พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

รายงานคุณภาพชีวิตเด็กประจำปี 2018 ขององค์กรเพื่อเด็กระหว่างประเทศ Save the Children ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเด็ก จากการประเมิน 175 ประเทศทั่วโลก ตามมาด้วย สโลวีเนีย นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์

ขณะที่ไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับที่ 85 ซึ่งต่ำกว่าเกาหลีเหนือที่อยู่ในลำดับที่ 70 และต่ำกว่าดินแดนที่ยังมีการสู้รบอย่างเซอร์เบียและปาเลสไตน์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 42 และ 84 ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย ในรายงานยังมีการระบุว่าเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกเด็กผู้ชาย-ผู้หญิงอย่างชัดเจน (https://voicetv.co.th/read/SkpOttMlQ)

แล้วเราก็เห็นชัดจากข่าวนี้ว่า สถานการณ์การศึกษาของไทยอยู่ในขั้นวิกฤต หรือเลวร้ายเพียงใด

และนี่คือแนวคิดและสาเหตุที่มาส่วนหนึ่งของการก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ (EFF) ของกลุ่มเพื่อนของผมที่เมืองไทย เพราะถ้าจะว่าไปแล้วในประเทศไทยเอง แทบไม่มีหน่วยงานใด ใส่ใจต่อการศึกษาของเด็ก (หรือของผู้ใหญ่ก็ตาม)เลย ซึ่งก็เป็นเหตุให้สภาพการศึกษาไทยในวันนี้ล้าหลังอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาคู่แข่งของไทยหลายประเทศ ตามสภาพผลการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศที่ปรากฏตามข่าว

ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วิธีการจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนการสอนของประเทศพัฒนาแล้วได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่วิธีการจัดการเรียนการสอนของไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าที่ผู้บริหารการศึกษาต่างทะยอยกันเดินทางไปดูงานการศึกษาในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย แต่รูปแบบการจัดการศึกษาของไทยก็ยังเหมือนเดิม และนั่นทำให้ประเทศไทยของเราตกอยู่ในสภาพล้าหลังในส่วนของการศึกษาอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาทุกระดับสัมพันธ์กับผู้สอนหรือครูอาจารย์โดยตรง เพราะผู้สอนคือกุญแจสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาการศึกษาซึ่งก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระบบการเรียนการสอนสมัยใหม่อาศัยหลักสำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง การให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเอง เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student Center) และสอง คือ ให้ผู้เรียนเติบโตและได้พัฒนาตนเองตามธรรมชาติเท่าที่พวกเขาควรจะเป็น แปลว่าผู้เรียนสามารถคิดเอง วิเคราะห์เอง แยกแยะทุกเรื่องราวประเด็นต่างด้วยตัวของเขาเอง หรือ Critical Thinking ครูผู้สอนเป็นแค่โคช หรือผู้ไกด์ไลน์นักเรียนเท่านั้น เพราะในปัจจุบัน ความรู้ สามารถแสวงหาได้โดยทั่วไป

พัฒนาการของการจัดการการเรียนการสอนในยุค 4.0 คล้ายๆ กับพัฒนาการของการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนยุคใหม่ สื่อมวลชนยุคนี้ไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูลดิบเหมือนเมื่อก่อน แต่บทบาทของสื่อมวลชนในปัจจุบันยังต้องนำเสนอเนื้อหาเชิงการวิเคราะห์อีกด้วย นั่นคือ สื่อยังต้องนำข้อมูลดิบที่ได้มาวิเคราะห์ให้ผู้รับสื่อได้เข้าใจด้วย เช่น ผลสะท้อนหรือผลกระทบของข่าวที่เกิดขึ้น เป็นต้น สื่อทีวีในสหรัฐอเมริกาทุกช่อง จ้างนักวิเคราะห์ข่าวไว้ประจำแต่ละช่องสถานีก็เพราะเหตุนี้

แปลว่า การวิเคราะห์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสื่อยุคใหม่ ผู้รับสื่อไม่ต้องการเพียงข้อมูลดิบ (เช่น ข่าวสาร เป็นต้น) แต่พวกเขาต้องการทราบผลกระทบขั้นต่อไปของข้อมูลดิบอีกด้วย แหละนี่คือ ความสำคัญของ Critical thinking ที่การศึกษาไทยไม่เคยให้หรือไม่เคยฝึกให้กับนักเรียน Mindsetในเรื่องการใช้ปัญญาญาณของนักเรียนไทยจึงแทบไม่มี แหละเราคงต้องโทษครูอาจารย์และผู้บริหารการศึกษา ตั้งแต่รัฐบาลลงมาจนถึงโรงเรียนที่ยังใช้ปรัชญาการศึกษาที่ล้าหลังและห่วย

ไม่เว้นแต่มหาวิทยาลัยของไทยที่เปรียบเสมือนต้นไม้ตายซากแล้ว ครูอาจารย์ตายซากแล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของไทยใช้วิธีการสอนนักศึกษาแบบเดียวกันกับครูสอนเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม อาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งแทบไม่ทำการบ้านเพื่อลูกศิษย์ นอกจากการใช้อำนาจนิยมกดทับนักศึกษาในนามของการแจกชีท(กระดาษ) ให้ท่องจำเนื้อหา ทำข้อสอบ (โดยเฉพาะแนวปรนัย) และออกเกรด วิธีการที่ว่ามานี้ในประเทศพัฒนาแล้วแทบไม่ใช้กันแล้วด้วยซ้ำ มันทำให้วิธีการจัดการการศึกษาของไทยล้าหลังมากแทบจะที่สุดแม้แต่ในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกัน

เมื่อการศึกษาบอด อนาคตของเด็กก็พลอยมืด อนาคตของชาติย่อมวิบัติ จะสดใสได้อย่างไร และเราทั้งหมดก็พากันถอยหลังลงคลอง มีวิธีการจัดการศึกษามากมาย ยิ่งในปัจจุบันนั้น การศึกษาไม่เน้นอุดมการณ์ชาติเหมือนเมื่อก่อน (เช่นเหมือนแบบเรียนไทย“หน้าที่พลเมือง” แบบเก่า) ในโลกาภิวัตน์นี้ไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนก็ตามเราสามารถเรียนร่วมในห้องเรียนใหญ่แบบสากล ในสหรัฐอเมริกา แถวซิลิคอนวัลเลย์ มีผู้คิดค้นซอฟท์แวร์การเรียนการสอนที่ผู้เรียนสามารถเรียนจากที่บ้านหรือที่ใดๆ ในโลกก็ได้ วิธีการดังกล่าวถูกคาดกันว่า มันจะทำให้โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแบบเดิม แบบที่เราเคยเห็นปลาสนาการไปในไม่ช้า ซึ่งก็ย่อมแน่นอนว่า สถาบันการศึกษาไทยแบบเดิมๆ เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็จะพลอยหายไปด้วย

และเราก็ไม่จำเป็นต้องมีครูอาจารย์ที่มีความรู้และอัจฉริยภาพน้อยกว่าเด็กนักเรียนของเขาเองอีกต่อไป ครูอาจารย์ในแบบของการเรียนการสอนแบบเก่าๆ กำลังจะเลือนหายไป การเรียนการสอนแบบศรีธนญชัยแบบเดิมจะถูกแทนที่ด้วยระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์

ก็อะไรเล่าที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ทำไม่ได้ มันคือการคิด การวิเคราะห์ด้วยตัวของผู้เรียนเอง ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นครูอาจารย์แบบเดิมๆ คงไม่สามารถแบกรับภาระการเรียนการสอนแนวใหม่นี้ได้

มากไปกว่านั้นการรับสมัครครูอาจารย์ของสถาบันการศึกษาไทยที่ยังดำเนินไปโดยการใช้ระบบล็อกสเปก ระบบอุปถัมภ์เส้นสาย ประเภทถือพานถือถาดไปกราบกรานต์ผู้ใหญ่ในสถาบันการศึกษาเพื่อให้รับตนเข้าทำงานสอน โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาประเภทมหาวิทยาลัย จัดเป็นระบบที่ล้าหลังที่ดึงการศึกษาไทยให้ลงเหวเร็วมากขึ้น ดังมีสถาบันการศึกษาของสงฆ์บางสถาบันนิยมทำกันจนกลายเป็นวัตรปฏิบัติปกติไป ถ้าไม่เชื่อ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงไปตรวจสอบดูได้ว่าเครือข่ายอุปถัมภ์ประเภทนี้ อุปภัมภ์อลังการกันแค่ไหน? สถาบันมีความศักดิ์สิทธิ์หรือมีคุณภาพในแง่การให้การศึกษามากน้อยขนาดไหน

ไยจะพูดถึงการแข่งขันด้านการศึกษากับประเทศอื่นไปเพื่ออะไร ในเมื่อระบบการศึกษาของเรา ไม่ใช่ของจริง หากมันคือระบบการศึกษาปาหี่ การศึกษาของเราเป็นระบบปิดและไม่เคยเป็นสากล นักเรียนเก่งแค่ในชั้นเรียนและแค่ในประเทศ ไม่เทียบเทียมอารยะประเทศ

เด็กไทยของเราสอบคณิตศาสตร์โอลิมปิคติดอันดับต้นๆ ของโลกแทบทุกปี แต่สุดท้ายมันช่วยให้คนในชาติพัฒนาแนวคิดเชิงรังสรรค์อะไรใหม่ๆ หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตอะไรได้บ้าง…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *