พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ตามข่าว พากันลาออกบางคน สำหรับกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางแห่ง และองค์การมหาชนอื่นๆ เช่น สปสช. เป็นต้น นับเป็นสภาพที่น่าเวทนา สมเพท อย่างมากที่คนดีเหล่านี้ต้องประสบชะตากรรมอันเนื่องมาจากกฎหมายปปช.ที่บังคับให้เจ้าหน้าที่ในระดับบริหารขององค์กรมหาชนเหล่านี้ต้องยื่นแสดงทรัพย์สินต่อสำนักงานปปช. หน่วยงานกลางตรวจสอบทุจริตและประพฤติมิชอบราชการไทย
มิหนำซ้ำ คนที่ออกกฎหมายนี้ อย่างนายมีชัย ฤชุพันธ์ ด้วยซ้ำ ที่ชิงลาออกจากองค์กรที่ตัวเองเป็นกรรมการอยู่ก่อน ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจกล่าวว่า มันเป็นสภาพที่น่าสังเวช สมเพทเวทนาอย่างยิ่ง
ในส่วนของการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกรรมการและผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้น ตามที่ผมเคยเขียนไปในคอลัมน์นี้ ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ถือเป็นเรื่องปกติและกระทำกันผ่านสื่อออนไลน์ด้วยซ้ำ กล่าวคือ ใครก็ตามที่เข้าออนไลน์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสามารถเห็นได้ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เกิดความมั่นใจต่อสถาบันการศึกษาสุจริต โปร่งใส ที่สำคัญการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อการหาผู้สนับสนุนกิจการของสถาบันการศึกษานั้นๆ เช่น การบริจาคสนับสนุนสถาบันการศึกษา เป็นต้น
กิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาจึงต้องสะอาด โปร่งใส พร้อมสำหรับการตรวจสอบจากประชาชนธรรมดาทั่วไป คือให้ภาคประชาชนได้ร่วมตรวจสอบด้วย
แต่เมื่อดูระบบปฏิบัติของไทย เมื่อกฎหมายปปช.กำลังจะมีผลบังคับ คนเหล่านี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารกิจการมหาวิทยาลัยและองค์กรมหาชนเกิดรักตัวกลัวตายขึ้นมาไม่ยอมให้มีการตรวจสอบ อ้างความยุ่งยาก จุกจิก หยุมหยิม ระบบของไทยแบบที่ว่าจึงเป็นความผิดปกติอย่างยิ่ง ทำให้ดูประหนึ่งว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นตัวเห็บที่หากินกับเลือดวัว ครั้นพอโดนรมควันไฟก็สำลักควันหลุดออกจากตัววัว
โดยที่ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนเหล่านี้แสวงหาผลประโยชน์จากมหาวิทยาลัยมานาน ไม่ใช่ในนามการศึกษาเพียวๆ หากแต่ในนามผลประโยชน์ต่างๆ จากกิจการของมหาวิทยาลัย เช่น การประมูล งานรับเหมา เป็นต้น จึงนับเป็นการแสวงหาผลประโยชน์แฝงอย่างหนึ่ง ดังเห็นๆ กันอยู่
การประกาศลาออกจากสภามหาวิทยาลัยของกรรมการฯบางคน จึงช่วยให้พื้นที่ดินของมหาวิทยาลัยสูงขึ้น เพราะนอกจากสกัดขัดขวางผลประโยชน์แฝงแล้วยังก่อให้เกิดคุณูปการเชิงวิชาการต่อมหาวิทยาลัยนั้นๆ อีกด้วย เพราะแท้จนริงแล้วกรรมการสภาฯ เหล่านี้ แทบไม่เคยทำหน้าที่ตรงๆ ของมหาวิทยาลัยหรืองานวิชาการเลย ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยตกอยู่ในสภาพแปลกแยกกับภาคประชาชนหรือชุมชนมาเนิ่นนาน
ตัวอย่างที่เราเห็น คืออาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐในต่างจังหวัดบางแห่ง วางตัวดุจดังเป็นชนชั้นพิเศษ จนลืมไปว่า หน้าที่ของตัวเองคืออะไร งานวิชาการแปลกแยกออกไปจากชุมชน ชุมชนแทบไม่ได้รับผลประโยชน์จากงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยทำ งานวิชาการไม่ได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาชุมชมหรือสังคมนั้นๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงนวัตกรรมที่แทบไม่ปรากฏให้เห็นเอาเลย
มหาวิทยาลัยลักษณะนี้ นอกจากไม่มีประโยชน์ต่อชุมชนแล้ว ยังก่อให้เกิดมลพิษที่ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าอีกด้วย ผู้สอนหรืออาจารย์ไม่สามารถ apply หรือประยุกต์ความรู้วิชาการให้เป็นประโยชน์กับท้องถิ่นแต่อย่างใด ที่เห็นก็คือ การวางโตโอ้อวดยศศักดิ์ทางวิชาการ ซึ่งก็นับว่าไร้แก่นสารเต็มที เพราะได้เพียงแค่การท่องจำตำรามา หากแต่ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันแทบไม่ได้ และนี่คือจุดอ่อนของมหาวิทยาลัยไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ก็ตาม
ประเด็นปัญหาที่กล่าวมานี้ เกี่ยวข้องกับกรรมการสภามหาวิทยาลัยอย่างไร? ก็เพราะในสภามหาวิทยาลัยเหล่านี้ มันนิ่งจนกลายเป็นน้ำเน่าไปแล้ว ตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีไว้เพื่อพิธีกรรมของมหาวิทยาลัยเท่านั้น มิได้มีไว้เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์หรือนโยบายในการทำงานของมหาวิทยาลัยแต่อย่างไร ซึ่งว่าไปแล้วก็ไม่คุ้มค่ากับเงินค่าจ้างนั่งเป็นกรรมการเสียด้วยซ้ำ (ในกรณีการจ้าง) ส่วนถ้าเป็นกรรมการในลักษณะการได้รับเกียรติหรือให้เกียรติมาเป็นโดยไม่เอาค่าจ้าง มหาวิทยาลัยเองก็แทบไม่ได้ประโยชน์จากขอนไม้ตายแล้วเหล่านี้อยู่แล้วเช่นกัน
การชิงลาออกของกรรมการมหาวิทยาลัยเหล่านี้ดูไปแล้วกลับจะเป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยในแง่การเปลี่ยนน้ำใหม่เสียด้วยซ้ำ คือได้โอกาสเปลี่ยนคนใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแทน เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัย ไม่เห็นจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใดเลย
ดังที่ได้กล่าวมาว่า ปัญหาของมหาวิทยาลัยไทยส่วนหนึ่งคือคุณภาพของอาจารย์ เนื่องจากการรับสมัครอาจารย์ของมหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่เต็มไปด้วยเส้นสายระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ทำให้ได้อาจารย์หรือผู้สอนที่ไร้ประสิทธิภาพ ประยุกต์งานวิชาการให้เข้ากับสังคมหรือชีวิตจริงไม่ได้ ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติเองก็มิได้ใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยมีสภาพไม่ต่างจากสถาบันต้มตุ๋นแห่งชาติเข้าไปทุกขณะ นอกเหนือไปจากระบบการเรียนการสอนแบบอำนาจนิยม ที่ครูอาจารย์ คือผู้มีอำนาจสูงสุด เว้นหรือละเลยที่จะให้นักเรียน นักศึกษาได้แสดงความเห็นแย้งหรือตอบโต้อาจารย์ได้ ประเด็นดังกล่าวนี้นับเป็นความล้าหลังทางการศึกษาของไทยที่สำคัญประเด็นหนึ่ง เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยของไทยต้องล้าหลังเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน นี้ไม่นับรวมถึงการเร่งผลิตบัณฑิต เร่งอัตราการเจริญเติบโตแบบปศุสัตว์ โดยหวังเงินค่าเทอมเป็นที่ตั้งหรือตัวแปร
จึงเห็นได้ว่า ระบบปาหี่กรรมการสภามหาวิทยาลัย หาได้มีความสำคัญแต่อย่างใดไม่ ดังนี้แล้วใครใคร่ที่จะลาออกก็ควรปล่อยให้ลาออกไป เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ต่างจากกาฝาก หรือเห็บวัว แถมประพฤติตัวเป็นอีลิทชนซะอีกด้วย วางตัวและวุฒิภาวะไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายหรือแผนของมหาวิทยาลัย
ถ้าพวกเขาไม่พร้อมในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินก็ไม่ควรทำงานส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพราะคนพวกนี้มีแต่จะทำให้สถาบันการศึกษาไทยลงเหว ขาดคุณภาพลงไปทุกที
หากคนพวกนี้ไม่พร้อมให้ประชาชนหรือองค์กรใดๆ ของรัฐตรวจสอบ การลาออก เดินออกไปจากมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันที่ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของนักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชน ก็ชอบด้วยเหตุผลแล้ว
จงอย่าไปเก็บเอาตัวเห็บมาวางบนตัววัวอีกเลย…