พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

 สัญญาณที่กำลังบอกว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นเหมือนฟิล์มถ่ายรูป ไม่ก็เป็นเหมือนสื่อกระดาษ (สิ่งพิมพ์) มาแรงยิ่ง เมื่อมหาวิทยาลัยมนอเมริกาหลายแห่งตกอยู่ในสภาพที่อเน็จอนาถ ขนาดทุกบักโกรก เนื่องจากมีผู้เรียนในระดับอุดมศึกษาน้อยลงกว่าเดิมมาก สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วประเทศอเมริกา

เหตุผลของสถานการณ์ความเสื่อมของมหาวิทยาลัยในอเมริกา ดูเหมือนไม่ได้มาจากการลดลงของจำนวนประชากรของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการก่อเกิดขึ้นของโลกดิจิตัล ที่เป็นตัวการตัดตอนความรู้ในห้องเรียนออกไปยังข้างนอก

ดังมีตัวอย่างแม้แต่การศึกษาในระดับปฐมวัยของ Khan academy  เกิดขึ้นและได้รับการสนับสนุนด้านทุนจาก Bill Gates แห่งบริษัทไมโครซอฟท์ โดยที่ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่โรงเรียนในรูปแบบเดิมอีกต่อไป

หรือว่าโลกอนาคตจะไม่มีโรงเรียนหรือสถานศึกษาแบบเดิมๆ ที่เราเคยเห็นกันอีกต่อไป โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาแบบมหาวิทยาลัยที่มีโอกาสที่จะปลาสนาการไปได้มากที่สุด

เพราะการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเป็นการศึกษาขั้นปลายที่ผู้เรียนต่างโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีพื้นฐานการเรียนมาก่อนแล้ว สามารถอ่านออกเขียนได้ เมื่ออ่านออกเขียนได้ย่อมมีโอกาสศึกษาต่อเนื่องได้โดยตัวของพวกเขาเอง โดยไม่ต้องพึ่งสถาบันการศึกษากระแสหลัก อย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่อไป ดังปรากฎว่าบุคคลอเมริกันผู้สร้างนวัตกรรมจนประสบผลสำเร็จอันมีชื่อในโลกยุคดิจิตัล หลายคนก็ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองแทบทั้งสิ้น

ประจวบกับค่านิยมอเมริกันเอง ก็ไม่ได้เน้นไปที่ดีกรีหรือปริญญา เหมือนคนไทย โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อ มหาวิทยาลัยของไทยจำนวนหนึ่งก็น่าจะเปรียบเสมือนนักต้มตุ๋นโดยปริยาย คนอเมริกันเรียนมหาวิทยาลัยตามความจำเป็นไม่ได้เรียนตามค่านิยมหรือกระแสตามแบบฉบับของคนไทย

จึงน่าคิดว่า อาการปลาสนาการสูญหายของมหาวิทยาลัยรูปแบบปัจจุบันคงจะเกิดขึ้น และค่อนข้างโชคร้ายหน่อยครับ ที่ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครคิดหนทางออกเพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยได้เลย ต่างเฝ้ารอวันเจ๊ง ธุรกิจมหาวิทยาลัยจึงรอที่จะเป็นแบบเดียวกับธุรกิจฟิล์ม หรือเทปคาสเซ็ตแบบสมัยก่อน

และสถานการณ์แบบนี้ คงเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกหรือรอวันเกิด ในเมืองไทยเองก็จะเห็นว่ามีการเสนอเลิกจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยกันแล้ว จะจ้างไว้ในส่วนหรือคณะ ภาควิชา ที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

สิ่งที่คาดกันว่า จะมาทดแทนมหาวิทยาลัยอีกอย่างหนึ่ง คือ “ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน”ซึ่งจะกระจายออกไปทั่วประเทศ ศูนย์ดังกล่าวแนบชิดอยู่กับชุมชนบนสถานการณ์หรือสภาพความเป็นจริงของสังคมหรือชุมชน เช่น วิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรม อาชีพ ซึ่งสามารถนำดิจิตัลเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม ทั้งหมดเป็นการตัดตอนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น และเมื่อนั้น ชุมชนปริญญาก็จะไร้ความหมายลงทันที

นั่นหมายความว่า ระบบชนชั้นวรรณะในสังคมไทยก็จะพลอยลดน้อยลงไปด้วย ทั้งความจริงเป็นที่ทราบกันดีว่า วุฒิบัตรหรือปริญญาบัตรมีส่วนต่อการสร้างเสริมชนชั้นวรรณะในสังคมไทยมากมายอย่างไร โลกอนาคต สื่อดิจิตัลจะเป็นตัวการทำลายตรงนี้และสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย เราจะเป็นสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้นจากฐานความเป็นจริงของสังคม

ยิ่งเมื่อเกิดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในรูปแบบสถาบันการศึกษาแบบธรรมชาติ คือไม่ต้องเรียนรู้สิ่งไกลตัวมากเกินไปด้วยแล้ว แรงถีบส่งให้มหาวิทยาลัยตามรูปแบบปัจจุบัน ให้ต้องปลาสนาการไป ก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

จึงน่าสนใจว่ามหาวิทยาลัยทั่วโลกและมหาวิทยาลัยของไทยจะปรับตัวอย่างไร มหาวิทยาลัยจะยังทำตัวเหมือนอยู่บนหอคอยของสังคมหรือของชีวิตหรือไม่ ท่ามกลางซากปรักหักพังที่เกิดจากความล้าหลังและไม่ตอบสนองต่อความปรารถนาของสังคมของมหาวิทยาลัย

อย่างน้อยในอเมริกาเอง คนก็คาดกันว่า มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง น่าจะอยู่อีกไม่นาน เนื่องจากจำนวนนักเรียนลดลง ดิจิตัลเทคโนโลยีเข้ามาทดแทน สถานการณ์ในเมืองไทยคงไม่ต่างกัน

นี้จึงนับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบการศึกษาโลกในช่วงแค่ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ขอให้มหาวิทยาลัยของไทยทุกแห่งโชคดี !!!

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *