พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
“นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา และในฐานะอดีตประธานสถาบันพระปกเกล้า (ระหว่าง 6 ก.พ.44 – 5ก.พ.48) ได้ส่งจดหมาย ถึง นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า สืบเนื่องในวาระ 20 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า มีใจความว่า “ไม่เห็นด้วยกับการที่สถาบันพระปกเกล้า ไม่เคยแสดงปฏิกริยาต่อต้านการยึดอำนาจ การทำรัฐประหาร แต่กลับให้ความร่วมมือ จึงขอให้ผู้บริหารปัจจุบันหรือที่จะเข้ามาในอนาคตได้ทบทวนตัวเอง ว่า ได้ทำตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสถาบันหรือไม่” (https://siamrath.co.th/n/41282)
โดยนัยเดียวกันนี้ ไม่ต่างจากความกล้าหาญขององค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตามที่จำเป็นต้องตระหนักต่อบทบาทและหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มกำลัง เต็มความสามารถและมีความกล้าหาญตามหลักการและเหตุผลที่ดีพอ
แต่ผมเกรงว่า ไม่เลย ในยุคสมัยนี้ ที่เผด็จการมีอำนาจเต็ม หน่วยงานต่างๆ ส่วนหนึ่งพากันสอพลอ สยบต่อผู้มีอำนาจ กับอีกส่วนหนึ่งที่พากันใส่เกียร์ว่าง นอกจากสถาบันพระปกเกล้าแล้ว คุณอุทัยยังพูดไม่หมด ความจริงคุณอุทัยต้องพูดด้วยว่า “สถาบันพระปกเกล้าและเครือข่าย”
ทั้งๆ ที่สถาบันแห่งนี้มากจากรัฐสภา ผู้บริหารและบุคลากรที่ทำงานอยู่ในองค์กรแห่งนี้ กินเงินเดือนจากภาษีชาวบ้านทั้งนั้น อย่างที่คุณอุทัยบอกครับ ถ้าแปลออกเป็นสำนวนชาวบ้าน ก็คือ องค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐสภาไทยยุคประชาธิปไตย เพื่อหวังให้เป็นสถาบันวิชาการด้านการเมืองการปกครองของไทยในยุคร่วมสมัย ในยุครัฐบาลเผด็จการกลับไม่หือไม่อือ แม้สักแอะ จนกระทั่งคุณอุทัยแกตั้งข้อสังเกตขึ้นมานะแหละ ชาวบ้านเต็มขั้นอย่างผมก็เลยนึกขึ้นมาได้ว่า อ้อ เรายังมีสถาบันนี้อยู่ มันไม่ได้ล้มหายตายจากไปตามระบอบประชาธิปไตย หากบุคลากรในสถาบันฯ ยังรับเงินเดือนตามปกติ
และเป็นสถาบันเดียวกันที่ผลิตหรือเป็นต้นแบบหลักสูตรสันติศึกษาในประเทศไทยตามมหาวิทยาลัยบางแห่ง ที่อาจกล่าวได้ว่า เป็นหลักสูตรสันติศึกษาบนหอคอยชนชั้น (ศักดินา) เพราะแทบไม่เคยมองเห็นหัวชาวบ้าน ก็ถ้ามองเห็นหัวชาวบ้านแล้วล่ะก็ คงต้องลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงจากปากคำของชาวบ้านที่เขากำลังประสบชะตากรรมไร้สันติบ้างแหละ
สันติศึกษาแนวไหน สถาบันไหนครับ ที่พีอาร์ตัวเองด้วยการปลูกต้นไม้? ไม่เคยเอ่ยถึงทัศนคติทางการเมืองหรือจุดยืนทางการเมืองขององค์กรตนเองอย่างชัดเจน ตีลูกชิ่ง ใส่เกียร์ว่างไว้ก่อน ถ้าไม่ใช่สถาบันสันติศึกษาภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)
อาจกล่าวได้ว่า สถาบันสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทยแห่งนี้ เป็นดุจเครือข่ายของสถาบันพระปกเกล้า คือนำเอาหรือพัฒนาหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรโณ เป็นหัวหน้าผู้ร่างหลักสูตรไปใช้สืบสานกัน ภายใต้คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ “ธัมมาธิปไตย” พยายามโยงเชื่อมคำนี้เข้าไว้ เพราะคิดว่า เป็นพุทธพจน์หนึ่งใน “อธิปไตย 3” โดยไม่ทราบว่า อีก 2 คำ คือ คำว่า อัตตาธิปไตยและโลกาธิปไตยนั้นหายไปไหน จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับ 2 คำนี้ เอาเลย ธัมมาธิปไตยก็เลยกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะถูกผลิตขึ้นมาโดยสถาบันพระปกเกล้าตั้งแต่บัดดลเดี๋ยวนั้น ประหนึ่งว่า อัตตาธิปไตยกับโลกาธิปไตย เป็นธรรมฝ่ายเลวไปซะงั้น ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ธรรมทั้ง 3 ล้วนเป็นเครื่องประกอบให้ครบองค์ธรรมคือ อธิปไตย 3 ครบถ้วนบริบูรณ์
ที่สำคัญ คือ การผลิตซ้ำวาทกรรมธัมมาธิปไตยของสถาบันพระปกเกล้าและสถาบันสันติศึกษาในเครือดังกล่าว ได้นำมาสู่การเหยียดแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยไปในตัวด้วยอย่างเต็มๆ เพราะไปชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตย หรือระบบเสียงส่วนใหญ่นั้น สามารถตีความให้ไปอยู่ในโหมดโลกาธิปไตย ซึ่งแย่เต็มที เพราะเป็นเรื่องของชนหมู่ใหญ่ที่คล้อยตามโลก มิสู้ธัมมาธิปไตยอันเลอเลิศไปได้เลย
ผมไม่เถียงครับว่า ธัมมาธิปไตยเลอเลิศประเสริฐศรี แต่นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง การปกครองของมนุษย์ที่ยังมีกิเลส มนุษยชาติส่วนใหญ่ยังฝักใฝ่ในกามคุณทั้ง 5 เป็นสังคมปุถุชนครับ มิใช่ สังคมของพระอรหันต์เจ้าหรือสังคมยูโทเปียซะที่ไหน ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบครับ แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่ the Absolute Power
ขอให้กลับไปดูหลักสูตรสันติศึกษาที่สืบเนื่องมาจากสถาบันพระปกเกล้า และส่งต่อไปยังสถาบันสันติศึกษาในเครือข่ายเลยครับว่า คุณนำหลักธัมมาธิปไตยมาทอนค่าของประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็เป็นข้ออ้างไปในตัวด้วยว่าเหตุใดจินตภาพอันบริสุทธิ์ตามแบบอริยสังคมจึงโดดเด่นกว่าการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อสร้างสันติตามแบบโลกๆ หรือประชาธิปไตย ทำไมโลกาธิปไตยถึงไม่ใช่ระบบสร้างสรรค์โลกเอาเลยจากมุมของสถาบันพระปกเกล้าและสถาบันสันติศึกษาในเครือข่าย
ทั้งๆ ที่รูปแบบข้อตกลงแบบใช้เสียงส่วนใหญ่ (ประชาธิปไตย)นั้น สังฆะ หรือชุมชนพระสงฆ์ทำเป็นเยี่ยงอย่างเอาไว้ตั้งแต่ครั้งพุทธกาล (หรือเรียกว่า สังฆาธิปไตย) มิเคยเปลี่ยน หากพวกสถาบันพระปกเกล้าและสันติศึกษาในเครือข่าย ก็มิได้ใส่ใจนำมาคิดวิเคราะห์กันแต่อย่างใด หากมุ่งเอาจินตภาพที่เป็นจริงได้ยากเป็นสำคัญอยู่ดี
จินตภาพดังกล่าว เป็นจินตภาพที่กดทับเหยียดหยามประชาธิปไตยที่อำนาจหรือเสียงส่วนใหญ่มาจากและเป็นของประชาชนส่วนใหญ่ ให้ดูต่ำต้อยด้อยค่า เมื่อเทียบกับคำว่า ธัมมาธิปไตย อันสูงค่าในจินตนาการของสถาบันวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้
จึงไม่แปลกที่หากเรานำทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) ไปจับ ก็จะเห็นภาพปรากฏเด่นชัดทันทีจากกรณีการตั้งคำถามของคุณอุทัย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้บริหารของสถาบันสันติศึกษาบางแห่งยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับองค์กรอิสระบางองค์กรเสียด้วยซ้ำ นับประสาอะไรกับการแสดงจุดยืนในแง่ประชาธิปไตย นี่เป็นความย้อนแย้งระหว่างอำนาจเผด็จการและประชาธิปไตยตามที่คุณอุทัยถามหาจากสถาบันพระปกเกล้า ที่เป็นสถาบันที่ถือกำเนิดมาจากรัฐสภา หรือประชาชน รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนที่สำคัญคือ ก่อตั้งในสมัยของคุณอุทัยนั่นแหละ
ในส่วนของสถาบันสันติศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์เอง หนักกว่านั้น ก็เพราะว่าไม่เคยส่งเสียงใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการแย้งหรือการสนับสนุนในกรณีรัฐเผด็จการของไทยแก้ไขพรบ.คณะสงฆ์ ฉบับพ.ศ. 2505
ก็แล้วท่านคิดว่าสถาบันที่ทำงานในรูปแบบเข้าข้าง (take side) กันแนวนี้ จะยังสันติศึกษาอยู่ต่อไปหรือไม่?
ช่วยตอบคำถามผมหน่อยสิครับ….