พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ข่าวเงินทอนวัด จับสึกพระสังฆาธิการระดับสูงของประเทศไทย กระฉ่อนไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย หากแต่กระจายออกไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก ชาวพุทธในสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับพุทธศาสนาในเมืองไทย เพราะดูเหมือนประเทศไทยจะเป็นป้อมปราการด่านสุดท้ายของพุทธศาสนานิกายเถรวาทหลังจากที่พุทธศาสนานิกายเดียวกันนี้ ถูกโยกย้ายถ่ายเทมายังสุวรรณภูมิซึ่งก็คือสยามประเทศนั่นเอง
แม้ว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่างๆ นั้นจะยังไม่กระจ่างทั้งหมด เนื่องมาจากปมการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่ควรหรือไม่ที่เราชาวพุทธพึงหันมาประเมินใส่ใจกับท่าทีขององค์กรคณะสงฆ์ของประเทศกับความสัมพันธ์กับชุมชนหรือพูดให้เห็นภาพก็คือ สังคมที่โอบล้อมล้อมรอบพื้นที่วัด
แล้วเราก็อาจจะได้ข้อสรุปเหมือนที่คาลิล ยิบราน เคยเขียนไว้ในเรื่องสั้นของเขาว่า “พื้นที่ของพระเจ้านั้นศักดิ์สิทธิ์หรือสูงเกินที่คนธรรมดาในระดับชาวบ้านจะเข้าไปสัมผัสหรือใช้พื้นที่นั้นได้”
ซึ่งก็หมายความว่า ศาสนสถานนั้น หาได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนหรือชุมชนอย่างที่ควรเป็น พระสงฆ์เองห่างเหินสังคมหรือชุมชมมากขึ้น เราอาจมีพระสงฆ์ที่มีการศึกษาทางโลกสูงขึ้น ทว่าความรู้ดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชนเอาเสียเลย เป็นความรู้แบบแยกส่วนกับชุมชนหรือแยกไปจากวิถีชาวบ้าน
พูดให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ วัดหรือพระสงฆ์ที่โออ่า สง่างาม และมั่งคั่งร่ำรวยกำลังอยู่อย่างมีความสุขท่ามกลางดงสลัม สลัมนั่นเองที่อยู่รอบๆ วัด จนกระทั่งชาวบ้านเองไม่แน่ใจว่าศาสนสถานของพวกกลายเป็นที่สะสมหรือเรียนรู้ทางจิตหรือเป็นแหล่งที่สะสมวัตถุแบบโลกๆ มากกว่ากัน ทั้งบทบาทและอากับกิริยาของประสงฆ์บางรูป ก็มิได้มีท่าทีว่าสำรวมและสงวนตัวเชิงสันโดษในการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสมณสารูปก็หาไม่
เป็นเรื่องน่าหนักใจว่าอนาคตของพุทธศาสนาในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะหากมองกันตามสถานการณ์สเกิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว ต้องนับว่ามีผลกระกระเทือนต่อวงการพุทธศาสนาทั่วโลกไม่น้อย
แน่นอนว่า หลักพุทธธรรม ยังคงไม่เสื่อมถอย แต่หากเรามองให้ดีแล้วขบวนการชาวพุทธในไทยเองกำลังถูกแช่แข็งไปในระดับหนึ่ง แรงกดดันดังกล่าวมีผลต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้
ชมรมพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา ประเมินว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาหรือพระสงฆ์ในเมืองไทยส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของพุทธศาสนาจากประเทศไทยไปยังดินแดนตะวันตก ที่ซึ่งหลายประเทศเป็นดินแดนที่รัฐไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา (Secular State) อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ด้วยซ้ำ
ทำไม?
ก็เพราะว่า ประเทศเหล่านี้เป็นดินแดนที่ให้สิทธิเสรีภาพด้านความเชื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนาใดก็ตาม และถึงแม้ว่ารัฐจะไม่โอบอุ้มอุปถัมภ์ศาสนาใดๆ เลย เหล่านี้คือปัญญาญาณของศาสนิกชนที่สามารถวิเคราะห์ จำแนกได้โดยตัวของเขาเองว่าควรเลือกนับถือศาสนาหรือลัทธิใดๆ ก็ตาม ในอเมริกานั้นเราสามารถดูได้จากวัตรปฏิบัติและแนวคิดของบคคลอย่าง สตีฟ จ้อบบ์ เป็นต้น ที่ว่าไปแล้วจ้อบบ์เองหาใช่ผู้ฝักใฝ่พุทธศาสนาตามแบบฉบับของนิกายเถรวาทก็หาไม่ หากเขาเพ่งไปในทางมหายานและวัชระยานแนวทิเบตมากกว่าพุทธนิกายแบบในเมืองไทย
ถึงกระนั้นก็ยังมีคนหรือพระสงฆ์บางรูปนำจ้อบบ์ไปแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ผลิตหนังสือหรือข้อเขียนหรือสื่อสารทำนองอ้างว่าจ้อบบ์บำเพ็ญตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีในช่วงท้ายชีวิตของเขา ซึ่งก็อาจมีส่วนถูกเป็นแต่การสื่อสารดังกล่าวไม่อยู่ในบริบทการนับถือศาสนาของจ้อบบ์แต่อย่างใดเลย เป็นการกล่าวตู่ขึ้นมาโดยไม่เข้าใจบริบทของผู้คนหรือสังคมอเมริกัน
เหตุการณ์เกี่ยวกับพุทธศาสนาในเมืองไทย ลึกๆ แล้วคงไม่กระทบกระเทือนใดๆ ต่อสังคมพุทธอเมริกัน เพราะในแง่ของความเชื่อทางศาสนานั้น สังคมอเมริกันเป็นสังคมที่ใช้ปัญญาญาณในการคิดวิเคราะห์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นลักษณะสังคมที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับสังคมแนวไสยาศาสตร์ตามแบบฉบับไทยแลนด์ 4.0
เพื่อนอเมริกันของผมคนหนึ่งในชมรมพุทธที่ยูซีเบิร์กเลย์มองว่า พุทธศาสนาในเมืองไทยกำลังอยู่ในสภาพถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะพระสงฆ์หรือวัดแทบไม่สัมพันธ์กับชุมชนรอบๆ หรือแม้แต่ชุมชนไกลๆ ก็ตาม วัดกลายเป็นสถานที่จำเพาะมากขึ้นไปทุกวัน จากแต่เดิมที่วัดเป็นพื้นที่ร่วมสำหรับชุมชนกับพระสงฆ์ แสดงให้เห็นถึงการขาดฐานมวลชนของวัด จึงไม่มีพลังพอในการต่อรองกับอำนาจรัฐ
ซึ่งก็ย่อมแน่นอนเช่นกันว่า การใช้อำนาจรัฐที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการล้วงลูกเชิงลบที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา หรือแท้จริงก็คือ “ประเทศไทยเป็นรับศาสนา”นั่นเอง
เขามองว่า ประเด็นนี้น่าจะถูกนำมาอภิปรายขยายผลชี้เห็นว่า รัฐศาสนามีผลดีผลเสียมากกว่ากันอย่างไร ข้อเรียกร้องที่ให้มีการบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในขณะเดียวกันจะเป็นการมอบดาบให้รัฐไปใช้หรือไม่ ถ้าได้ผู้ปกครอง (รัฐ) ที่ดีก็ดีไป แต่ถ้าได้ผู้ปกครองร้าย ไม่เข้าใจระบบและสังคมก็จะส่งผลเสียอย่างประเมินค่ามิได้ต่อสถาบันพุทธศาสนาในประเทศไทย เหมือนสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ดังนั้น การปกป้องพุทธศาสนาที่ดีที่สุดก็คือการปล่อยให้ศาสนิกชนใช้ปัญญาของเขาเองในการเลือกนับถือหรือไม่นับถือ ขณะที่สัจธรรมก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม
ที่สำคัญศาสนสถานเช่น วัด หรือพระสงฆ์ก็จะกันกลับมาสำเหนียกถึงแนวทางดั้งเดิมของพุทธศาสนากันมากขึ้น นั่นคือ สันโดษและให้ความสนใจชาวบ้านมากขึ้น ไม่ทำตัวแปลกแยกกับชาวบ้านเหมือนเช่นปัจจุบันอีกต่อไป ชาวบ้านคือฐานมวลชนที่สำคัญของวัด วัดไม่ต้องมัวพะวงหรือยุ่งเกี่ยวกับเงินสนับสนุนวัดจากรัฐบาลอีกต่อไป การระวังสำรวมในเรื่องต่างๆ ของพระสงฆ์เพื่อสร้างศรัทธาให้เกิดกับชาวบ้านก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ผมคิดว่าเรื่องทำนองนี้ไม่มีการสอนในมหาวิทยาลัยของสงฆ์ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เพราะยังไงเสียทั้งวัดและบ้านก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันต่อไป
ถ้าวัดไม่สนใจมวลชนหรือชาวบ้าน วัดก็จะกลายเป็นสถานที่เก็บสะสมความมั่งคั่งไว้แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่วัดเองน่าจะเป็นตัวจัดกิจกรรมเพื่อกระจายความมั่งคั่งออกไปยังชาวบ้านหรือมวลชนได้อย่างดีที่สุด
มวลชนนั้นก็จะเป็นพลังหลักในการปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนาอย่างยั่งยืนโดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นรัฐศาสนาพุทธหรือให้รัฐต้องคุ้มครองปกป้องศาสนาหรือไม่