พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
“Red -Carpet Treatment ” เมื่อเป็นโครงการให้ความสำคัญกับบรรดาแรงานฟิลิปปินส์ ของประธานาธิบดี กลอเรีย มากาพาแกล อาร์โรโย่ (Gloria Macapagal- Arroyo) เมื่อหลายปีก่อน
ด้วยการปูพรมสีแดงเป็นทางยาวที่สนามบินนานาชาติมะนิลา เพื่อตระหนักว่าแรงงานที่ไปทำงานต่างแดนเป็นผู้เสียสละ และทำประโยชน์ให้กับชาติอย่างสูง นำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่ารายได้จากสาขาธุรกิจใดๆในฟิลิปปินส์
โดยที่ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานมากในอันดับต้นๆของโลก ทั้งมีการจัดการ เช่นการฝึกอบรม อย่างเป็นระบบ
รายงานของ เจสัน เดอ พาเริล (Jason De Parle) แห่งนิวยอร์คไทมส์ ระบุว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่งการกระจายแรงงานครั้งสำคัญของโลกเลยทีเดียว โดยเป็นการกระจายแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่มั่งคั่งกว่า ตามนัยยะของเจสัน เดอ พาเริล ก็คือ รายได้หลักของหลายประเทศทั้งหลายเหล่านี้ มาจากการขายแรงงานในต่างประเทศ กล่าวคือคนงานของประเทศเหล่านี้ไปทำงานอยู่ในประเทศต่างๆ อย่างเช่น รายได้จากแรงงานของคนศรีลังกา แซงหน้ารายได้จากการขายชาในอดีต เป็นต้น
แต่รายงานชิ้นเดียวกันนี้ระบุด้วยว่า ท่ามกลางรายได้ที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากบรรดาแรงงานเหล่านี้นั้น ปัญหาครอบครัวของบรรดาแรงงานเหล่านี้ก็เกิดขึ้นด้วย
ชัญชนิฐ มาเทอเรลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai CDC) เคยกล่าวกับผู้เขียนตอนหนึ่งว่า
“แรงงานไทยในอเมริกาขณะนี้มีปัญหาอย่างมาก เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใบทำงาน หรืออยู่อย่างผิดกฎหมาย อีก 69 เปอร์เซ็นต์อยู่อย่างไม่มีประกันสุขภาพใดๆทั้งสิ้น เป็นสภาพที่เครียดและมีแรงกดดันอย่างยิ่ง พวกเขาต้องทำงานกันวันละไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง พ่อแม่ไม่ก็มีเวลาให้ลูก เป็นอาการของครอบครัวที่ขาดความอบอุ่นอย่างถึงที่สุด”
เช่นเดียวกับในอดีตอันยาวนาน คองเกรสกำลังเอาจริงเอาจังกับต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งพรรครีพับลิกัน และเดโมแครตรวมเป็นเสียเดียวกัน คือ ไม่เอาและต่อต้านคนต่างด้าวจำนวนมากเหล่านี้ ทำให้ความหวังเรื่องการนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้นในขณะที่รัฐบาลโอบามาที่สัญญาว่าจะช่วยเรื่องนี้กำลังเดินหน้าไปสู่การหมดวาระ ครบ 8 ปี
ศูนย์ส่งเสริมชาวไทยแห่งแคลิฟอร์เนีย เคยมีงานวิจัยออกมา ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ โดยแบ่งคนไทยในอเมริกาออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มคนไทยที่เข้ามาตั้งแต่ปี 1950-1965 เป็นการเข้าอเมริกาของคนไทยยุคแรกๆ ส่วนใหญ่มาศึกษา และกลับเมืองไทยประกอบอาชีพในด้านต่างๆ อาจเรียกได้ว่า พวกแทคโนแครต(Technocrats) พวกนี้ส่วนใหญ่เรียนจบก็กลับไปรับราชการตามกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทย
กลุ่มที่สอง เป็นการเข้ามาอเมริกาของคนไทยยุคกลางๆ คือเข้ามายูเอสเอหลังจากกลุ่มที่หนึ่ง ส่วนใหญ่เดินทางมาเพื่อการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่จะทำงานเลี้ยงตัวหรือหาค่าเรียนเองไปด้วยในบางเวลา พร้อมกับรับเงินสนับสนุนจากทางบ้าน คือ จากเมืองไทยในเวลาเดียวกันด้วย นักเรียนทุนรัฐบาลหรือทุนประเภทอื่นๆก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด เดินทางเข้าอเมริกานับแต่ปี 1980 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มาดิ้นรนหางานทำ ไม่ค่อยมีการศึกษา ไม่มีความรู้ภาษาอังกฤษ ไม่เข้าใจวัฒนธรรมและระบบต่างๆ ของอเมริกัน รวมถึงไม่สนใจในเรื่องสิทธิของตัวเอง ได้แต่ทำงานไปวันๆ หรือแบกจ้อบไปเรื่อยๆ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และนับวันจะเป็นปัญหามากขึ้น
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย เล่าว่า คนไทยในกลุ่มที่สามนี้ ทำให้เธอรู้สึกกังวลใจอย่างมาก เพราะพวกเขาอยู่ในสภาพที่โดนข่มเหงจากนายจ้างในหลายรูปแบบ ทั้งไม่ทราบเรื่องสิทธิของตัวเอง เช่น สิทธิในการหาทนายกรณีถูกเนรเทศกลับเมืองไทย เป็นต้น
“ตอนนี้เป็นเรื่องยากมาก กฎหมายโดยรัฐบาลกลางออกมาบังคับอย่างเข้มงวดกับคนต่างด้าวมากขึ้น พวกที่ถูกเนรเทศ คนกลุ่มนี้แม้มีสิทธิ์หาทนาย แต่หากไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรงจริงๆ จนทางการอเมริกันรู้สึกว่าเป็นการทารุณ แบบทาส ต่อแรงงาน หรือมีลูก มีสามีภรรยาที่เป็นพลเมืองอเมริกันอยู่ที่อเมริกา การต่อสู้ทางด้านกฎหมายก็ใช้ไม่ได้ผล” ผอ.ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย ลอสแองเจลิส กล่าว
ว่าไปแล้ว ความเป็นอยู่ของชุมชนไทยในอเมริกามี ช่องโหว่อย่างมาก เมื่อเทียบกับความเป็นอยู่ของชุมชนของประเทศเพื่อนบ้านของเรา คือ เพื่อนบ้านทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ อย่างเช่น คนลาว คนกัมพูชา หรือคนเวียดนามที่อยู่ในอเมริกา
สถานะของคนไทยและชุมชนไทยในอเมริกาไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้คุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนเชื้อชาติเหล่านี้ ที่เข้ามาในฐานะผู้อพยพที่ได้สิทธิหลายอย่างจากรัฐบาลอเมริกัน
จากสถานะของการเป็นผู้อพยพของกลุ่มคนเหล่านี้ทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกในการกลับประเทศแม่มากนัก จึงต้องพัฒนาชุมชนตัวเองในอเมริกาก่อน
ไม่เหมือนกับคนไทยในชุมชนไทย ที่มีทางเลือกที่จะกลับเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ทำให้คนไทยไม่มีพลังจูงใจในการพัฒนาชุมชนที่อเมริกามากนัก เมื่อเทียบกับชุมชนชาติอาเซียนอื่นๆ
ก่อนหน้านี้บทบาทของศูนย์ส่เสริมชาวไทยเคยได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนไทยในหลายเรื่อง สามารถช่วยเหลือคนไทยในเขตลอสแองเจลิสเคาน์ตี้ ไม่ต่ำกว่า 300 คน ในเรื่องต่างๆ ในหลายกรณี
ขณะที่จนถึงเวลานี้ยังไม่มีหน่วยงานไม่หวังผลกำไร (Nonprofit Organization) หน่วยงานใดที่ช่วยเหลือคนไทยโดยตรงเหมือนศูนย์แห่งนี้
จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ทางแถบแคลิฟอร์เนียภาคใต้ โดยเฉพาะเขตแอล.เอ.มีคนไทยอาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 350,000 คน
ขณะเดียวกันเมื่อมองความเป็นไปของชุมชนไทยในอเมริกาในที่ผ่านมา และที่กำลังเป็นไปนั้น กิจกรรมเชิงการช่วยเหลือชุมชนไทยของไทยด้วยกันในอเมริกากลับน้อยมาก คนไทยหลายคนที่มีกำลังในการช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่บ้างหรือแม่แต่หน่วยงานของรัฐบาลไทยที่มีหน้าที่ช่วยเหลือโดยตรงก็หันไป “ลงทุนช่วยเหลือ” ที่ไม่ตรงกับความปรารถนาของคนไทยเหล่านี้ เช่น ผ่านการจัดผ่านงานบอลล์ หรืองานปาร์ตี้บันเทิง โดยเหตุผลในทำนองว่า คนไทยในประเทศต้องต้องการการช่วยเหลือมากกว่า
ความเห็นแบบดัดจริตดังกล่าวก็คือการมองว่าคนไทยในอเมริกามีสถานะสูงกว่าคนไทยในเมืองไทยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรหาเงินหรือทุนต่างๆ ไปช่วยเหลือคนไทยในเมืองไทย ก่อนการช่วยเหลือคนไทยด้วยกันเองที่นี่
ปรากฏการณ์และความคิดดังกล่าว นำไปสู่การจัดกิจกรรมการกุศลต่างๆ เพื่อหารายได้ให้กับคนไทยที่เมืองไทยในแบบลูกหน้าปะจมูกอยู่เป็นประจำ โดยไร้ซึ่งการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินจากการจัดกิจกรรมการกุศล โดยเฉพาะที่จัดโดยเอกชนเลือดรักชาติที่นี่ โดยข้ออ้างในวาระต่างๆ มากมาย
“ดิฉันพบว่าคนไทยที่ต้องการหรือตั้งความหวังกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองไทยในช่วงรีไทร์ ส่วนใหญ่กลับมาอยู่ที่อเมริกาอีก เพราะพวกเขามีลูกมีหลานที่นี่ สมาชิกครอบครัวก็อยู่ที่อเมริกา แต่แล้วกลับไม่ค่อยมีใครลงทุนเพื่อชุมชนไทยที่ใกล้ตัวตามเมืองต่างๆที่นี่ แต่กลับไปลงทุนในสิ่งที่ไกลไปจากการแก้ไขปัญหาของตัวเองเสียมากกว่า”
ผมจำได้ว่านางชัญชนิฐหรือแจนซี่กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างนี้.
ส่วนบนของฟอร์ม
ส่วนล่างของฟอร์ม