พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
หลังจากผมนำเสนอปัญหาสถาบันการศึกษาไทยในยุคสมัยใหม่ หรือยุค 4.0 โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษา คือมหาวิทยาลัยของไทยที่ส่ออาการอยูในขั้นวิกฤต ไปได้ไม่นานก็ท่านผู้อ่านบางส่วนตั้งคำถามว่ารูปแบบของสถาบันการศึกษาไนอนาคตควรเป็นอย่างไร จึงจะเหมาะกับยุคสมัยการสื่อสารแบบ 4.0
ผมคิดว่า ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหรือ The Learning Center for Communities คือรูปแบบที่เหมาะสมหรือสามารถเป็นคำตอบต่อการวางระบบหรือวางโครงสร้างการศึกษาสมัยใหม่ได้
ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่เพียงจำกัดพื้นที่อยู่แต่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่มันคือการเอาชุมชนมาเป็นตัวหลักในการจัดการการศึกษาตามวิถี 4.0 เข้ากับลักษณะทางสังคมยุคปัจจุบันที่คนสามารถหาความรู้จากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมายได้สะดวกมากขึ้น พูดง่ายๆ คือ เด็ก เยาวชนและประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายขึ้น โดยแทบไม่ต้องพึ่งสถาบันการศึกษา อย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแบบเดิมๆ อีกต่อไป ซึ่งในส่วนของสหรัฐอเมริกาเอง นับว่าได้มีการบุกเบิกการศึกษาที่เกิดจากการพึ่งตนเองของคนในชุมชน ดังมี Khan Academy เป็นต้น แบบแผนการคิดดังกล่าวถูกสนับสนุนจากบริษัทขนาดยักษ์อย่างไมโครซอฟท์เสียด้วยซ้ำ ทำให้ความจำเป็นของกามีสถาบันในระดับอุดมศึกษาน้อยลงไป
กอปรกับผู้คนในโลกส่วนหนึ่งมองเห็นข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย การประสบความสำเร็จของซีอีโอบริษัทไอทีจำนวนไม่น้อย เช่น สตีฟ จ้อบบ์ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ที่เกิดจากการไม่ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัยแต่อย่างใดเลย พวกเขาเกิดขึ้น สร้างองค์กรจนมั่นคงได้โดยไม่ต้องพึ่งพามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกลายเป็นสิ่งที่เฝือไปสำหรับสังคมปัจจุบัน ดังเช่น ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยน้อยมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD
โครงสร้างของระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังถูกส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงซึ่งก็คือกลุ่มทุนและธุรกิจออกแบบให้ตรงกับความต้องการเชิงการตลาด Demand Supply มากที่สุด อีกนัยหนึ่งก็คือการสนองต่อความต้องการแรงงานของกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยตรง ฝ่ายทุนไม่ต้องการแรงงานที่เฝือล้นไปด้วยความรู้และปฏิบัติงานจริงไม่ได้ ดังนั้นชุมชนเองจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างหรือวางระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง
ผมขอนำแนวทางของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของมูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพ (EFF) มาเป็นตัวอย่างในทีนี้นะครับ
๑ การพัฒนาและฝึกอบรมด้านต่างๆ ให้คนในชุมชน ได้แก่ การฝึกอบรมอาชีพ เพิ่มทักษะด้านวิชาชีพที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนชุมชน ผู้คนในชุมชนไทยนั้นส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร เช่น ทำนา เป็นหลัก รวมถึงการทำธุรกิจค้าขายบ้าง มูลนิธิจะมุ่งพัฒนาและฝึกอบรมด้านการทำธุรกิจแบบสมัยใหม่ (๔.๐) และการทำเกษตรที่สอดคล้องกับยุคสมัย รวมถึงการอบรมด้านการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรในชุมชน ตลอดถึงการท่องเที่ยววิถีไทย
๒ การสอนเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้คนในแต่ละชุมชนท้องถิ่น ได้แก่ การสอนภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำธุรกิจร่วมสมัย จำเป็นต่อการสื่อสารเชิงการท่องเที่ยว โดยครูที่เป็นเจ้าของภาษาโดยตรง
๓ การอบรม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติภายในชุมชน รวมถึงคุณค่าของการวางระบบผังเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง
๔ การอบรมและพัฒนาเชิงจิตวิญญาณเพื่อสันติสุขของชุมชน กล่าวคือ เปิดการอบรมด้านจิตภาวนา โดยดำเนินการร่วมกับวัด พระ เณร หรือองค์กรด้านพระพุทธศาสนาในชุมชนนั้นๆ
๕ ห้องสมุดชุมชน ให้บริการยืมหนังสือ บริการความรู้ผ่านระบบออนไลน์และคอมพิวเตอร์ (E-library) ที่ถือเป็นการวางระบบสารสนเทศชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าแนวทางทีนำเสนอนี้ชุมชนสามารถนำไปใช้เลย ตามความเหมาะสมของแต่ละท้องที่ คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในการเรียนรู้จากระบบการศึกษาแบบ 4.0 ได้เป็นอย่างดีเพียงแค่อาศัยการวิเคราะห์ชุมชน เช่น ปัญหาและความต้องการของคนชุมชน เป็นต้น หลังจากนั้นก็สามารถบริหารจัดการการเรียนการสอนได้ตรงกับความต้องของชุมชน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายนั้น ผมคิดว่า อาจเป็นเด็กหรือเยาวชน ตลอดถึงประชาชนที่อาศัยในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หมายถึง ท้องถิ่นน่าจะเป็นหน่วยงานที่สามารถจัดการบริหารในเรื่องนี้ได้ เนื่องจากท้องถิ่นเองรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรอยู่แล้ว อันนี้เองทำให้ท้องถิ่นหรือชุมชน กลายเป็นชุมชนที่เจริญเติบโตอย่างมีความสุข (Smart Growth) รู้เท่าทันและมีปฏิสัมพันธ์ (Dealing) ที่ถูกต้องต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ ขณะที่ความเจริญในด้านต่างๆ ตามรูปแบบของการพัฒนาเพื่อสู่ความเป็นเมืองกำลังแผ่ขยาย ไหลทะลักเข้าไปหาอย่างรวดเร็วเช่นปัจจุบัน
ถ้าชุมชนหรือท้องถิ่นใด เช่น อบต. เทศบาลต่างๆ สนใจแนวทางการพัฒนาการศึกษาดังกล่าวติดต่อมูลนิธิการศึกษาเพื่อเสรีภาพได้ครับ ผมว่า เขาน่าจะยินดีให้คำปรึกษาหรือสนับสนุน เบอร์โทรของมูลนิธิคือ 098-979-7416
ต้องไม่ลืมว่า ในโลกสมัยใหม่นั้น ดีกรีหรือปริญญานั้นด้อยค่าลงไปทุกวัน ทุกวันนี้ดอกเตอร์เมืองไทยนั้นเฝือและออกไปในทางไร้คุณภาพถึงขนาดมีคนแซวกันว่า “ดอกเตอร์ใบฎีกากฐิน” คือ มีเพื่อใส่ชื่อในในใบฏีกาทอดกฐินเพื่ออวดศักดา หรือจำอวดทางการศึกษา ในขณะที่ความเป็นจริง ผู้จบการศึกษาขั้นสูงสุดเหล่านี้ไร้ซึ่งคุณภาพ
มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแบบโรงเรียนแบบเดิม ไม่ใช่คำตอบของการศึกษาสมัยใหม่อีกต่อไป เหมือนที่ เทรนด์ในยุโรปและในอเมริกากำลังเป็นอยู่ในเวลานี้
เพราะแท้จริงแล้วการศึกษาสมัยใหม่ถูกกระตุ้นถูกกำกับด้วยผู้ให้บริการออนไลน์จากฝั่งประเทศตะวันตกแทบทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยชีวิตกำลังก่อเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนมากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยรูปแบบเดิมๆ มีแต่จะทรุดแตกสลายลงไปทุกวันๆ