พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ในภาพรวมทั่วไป เชื่อว่าคงมีผู้เห็นตรงกับผมเยอะครับว่าปัญหาของราคาสินค้าเกษตรถ้าพูดกันแบบตีขลุมแล้ว เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐไทย เราจะเห็นว่าพอภาคเกษตรอับจน ภาคอื่นๆ ก็วิกฤตตามกันไปด้วย ทั้งนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพการเกษตรเป็นหลักอยู่
ปัญหาปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ครับ ดังผมเคยนำเสนอเกี่ยวกับหลักการช่วยเหลือหรืออุ้มเกษตรกรของรัฐบาลอเมริกันไปก่อนหน้านี้ (หัวข้อ : รัฐบาลอเมริกันกับการอุ้มเกษตรกร) ว่า รัฐบาลอเมริกันเองใช้งบประมาณจำนวนมากขนาดไหนในการทำให้เกษตรกรหรือภาคการเกษตร) ของเขาอยู่ได้ ภาคเกษตรนี่แปลกอยู่อย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่ก็ตาม รัฐต้องมีบทบาทเข้าไปสนับสนุนด้านนโยบายหรือไม่ก็สนับสนุนด้านการเงินทางใดทางหนึ่งเสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น ประเทศกำลังพัฒนาหรือแม้แต่ประเทศในกลุ่ม OECD ก็ไม่ต่างกันแต่อย่างใด ขึ้นกับวิธีการของแต่ละประเทศนั้นๆ
ปัญหาสินค้าเกษตรในประเทศไทยเท่าที่ได้ยินจากเพื่อนๆ ญาติพี่น้องที่เมืองไทยบ่นให้ฟัง ถ้ารัฐบาลนี้จะยอมรับความจริงก็จะเห็นว่า มีปัญหาจริง มากด้วย และแก้ไขยังไม่ได้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้พาตัวเองมาถึงขั้นอับจนปัญญาในการแก้ไขปัญหานี้ หลังจากมาทิ้งวาทกรรมประเทศไทยคือศูนย์กลางของสินค้าเกษตรไว้ในอเมริกาเมื่อหลายปีก่อน ทั้งนี้เพราะเรามองตัวสินค้าเกษตรในรูปแบบเชิงเดี่ยว นั่นคือมองว่าตัวสินค้าเกษตรแต่ละรายการไม่สัมพันธ์กับภาคส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตเชิงต่อเนื่องเลย ซึ่งก็ย่อมหมายถึงการแปรรูป และยิ่งทำให้ตัวสินค้าเกษตรดังกล่าวเป็นสินค้าดิบซึ่งมีวันเน่าเสียอยู่ตลอด
จะเห็นได้ว่ารัฐเองแทบไม่มีส่วนในการส่งเสริมธุรกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่ชาวบ้านคิดเองทั้งนั้น เพราะรัฐไทยไม่เคยทำการบ้าน และเอาใจใส่เท่าที่ควร จึงเท่ากับสร้างโอกาสให้กับนายทุนบรรษัทข้ามชาติหรือแม้แต่ของไทยเอง เข้ามาครอบงำผลประโยชน์จากสินค้าเกษตรดังกล่าว เพราะเกษตรกรขาดทางเลือกในเชิงการตลาด พูดง่ายๆ คือ วิธีการทางการตลาดของเราห่วยแตกทั้งในและต่างประเทศ
เช่น ในสหรัฐอเมริกา เรามีหน่วยงานด้านพาณิชย์ของรัฐไทยมากมายตั้งแต่แอล.เอ.ยันนิวยอร์ค หากแต่หน่วยงานเหล่านี้พากันใส่เกียร์ว่าง ยืนมองตาปริบๆ ยังคิดแบบแยกส่วนแบบเดิมๆ คือคิดแค่ว่าจะโปรโมทสินค้าแยกเป็นชิ้นๆ ขายข้าว ก็ส่วนขายข้าว ขายกุ้งก็ส่วนขายกุ้ง ขายผักก็ส่วนขายผัก ทั้งที่สินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีปลายทางคือร้านอาหารไทยหรือร้านอาหารชาติใดๆ ก็ตาม ซึ่งก็น่าแปลกใจว่า ในเมื่อรู้จุดหมายปลายทางแล้ว ทำไมไม่โปรโมทตรงไปยังจุดหมายปลายทางนั้นเลยทีเดียว
อย่างร้านอาหารไทยในอเมริกาที่มีอยู่หลายพันร้านนั้น มิใช่ว่าเขาจะเป็นแค่ร้านอาหารเพียวๆ เพียงอย่างเดียว หากยังหมายถึงความเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมที่ร้านแต่ละร้านเป็นโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว คือ คุณไม่ต้องไปโปรโมทซ้ำซ้อนซ้ำซากสินค้าเกษตรของไทย ในเมื่อร้านอาหารไทยมีศักยภาพมากกว่าหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ของรัฐ ทำไมคุณไม่ยอมรับมันเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพการโปรโมทสินค้าเกษตรของไทย ปล่อยโอกาสที่ดีงามให้สูญเสียไปได้อย่างไร นี่คือวิธีคิดแบบแยกส่วนที่ผิดพลาดที่รัฐบาลไทยหลายสมัยทำมาตลอด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องนั่งใส่เกียร์ว่างกินเงินเดือนฟรีๆ ตลอด โดยเฉพาะในอเมริกา เช่น แทนที่จะไปคุยกับเจ้าของร้านอาหารหรือแม้แต่นักการเมืองอเมริกันที่เกี่ยวข้อง ขณะที่สถานทูตไทยที่ดีซีเองก็อมสากแทบตลอด
เพื่อนผมที่เป็นเจ้าหน้าการทูตของลาวที่ดีซี เล่าว่า ทางสถานทูตของเขาจัดปาร์ตี้สำหรับนักการเมืองอเมริกันคนสำคัญๆ อยู่เสมอ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับนักการเมืองและกลุ่มล็อบบี้ที่แคปปิตอล ฮิลล์ เชื่อมั้ยครับว่า พวกเขาทำเป็นประจำ เพราะรู้ดีว่า บทบาทของนักการเมืองอเมริกันสำคัญมากน้อยขนาดไหน
ผมเกรงว่า สถานทูตไทยที่ดีซีของลูกน้องของท่านรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย จะไม่ใส่ใจเรื่องนี้เอาเลย เจ้าหน้าที่ฑูตไม่ได้คุยแค่เรื่องการเมืองเท่านั้นนะครับ แต่คุยเรื่องการค้าการลงทุนด้วย ถ้าอ้างตามคำพูดของท่านอดีตทูตรัสเซียและอดีตท่านกงสุลใหญ่ที่แอล.เอ. สุพจน์ ธีรเกาศัลย์ ด้วยแล้ว ผมเกรงว่า เรื่องการค้าการลงทุน เป็นเรื่องที่ไม่ถนัดของเจ้าหน้าที่การฑูตของไทยเอาเสียเลย แม้ในความจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องพูดมากแต่อย่างใดเลย แค่ทานข้าวด้วยกันกับพวกเขาเท่านั้น ก็ไหนว่าอาหารไทยอร่อยลือชาไง? ท่านก็ถือโอกาสโปรโมทไปสิครับ นั่งเป็นอีลิทชน (Elite class) อยู่ข้างบนคงอดรับประทานเป็นแน่แท้
คราวก่อนโน้นผมนำเสนอความคิดของท่านสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ หรือ “ท่านทูตแก้ว”ท่านอดีตทูตรัสเซีย ที่ท่านเสนอการแปรรูปยางพาราด้วยการทำเป็นหมอนรองทาง(ราง) รถไฟ (ท่ามกลางราคาวิบัติของยางพาราไทยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้) ท่านทูตแก้ว เห็นระบบการผลิตมาจากประเทศทางยุโรปบางประเทศหรือไม่ ผมไมแน่ใจและอาจจำไม่ได้แล้ว เพราะท่านเองเคยผ่านงานการฑูตมาหลายประเทศ แต่ผมเห็นว่าในประเทศไทยเราน่าจะเชื่อมสายพานการแปรรูปอุตสาหกรรมยางพาราเข้ากับระบบการสร้างทางรถไฟ ที่หมายถึงการผลิตหมอนหนุนรางจากยางพารา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าโครงการรถไฟรางคู่จำนวนนับพันๆ กิโลเมตร จะใช้หมอนคอนกรีตหรือหมอนยางพารา
ถ้าโครงการดังกล่าวใช้คอนกรีต อุตสาหกรรมยางพาราและเกษตรกราวสวนยางคงไม่ได้ประโยชน์อะไรในทางที่จะยกระดับราคายางให้สูงขึ้น แต่ถ้าทางการไทยหรือโครงการรถไฟทางคู่ใช้ยางพาราเป็นวัสดุรองราง ก็จะช่วยเกษตรกรชาวสวนยางได้มาก ในทางวิศกรรมคงทำได้หากลงมือศึกษาและเตรียมการกันอย่างจริงจังในช่วงระยะเวลาที่กำลังจะมีการก่อสร้างนี้
หรือท่านจะปล่อยให้บริษัทคอนกรีตขนาดใหญ่เทคโอเวอร์ผลประโยชน์เรื่องนี้ไปฝ่ายเดียว
ความจริงแล้ว มองอีกทีเราไม่จำเป็นต้องเห็นบริษัทคอนกรีตเป็นคู่แข่งหรือศัตรูกับเกษตรกรชาวสวนยางครับ เพราะบริษัทเหล่านี้ มีทุนมีความสามารถในการดำเนินการตั้งโรงงานผลิตหมอนรองรางที่ทำจากยางพารา และผลประโยชน์ก็จะไปตกอยู่ในมือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง รัฐก็ให้สิทธิพิเศษในการลงทุนไปสิครับ ว่ากันว่า ถ้าคำนวณจากระยะทางการก่อสร้างรถไฟรางคู่ทั้งหมด จะสามารถยกระดับราคายางพาราให้ขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 200 บาทหรือมากกว่านี้ด้วยซ้ำ
ผมไม่ทราบว่ามีหน่วยงานไหนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง หรือท่านจะรอให้ทุนต่างชาติมาดูดเอาทรัพยากรของเราในส่วนที่เป็นกำไรของพวกเขาไปใช้กันเพียงอย่างเดียว
ท่านคิดครบวงจร เป็นภาพรวมมากพอหรือยัง? หรือจะปล่อยให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางหรือสวนอื่นๆ เลือดไหล ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุดอยู่แบบนี้ต่อไป