
ผศ.ดร ชาญณรงค์ บุญหนุน
เครดิตภาพ http://dhammawijja.blogspot.com/2016/02/blog-post_1.html
โดยจารีตแห่งสงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ พระพุทธเจ้าไม่ทรงประสงค์จะให้ภิกษุในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณและจริยธรรม มีเงินหรือทองของมีค่าชนิดต่าง ๆ ไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว เพราะปัจจัย 4 ที่เพียงพอแก่การเลี้ยงชีวิตสงฆ์นั้น อาจได้มาด้วยการสนับสนุนหรือบริจาคโดยฆราวาสผู้เลื่อมใส
ขณะที่พุทธศาสนามีคำสอนให้พระสงฆ์แสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์และอนุเคราะห์ชุมชนด้วยการสั่งสอนให้เข้าถึงเป้าหมายทางศาสนา พุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับการทำบุญที่มุ่งหมายให้พุทธบริษัทเกื้อกูลกันและกันด้วยปัจจัย 4 พัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างมิตรไมตรี มีเมตตาต่อกัน ฆราวาสแสวงบุญในศาสนาด้วยการบริจาคทานเพื่อบูชาพระสงฆ์ แบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่ออนุเคราะห์คนอื่นที่อยู่ในสังคมเดียวกัน เพื่อว่าสังคมจะดำรงความสงบสุขและเอื้อต่อการพัฒนาปัญญา [1]
สังคมพุทธบริษัทที่เกื้อกูลแบ่งปันทรัพยากรและความรู้เป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงคาดหวัง ขณะพุทธศาสนาเสนอระบบศีลธรรมที่เปิดโอกาสให้ฆราวาสได้แสวงหาทรัพย์สิน ครอบครองทรัพย์และใช้จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้ตามใจปรารถนาโดยไม่ละเมิดครรลองของศีล (จริยธรรมพื้นทางทางสังคม) และมีโอกาสได้แสวงบุญหรือหว่านบุญทานลงในเนื้อนาบุญ (พระสงฆ์) ของศาสนา พระพุทธเจ้าก็คาดหวังให้ฝ่ายบรรพชิตตอบแทนฆราวาสด้วยการให้การศึกษาและขัดเกลาด้วยจริยธรรมเพื่อพัฒนาตนในระดับสูงขึ้นไป ภายใต้แบบแผนการดำรงอยู่อย่างอาศัยเกื้อกูลกันและกันทำนองนี้ พระพุทธเจ้าจึงมองไม่เห็นความจำเป็นที่พระสงฆ์ต้องมีทรัพย์สินส่วนตัวอื่น ๆ นอกเหนือจากบริขาร ๘ ซึ่งมีบาตรและจีวรเป็นหลัก
ในสมัยหลังพุทธกาล แม้ว่าท่าทีของพระสงฆ์เถรวาทโดยรวมจะยังถือว่า ทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งเป็นมายาเช่นเดียวกับชีวิตของเรา แต่แนวคิดและท่าทีของพระสงฆ์ต่อทรัพย์สินและความมั่งคั่งก็แตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าการดำรงตนอย่างนักพรตอยู่อย่างปราศจากทรัพย์สินอื่นใด ๆ เป็นวิถีที่ซื่อตรงและแท้จริงต่อพระธรรมวินัย อีกฝ่ายหนึ่งแม้จะตระหนักว่าบรรพชิตควรดำรงตนอย่างสมถะและสันโดษมุ่งการหลุดพ้นจากทุกข์เป็นหลัก แต่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทีต่อเรื่องเงินหรือทรัพย์สิน โดยถือว่ามีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องใช้เงิน
พระวินัยปิฎกบันทึกเหตุการณ์ในช่วง 100 ปีหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไว้ว่า เมื่อถึงวันอุโบสถ (วันพระ) ภิกษุชาววัชชีบุตรได้ขอบริจาครูปิยะจากอุบาสกอุบาสิกาที่ผ่านไปผ่านมาในวัด โดยอ้างว่า “สงฆ์มีธุระที่ต้องทำด้วยบริขาร” วันหนึ่ง เมื่อพระยสกากัณฑกบุตร (หนึ่งในพระเถระที่ผลักดันให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา) เดินทางมาเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเองและเห็นว่าการประพฤติดังกล่าวของภิกษุชาววัชชีบุตรเป็นการละเมิดพระวินัย พระยสการกัณฑกบุตรได้ตำหนิภิกษุชาววัชชีบุตรว่า ภิกษุรับเงินและทองไว้เป็นของส่วนตัวนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของพระศาสดา ตามบันทึกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ข้อขัดแย้งเรื่องการรับเงินรับทองนี้เป็นปฐมเหตุนำไปสู่การแตกแยกกันครั้งแรกของคณะสงฆ์ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา [2]
เรื่องราวใน “สัตตสติกขันธกะ” (การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 2) บ่งชี้ว่า มีท่าทีเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินส่วนตัว ๒ แบบเกิดขึ้นในกลุ่มพระสงฆ์ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน [3] พระสงฆ์กลุ่มที่ต่อมาเรียกตนเองว่า “เถรวาท” นั้น เห็นว่าการขอบริจาคเงินจากชาวบ้านและมีเงินไว้เป็นทรัพย์สินส่วนตัวนั้นสร้างความมัวหมองให้แก่ศาสนา กลุ่มนี้อ้างถึงพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาตว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งยินดีทองและเงิน ไม่เว้นขาดจากการยินดีทองและเงิน นี่เป็นอุปกิเลสที่เป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมัวหมอง ไม่สง่า ไม่ผ่องใส ไม่รุ่งเรือง”[4] นอกจากนี้ยังได้อ้างพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ผู้ใหญ่บ้านชื่อมณีจูฬกะในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคว่า “เรากล่าวเปรียบเทียบไว้อย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการรู้จักตนเองพึงแสวงหาตนเอง แต่เราไม่เคยกล่าวถึงทองและเงินว่า “เป็นสิ่งที่ควรยินดี ควรแสวงหา” ไม่ว่ากรณีใดๆ”[5]
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้บันทึกผ่านมุมมองของพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาท อันเป็นมุมมองที่ยืนยันชีวิตแบบนักพรตที่มุ่งแสวงหาการหลุดพ้นและเป็นปฏิปักษ์กับภิกษุชาววัชชีบุตร เราไม่ทราบว่าสาเหตุแท้จริงที่นำไปสู่การรับเงินทองของพระชาววัชชีนั้นเกิดขึ้นด้วยความคิดหรือสภาพแวดล้อมแบบใดแน่ รู้แต่ว่าภิกษุชาววัชชีบุตรอ้างถึงความจำเป็นที่ว่า “สงฆ์มีธุระที่ต้องทำด้วยบริขาร” เรื่องนี้ทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับทรัพย์สินของสงฆ์โดยเฉพาะกรณีการรับเงินรับทองในยุคเริ่มแรกของพุทธศาสนาในอินเดีย
ตามประวัติศาสตร์ ภิกษุชาววัชชีบุตรที่ว่านี้ต่อมารวมกันเป็นคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เรียกตนเองว่า “มหาสังฆิกะ” ซึ่งเป็นนิกายที่พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 7 มหาสังฆิกะเป็นจุดกำเนิดของแนวคิดแบบมหายานที่ยอมรับการปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัยบางข้อเพื่อให้พระสงฆ์สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างไปและมีการตีความธรรมได้เสรีมากขึ้น ส่วนกลุ่มเถรวาท เป็นกลุ่มที่รณรงค์ให้มีการชำระความผิดภิกษุชาววัชชีบุตรในวัตถุ 10 ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทนั้นซื่อตรงต่อพระวินัยในเรื่องเงินทองยิ่งนัก
ดูเหมือนว่าจารีตของพระสงฆ์เถรวาทในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับกรณีภิกษุชาววัชชีบุตรที่เกิดขึ้นในสมัยเมื่อ 100 ปีหลังพุทธกาล การรับเงินและทองหรือรูปิยะเป็นอาบัติเล็กน้อยที่พระสงฆ์เถรวาทในอดีตถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการชำระสะสางให้ถูกต้อง มีความพยายามที่จะกล่าวโทษภิกษุชาววัชชีบุตรอย่างเป็นทางการในกรณีละเมิดวินัยที่เกิดขึ้นครั้งนั้น แต่เถรวาทปัจจุบันไม่ได้ยืนยันวิถีชีวิตบำเพ็ญพรตเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว พระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยและศรีลังกา เป็นต้นกลายเป็นผู้มีเครื่องอุปโภคบริโภคหรูหราผิดแผกกับวิถีแห่งสมณะที่ยืนยันหลักการแห่งความไม่ยึดมั่นถือมั่น
นักวิชาการชาวตะวันตกกล่าวว่า พระสงฆ์ในพุทธศาสนาเถรวาทไม่ได้บำเพ็ญวิถีแห่งนักพรตอย่างที่บอกกล่าวไว้เสียทีเดียว พระสงฆ์ยอมรับวัตถุทานชนิดหรูหรา เช่น รถเมอซีเดสเบนส์ และวัตถุเครื่องใช้อื่น ๆ จากฆราวาสที่มีจิตศรัทธาถวาย และทั้งใช้รถหรูดังกล่าวนั้นไปในงานพิธีต่าง ๆ ที่มีฆราวาสร่วมงาน พระสงฆ์รูปหนึ่งในศรีลังกาให้เหตุผลในการรับและใช้สอยรถหรูของท่านว่า พระสงฆ์ไม่ควรจะขัดขวางการทำบุญด้วยจิตศรัทธาของฆราวาส เมื่อฆราวาสมีจิตศรัทธาถวายเครื่องใช้มีค่ามีราคาเช่นนี้ ก็จำเป็นจะต้องนำมาใช้สอยด้วยความไม่ยึดมั่นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อการบำเพ็ญบุญของฆราวาส ไม่เช่นนั้นแล้วบุญก็จักไม่เกิด รถหรูก็เป็นแต่เพียงเครื่องมือในการคมนาคม เป็นเพียงวิถีทางสู่เป้าหมาย การไม่ใช้สอยของที่ญาติโยมถวายก็เป็นการยึดมั่นถือมั่นในอีกลักษณะหนึ่งเช่นกัน พระรูปนี้บอกว่าท่าทีที่ถูกต้องต่อทรัพย์สินคือการวางอุเบกขา [6]
แนวการอ้างเหตุผลเช่นนี้ ไม่ค่อยต่างกันนักกับพระสงฆ์หรือชาวพุทธไทยที่เลี่ยงบาลีว่า “เงิน” ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามรับ ห้ามยินดีหรือห้ามมีไว้ครอบครองนั้นเป็นคนละอย่างกับ “ธนบัตร” ที่ใช้เป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนกันอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ ดังนั้น เงินจึงเป็นสิ่งที่พระสงฆ์จับต้องและครอบครองไว้เป็นของส่วนตัวได้ นี่คือตรรกะที่ผิดเพี้ยนเพราะต้องการตีความวินัยเข้าข้างตนเองของเหล่าชาวพุทธจำนวนหนึ่ง
น่าสนใจว่า เมื่อพุทธศาสนาผ่านมาถึงปัจจุบัน สายเถรวาทจากที่เคยต่อต้านการถือทรัพย์สินเงินทองแบบซื่อตรงต่อพระวินัยอย่างมาก กลับยอมรับแนวคิดที่ทำให้พระสงฆ์มีทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ที่ดิน เงิน ที่อยู่ และเครื่องใช้หรูหรา เป็นต้นจนเป็นเรื่องปกติ ด้านหนึ่งเถรวาทจะยืนยันว่า พระสงฆ์ต้องละความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งทรัพย์สินเงินทองและวัตถุที่มีค่ามีราคาอื่นๆ หลักการเรื่องความไม่ยึดมั่นนี้เป็นแนวคิดที่ใช้ทั่วไปสำหรับการดำเนินชีวิตทั้งของพระสงฆ์และของฆราวาส
แต่ขณะที่ยืนยันการดำเนินชีวิตตามเป้าหมายตามหลักคำสอนในพระธรรมวินัย และยืนยันว่าสงฆ์ต้องบำเพ็ญเพียรเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงต้องสละสิ่งของอันนำมาซึ่งความยึดมั่นและเป็นอุปสรรคต่อการหลุดพ้น ซึ่งรวมทั้งทรัพย์สินเงินทอง แต่คำสอนเรื่อง “บุญกริยาวัตถุ” ที่อนุญาตให้ชุมชนมีส่วนร่วมในบุญกุศลทางศาสนา โดยเฉพาะเรื่องทานที่ให้ค่าแก่การถวายทานอันเลิศแก่สงฆ์ อันเป็นแนวคิดที่ถือต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล (นัยว่า เป็นการตอบสนองต่อความปรารถนาแสวงบุญหรือปลูกบุญในศาสนาของชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นพ่อค้าที่เป็นผู้อุปถัมภ์หลักของพุทธศาสนาตั้งแต่พุทธกาล) ทำให้พระสงฆ์และวัดมีทรัพย์สินอันเกิดจากการทำบุญของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่เป็นกษัตริย์และพ่อค้า ยิ่งเมื่อพุทธศาสนากลายเป็นสถาบันที่ใหญ่โตขึ้นตามลำดับ มีพระสงฆ์และวัดมีจำนวนมากขึ้น ก็ทำให้วัดมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ชีวิตตามที่ปรากฏดูจะเดินไปคนละทางกับหลักการที่พยายามยืนยัน
อย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 5 วัดเริ่มกลายเป็นสถาบันที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น มีที่ดิน มีอาคาร หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมทั้งมีการให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ชุมชน กระนั้นก็ตาม พระสงฆ์ยังได้รับการนับถือว่าเป็นผู้มุ่งมั่นบำเพ็ญพรต ละเว้นจากทรัพย์สินทั้งปวงยกเว้นสิ่งของที่จำเป็นแก่ชีวิตสมณะ[7] การรับวัตถุทานจากกษัตริย์ และชนชั้นสูงอื่น ๆ ทำให้พระสงฆ์ค่อย ๆ กลายเป็นชุมชนที่มีความมั่งคั่งขึ้นตามลำดับ ภาวะดังกล่าวนี้ได้นำไปสู่ปัญหาหรือข้อถกเถียงที่ว่าจะใช้ทรัพย์สินอย่างถูกต้องทั้งในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของชุมชนสงฆ์โดยรวมทั้งหมดและส่วนตัวของภิกษุแต่ละรูปอย่างไร มีข้อถกเถียงโต้แย้งมากมายในเรื่องนี้
โดยสรุปแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ
ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยกับการมีทรัพย์สินของวัดและแนวปฏิบัติใหม่ ๆ เกี่ยวกับการได้มา การบริหารจัดการและการแจกจ่ายทรัพย์สินของวัด ฝ่ายนี้ตีความพระวินัยทั้งเพื่อให้รองรับความชอบธรรมและเพื่อเป็นข้อกำหนดที่อำนวยให้แก่ปฏิบัติใหม่ ๆ ในการแสวงหาทรัพย์สินและกิจกรรมเศรษฐกิจ พระสงฆ์เถรวาทกลุ่มนี้กล่าวว่า ทรัพย์สินของวัดเมื่อใช้อย่างถูกต้องตามจารีตแห่งอรรถกถาวินัยก็จะช่วยให้เกิดสวัสดิภาพแก่ชุมชนและเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่ศาสนา
อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการที่วัดจะมีทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง เถรวาทกลุ่มนี้จะมองว่าการตีความของฝ่ายแรกนั้นไม่ซื่อตรงต่อพระไตรปิฎก พระสงฆ์กลุ่มนี้กล่าวว่าการที่วัดมีทรัพย์สินมากขึ้นและมีกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจกระตุ้นให้สงฆ์เกิดความยึดติดในกิเลสตัณหา จึงเป็นอันตรายทั้งต่อกระบวนการพัฒนาตนสู่ความหลุดพ้นและต่อการทำหน้าที่อันถูกต้องตามธรรมของพระพุทธเจ้า ฝ่ายที่คิดเช่นนี้คล้ายกันกับกลุ่มที่กำลังมีบทบาทอย่างสูงในการผลักดันให้มีระเบียบเกี่ยวกับการเงินของวัดหรือพระสงฆ์ในขณะนี้
นักวิชาการด้านตะวันตกคือ Frank E. Reynolds กล่าวสรุปเป็นข้อสังเกตในเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่นี้ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการสลับสับเปลี่ยนไปมาระหว่างช่วงเวลาที่เห็นว่าวัดสามารถสะสมทรัพย์สินได้จากการทำบุญของผู้อุปถัมภ์วัด และช่วงเวลาที่มีการตำหนิรังเกียจความมั่งคั่งทางทรัพย์สินของพระสงฆ์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้นำของวัดที่เห็นดีเห็นงามกับการมีทรัพย์สินจะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกันที่การปฏิรูปคณะสงฆ์และการต่อต้านคัดค้านความมั่งคั่งของพระสงฆ์จะริเริ่มและสนับสนุนโดยกษัตริย์ที่ต้องการจะหารายได้จากการเก็บภาษีที่ดินของวัด[8] ข้อนี้ก็น่าจะสะท้อนสิ่งที่ปรากฏในสังคมไทยขณะนี้ได้ไม่น้อย
ดูเหมือนว่าเมื่อรัฐกับศาสนาสัมพันธ์กันตามแบบที่เป็นอยู่ในประเทศเถรวาททั้งหลาย วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์หรือมุมมองเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในเรื่องเงินมักจะปรับเปลี่ยนไปมาโดยสัมพัทธ์กับผู้มีอำนาจในรัฐหรือสังคมที่พุทธศาสนาอิงอาศัยอยู่ ถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็ถือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้เป็นความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงหรือความไม่เที่ยงแท้ของสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าปรากฏการณ์ด้านไหนจะมีพลังผลักดันสังคมมากกว่ากัน
ในสถานการณ์ที่ถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ซึ่งมีแนวโน้มว่าทางฝ่ายรัฐจะมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินของพระสงฆ์ออกมา เพื่อ “บังคับให้บริสุทธิ์” ในนามของการปฏิรูปศาสนานั้น ฆราวาสผู้มีอำนาจในปัจจุบันดูจะสนใจเป็นพิเศษที่จะบังคับไม่ให้พระสงฆ์ในปัจจุบันมีทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งพระสงฆ์และชาวพุทธต่างให้เหตุผลคัดค้านในทำนองเดียวกันว่าไม่ควรจะมีกฎหมายทำนองนี้ออกมา เพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การให้เหตุผลทำนองนี้รับฟังได้ กล่าวคือ ตราบใดที่ไม่สามารถหาหลักประกันใด ๆ ที่จะอำนวยความสะดวกแก่บรรดานักบวชในพุทธศาสนาให้เป็นผู้ที่ไม่ต้องจับเงินแต่สามารถทำกิจธุระที่จำเป็นต้องทำด้วยเงินได้ ก็ไม่ต้องมีกฎหมายที่ออกมาแล้วใช้ไม่ได้ผล ไม่เกิดประโยชน์อะไรมากกว่าความวุ่นวาย สำหรับผม หากว่ากันตามที่ควรจะเป็นแล้ว รัฐไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติทางศาสนาของพลเมืองโดยประการทั้งปวง ยกเว้นกรณีที่ความเชื่อและแนวปฏิบัตินั้นนำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
ถ้าเป็นชาวพุทธ เราจะยอมให้พระสงฆ์มีทรัพย์สินส่วนตัวหรือจับเงินจับทองได้หรือไม่ ? ผมคิดว่าการที่พระจะมีทรัพย์สินส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ ภายใต้เงื่อนไขที่สามารถทำให้สอดคล้องกับหลักแห่งพระวินัยที่พระสงฆ์ยืนยันไว้เป็นหลักการทางศาสนาของกลุ่มตน พูดให้ชัดคือ เมื่อสงฆ์ยอมรับและเห็นพ้องกันว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ การที่พระสงฆ์จะมีทรัพย์สินหรือจับเงินและทองก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะพระวินัยบางข้อโดยเฉพาะสิกขาบทเล็กน้อยนั้นได้รับอนุญาตให้ปรับเปลี่ยนได้โดยใช้มติของสงฆ์
อาจารย์วีระ สมบูรณ์[9] เสนอไว้ว่า “อริยวินัยคือพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม” และเป็นสิ่งที่ต้อง “ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัยและเงื่อนไขต่าง ๆ” จารีตของพระวินัยหรือแบบแผนบางอย่างที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ย่อมเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้เกิดความเหมาะสมเช่นกัน ดังเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานก็แสดงไว้อย่างชัดเจนในบทสนทนาระหว่างพระองค์กับพระอานนท์ที่ว่า “หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียบ้างก็ได้” ผมเข้าใจเอาว่า พระวินัยเป็นสมมติบัญญัติที่อิงอยู่กับบริบททางสังคมวัฒนธรรม ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงยอมให้ปรับเปลี่ยนสิกขาบทบางอย่างได้ (แต่เถรวาทยืนยันที่ไม่เปลี่ยนเอง) เรื่องเงินกับพระสงฆ์ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน หากยอมรับกันได้ว่าวินัยเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่ยอมให้ปรับเปลี่ยนได้ดังที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ การที่จะยอมให้พระสงฆ์มีทรัพย์สินตามสมควรแก่เหตุก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ต้องทำโดยสงฆ์เท่านั้นไม่เกี่ยวกับคนนอกหรือฆราวาส และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เกี่ยวกับรัฐหรือความประสงค์ของรัฐ
สิกขาบทเกี่ยวกับเงินและทองหรือการรับเงินและทองของภิกษุนั้นถูกมองว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อยโดยพิจารณาจากน้ำหนักของโทษที่ปรับแก่ผู้ละเมิด การอ้างว่า “พระสงฆ์มีกิจที่ต้องทำด้วยบริขาร” ของภิกษุชาววัชชีบุตรมีนัยสำคัญ ในแง่ที่นอกจากแสดงให้เห็นว่า ภายหลังพุทธกาล เริ่มมีการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติบางอย่างเกี่ยวกับทรัพย์สิน (เงินทอง)ในพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแคว้นวัชชี จากแนวปฏิบัติเดิมที่พระสงฆ์ไม่ได้รับอนุญาตให้จับเงินทองของมีค่า (วัตถุอนามาส) มอบภาระให้ฆราวาสคนวัดหรืออุบาสกผู้นับถือดำเนินการเมื่อจำเป็นต้องทำกิจธุระอันเนื่องด้วยปัจจัย 4 แทน มาเป็นการที่พระสงฆ์จะมีทรัพย์สินในครอบครองเสียเอง เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนวินัยบางข้อนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เพียงแต่การปรับเปลี่ยนทำนองนี้เป็นสิ่งที่เถรวาทรังเกียจ
จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่า เป็นไปได้ที่ในบางช่วงเวลานั้น การที่ต้องมีทรัพย์สินส่วนตัวไว้เป็นเรื่องจำเป็น เมื่อฆราวาสไม่อาจสละเวลาดำเนินการต่าง ๆ แก่พระสงฆ์ได้ พระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถจัดการให้เป็นไปตามพระวินัยได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะเห็นควรให้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเงินหรือทรัพย์สินบางประการได้ ภิกษุบางกลุ่มในยุคต้นของพุทธศาสนาคือตัวอย่างของการปรับตัวในเรื่องนี้
ผมอาจจะมองพฤติกรรมของภิกษุชาววัชชีบุตรแตกต่างจากที่มองกันโดยทั่วไป เถรวาทสมัยนั้นและสมัยนี้ได้ประณามพวกวัชชีบุตรไว้มาก แต่ถ้าเราอ่านอย่างละเอียดด้วยจินตนาการที่มากขึ้นกว่าการอ่านแบบเข้าข้างเถรวาทฝ่ายเดียว มีเรื่องราวที่อาจชวนให้ตีความได้ว่าภิกษุชาววัชชีบุตรปรับแนวปฏิบัติตามพระวินัยโดยอาศัยการยินยอมของสงฆ์หรือชุมชนไม่ใช่โดยตามใจตนเองโดยพลการ หมายความว่า การปรับเปลี่ยนบทบัญญัติของภิกษุชาววัชชีบุตรอิงอยู่กับพุทธานุญาตที่ว่า “หากสงฆ์จำนงอยู่ จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียงบ้างก็ได้” ตามพุทธพจน์ สงฆ์มีอำนาจในการกำหนดข้อปฏิบัติบางประการเพื่อให้เหมาะแก่กาลสมัยได้ การรับเงินและทองหรือการจับต้องเงินทองของพระสงฆ์จึงอาจทำได้หรือไม่ ก็ต้องโดยอาศัยมติของสงฆ์ ไม่ใช่โดยการบังคับจากฆราวาสหรือบังคับจากอำนาจรัฐ คำถามอยู่ที่ว่าพระสงฆ์ไทยมีเข้าใจประเด็นพุทธานุญาตเรื่องพระวินัยมากน้อยแค่ไหน ท่านจะยืนยันความเป็นเถรวาทแต่ปาก แต่ยังรับเงินและทอง มีทรัพย์สินส่วนตัว ทั้งที่ยังมีข้อห้ามในพระวินัยอยู่ แล้วก็ใช้วิธีเลี่ยงบาลี ตีความเอาแบบนักบาลีศรีธนญชัย
ถ้าหากชาวพุทธยอมให้พระมีทรัพย์สินส่วนตัวได้ ปัญหาสำคัญก็อาจจะยังมีอยู่กล่าวคือ เราจะแสวงหาจุดที่พอดีระหว่างการถือครองชีวิตแบบนักพรตกับการที่ต้องทำกิจ “อันเกี่ยวเนื่องกับเงิน” หรือบริขารโดยไม่ทำให้ชีวิตสมณะเสียความบริสุทธิ์ (ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย) ได้อย่างไร พระสงฆ์จะมีชีวิตอยู่ระหว่างการแสวงหานิพพานกับการที่ต้องใช้ชีวิตบนโลกอันวุ่นวายนี้อย่างพอดีพอเหมาะได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องอาศัยทั้งภูมิปัญญาและความขัดเกลาทางวัฒนธรรม แต่พุทธศาสนาไทยมักไม่ยอมใช้ภูมิปัญญาขบคิดเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตนเองมากนัก ชอบจะให้รัฐหรือผู้มีอำนาจคิดแทนเสมอ วัฒนธรรมการขัดเกลาตนเองก็ยังมีปัญหาอยู่ไม่น้อย คณะสงฆ์ไม่ได้ประสบผลสำเร็จในการให้การศึกษาด้านพระธรรมวินัยแก่สมาชิกในองค์กรของตนนัก โดยเฉพาะในยุคที่ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ถ้าหากมีความสามารถในการขัดเกลาตนเองตามระบบพระธรรมวินัยจริง ก็คงไม่มีลักษณะแปลก ๆ ปรากฏให้เห็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้แน่ การมองให้เห็นความหมายของพระวินัยในโลกสมัยใหม่กับการดำรงตนได้พอเหมะพอดีกับโลกและธรรม น่าจะเป็นเรื่องท้าทายคณะสงฆ์ไม่น้อย เรื่องเงินกับพระสงฆ์เป็นแค่เรื่องหนึ่งเท่านั้นที่สะท้อนถึงปัญหาของพระสงฆ์กับการดำรงอยู่กับโลกสมัยใหม่ ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ต้องขบคิดและทบทวนเพื่อการดำรงอยู่ในโลกฆราวาสวิสัยและโลกทางจิตวิญญาณไปพร้อม ๆ กัน เช่น เรื่องภิกษุณี เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นต้น
โดยอาศัยกรอบคิดที่ว่า อริยวินัยต้องมีการปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อความสร้างสรรค์และอำนวยชีวิตที่ดีงามแก่สงฆ์และชุมชน จารีตเกี่ยวกับเงินของพระสงฆ์ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้เอื้ออำนวย “สัปปายะ”แก่ชีวิตนักบวชตามยุคสมัย แต่ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนอย่างซื่อตรงต่อหลักการของพุทธศาสนา ไม่ใช่พยายามบิดผันด้วยการนิยามคำบาลีเอาตามชอบใจ
รายการอ้างอิง
[1] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), กรณีธรรมกาย. กรุงเทพฯ :สหธรรมิก, 2542. หน้า 255-268
[2] วิ.จูฬ.7/446 (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
[3] ภิกษุชาววัชชีบุตรเป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่อยู่ทางตะวันออก ส่วนพระยศกากัณฑกบุตรเป็นพระสงฆ์ฝ่ายตะวันตก ความเห็นแตกต่างกันในเรื่องการรับเงินและทองถูกอธิบายว่าเป็นพระสืบสายความคิดทางศาสนามาจากกลุ่มคณะสงฆ์ที่แตกต่างกันตั้งแต่ช่วงปีแรกหลังพุทธปรินิพาน ภิกษุชาววัชชีบุตรน่าจะสืบสายศาสนามาจากพระปูราณที่ไม่เห็นด้วยกับการสังคายนาครั้งที่ 1 ของพระมหากัสสปะ ส่วนพระยศกากัณฑกบุตรนั้นสืบสายศาสนามาจากพระเถระที่ยอมรับการสังคายนาครั้งที่ 1 (โปรดดูเสถียร โพธินันทะ, 2544. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, หน้า113-114)
[4] มีสาเหตุแห่งความมัวหมองอื่น ๆ ที่กล่าวไว้ ได้แก่ การดื่มสุราและเมรัย การเสพเมถุน การดำเนินชีวิตด้วยมิจฉาชีพ
[5] วิ.จูฬ.7/446-448 (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
[6] Jacob N. Kinnard,“Buddhist Attitude toward Material Property.” in French, Rebacca Redwood. and Nathan, Mark A. Buddhism and Law : An Introduction. New York: Cambridge University Press, 2014. p.83
[7] ibid, pp.80-81
[8] Frank Reynolds, “Ethics and Wealth in Theravada Buddhism: A Study in Comparative Religious Ethics.”in Swearer, Donald K. and Sizemore, Russell F.,(Ed.). Ethics, Wealth and Salvation: A Study in Buddhist Social Ethics. USA. University of South Carolina Press, 1990. pp.69-70
[9] วีระ สมบูรณ์, อริยวินัยสำหรับคริสต์ศตวรรษที่ 21 วิถีที่เหมาะสมท่ามกลางภาวะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2545. หน้า 38