พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ง่ายนิดเดียว เมื่อมีใครพูดถึงอะไรสักอย่าง เราเห็นด้วย แล้วเราพูดคำว่า สาธุ สาธุ และสาธุ
มากไปกว่านั้น แม้เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่เรามักจะพูดว่า สาธุ อยู่ดี แม้ประเด็นหรือข้อความนั้นยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือถูกต้องแต่อย่างใดก็ตาม
และในกรณีหลังนี้ อาจกล่าวได้ว่า ผู้พูดคำว่า “สาธุ” ได้ตกไปอยู่ในร่องตรรกะแบบอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ เสร็จสรรพ เพราะความไร้ร่องรอยหรือปราศจากหลักฐานแห่งการตั้งคำถาม ต่อประเด็นหรือวาทกรรมที่พวกเขาสาธุนั้น
และหากจะยกให้วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรม “สาธุนิยม” ก็คงไม่ผิดนัก “สาธุ”ที่มีความหมายว่า “ดีแล้ว” เราจะพบเห็นได้ทั่วไป ยิ่งในยุคโซเชี่ยลมีเดียอย่างในปัจจุบัน
และผมก็เดาเอาว่า ต้นเค้าหรือต้นต่อของ “สาธุนิยม” น่าจะมาจากรากเหง้าวัฒนธรรมพุทธ กล่าวคือ พอพระสงฆ์เทศนาเสร็จหรือเสร็จจากพิธีกรรมบางอย่างในศาสนาพุทธ ทายก ทายิกาก็อนุโมทนาพากันกล่าว สาธุ ที่หมายความว่าดีแล้ว ชอบแล้ว นั่นเอง เป็นนัยของการอนุโมทนาจิต
มากไปกว่านั้นในยุคหลังคำว่าสาธุ ถูกนำมาใช้ต่อท้ายประโยค “เอาบุญมาฝาก” (บุญเอามาฝากกันได้ด้วยล่ะหรือ?) และยิ่งไปกว่านี้ คือ สาธุถูกนำมาใช้หลังจากการสวดมนต์ หรือการพูดอะไรก็ตามของพระสงฆ์ในทุกเรื่องทุกประเด็น จนเกือบจะสรุปไปได้เลยว่า แท้จริงแล้ว สาธุ เป็นแค่คำอุทานที่ไม่ได้มีความหมาย ตามความหมายดั้งเดิมของพุทธศาสนาดังสมัยพุทธกาลเอาเลย
นั่นยิ่งเท่ากับทำให้คำว่า สาธุ ห่างไกลออกไปจากขนบหรือจารีตของศาสนาพุทธมากขึ้น เพราะหากย้อนลงไปในสมัยพุทธกาล ก่อนคำว่า “สาธุ”จะเกิดขึ้นได้ ประเด็นที่สาธุนั้น ย่อมได้รับการโต้แย้งหรือถกเถียง ดีเบทกันจนมีข้อสรุปเชิงเห็นดีเห็นงามในประชุมชนมาก่อนแล้ว (แม้แต่การโต้แย้งกับพระพุทธองค์ จนยอมรับหรือสาธุต่อคำสอนของพระองค์ในที่สุด) ไม่ใช่การสาธุแบบตะพึดตะพือไหลตามน้ำ ปราศจากการตั้งคำถามดังสมัยปัจจุบัน
สาธุนั้นให้ภาพของการยอมรับและเห็นด้วยกับผู้พูดหรือผู้เสนอประเด็นใดๆ มาก็ตามโดยเราไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ โดยเฉพาะ หากเป็นบุคคลในพุทธศาสนา เช่น พระสงฆ์ เป็นต้นด้วยแล้ว ชาวพุทธมักอาศัยศรัทธาปักใจลงไปเลยว่าถูกต้องเสมอไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่สาธุจะเข้าด้วยกันได้ดีกับระบบอำนาจนิยม ระบบที่ไม่จำเป็นต้องคำถาม
ในแง่รัฐศาสตร์ สาธุย่อมหมายถึงการยอมสยบต่ออำนาจรัฐโดยปราศจากการตั้งคำถามใดๆ รัฐบาลเผด็จการเสนออะไรมา รับหมด ชนิดไม่ต้องคำถามให้รัฐบาลหรือผู้นำรัฐเกิดความรำคาญ สาธุๆๆ
จริงหรือที่ว่า เราจะเห็นดีเห็นงามไปกับพระสงฆ์ทุกประเด็นทุกประการ ในการเทศนาเพื่ออบรมสั่งสอนนั้นพระสงฆ์เองได้นำความรู้ที่ท่านมี หรืออาจรวมประสบการณ์แปลงเป็นธัมวิจัยมาใช้ แต่แน่ใจได้อย่างไรว่า คำกล่าวของสมมติสงฆ์เหล่านั้นจะถูกต้องทุกประการ ก็ในเมื่อพระพุทธองค์ยังตรัสเรื่องกาลามสูตร 10 ไม่ให้เชื่ออะไร ไม่ให้เชื่อใครง่ายๆ กาลามสูตรข้อสุดท้ายตรัสว่า“มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา” นี่คือข้อสะท้อนว่าก่อนสาธุชนควรพินิจพิจารณาในประเด็น ในเรื่อง ในตัวบุคคลที่จะสาธุให้ดีๆ เสียก่อนเอาด้วยซ้ำ
โดยสรุปแล้ว สาธุ ในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงวาทกรรมเอาใจคู่สนทนา ในสังคมอับจนปัญญา สังคมที่ปราศจากการตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น “สาธุ”ในปัจจุบันถอยห่างออกจากคุณค่าของสาธุแบบดั้งเดิมในพุทธศาสนาที่เป็นวาทกรรมแห่งการยอมรับคู่สนทนาหรือคู่รับฟังหลังจากที่ได้มีการตั้งคำถาม ได้โต้แย้ง อย่างมีเหตุมีผลมาก่อนแล้ว
และสาธุนิยมในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งจึงเป็นเล่ห์กะเท่ห์ของดัดจริตชนผู้มักมิใคร่ชอบที่จะเจริญปัญญาด้วยตนเองมากนัก หากสนใจฝักใฝ่การประจบประแจง สอพลอ โดยเฉพาะการสอพลอผู้ที่มีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าตน
ก็เราจะเป็นสังคมอุดมปัญญาได้อย่างไร หากยังคงตะบี้ตะบันสาธุ สาธุ และสาธุไม่เว้นแต่ละวัน โดยไม่มีการตั้งคำถาม ไม่มีข้อโต้แย้งแสดงเหตุและผลซึ่งกันและกัน บนการคงอัตลักษณ์และวิถีของความเป็นมนุษย์เอาไว้
เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์ก็ตรงที่การใช้เหตุใช้ผลเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมนั่นเอง ต่างจากสาธุในปัจจุบันที่ถูกดัดแปลง พาผู้คนให้จำนน สยบยอมในสิ่งที่พวกเขาต้องเสียเปรียบและอยุติธรรม ทั้งในแง่ฐานะทางสังคมและการถือครองทรัพยากรเชิงเอารัดเอาเปรียบที่ไม่สมดุล