พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
สิ่งที่ Michael Peel แห่งไฟแนนเชียลไทม์พูดไว้เมื่อไม่กี่ปีมานี้อาจไม่เกินไปจากความเป็นจริง เพราะมีสัญญาณอุบาทว์ทางการเมืองปรากฏขึ้น อย่างน้อยก็สัญญาณจากกองทัพบกไทยที่ฝ่ายอเมริกันต้องเก็บไปวิเคราะห์ มันก็คือ สัญญาณรัฐประหารที่ออกมาจากผู้นำกองทัพเมื่อไม่กี่วันมานี้
Peel เคยกล่าวไว้ทำนองว่า “เมื่ออำนาจเก่าไม่ยอมที่จะตาย ขณะที่อำนาจใหม่กำลังพยายามให้กำเนิด เมื่อนั้นฝูงปิศาจย่อมปรากฎ” คำกล่าวของเขาไม่เพียงเป็นแค่หลักการหรือทฤษฎีเท่านั้น หากอาจถือเป็นคำพยากรณ์ถึงชะตากรรมในอนาคตของประชาชาติไทยเอาเลยก็ว่าได้ เพราะเขาหมายถึงประเทศไทยและเคยพยากรณ์ ถูกมาแล้วในเรื่องการทำรัฐประหารของผู้บัญชาการกองทัพในตอนนั้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาดแม่นหนนี้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่ยังไม่สิ้นสุดนั้น จะโคจรเข้าสู่วงจรอุบาทว์ และเกิดอันตรายอย่างยิ่งในอนาคตอีกไม่นานหลังจากนี้
มีหลายเรื่องให้ต้องคิด เช่น ปัญหาเศรษฐกิจหรือปากท้องที่รุมเร้าคนไทย ปัญหาความยุติธรรมเชิงโครงสร้างทางสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสถานภาพทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแต่ขมวดปมนำไปสู่การแตกหักในไม่ช้าไม่นาน ไม่นับรวมปัญหาการเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับที่บิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์อุดมการณ์ประชาธิปไตยประดุจปาหี่เลือกตั้งอย่างเสียไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่าสอดคนของตัวเองไว้ในรัฐสภาจำนวนมาก (สว.ลากตั้ง)
ต้องนับว่าสัญญาณการรัฐประหารจากกองทัพครั้งล่าสุดนี้ ฉุดไทยไปสู่กลุ่มประเทศที่ล้าหลังทางการเมืองเสียยิ่งกว่าสถานการณ์ในพม่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะเป็นการลากประเทศไปสู่วังวนแห่งอำนาจเผด็จการที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นบนที่เป็นชนส่วนน้อย ขณะที่สถานการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์ หรือยุคดิจิตัล 4.0 ในยุคที่ฝ่ายรัฐไม่สามารถผูกขาดข่าวสารไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกต่อไป
หรือว่าฝูงปีศาจจะปรากฏตัวจริงๆ สถานการณ์ในเมืองไทยนั้นว่าไปแล้ว เหมือนน้ำกำลังถูกต้ม รอวันเดือดทะลัก ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือไม่ ฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการจะได้ครองอำนาจทางการเมือง ไม่มีความหมายใดๆเลย เพราะเป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง หรือความขัดแย้งทางสังคมเชิงชนชั้น ภาพรวมของการเมืองไทยนั้น เหมือนเรือลอบลำเท้งเต้ง ยังหาฝั่งไม่เจอ การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 62 ที่คสช.สัญญาไว้ไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
สื่ออเมริกันบางสำนัก เช่น วอชิงตันไทมส์ มองว่า การผูกขาดของกลุ่มอำนาจเก่า ยังคงเป็นส่วนสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงการเมืองของไทย ที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้ เพื่อนจากลอสแองเจลิสไทมส์ที่ตอนนี้พำนักชั่วคราวในเมืองไทย บอกว่า การขับเคี่ยวระหว่างชนชั้นสูงกับชนชั้นรากหญ้าในประเทศไทยจะยังไม่จบง่ายๆ การรัฐประหารซ้ำซ้อน เป็นได้ทั้งน้ำและน้ำมัน
เขาบอกว่า ถ้าสมุฐานของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ความขัดแย้งที่เสมือนกงจักรปีศาจคอยทำลายความมั่นคงในด้านต่างๆ เหล่านี้ก็จะยังดำรงอยู่ต่อไปและรุนแรงขึ้นในที่สุด
ปัญหาสำคัญคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในประเทศต่อการเมืองที่แทบไม่มีเลย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เสมือนเป็นเชือกรัดให้การขับเคลื่อนของประเทศต้องหยุดชะงักลง มันไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ขณะที่คนไทยชาตินิยมคิดว่า ไทยเป็นประเทศที่จะอยู่แบบโดดๆ ได้ โดยไม่ต้องสัมพันธ์กับโลกมากนัก ไม่น่าเชื่อว่า ลัทธิชาตินิยม ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางจักรวาล ถูกปลุกขึ้นมาในโลก 4.0 อย่างปัจจุบัน เหล่านี้เป็นกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของประชาชาติไทยนับทศวรรษ นำการเมืองไทยย้อนยุคคล้ายคลึงกับประเทศพม่าในอดีต
ในส่วนของฝ่ายอเมริกัน เผลอๆ คนไทยคงได้มีโอกาสต้อนรับนักการเมืองอเมริกันมากขึ้นนับต่อแต่นี้ จากสถานการณ์ทางการเมืองแบบกดดัน และส่อไปในทางรุนแรง รัฐบาลทรัมป์ แม้ไม่ใส่ใจอะไรมากนักต่อความเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไทยก็ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอเมริกันที่เชื่อมไปหาประเทศอาเซียนอื่นๆ อยู่
เหมือนที่ Dana Rohrabacher สส. รีพับลิกัน ออร์เร้นจ์ เค้าน์ตี้ แคลิฟอร์เนีย เคยบอกผมว่า ไทยคือประตูอาเซียนของอเมริกา คำพูดแบบนี้อาจดูเกินจริงไปบ้างเมื่อเอาไปเทียบกับสิงคโปร์ แต่ถ้าเป็นยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับจีนแล้ว ไทยได้เปรียบในแง่การต่อรองมากกว่าสิงคโปร์ที่เน้นที่ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่น
แต่ก็ต้องยอมรับว่า สัญญาณที่ออกมากจากฟากอเมริกันต่อไทยไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน สายงานล็อบบี้ระหว่างสองประเทศขาดสะบั้นลงแทบสิ้นเชิง ทำให้การเจรจาในประเด็นต่างๆ ยากมากขึ้น สถานทูตไทยที่วอชิงตันดีซี ปล่อยเกียร์ว่างเห็นๆ ดอน ปรมัตถ์วินัย ไม่มีสายป่านที่จะเข้าถึงคนอเมริกันที่แคปปิตัล ฮิลล์ เลย ไม่เลยแม้กระทั่ง Tammy Duckworth
ก่อนหน้านั้นสื่อเมริกัน ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2006 ที่คณะผู้ทำการรัฐประหารที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นกำลังขัดแย้งกับกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตร แต่แล้วการรัฐประหาร นั้นก็นำมาซึ่งความแตกแยกของกลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณกับฝ่ายอำนาจเก่า ( Old elite) หลังจากที่ฝ่ายทักษิณประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้ว่าทักษิณจะไม่ได้อยู่ในเมืองไทยก็ตาม
ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารในปี 2007 มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ได้ตัวนายกรัฐมนตีคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ จนกระทั่งเกิดการประท้วงโดยกลุ่มเสื้อแดงในปี 2010 ทำให้กองทัพภายใต้การบัญชาการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องปราบปรามประชาชนผู้ประท้วง เป็นเหตุให้มีผู้เสีย ชีวิตประมาณ 90 บาดเจ็บราว 2,000 คน (Charlie Campbell : Time Wold)
ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นน้องสาวของทักษิณ โดยเฉพาะประเด็นที่การที่สส.ฝ่ายรัฐบาล(พรรคเพื่อไทย) พยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายบางข้อ เช่น ให้ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ที่แต่เดิมมาจากการแต่งตั้ง ประมาณครึ่งหนึ่ง มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่การแก้ไขดังกล่าวกลับไม่ได้รับการอนุมัติจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ระบุว่า เป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า และมาจากเจตนารมณ์ของคณะผู้ก่อการรัฐประหารปี 2006 โดยเรียกว่า ระบบการรัฐประหารโดยคณะตุลาการ หรือ Judicial coup (Michael Peel : Financial Times)
Thomas Fuller แห่งนิวยอร์คไทมส์ มองถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยว่า มีที่มาจากการกระจายผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายที่โดนกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่า ประชานิยม แต่ผลของนโยบายนี้กลับสร้างความพึงพอใจให้กับคนในภาคชนบทของไทย ซึ่งไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจังจากรัฐบาลชนชั้นนำในกรุงเทพ (Bangkok elite) ที่หมายถึงพรรคประชาธิปัตย์
ฤาบางทีกงจักรปีศาจที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขั้นรุนแรงนี้ จะกลับมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง ในยามที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยกำลังเริ่มต้น?