำกัดบ้างในกรณีจำเป็นเพื่อความเคารพถึงสิทธิหรือชื่อเสียงของคนอื่นหรือเพื่อคุ้มครองความมั่นคงของชาติหรือเพื่อความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อการสาธารณสุขหรือเพื่อศีลธรรม

ประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาเป็นประเทศที่สามารถกล่าวได้ว่า เป็นประเทศที่มีผู้นำวาทกรรมนี้มาใช้บ่อยมากที่สุดนับแต่ Bill of rights  ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยถูกใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกันเมื่อปี  1791 สภาคองเกรสได้เพิ่มบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพ 4 ประการ ได้แก่สิทธิและเสรีภาพในทางศาสนา สิทธิและเสรีภาพในการพูดสิทธิและเสรีภาพในการสมาคม และสิทธิและเสรีภาพของสื่อ

จากหลักพื้นฐานด้านสิทธิเสรีภาพการพูดและการแสดงออกดังกล่าวทำให้กระบวนการประชาธิปไตยในอเมริกาถูกพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมือง โดยอาศัยหลักการสื่อสารจากคำพูดและรูป แบบการแสดงออกต่างๆ ที่ไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นข้อจำกัดในแง่การละเมิดรุกล้ำสิทธิของคนอื่นและส่วนหนึ่งของสิทธิเสรีภาพในการพูด การแสดงออก กระทำผ่านการวิพากษ์หรือวิจารณ์ จนเกิดเป็น รูปแบบและลักษณะการวิจารณ์ ซึ่งถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง

หมายความว่าสังคมอเมริกันยอมรับการวิจารณ์ในประเด็นสาธารณะและประเด็นซึ่งเป็นองค์ความรู้ทั่วไป มีการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์มาเนิ่นนาน ผ่านสื่อประเภทต่างๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบันคือ สื่อใน ยุคดิจิตัล และสื่ออิเลคทรอนิกส์อย่างอินเตอร์เน็ต หรือสื่อออนไลน์

ในการทำงานข่าวของสื่อมวลชนอเมริกัน งานวิจารณ์ข่าวถือว่ามีความสำคัญพอๆ กับงานข่าวทีเดียว สถานีโทรทัศน์ค่ายใหญ่ต่างๆ ต่างก็มีนักวิจารณ์หรือ commentator  ประจำสถานีหรือไม่ก็หานักวิจารณ์ขาจร(ผู้รู้)จากข้างนอก เพื่อให้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังหรือที่มาที่ไปของแต่ละเหตุการณ์ หรือของสถานการณ์ ผู้รับสื่อจึงไม่เพียงรู้สถานการณ์ที่เป็นเนื้อหาข่าวเพียงอย่างเดียว หากยังรู้ถึง ปริมณฑลหรือความก้างและนำหนักของข่าวๆ นั้นอีกด้วย ซึ่งนับเป็นการต่อยอดข่าวหรือเหตุการณ์ออกไปอย่างครอบคลุมภาคส่วนที่สมควรเกี่ยวข้องอีกด้วยเช่น  ประเด็นข่าวการนิรโทษกรรมต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่สามารถโยงถึงอาชญา กรรมความเกลียดชัง (Hate crime) อันเนื่องมาจากสีผิวได้ เป็นต้น

ผู้แสดงความเห็น (commentators) จึงมีบทบาทสำคัญมากสำหรับสื่ออเมริกัน  เพราะผู้บริโภคสื่อไม่เพียงต้องการรับรู้ข้อมูลแบบทื่อๆ ทางเดียวเท่านั้น แต่พวกเขาต้องการรับสื่อ ที่ทำให้พวกเขาคิดได้ เลือกได้ ตัดสินใจได้สำหรับตัวของพวกเขาเอง

นอกจากการวิจารณ์หรือการแสดงความเห็นในวงการสื่อสารมวลชนแล้ว อีกวงการหนึ่งที่ดูเหมือน วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์จะโดดเด่นมากเช่นกัน คือ วงการการศึกษาอเมริกัน ที่ถือว่า วัฒนธรรมการวิจารณ์คือการพัฒนาองค์ความรู้ โดยการวิจารณ์นิยมกระทำผ่านการสนทนา ตอบโต้ในห้องเรียนหรือสถานที่สาธารณะการสนทนาผ่านสื่อประเภทต่างๆ อย่างเปิดเผยตรงไปตรง มา เรื่องนี้ทำให้สังคมอเมริกันในแวดวงการศึกษาเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ออกไปอย่างกว้างเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะการแสดงความเห็นเชิงเหตุเชิงผลว่ายอมรับหรือไม่ยอมรับงานวิชาการแต่ละชิ้น เป็นการกระทำอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เป็นแบบซุบซิบนินทากันแต่เพียงในกลุ่มเท่านั้น

การวิจารณ์ จึงเป็นการแสดงความรู้ความสามารถของผู้วิจารณ์อย่างชัดเจน โดยที่สังคมอเมริกันเป็นสังคมเปิด การยอมรับการวิจารณ์ยังเป็นกระจกส่องตัวตนของคนที่ถูกวิจารณ์ รวมกระทั่งถึงความเป็นไปของสังคมในขณะนั้นอีกด้วย

สังคมอเมริกันจึงมีพื้นที่ในการวิจารณ์มากๆและชัดเจน วัฒนธรรมการวิจารณ์ในแบบฉบับอเมริกันไม่ได้ดึงสังคมไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ความขัดแย้งในสังคมนั้นหากจะมี ก็เป็นเพียงความขัดแย้งหรือความไม่เห็นด้วยทางความคิดเท่านั้นซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ผู้บริหารการศึกษาตั้งแต่ชั้นต้นๆ อย่างเช่น ในชั้นมัธยมอเมริกันส่งเสริมให้นักเรียนวิจารณ์งานเขียน งานวรรณกรรมเพื่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิด เกิดเป็นความคิดใหม่ๆขึ้นมา  เพราะการวิจารณ์ที่ดีนั้น ผู้วิจารณ์ต้องทำความเข้าใจกับเรื่องที่ตนวิจารณ์มาอย่างดี ถึงจะเรียกว่าเป็นนักวิจารณ์ที่ดี การวิจารณ์จึงเป็นการมองจากรากคือ ฐานความรู้เดิมและการต่อยอด ซึ่งอาจหมายถึงความรู้ใหม่หรือนวัตกรรม

ในชั้นเรียนของโรงเรียนอเมริกันแทบทุกระดับ การโต้แย้ง โต้เถียงกันแบบแรงๆ เช่นระหว่างครูกับนักเรียนจึงไม่ใช่ของแปลก ที่ปรากฎว่าครูอาจารย์กับนักเรียนนักศึกษามีความเห็นในเรื่องวิชาการความรู้ไม่ตรงกันและเกิดโต้เถียงกัน อย่างถึงพริกถึงขิง ซึ่งเรื่องนี้ในสังคมไทยไม่อาจรับได้มิหนำซ้ำหากเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้  ก็จะมีผู้นำ“กรอบศีลธรรม” มาจับ กลายเป็นการเนรคุณ ไม่เคารพครูบาอาจารย์ไปเสียก็มี

ภายใต้ระบบการศึกษาของไทยอาจารย์บางคนดำเนินการในลักษณะของการบังคับให้นักเรียน นักศึกษาต้องแสดงออกซึ่งความเห็นเหมือนกับตนเองหรือตัวอาจารย์  โดยไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความเห็นที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองหรือความเห็นจากตัวผู้เรียนเอง จึงมีลักษณะของการครอบงำความคิดของผู้เรียน โดยใช้คะแนนหรือเกรด ที่เป็นตัวกดดัน เช่น จะมีคะแนนให้ถ้านักศึกษาไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น ซึ่งเป็นการบังคับให้ผู้รียนต้องสยบยอมไม่กล้าคำถามกับกิจกรรมที่ผู้บริหารของโรงเรียนจัดขึ้น ผู้เรียนจึงไม่กล้าโต้แย้งแม้มีความเห็นไม่ตรงกับอาจารย์ เป็นการสร้างความเก็บกดให้เกิดขึ้นกับตัวผู้เรียนโดยตรง

การที่อาจารย์หรือผู้บริหารสถานศึกษาคนใดมีพฤติกรรมเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ และเข้าข่ายละเมิดจรรยาบรรณของการเป็นครูอาจารย์ ที่ผ่านมาเราพูดถึงจรรยาบรรณของคนทำอาชีพอื่น แต่เราไม่ค่อยได้พูดถึง จรรยาบรรณของครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทย เพราะมองกันว่า ครูอาจารย์คือ ปูชนียบุคคลตลอดกาล ขณะที่ในโลกสมัยนั้น การทำหน้าที่ของครูอาจารยุถูกเชื่อมโยงกับเหตุปัจจัยต่างๆ มากกว่า “สมัยก่อน”มากมาย เช่น ระบบทุน(เงินเดือน ค่าตอบแทน ผลประโยชน์แฝง)  ระบบการเมือง(ความคิดทางการเมือง) ค่านิยมหรือกระแสสังคม (การรับงานข้างนอกมา การนิยมออกสื่อ) ที่เปลี่ยนไป

ยิ่งไปกว่สนั้น ในสังคมไทยเอง อย่าว่าแต่นักเรียนจะแย้งครูอาจารย์เลยครับ นั้นแม้แต่นักเรียนแย้งนักเรียนกันเองก็น่าจะยากด้วยซ้ำ วัฒนธรรม การวิพากษ์วิจารณ์ของไทยแท้จริงแล้วจึงยังไม่เกิด หากที่มีเป็นวัฒนธรรมการตามอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ระบบประชาธิปไตยฝังรากลงได้ช้า คติเดินตามผู้ใหญ่สุนัขไม่กัด ยังใช้ได้เสมอทุกยุคทุกสมัยแม้กระทั่งในสมัยปัจจุบัน  เป็นคติเดียวกับคติที่ใช้ได้ดีที่สุดในสังคมเส้นสายอุปถัมภ์

ในรั้วมหาวิทยาลัยของไทยส่วนใหญ่ยังเต็มไปด้วยการตั้งรับของนักศึกษา การจะหาผู้เรียนที่กระทำการในเชิงรุกก้าวหน้าในเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องยาก แถมดีไม่ดีอาจถูกเขม่นจากอาจารย์ผู้สอนเอาได้ด้วยซ้ำ การดำรงตนอย่างมีอัตลักษณ์ของผู้เรียนในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย ยิ่งในระดับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไป การประเมินผลการศึกษาของผู้เรียนถูกกำหนดโดยอาจารย์ที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่อง นวัตกรรมองค์ความรู้ มุ่งเพียงการยักย้ายถ่ายเทเล่นแร่แปรธาตุองค์ความรู้เดิมๆ

แน่นอนว่าความรู้เดิม มีค่าความผิดพลาดของการวิจัยน้อยกว่าความรู้เชิงนวัตกรรม แต่งานวิจัยที่ให้ผลผลิตเชิงนวัตกรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และควรได้รับการใส่ใจสนับสนุนมากกว่าการยักย้ายถ่ายเทองค์ความรู้เดิม ซึ่งนับวันการวิจัยประเภทนี้จะกองสูงพะเนินเทินทึกกลายเป็นขยะกระดาษเต็มบ้านเต็มเมือง กล่าวคือ เป็นงานวิจัยที่นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ เรียกกันว่า “งานวิจัยประเภทเล่นแร่แปรธาตุ” ซึ่งนิยมทำกันเพื่อให้จบหลักสูตรและได้วุฒิการศึกษา

เหนือไปกว่านั้น แม้นมีนวัตกรรมการวิจัยก็จริง แต่ก็ปรากฎว่างานวิชาการดังกล่าว หลายชิ้นไม่ได้ รับการต่อยอดด้วยการวิจารณ์ งานวิชาการจำนวนมากที่มีการสร้างสรรผลผลิตเชิงนวัตกรรมกลับตกอยู่ใน “ความเงียบ” สะท้อนถึงความไม่ใส่ใจต่อการวิจารณ์เพื่อต่อยอดองค์ ความรู้ เพราะอย่างน้อยการวิจารณ์จะช่วยให้เห็นข้อดีข้อด้อยของงานวิจัยเชิงนวัตกรรมซึ่งน่าจะถูกวิจารณ์ตรวจสอบมากกว่าที่เป็นอยู่นี้

จึงสรุปได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมการวิจารณ์ (ยิ่งในระบบเผด็จการด้วยแล้วยิ่งเห็นได้ชัด) ขณะเดียวกันกับที่การประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยเองก็ยังไม่มีการนำระบบหรือวัฒนธรรมการวิจารณ์มาใช้ เพื่อประเมินคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน (ซึ่งระบบการศึกษาอเมริกันทำกันตั้งแต่ชั้นประถม) ทำให้สถาบันการศึกษาเองไม่ค่อยส่งเสริมวัฒนธรรมการวิจารณ์  เพราะเกรงว่าวันหนึ่งผู้เรียนจะย้อนกลับมาวิจารณ์ตัวสถาบันหรือตัวอาจารย์ผู้สอนเอง ซึ่งว่าไปแล้วหากผู้เรียนสามารถวิพากษ์สถาบันการศึกษาหรืออาจารย์ของตนเอง การวิพากษ์ดังกล่าวจะเป็นเหมือนกระจกสะท้อนความเป็นไปของบุคลกรและตัวสถาบันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่บุคลากรและสถาบันจะต้องยอมรับทัศนะวิจารณ์เหล่านั้น

นอกเหนือไปจากการสยบยอมกับผลงานศึกษาวิจัยเอาดื้อๆ  (ดูง่ายๆ คือ เรื่องการทำโพลล์สำรวจเรื่องต่างๆ) โดยไม่ค่อยมีความเห็นเชิงโต้แย้งมากมายนัก

การวิจารณ์ในสถาบันการศึกษาจึงเป็นประเด็นย่อยในประเด็นใหญ่ คือ สิทธิเสรีภาพในการพูด และการแสดงออกซึ่งจะต้องสร้างให้กลายเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา และจะต้องไม่ให้การวิจารณ์นั้นถูกริดรอน โดยเงามืดของระบบเส้นสายอุปถัมภ์และเผด็จการ ซึ่ง “เงามืด” ดังกล่าวส่วนหนึ่งหมายถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นตามหลักการ ตามหลักแห่งเหตุและผล

ที่สำคัญคือ การยอมรับความขัดแย้ง (ทางความคิด) ของคนในสังคมว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาแทนี่การใช้วาทกรรม “สลายความขัดแย้ง” เพราะสังคมที่ไร้ความขัดแย้งใดๆ เลย ถือเป็นสังคมแปลกประหลาดและเป็นเหตุทำให้สังคมพัฒนาต่อไปไม่ได้.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *