พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ต้องโทษใครหรือไม่กับการหยุดนิ่งของการพัฒนาภาคใต้ ราว 3 ทศวรรษ หรือมากกว่า 30 ปี ที่ไม่เคยปรากฏเมกกะโปรเจคท์การพัฒนาเศรษฐกิจใดๆ เลย มีแต่ซ่อนปัญหาอันหมักหมมบรมชาติ นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เนิ่นนานเสียเหลือเกิน และยังปรากฏให้เห็นจนวันนี้ ขณะที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ไปได้แค่ “วิสัยทัศน์โบกี้รถไฟ” จากตอนที่เขากล่าวถึงความปรารถนาของเขาเองในงานปาร์ตี้ของสมาคมชาวตรังกรุงเทพเมื่อไม่นานมานี้ เขาต้องการให้ประชาชนคนใต้นั่งรถไฟโบกี้ใหม่ สะอาดๆ ภาพมันก็เลยขัดแย้งกับภาพขี้เยี่ยวบนรางรถไฟที่ดำรงมานานนับศตวรรษอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นักการเมืองประชาธิปัตย์เป็นแบบเดียวกับนายชวนทุกคนล่ะหรือ? ส่วนใหญ่ น่าจะเป็นอย่างนั้น การยึดครองภาคใต้ของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนานหลายปี แบบอย่างเสาไฟฟ้า ทำให้คนใต้ขาดพลวัตรในแทบจะทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ สังคม มีสภาพดุจเดียวกับน้ำนิ่ง ที่กลายเป็นน้ำเน่าในที่สุด เพราะต้องยอมรับจุดอ่อนของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนักการเมืองใต้ คือ ขาดวิสัยทัศน์และคิดสร้างสรรค์โครงการการพัฒนาขาดใหญ่ หรือแมกกะโปรเจคท์เชิงนโยบายไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาทะเลไทยหรือในแง่สมุทรศาสตร์ ทั้งที่จุดเด่นของภาคใต้โดยตรง
30 ปีย้อนหลังการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้มันคือ “ลอกอ”หรือความว่างเปล่า พร้อมๆ กับความปลิ้นปล้อนหลอกลวงของนักการเมืองท้องถิ่นที่หากินบนฐานวัฒนธรรมภาคนิยมเท่านั้นเอง ดังที่กลุ่มกปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เคยทำมาในอดีต จนบ้านเมืองพินาศจนทุกวันนี้ ในแง่ความเป็นมนุษย์แล้วคนภาคใต้จึงจัดว่าเป็นกลุ่มคนภาคที่น่าเวทนายิ่งนัก อันเนื่องมาแต่ความเป็นคนคุณธรรมน้ำมิตร มีน้ำใสใจจริงกับเพื่อนหรือคนภาคเดียวกัน
ในยามที่เศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป ขึ้นหรืออิงอยู่กับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก สินค้าหลักของภาคใต้คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ก็ไปขึ้นหรืออิงกับราคาของยางพาราและปาล์มน้ำมันของโลกด้ว นั่นหมายความว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตรสองรายการดังกล่าวขึ้นกับดีมานด์ของโลกด้วย
แต่ชะตากรรมเชิงบวกก็ไม่เคยเลยที่จะเข้าข้างพี่น้องคนใต้ นักการเมืองท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ก็คือประชาธิปัตย์ ไม่เคยใส่ใจในความเป็นไปของราคาสินค้าเกษตร 2 รายการนี้เลย ไม่มีแม้กระทั่งการพูดถึงความทุกข์ร้อนจากพิษภัยเศรษฐกิจที่หยั่งลึกกระทบไปถึงรากฐานของครอบครัวพี่น้องชาวใต้ส่วนใหญ่
เป็นความอำมหิต เลือดเย็นของนักการเมืองประชาธิปัตย์โดยตรง เพื่อนที่พัทลุงเล่าให้ฟังว่า เธอไม่มีแม้แต่เงิน 20 บาทใส่กระเป๋าให้ลูกไปโรงเรียนตอนเช้า คำถามคือนักการเมืองท้องถิ่น ประเภทเสาไฟฟ้าเคยรู้เรื่องทำนองนี้บ้างหรือไม่ หรือเสวยสุขแต่เพียงถ่ายเดียวกับครอบครัวแบบอีลิทชนในบ้านพักสวยหรูในกรุงเทพ
กล่าวสำหรับนายหัวชวนนั้น คงจะถูกฝังให้เป็นประวัติศาสตร์หรือตำนานการเมืองภาคนิยมไปแล้วเพราะอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ท่านนี้ ไม่หือไม่อือกับความทุกข์ร้อนของพี่น้องคนใต้เลย เช่นเดียวกับ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พื้นเพคนสงขลา เนติบริกร วิษณุ เครืองาม ก็ไม่ต่างไปจากนายชวน ในฐานะคนของรัฐบาลผู้ยังมีอำนาจวาสนาในปัจจุบัน ก็ไม่เคยแยแสปัญหาของเกษตรกรภาคใต้เลย
แม้ว่านายวิษณุจะไม่ดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงเหมือน “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ตาม แต่ในฐานะคนในรัฐบาลเดียว นายวิษณุก็น่าจะมีส่วนในการผลักดันแนวคิดช่วยเกษตรกรชาวใต้ได้บ้าง นี่เขากลับไม่แยแสใดๆ ต่อปัญหานี้เอาเลย 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งวิษณุทั้งเฮียกวงต่างปล่อยให้พี่น้องชาวปักษ์ใต้ตายทั้งเป็นอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขารู้ว่า ความเป็นภาคนิยม จารีตนิยมของคนปักษ์ใต้คือเครื่องตราสังข์มัดมือคนใต้ไม่ให้กระดุกกระดิก ดังนั้น ถ้าใครคนใดคนหนึ่งมีปฏิกิริยาต่อต้านฝ่ายอำนาจก็จะสังเกตได้ง่าย และพวกเขาก็จะแซะคนที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้นออกจากกลุ่มโดยไวอย่างไม่เนิ่นช้า
ซึ่งก็คือหลักฐานที่ชี้ชัดว่า พวกเขาหรือผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองใต้และคนของรัฐบาลคสช. ลักษณะของความเป็นองค์กรหรือสถาบันอำนาจนิยมมากเพียงใด ถ้าหากคุณมีความเห็นต่างจากกลุ่มอำนาจนิยมในท้องถิ่น คุณจะใช้ชีวิตอย่างลำบากยากเย็นเพียงใดแลก็ยิ่งพาให้ชีวิตชาวใต้ดิ่งเหวเข้าไปทุกที ทั้งๆ ที่มีฐานทรัพยากรอันมั่นคงนี่แหละ
ที่กล่าวมา น่าจะเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคใต้ กล่าวคือ ค่านิยมท้องถิ่น ความเป็นน้ำนิ่งที่กลายเป็นน้ำเน่า ความไร้วิสัยทัศน์ของประชาชนและนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งหมดสรุปลงในกระบวนแห่งอำนาจนิยมอย่างชัดเจน และชัดเจนอย่างยิ่งว่า ระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือข่ายญาติ นาย-ลูกน้อง รวมถึงชาตินิยมหรือภาคนิยมไม่เคยช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อันนี้พิสูจน์กันมาทั่วโลกโดยไม่ต้องมีหลักฐานอ้างอิงให้ยืดยาว เพราะในที่สุด จะนำพาทั้งหมดไปตกอยู่ใต้ฝ่ายอำนาจ คือ โดนฝ่ายอำนาจใช้เป็นเครื่องมือ หรือชักใยอยู่เบื้องหลัง
บทเรียนราคายางพารา ปาล์ม ความหายนะเศรษฐกิจของภาคใต้ ความไร้การพัฒนานับสามทศวรรษ เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจนิยมเปรียบเทียบกับระบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งระบบหลังทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แสดงออกได้ตามอัตภาพและความต้องการ มิใช่โดนกดทับด้วยอำนาจนิยมสุดโต่ง จนแม้แต่จะพูดจะยังลำบาก ต้องรอให้ใกล้ตายหรือถึงที่สุดเสียก่อน ดังเหตุการณ์ “จนเจ็บโง่” ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องชาวใต้ที่ประสบอยู่ทุกวันนี้
บทเรียนดังกล่าวบอกเราว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีใครในฝ่ายอำนาจ ฝ่ายการเมืองจะมาช่วยอะไรพวกเราได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการส่งเสียงประกาศดังๆ ออกมาอย่างชัดเจนและกล้าหาญ
ต้องไม่ลืมว่าการให้เงินเยียวยาสินค้าเกษตร เป็นแค่ของหลอกเด็ก (คือเกษตรกร) ไปวันๆ ทำได้เฉพาะหน้าเท่านั้น หากมาตรการแก้ไขที่ดีควรเป็นมาตรการหรือนโยบายในระยะยาว และควรเกิดจากความเข้าใจปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นกะบวนการลึกซึ้ง หรือเรียกกันว่าวิสัยทัศน์นั่นเอง เกรงว่า รัฐบาลเผด็จการทหารจะไม่มี จะมีก็แต่การโอ้อวดของเฮียกวงหรือนายสมคิด ที่โอ้อวดคนจนจะหมดประเทศมาทุกปี ซึ่งก็ได้แต่พ่นน้ำลาย จนชาวบ้านรู้ไต๋หมดแล้ว และเศรษฐกิจประเทศไทยก็วังเวงเอวังมาจนถึงวันนี้
บทเรียนในต่างประเทศที่ประวัติศาสตร์ของเขาล้ำหน้าเราไป บอกเราว่า อำนาจนิยม ภูมิภาคนิยม ชาตินิยมไม่เคยมีคุณกับใคร แหละคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจดังกล่าว มีแต่โดนเขาจูงจมูกเอาง่ายๆ เท่านั้นเอง ดังคำโบราณจีนว่าไว้ “คนที่อันตรายที่สุดคือ คนที่เข้าถึงเรา อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด หาใช่ศัตรูที่อยู่ห่างไกลเราแต่อย่างใดไม่”