พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ลองนึกภาพโลกาภิวัตน์ 4.0 ก็จะเห็นภาพของโลกในปัจจุบันที่ประกอบด้วยเครือข่ายด้านการสื่อสารระโยงระยางทั่วถึงกันหมด ปัญหาคือเราจะใช้เครือข่ายเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนไทยของเราอย่างไร และแน่นอนที่สุดว่า เราคงไม่สามารถฝากความหวังไว้กับหน่วยงานหรือภาคส่วนราชการไทยที่ปรับตัวช้าและวิสัยทัศน์ล้าหลังได้
เราคงตระหนักได้ว่า การปรับตัวที่จำเป็นต้องทำเหนืออื่นใดก็คือ การปรับพื้นฐานด้านมโนทัศน์หรือการปรับตัวด้านความคิดของพลเมือง ที่มีจุดใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่การศึกษา อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่บ่งว่าอนาคตของชาติจะไปทางไหน และเราคนไทยทุกคนคงต้องร่วมมือร่วมใจกันในเรื่องนี้
และเราคงตระหนักดีกันแล้วด้วยว่า ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในขณะที่สังคมโลกกำลังโอบล้อมเรา ด้วยการตีวงแคบลงทุกวันๆ
ไม่ว่าจารีตวัฒนธรรมของไทยจะเป็นเยี่ยงไร แต่จนแล้วจนรอดเราไม่อาจปฏิเสธกระแสสากลที่กำลังทะลักเข้ามาแบบไร้ซึ่งพรมแดน โลกยุคใหม่จึงปราศจากพรมแดน ไม่ว่าคุณจะพยายามกีดกั้นอย่างไร มันจะไม่สามารถกีดกั้นพลเมืองให้อยู่ภายใต้กรอบหรือชอบเขตที่รัฐกำหนดแบบเดิมๆ ได้ กระแสความเป็นไปภายในชาติจึงทับซ้อนกับกระแสความเป็นไปของโลกอย่างแยกไม่ออก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสโลกที่มีสหรัฐอเมริกานำอยู่นั้น บงการหรือชี้นำความเป็นไปของโลกในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมาอย่างชัดเจน โซเชียลมีเดียที่กลายเป็นวีถีชีวิตประจำวันของชาวโลกแม้แต่ในโลกสังคมนิยมหรือโลกคอมมิวนิสต์ก็ตาม พวกเขามิรู้ที่จะปฏิเสธการโอภาปราศรัยผ่านมีเดียสมัยใหม่อย่างไรได้
ตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา เราอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่ารูปแบบการจัดการการศึกษาแบบใหม่จะเป็นอย่างไร ภาพของโรงเรียนในแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยอาจหายไปจนเกินจินตนาการของเรา โรงเรียนอาจถูกแปลงสภาพให้กลายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้” ไม่ใช่กรอบหรือฟอร์มของโรงเรียนแบบเดิมอีกต่อไป
ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว น่าจะมีบทบาทต่อการเรียนรู้ของพลเมืองในชุมชนในทุกด้านหรือในศาสตร์ทุกแขนงที่เป็นประโยชน์โดยตรงและสัมพันธ์กับผู้คนในท้องถิ่น ตั้งแต่การทำมาหากินในท้องถิ่นนั้นๆ สิ่งแวดล้อมชุมชน ตลอดถึงการเรียนรู้เชิงปรัชญาหรือศาสตร์เฉพาะทางต่างๆ เป็นศูนย์บ่มเพาะปัญญาที่สำคัญและเป็นเอกเทศสำหรับคนในท้องถิ่น มิใช่ถูกเซ็ตหรือถูกควบคุมจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่ไปจากส่วนกลาง เพราะ(รัฐ)ส่วนกลางยากที่จะเข้าใจเข้าถึงวิถีของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน
ความคิดเรื่อง “ศูนย์การเรียนรู้(เพื่อ)ชุมชน”ยังสอดคล้องกับหลักการและแนวทางการกระจายอำนาจออกไปยังท้องถิ่นซึ่งในประเทศไทยความคิดการกระจายอำนาจออกไปยังท้องถิ่นถือว่ายังล้าหลังมาก
ในสหรัฐอเมริกาท้องถิ่น เช่นเมือง (เทศบาล) ผ่านสภาเมือง สามารถเสนอความต้องการ เช่น โครงการ ขึ้นไปยังสภาแห่งรัฐหรือแม้แต่รัฐบาลกลางได้ เพื่อพิจารณาถึงความต้องการของผู้คนในชุมชนหรือท้องถิ่นทั้งในแง่งบประมาณและการออกกฎหมายที่อาศัยฉันทามติของผู้คนในชุมชน (แน่นอนว่า ในสหรัฐอเมริกาปราศจากท่อดูดหรือท่ออำนาจภูมิภาคแบบเมืองไทย ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกเขาโดยตรง ระบบของรัฐเสมือนพี่เลี้ยงเท่านั้น
ผมเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่น น่าจะต้องมีจุดเริ่มต้น ซึ่งก็น่าจะมาจาก ศูนย์การเรียนรู้สำหรับชุมชนนี่เอง มันมิใช่รูปแบบของโรงเรียนแบบเดิม หากมันคือรูปแบบที่ผสมไลฟ์สไตล์ 4.0 เข้าไปด้วยในเชิงการเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้
มันคือ “การศึกษาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง” มิใช่การศึกษาแบบเฝือฝืดดังแต่ก่อน
การศึกษาแนวที่ว่านี้ไม่ถูกจำกัดแค่การเรียนคณิตศาสตร์ สูตรคูณ วิทยาศาสตร์ หากรวมเอาปรัชญาและศิลปะเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งไม่ใช่การเรียนรู้แนวท่องจำแบบเดิม ในประเทศสแกนดิเนเวียหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์หรือแม้แต่บางชุมชนในสหรัฐอเมริกากำลังทำรูปแบบการศึกษาที่ว่านี้อยู่ ถ้ามีโอกาสผมจะนำมาขยายให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันครับ
ด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบัน รวมถึง AI กำลังทำให้รูปแบบของโรงเรียนแบบอดีตและปัจจุบันตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัยสลายตัวลง มหาวิทยาลัยจะถูกกระทบโดยตรงและมิอาจคงรูปแบบดังปัจจุบันได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยมิอาจสอนนักศึกษาดังรูปแบบปัจจุบันได้ เมื่อความรู้ลอยล่องอยู่ในอากาศทุกๆ ที่
เรื่องนี้สังคมไทยน่าจะนำมาขบคิดกันบ้าง ได้แล้ว
พร้อมกันนี้ ผมเองเห็นภาพการค่อยๆ เลือนหายไปของรูปแบบ (ฟอร์ม) โรงเรียนแบบเดิม พร้อมๆ กับการถือกำเนิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนที่สัมพันธ์กับชุมชนโดยตรง เหมือนดังที่มูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ (EFF) กำลังเริ่มทำอยู่ในขณะนี้ (ศูนย์แรกจะปรากฏเป็นรูปธรรมที่ ต.บางคูรัด อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี) และรอการสนับสนุนจากผู้ที่เข้าใจถึงกระบวนการและความเปลี่ยนไปของระบบการศึกษาของโลกและของไทย
ผมคิดว่า การจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้”โดยร่วมกับชุมชนนั้น น่าจะมาถูกทางและถือเป็นจุดเริ่มต้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนโดยตรง ง่ายๆ สั้นๆและกระชับ สอดรับกับกระแสโลกหรือกระแสสากลที่มาเยือนทุกคนถึงในมุ้ง ในบ้านอย่างทุกวันนี้ แล้วเราก็ไม่ปฏิเสธ “บวร”แบบอย่างจารีตของไทยแต่อย่างใดเลย
บ้าน-วัด-โรงเรียน เป็นองค์ประกอบสำคัญเหมือนเดิม หากแต่ยังเสริมด้วย “รัฐ”ในฐานะตัวหล่อเลี้ยงและประคับประคอง รัฐนี้คือ รัฐท้องถิ่นครับ อบต. หรือเทศบาล ก็ว่ากันไป
คำถามคือ
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราสามารถดึงโลกมาไว้ในบ้านเราเองได้?