
ถาม : ที่มาที่ไปของโครงการจัดหาคอมพิวเตอร์ให้น้องเป็นอย่างไร
ดร.พีร์ : ทางมูลนิธิ EFF พบว่าปัจจุบันแม้รัฐจะอุปถัมภ์งบประมาณเพื่อการสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในระดับปฐมวัยก็ตาม แต่ก็ยังมีโรงเรียนทั่วประเทศที่ประสบกับความขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พื้นฐานสำหรับจะใช้ในห้องเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตเมืองที่ยากจนหรือแม้แต่โรงเรียนในเขตชนบท อนุสนธิของเรื่องนี้ คือ พวกเราไปเห็นปัญหา มีประสบการณ์เชิงประจักษ์ที่ จ.แพร่เมื่อปีที่แล้ว (2560) ครับ โรงเรียนอนุบาลเทศบาล ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ เป็นโรงเรียนท่ามกลางขุนเขา บรรยากาศแบบภาคเหนือเลยครับ กรณีเวียงต้านั้น ผมพร้อมเพื่อนจากกรุงเทพและจากสหรัฐอเมริกา เคยไปจัดกิจกรรมช่วยทางเทศบาลที่เป็นเจ้าของเรื่อง คือ เป็นโรงเรียนภายใต้การจัดการของเทศบาลเวียงต้า ผมสอบถามเอาจากครูที่นั่นว่า เขามีปัญหาอะไรบ้าง เขาบอกว่า โรงเรียนยังขาดแคลนหนังสือสำหรับเด็กอนุบาล พวกหนังสือนิทาน เป็นต้น
กลับมากรุงเทพก็เลยปรึกษาเพื่อนในกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียว่า จะเอาอย่างไรดี เราจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไรบ้าง ผม Fundraising (ระดมเงิน) ทางไลน์ ได้มาสองสามแสนบาท ร่วมกับเพื่อนในกรุงเทพ walk in ไปซื้อหนังสือ คอมพิวเตอร์และอุกปรณ์กีฬาเล็กๆน้อยๆ สำหรับเด็กเพื่อบริจาค ส่งขึ้นไปโดยรถไฟที่แพร่ เทศบาลที่นั่นก็ไปรับ หลังจากนั้นผมกับเพื่อนจากกรุงเทพ ขึ้นตามไปเพื่อจัดกิจกรรมบันเทิงให้ครูและเด็กๆ พอดี พี่เอลวิส (ประสิทธิ์ แสงอ่อน/เอลวิสลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา) เพื่อนที่อยู่ลาสเวกัส มาเยือนไทย กลับมาบ้านที่ราชบุรี ผมเลยขอแรงแก บอกพี่ช่วยไปช่วยร้องเพลงเอลวิส เพลงไทยก็ได้ให้เด็กที่แพร่ฟังหน่อย เป็นการเอนเตอร์เทนเด็กและครู รวมถึงผู้ใหญ่ของเทศบาลต.เวียงต้า ช่วงนั้น ท่านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผากลองที่อยู่ใกล้ในพื้นที่ ท่านพินิจ คงประพันธ์ ยังลงมาช่วย ส่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ (อช.) มาร่วมงาน กรุณาให้ที่พักของอุทยานฯ เป็นที่หลับนอนแก่คณะของพวกผมที่ไปจากกรุงเทพ คราวนั้นเราทำกันแบบฉุกละหุกครับแค่ในวงเพื่อนสนิทกันเท่านั้น ไม่คิดอะไรมาก
ผมเพิ่งมาตาสว่างเอาตอนหลัง คือตอนมันมีเงินเหลือจากการจัดกิจกรรมที่ทำในตอนแรกอยู่ ก็ไม่มากครับ ปรึกษาปลัดสนั่น (จิณะไชย) ปลัดเทศบาลเวียงต้า ที่ดูแลโรงเรียนอนุบาลของที่นั่นว่า ผมมีเงินเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ท่านปลัดต้องการอะไรเพิ่มหรือไม่ ตอนแรกท่านบอกต้องการเสื้อผ้าชุดกีฬาสำหรับเด็กๆ ผมก็ อ้าว ไม่ว่าไร พอผมโทรไปครั้งหลัง ท่านบอก ท่านอยากได้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะสำหรับใช้งาน ผมบอกผมให้ไปแล้วนี่ เครื่องหนึ่ง ตอนนั้น เพื่อนผม ท่าน พระครูโพธิสุธาทร ท่านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสีกัน ดอนเมือง ท่านบริจาคให้มาครบเซ็ต ผมกับเพื่อนขนไปมอบในวันจัดงานเลย ก็เลยมาคิดว่า เอ คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวนักเรียนประมาณ 30 ถึง ๔๐ คน จะใช้งานอย่างไร ผมมาปรึกษาเพื่อน คือคุณ อู๊ด (วีรวัฒน์ โสภณธนกุล– ปัจจุบันเป็นกรรมการ EFF) ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีโดยตรง คุณอู๊ดบอก อย่างนี้สิคุณพีร์ หาทีวีสักเครื่องมาเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว เด็กจะได้ดู ใช้ร่วมกันทั้งห้องได้ แต่ต้องเป็นสมาร์ททีวีนะ ผมเช็คราคาสมาร์ททีวีแล้วปรากฏว่า ราคามันเกินวงเงินที่ผมมี จึงระดมคือขอเพิ่มจากเพื่อนๆ จนได้ครบพอซื้อสมาร์ททีวีได้เครื่องหนึ่ง หลังจากนั้นก็เดินทางขึ้นไปแพร่ เพื่อมอบให้กับเทศบาลเวียงต้า คุณอู๊ดเสียสละเวลา ค่าน้ำมัน ขับรถจากกรุงเทพ ขึ้นไปควบคุมการติดตั้งอุปกรณ์ในห้องเรียนให้ด้วยซ้ำ ในตอนนั้น
ผมบอกว่าตาสว่าง ก็คือ ผมมองว่า กิจกรรมที่แพร่นั้นเป็นเรื่องดี แต่ผมว่ามันฉาบฉวยไป แถมออกแนวดราม่านิดๆ แบบอย่างการบริจาคทรัพย์ของคนในเมืองใหญ่ที่มักมองว่า ตนเองมีฐานะหรืออยู่ในฐานะที่เหนือกว่า ให้เงิน ให้ของเสร็จแล้วก็จบ เหมือนให้ขอทานข้างถนน แต่ผมไม่คิดเช่นนั้นครับ การสนับสนุนหรือช่วยเหลือทางการศึกษาเรามองตื้นๆ สั้นๆ ไม่ได้หรอกครับ ผมคิดถึงนิทานการช่วยเหลือชาวประมงอยู่เสมอครับ ถ้าเราให้ปลาเขา เขากินหมดแค่ในวันสองวันครับ แต่ถ้าเราสอนวิธีหาปลา เขาจะมีปลากินไปตลอดชีวิต
อันนี้ผมว่า ผมและเพื่อนต้องทำอะไรบางอย่างในระยาว ไม่ใช่ให้เสร็จแล้วจบกัน แล้วการให้เองก็ต้องตรงกับความต้องการของผู้รับด้วยนะครับ ไม่ใช้สักแต่ให้ ไม่สนว่า เขาต้องการจริงแท้แค่ไหน การวางระบบไอทีให้โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเวียงต้านี่ ตอนแรกผมเกิดวิตกจริตเหมือนกัน กังวลว่า เอ ครูเค้าจะใช้เครื่องคอมฯ เป็นหรือเปล่า ถ้าครูใช้โปรแกรม หรือใช้งานคอมไม่เป็น ก็จบ คอมฯกองจมฝุ่นอยู่นั่นแหละ เสียประโยชน์เปล่า สอบถามจากท่านปลัดฯ สอบถามจากครูที่สอน ท่านบอกพอโปรแกรมพื้นฐานได้ ผมดีใจมาก ของที่เราให้ไปเราอยากให้เขาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถึงวันนี้ผมยังไม่ได้ประเมินว่า ครูที่นั่นเขาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าหรือไม่ ก็คงต้องประเมินกันต่อไป
ผมค่อนข้างโชคดีที่มีเพื่อนเก่งอย่างคุณอู๊ดครับ ถ้าเป็นเรื่องไอทีผมปรึกษาแกประจำ งานมูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ (EFF) ที่พวกเราเพิ่งก่อตั้งมันขึ้นมา คุณอู๊ดเป็นหลักในเรื่องไอที เลยมาคิดว่า ไหนๆ กิจกรรมที่ อ.ลอง จ.แพร่ เป็นตัวจุดประกายแล้ว ทำไมเราไม่ขยายกิจกรรมทำนองเดียวกันนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยบ้าง โดยไม่จำกัดว่าเป็นภาคไหนของประเทศ
แต่ผมว่าก่อนให้ของหรือทำกิจกรรมเชิงการบริจาค เราต้องลงพื้นที่เพื่อหารือ ปรึกษากับผู้บริหารท้องถิ่นเสียก่อนครับ ท้องถิ่นหรือโรงเรียนมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน ถ้าเขาพอมีอุปกรณ์หรือคนอยู่แล้ว เราจะช่วยเสริมเขาได้อย่างไร พูดเป็นทางการขึ้นมาหน่อยก็คือ เราต้องวิจัยชุมชนหรือทำงานกับคนในท้องถิ่นให้กระจ่าง รู้ปัญหาชัดเจนก่อน จึงค่อยให้การสนับสนุน ผมคิดว่าในเมืองไทยโรงเรียนหลายแห่งยังต้องการความช่วยเหลือทำนองนี้อยู่ อุปสงค์ต้องตรงกับอุปทานครับ
นอกจากนี้ครับ เรายังมีความไม่สมดุลของทรัพยากรทางการศึกษาในเขตเมืองและเขตห่างไกล คนในเมืองมีคอมพิวเตอร์ใช้แทบทุกบ้าน อาจทุกบ้านด้วยซ้ำครับ แต่ในเขตห่างไกลออกไป โรงเรียนในเขตชนบทยังมีความไม่พร้อมด้านนี้อยู่มาก อันนี้เป็นเรื่อง่ายๆ ไม่ซับซ้อนที่ผมคิดว่าเราน่าจะทำก่อนได้ ต่อจากนี้ คุณอู๊ดยังมีโครงการ E-library ต่อเนื่องครับ เพียงแต่ว่า เราจำเป็นต้องมี Hardware ก่อนครับ อันนี้เป็นความฝันของผมและเพื่อนชาว EFF เราจะทำมันต่อไปให้จงได้
ถาม : ช่วยย้ำวัตถุประสงค์ให้ชัดได้ไหม
ดร.พีร์ : อย่างที่ผมเรียนไปครับ นั่นคือปัญหาที่ผมและทีมเจอครับ ผมไม่แน่ใจนักเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ ได้ข่าวว่ามีงบประมาณเพื่อจัดซื้อคอมพิวเตอร์ แต่ทำไมมันยังมีข้อขาดตกบกพร่อง มีช่องว่างในส่วนของอุปกรณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กไทยในยุค 4.๐ อยู่มาก มูลนิธิจึงต้องชดเชยหรือเติมเต็มเรื่องนี้ ในสิ่งที่เป็นจุดโหว่ทั้งจากในส่วนของรัฐและเอกชนก็ตาม
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ เราต้องการให้โรงเรียนมีอุปกรณ์ที่นักเรียนสามารถเรียนรู้อย่างเพียงพอและเปิดโลกทัศน์ของพวกเขา คือคอมพิวตอร์ คอมพิวเตอร์คือโลกครับ เด็กจะเรียนรู้โลกใบนี้ โดยผ่านหน้าต่างอันนี้ ถ้าเด็กๆ มองแคบเฉพาะในห้องเรียน เราจะไปหวังอนาคตอะไรได้มากครับ เนลสัน แมนเดลา กล่าวว่า “การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่เราสามารถใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก” แน่นอนว่า การเรียนรู้ในทำนองนี้ ย่อมนำคือยกระดับประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้น เป็นช่องทางลัดแบบก้าวกระโดดเสียด้วยซ้ำ อย่างน้อยก็ในฝ่ายส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน อะไรต่างๆ แนวนี้
การอยู่ใน Global Village เช่นโลกปัจจุบัน ผมมองว่า เราขาดฐานที่สำคัญ คือ ฐานด้านไอที คอมพิวเตอร์อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่ง กระผีกหนึ่งเท่านั้นครับ ยังต้องมีสิ่งอื่นๆ มาบูรณาการอีกมาก แต่อย่างน้อยขอให้เราได้เริ่มในบางเรื่องก่อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้เริ่มเสียที
ถาม : ต้องการคอมพิวเตอร์ประเภทไหนบ้าง
ดร.พีร์ : ได้หมดครับ โน้ตบุ๊ค ตั้งโต๊ะ บางโรงเรียน ไม่มี คือไม่มีจริงๆ ครับ แต่ใคร่ขอกันนิดหนึ่งนะครับว่า ขอเป็นเครื่องที่พอใช้งานได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องใหม่ เครื่องเก่าก็ได้ครับ เรารับหมด พูดตรงๆ เราไม่อยากรับภาระเรื่องการซ่อมแซม ทั้งรายบุคคล หรือการบริจาคในนามองค์กร หน่วยงานหรือบริษัท ผมให้คุณอู๊ดดูแลเรื่องนี้ครับ เพราะตรงกับสายงานของคุณอู๊ดอยู่แล้ว ในส่วนขององค์กร ถ้าท่านตระหนักในสิ่งที่ผมพูดมา แล้วประสงค์จะทำเป็นโครงการ่วมกับมูลนิธิฯ คือ ใช้ชื่อองค์กรท่านไปเลย ก็ได้ครับ ยินดีเป็นอย่างยิ่ง เราจะได้ร่วมมือกัน เดินไปด้วยกัน จริงๆ แล้วงานของมูลนิธิคือ “ตัวกลาง”เท่านั้นครับ ก่อนบริจาคให้โรงเรียนหรือสถานศึกษา เราต้องลงพื้นที่ก่อน ตามที่ผมเล่ามาแต่ต้นครับ
ถาม. : ติดต่อสอบถามหรือบริจาคที่ไหน อย่างไร
ดร.พีร์ : ติดต่อมาที่ผมโดยตรงได้เลยครับ เบอร์ 098-979-7416 หรือที่คุณวีรวัฒน์ (อู๊ด) ก็ได้ครับ 081 611 7792 หรือผ่านไลน์ไอดีของผม pete1120 ได้โดยตรง เรามีความยินดีอย่างยิ่งในกุศลเจตนา “ทำบุญ” ของท่าน รบกวนแจ้งชื่อที่อยู่จริง ในกรณีต้องการใบอนุโมทนาบัตรนะครับ ในเรื่องการขนส่งมายังสำนักงานมูลนิธิ เราจะพิจารณาเป็นกรณีไปครับ บางทีในกรณีองค์กรท่านอาจมีรถขนส่งของท่านอยู่แล้วก็ได้ ปกติมูลนิธิจะไปรับของถึงสถานที่ของผู้บริจาคครับ
ขอบคุณทุกท่าน ที่จะร่วมกันทำฝันทางด้านการศึกษาของประเทศไทยให้เป็นจริงนะครับ