พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ผมเจอกับแคธลีน  ทาวเซนด์ เคนเนดี้ ในงานประชุมแคนดิเดทประธานาธิบดีพรรคเดโมแครต (Democratic National Convention) ตอนนั้น คือ “อัล กอร์” ที่สเต็ปเปิล เซ็นเตอร์ นครลอสแองเจลิส ปี 2000 ตอนนั้นเธอมาร่วมงาน DNC ผมเป็นสื่อมวลชนที่แอล.เอ. และเพิ่งรับบัตรนักข่าวจาก LAPD ได้ไม่นาน จึงเดินเข้าออกงานได้สบายบื๋อ

เคนเนดี้ในฐานะรองผู้ว่าการรัฐแมรี่แลนด์เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว ดูสดใสร่าเริง ยิ้มกว้าง และแน่นอนว่าเธอขึ้นเวทีในตอนสุดท้ายร่วมกับแคนดิเดทประธานาธิบดีอย่างอัล กอร์และสมาชิกพรรคเดโมแครตคนสำคัญหลายคน ก่อนที่งานดังกล่าวจะปิดตัวลง

บทสนทนาของผมกับแคธลีน เคนเนดี้มีไม่มากและสั้นๆ เพราะเกิดขึ้นในช่วงเวลาการประชุม DNC ทำให้เธอไม่มีเวลามากนักและพะวักพะวงการประชุม

ประการสำคัญเธอไม่ได้คิดว่าผมไปจากเมืองไทย เธอน่าจะคิดว่า ผมมาจากพื้นที่แอล.เอ. เช่นเดียวกับคำถามที่ผมตั้งต่อแนนซี่ เปลอสซี่ ผมพุ่งไปที่สิทธิและสถานะของชนกลุ่มน้อย ซึ่งก็คือคนต่างด้าวอย่างผมอย่างคนไทยทั่วไปที่เข้ามาอยู่ในอเมริกา

ก็คงเป็นคำถามและประเด็นพื้นๆ เหมือนเช่นที่คนทั่วไปที่นั่นสนนากัน เพราะตอนนั้นหรือแม้แต่ตอนนี้ ภาพลักษณ์ของพรรคเดโมแครตเป็นไปในทิศทางของการสนับสนุนชนกลุ่มน้อย (minority) ในฐานะที่อเมริกาเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายของการดำรงอยู่ของผู้คนนานาเชื้อชาติ ปีนั้น เรายังไม่รู้ว่า ไทยทาวน์ฮอลลีวูดจะออกหัวหรือออกก้อยกันแน่ ชัญชนิฐ มาเทอเรลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทยในแอล.เอ. (Thai CDC) ยังวิ่งวุ่น   ล็อบบี้ ซิตี้เคาน์ซิลแอล.เอ. และนายกเทศมนตรีแอล.เอ.เพื่อขออนุมัติ “ไทยทาวน์” อย่างเป็นทางการ เราไม่รู้ว่าอนาคตของศูนย์กลางคนไทยที่แห่งนี้จะเป็นอย่างไร (จนต่อมามันก็เกิดขึ้นจริง)

แคธลีนบอกผมว่าเธอเข้าใจหัวอกหัวใจชนกลุ่มน้อยดี และอเมริกาเป็นประเทศ/ดินแดนของชนกลุ่มน้อยนานาเผ่าพันธุ์ที่สามารถอยู่ร่วมกัน ความขัดแย้งด้านความคิดเป็นเรื่องธรรมดาและปกติสำหรับสังคมอเมริกัน แบบไม่ต้องก้าวข้าม มันเป็นความสวยงามอยู่แล้ว และแทบทุกคนในอเมริกาเป็นอิมมิแกรนท์ (ผู้อพยพ/ต่างด้าว) มาจากสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก นี่คือหัวใจทีเปิดกว้างของอเมริกัน แคธลีนผู้มาจากฝั่งตะวันออกเข้าใจ กลับซึมซับหัวอกหัวใจของปรัชญาอเมริกันยุคแรก ยุคก่อตั้งประเทศเป็นอย่างดีจากบางตอนของการสนทนาที่ผมจำได้

ผมตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเสียงโหวตของคนแคลิฟอร์เนีย มลรัฐริมฝั่งแปซิฟิกที่ตกไปอยู่กับเดโมแครตมานานหลายปี ปัญหาของรัฐนี้ คือปัญหาเศรษฐกิจ ตอนนั้นมันได้กลายเป็นรัฐล้มละลายด้วยซ้ำ รัฐมีรายจ่ายเกินตัว รายได้ไม่พอรายจ่าย แคธลีนแสดงอาการปริวิตกเล็กน้อยแค่นั้น เธอบอกว่าประชาชนจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกเขาเอง จากนโยบายของนักการเมืองทั้งจากท้องถิ่นและส่วนกลาง ก็คงเป็นอย่างเธอว่า สมัยการเลือกตั้งนั้น คนอเมริกันเทคะแนนเสียงให้รีพับลิกันมากกว่าเดโมแครต การเลือกตั้งกลาง (ทั่วประเทศ) โดนจอร์จ ดับเบิลยู บุช เอาไปกิน แต่ก็เฉือนอัล กอร์ไปแบบเฉียดฉิว จนศาลสูงต้องตัดสินคะแนนจากผลการลงคะแนนในรัฐฟลอริดาเป็นเครื่องชี้ ให้บุชชนะไปแบบคาใจผู้ชมจำนวนมากในช่วงปลายปี 2000

แคธลีน เป็นรุ่นหลาน คือเป็นหลานปู่คนโตสุดของโจเซฟ พี เคนเนดี้กับโรส เคนเนดี้, พ่อของแคธลีน คือโรเบิร์ต เคนเนดี้ เป็นลูกของโจเซฟ เคนเนดี้ ดังนั้น จอห์น เอฟ เคนเนดี้ หรือเจ.เอฟ.เค.ประธานาธิบดีของสหรัฐฯคนที่ 35 จึงมีศักดิ์เป็นอาของแคธลีน (JFK เป็นลูกของโจเซฟ)

สำหรับแคธลีนเธอทำงานในฐานะรองผู้ว่ารัฐแมรี่แลนด์จนถึงปี 2003 หลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่า เธอได้ลงเล่นการเมืองในการเมืองของอเมริกันอีกเลย ถ้าดูจากโปรไฟล์ของเธอในการเล่นการเมือง เธอมีประสบความล้มเหลวและประสบความสำเร็จคละเคล้ากันไป ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา ตอนที่เราสนทนากันเธอบอกกับผมเช่นนี้ ถึงแม้เธอเป็นสายเลือดของตระกูลการเมืองของอเมริกันก็มีสิทธิ์แพ้ได้เช่นเดียวกันกับนักการเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ทั่วไป นักการเมืองอเมริกันผูกขาดหลายได้ แต่ต้องเจ๋ง ทำการบ้านจริงๆ

การเมืองคือความไม่แน่นอน ตอนนั้นแคธลีนคาดหวังว่า เดโมแครตจะครองเสียงข้างมากในสภา แต่มันก็เพียงความหวัง พ็อพปูล่าโหวตไม่ช่วยให้ อัล กอร์ ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีต่อจากคลินตัน ในตอนนั้นสื่อมวลชนอเมริกันส่วนหนึ่งมองว่า อัล กอร์ ไม่มีลีลาการพูดที่ดีพอในช่วงการหาเสียง ลีลาของเขาค่อนข้างอืดอาด สู้ปฏิภาณไหวพริบแบบของคลินตันไม่ได้

ตอนนั้น สว.เท็ด เคนเนดี้ หรือ เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี้ แห่งแมสซาซูเสทท์อาของแคธลีนอีกคนหนึ่งร่วมขบวนการ DNC ที่แอล.เอ.อยู่ด้วย เสียดายผมไล่จับสว.เท็ดไม่ทัน เท็ดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเมืองให้หลานสาวของเขาคือแคธลีนที่รัฐแมรี่แลนด์แม้เขาจะอยู่อีกรัฐหนึ่งก็ตาม เท็ดเป็นนักการเมืองเดโมแครตผู้ยิ่งยง และมาจากตระกูลการเมืองดังในอเมริกาด้วยการผูกขาดการดำรงตำแหน่งสว.ของรัฐแมสสาซูเสทท์ยาวนานถึง 47 ปี จวบจนตลอดชีพของเขา กล่าวคือ เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่

ในความเห็นผม ไม่อาจกล่าวได้ว่า แคธลีนประสบความสำเร็จในทางงานการเมืองมากนัก แต่ก็ถือว่า เธอเล่นบทนักการเมืองได้สมศักดิ์ศรี สตีฟ รุสโซ ชาวรีพับลิกัน เพื่อนของผมที่อาร์ลิงตัน เวอร์จิเนียบอกว่า แคธลีนทำหน้าที่ได้ดีเยี่ยม โยดเฉพาะในช่วงหลังๆ ของชีวิตการเมืองของเธอ ทั้งสมาชิกเดโมแครตและรีพับลิกันคนสำคัญจำนวนไม่น้อยมีเธอเป็นศูนย์กลาง เธอทำหน้าที่คล้ายๆ ผู้ประสานผลประโยชน์ร่วมของทั้งสองพรรคการเมืองอเมริกันในหลายๆ ประเด็นขัดแย้ง

ก่อนหน้าที่สว.เอ็ดเวิร์ด ยังไม่เสียชีวิตออฟฟิศของเขาที่ดีซี (แคปปิตอลฮิลล์) เป็นสถานที่ล็อบบี้ของบรรดานักการเมืองอเมริกันจากทั่วประเทศ

เขียนมาด้วยความระลึกถึงอดีตรองผู้ว่าการรัฐแมรี่แลนด์ Kathleen Hartington Kennedy Townsend หลานสาว JFK ครั้งหนึ่งที่ผมเคยเจอเธอนานมาแล้ว ในช่วงที่การเมืองไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน

และขอให้ประเทศไทยจงโชคดี…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *