จ้อบ วิโรจน์ศิริ
คลองบางคูลัดเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน…
โพสต์โดย Jobb Xantharid Virochsiri เมื่อ 13 มิถุนายน 2018
คลองบางคูลัดเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน สภาพความคดเคี้ยวด้านแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้เห็นว่าน่าจะเป็นคลองธรรมชาติที่ถูกขุดต่อไปทางทิศตะวันตกถึงแม่น้ำท่าจีน แต่ยังค้นไม่พบข้อมูลว่าขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ.ใด
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2172 – 2199) โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเมืองนนทบุรี ซึ่งมีความคดเคี้ยว การเดินทางสัญจรต้องใช้เวลานาน เมื่อขุดคลองลัดแล้ว แม่น้ำก็เปลี่ยนทางไหลเข้าคลองขุดใหม่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ดังปัจจุบันนี้ ซึ่งมีความยาวประมาณ 5 ก.ม. ส่วนแม่น้ำสายเดิมที่ยาวประมาณ 21 กิโลเมตรนั้นเล็กตีบลงกลายเป็นทางน้ำอ้อม เรียกกันว่าแม่น้ำอ้อม และเมื่อถึง พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการตรงปากแม่น้ำอ้อม และโปรดฯ ให้ย้ายเมืองนนทบุรีมาอยู่ปากแม่น้ำอ้อมด้วย ก่อนจะมีการย้ายเมืองนนทบุรีมายังที่ตั้งปัจจุบันในสมัยรัตนโกสินทร์
แม่น้ำอ้อมต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคลองอ้อมนนท์ ตั้งแต่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอเมืองนนทบุรี เข้าเขตอำเภอบางใหญ่ วกลงทางใต้ ไปจรดคลองลัดที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091 – 2111)โปรดให้ขุดจากคลองบางกอกน้อยขึ้นไปชนคุ้งแม่น้ำที่บางกรวย เรียกว่าคลองบางกรวย กลับมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามวัดเขมาภิรตาราม
ผู้สนใจเรื่องการขุดคลองเปลี่ยนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถดูได้ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=629877990461221&set=a.629877773794576.1073741913.100003170779894&type=3&theater
ชื่อคลองบางคูลัดปัจจุบันตกมาเป็นชื่อของตำบลชนบทซึ่งแต่เดิมคงเป็นชุมชนย่อยอยู่ทางทิศตะวันตกของเทศบาลเมืองบางบัวทอง อยู่ทางเหนือของคลองบางคูลัดอันเป็นชุมชนหลักที่มีตลาดน้ำ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเทศบาลบางใหญ่
จากผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรีมีสีเหลืองซึ่งหมายถึงที่อยู่อาศัยความหนาแน่นน้อยระบายแลบเข้าไปเล็กน้อยในเขตตำบลบางคูลัดด้านทิศตะวันออกที่อยู่ในแถบระยะประมาณ 5 กิโลเมตรจากถนนทางด่วนกาญจนาภิเษก ที่ปัจจุบันมักกลายสภาพเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่แทบจะตลอดวันและทุกวันตลอดสัปดาห์ พื้นที่ส่วนใหญ่ระบายสีเขียวทึบแสดงถึงเจตนาการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่เมื่อเปิดดูจากภาพถ่ายกูเกิ้ลพบว่าในขณะที่บางส่วนของแถบสีเหลืองที่ระบายไว้ได้ถูกใช้เป็นที่ตั้งของบ้านจัดสรรไปไม่ถึงครึ่ง แต่ได้เกิดหมู่บ้านจัดสรรที่เจาะเข้าไปในพื้นที่สีเขียวของตำบลด้านนอก ซึ่งตามกฎหมายผังเมืองไม่ควรจะเกิดการพัฒนาได้หนาแน่นขนาดนี้ ทั้งตรงกันข้ามบริเวณที่ทาสีแดงไว้ให้เป็นการพัฒนาแบบเข้มข้นหนาแน่นกลับเป็นที่ตั้งหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ซึ่งต่อไปในอนาคตเมื่อราคาที่ดินแพงขึ้นได้ขนาดจับใจบางบริเวณก็อาจจะยอมทุบรื้อบ้านเปลี่ยนเป็นคอนโดมีเนียมเกาะติดแนวรถไฟฟ้าไปได้บ้าง และด้วยเงินลงทุนที่น่าจะต้องเกิดความสูญเปล่ากันไปไม่น้อย ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าจะไปบอกว่าคือความล้มเหลวของการวางผังเมืองแบบนักระบายสีก็คงไม่มีนักผังเมืองวิชาชีพคนใดอยากจะออกมายอมเปิดเผยตัวว่าได้มีส่วนสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นเป็นแน่
จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ได้ข่าวว่าการจะวางผังเมืองฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่หมดอายุไปหลายปีแล้วนั้น ยังไม่อาจจะหาข้อสรุปตกลงอะไรกันได้ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ แต่ในขณะที่ยังเป็นสุญญากาศช่องว่างกันอยู่นี้กิจกรรมการพัฒนาซื้อหาที่ดินเก็งกำไรก็ยังดำเนินไปเต็มสปีด จนเมื่อถึงเวลาได้ฤกษ์เริ่มลงมือทำงานวางผังเข้าจริงๆ การใช้ที่ดินก็จะเปลี่ยนแปลงไปจนจำสภาพเดิมไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาไล่ตามเก็บรวบรวมข้อมูลกันใหม่กันเป็นโกลาหล
เคยได้ยินมาว่ามีบางคนที่หลังจากทำแบบเดิมซ้ำซากมาหลายๆครั้งแล้วก็ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จก็เลยอาจจะคิดหาวิธีทำเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้าง แต่ก็เห็นถูกลากหวนกลับไปสู่แนวทางเดิมๆกันเสียทุกที ผมนั้นอาจจะอ่อนด้อยความรู้เรื่องกระบวนการวางผังเมืองแต่เท่าที่ได้ผ่านเห็นการทำงานในหลายประเทศในโลกมาบ้าง ยังพบว่าการประกาศว่ากฎหมายผังเมืองฉบับนี้หมดอายุลงจะต้องเริ่มกระบวนการจัดทำกันขึ้นใหม่น่าจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศนี้แม้ไม่อาจยืนยันว่าเป็นแห่งเดียวในโลก ที่จะต้องมีการทุ่มเทสรรพกำลังและทุนเงินทองเพื่อจัดทำผังเมืองฉบับที่มีความครบสมบูรณ์ถูกต้องหมดจดบริสุทธิ์ขึ้นมาประกาศใช้ใหม่
ในประเทศแถวตะวันตกที่โง่เง่านั้นมันไม่รู้จักวิธีรื้อทำใหม่กันอย่างนี้หรอก มันทำกันเป็นแค่ใช้วิธีทำฉบับแก้ Amendment หรือถ้าเรื่องย่อมๆก็แค่ทำ Variance กันอย่างไม่ต้องสิ้นเปลืองเหงื่อและน้ำลายให้มากไปเท่านั้น แต่จะเอาอะไรกับประเทศที่หัดเขียนรัฐธรรมนูญกันมาเกือบแปดสิบปี มีรัฐธรรมนูญกว่ายี่สิบฉบับมากที่สุดในโลก แล้วก็ยังจะทำแบบเดิมนี้กันต่อไป อาจจะจนกว่าบางประเทศมหาอำนาจยื่นมือเข้ามาสะกิดแล้วบอก…มึงเลิกเหอะ เพราะตอนนี้มึงเป็นประเทศอาณานิคมของกูอย่างสมบูรณ์แล้ว…
การพัฒนาเมืองแบบมะเร็งลุกลามนี้ที่จะเรียกเท่ๆเป็นภาษาฝรั่งก็ได้ว่า Urban Sprawl พอเห็นได้ว่าเกิดจากการที่มีผู้หวังดีไปขยายถนนที่เดิมคงเป็นเพียงทางเกวียนลัดเลาะไปตามคันนา ซึ่งแม้จะได้มีการลบแนวคดโค้งของแนวทางควายเดินตามประสาสัตว์ต่างที่ใช้ไถนาไปบ้างก็ยังพอมีกลิ่นโคลนสาบควายให้พอได้รู้สึก และเมื่อได้เห็นขนาดของหมู่บ้านจัดสรรที่เลื้อยเลี้ยวลึกเข้าไปตามแปลงนาที่ผู้จัดสรรสามารถใช้เงินโน้มน้าวเจาะซื้อเอาจากชาวนาเจ้าของเดิมมาพัฒนาได้ ก็คงไม่ยากที่จะจินตนาการถึงสภาพการจราจรที่ไหลออกมาประดังอัดกันแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนบนแนวถนนที่ถูกทำให้เป็นสายหลัก ที่หลายสายจะถูกขนาบล้อมด้วยการ”พัฒนา”จนไม่อาจจะขยายผิวจราจรเพิ่มอีกได้ และการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนพื้นที่รอบๆก็จะเป็นตัวขวางไม่ให้สามารถเกิดการเชื่อมต่อกันได้ของโครงข่ายถนนภายใน จำเป็นต้องประดังกันออกมาที่ถนนสายหลักเส้นเดียว
สภาพโกลาหลนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อนาข้าวถูกเปลี่ยนต่อๆไปเป็นบ้านจัดสรรหลากรูปแบบและขนาด ที่ทุกบ้านแทบจะไม่มีหนทางออกไปสู่โลกภายนอกหากไม่มีรถยนต์ไว้ใช้ หรือต่อไปก็น่าจะเกิดวินมอเตอร์ไซค์ขึ้นอีกนับร้อยตามถนนซอยย่อยลึกลับต่างๆ ซึ่งถ้าใครจะมองว่าเป็นการสร้างโอกาสทำอาชีพทดแทนการทำนาที่มีมาแต่บรรพบุรุษก็ออกจะเป็นเรื่องน่าเวทนาอยู่ครามครัน
สิ่งที่จะตามมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้นอกจากสูญเสียผืนดินเพาะปลูกสร้างอาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ ไปเป็นหมู่บ้านสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยพื้นที่ดาดแข็ง ความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำในขณะที่น้ำเสียและขยะถูกปล่อยทิ้งออกมามากขึ้น ถนนที่กลายเป็นที่จอดรถพาการจราจรติดขัดและพ่นไอพิษร้อนๆออกมารมทำลายปอดของผู้คน พื้นที่สีเขียวและต้นไม้ที่จะถูกเปลี่ยนเป็นก้อนกลุ่มอาคารและถนนผิวแข็งดูดซับแสงรังสีจากดวงอาทิตย์ไว้เป็นเกาะความร้อนทำให้ต้องอยู่กันด้วยระบบเครื่องปรับอากาศที่สิ้นเปลืองพลังงาน และตามมาด้วยความผันผวนรุนแรงของลมฟ้าอากาศ
ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือการที่จะต้องตกเป็นทาสในระบบเงินที่กู้เอามาผ่อนบ้านที่อยู่คุ้มกะลาหัว รถยนต์และรถเครื่องมอเตอร์ไซค์อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและบริการที่จะ”นำไปสู่ความเป็นสมัยใหม่”ทั้งหลาย จนในทุกชั่วโมงชีวิตที่ทนลืมตาตื่นอยู่ต้องถูกใช้ไปกับการไล่ล่าหารายได้เอามาจ่ายเงินต้นบวกดอกเบี้ยทบต้น ภาษีอากรค่าเช่าประเทศอยู่อาศัยและให้รัฐบาลที่ไม่ว่าจะได้เลือกหรือเสือกเข้ามาเองเอาไปผลาญถลุง ในขณะที่เงินที่หามาได้และที่พอเหลืออยู่ในกระเป๋ามีราคาค่าลดลงไปทุกนาที รวมทั้งความเสื่อมค่าของสินทรัพย์ที่คิดว่าตนมีชื่อเป็นเจ้าของแต่อาจกลับกลายเป็นภาระอันแสนยากลำบากที่จะปลดเปลื้อง
แม้จะตั้งชื่อหัวเรื่องว่า”ตำบลบางคูลัด” แต่สภาพของการพัฒนาอย่างไร้ทิศทางไร้สติสัมปชัญญะเช่นนี้จะสามารถพบได้ในทุกพื้นที่บริเวณในประเทศที่ทำท่าว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วแต่ก็ยังกำลังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาต่อไปโดยอาจจะไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าน่าจะไม่สามารถพัฒนาได้เสียแล้ว