พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
สำนักข่าว Munchies/Vice ระบุว่า แม้ร้านอาหารเม็กซิกันและจีนอาจมีจำนวนมากกว่าร้านอาหารไทย แต่จำนวนร้านอาหารทั้งสองชาติก็สอดคล้องกับจำนวนประชากรเม็กซิกันในสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 36 ล้านคนและมีคนจีนอีกประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งข้อมูลของสถานทูตไทยในสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีชาวไทยอเมริกันอยู่เพียง 300,000 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนชาวเม็กซิกันอเมริกัน แต่ร้านอาหารไทยกลับมีประมาณ 5,350 ร้าน ส่วนร้านอาหารเม็กซิกันมีประมาณ 54,000 ร้าน แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนร้านอาหารไทยต่อประชากรชาวไทยมีมากกว่าถึง 10 เท่า (https://voicetv.co.th/read/HkCR2Dyjf)
คำถามคือ ทำไมร้านอาหารไทยในอเมริกาถึงได้มีจำนวนมากมายขนาดนี้ จากรายงานข่าวแหล่งเดียวกันที่ระบุว่า“ร้านอาหารไทยมีตั้งอยู่แทบทุกหัวถนนในนครนิวยอร์ก และยังมีร้านอาหารตั้งอยู่ทั่วสหรัฐฯ อีกด้วย” สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในอเมริกาแล้วคงต้องยอมรับว่า เป็นความจริง
ปัญหาต่อไปคือ เมื่อเรายอมรับว่าเป็นว่าเป็นความจริงแล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ เผอิญว่า ในรายงานข่าวเดียวกันไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดการดำเนินกิจการร้านอาหารไทยว่าเป็นอย่างไร หากเป็นการตั้งข้อสังเกตถึงจำนวนร้านอาหารไทยในอเมริกาที่มีจำนวนมากมายแทบทุกมุมถนน ซึ่งคนที่เคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกามาแล้วคงประจักษ์ด้วยตาตนเองเป็นอย่างดี
ผมอยากจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของเรื่อง/ประเด็นสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารไทยในอเมริกา และคิดว่ามีนัยสำคัญสัมพันธ์กับนโยบายของรัฐไทยและผลประโยชน์ของประเทศไทย ดังนี้ครับ (ความจริงก็เหมือนเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่) ที่น่าเศร้าคือ ไม่เคยมีหน่วยงานของเอกชนหรือของรัฐไทยให้ความสนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะ บทบาทและคุณค่าของธุรกิจร้านอาหารไทยในอเมริกากันอย่างจริงจังเลย
- วัตถุดิบ หมายถึง
วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือประกอบอาหารในครัวไทย เช่น พืช ผัก
เนื้อสัตว์ เป็นต้น
ส่วนหนึ่งเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นซึ่งหาได้จากตลาดในสหรัฐอเมริกาเอง
ขณะที่วัตถุดิบส่วนหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ผักบางประเภท
ผลิตภัณฑ์ปรุงรสบางชนิด เป็นต้น
ซึ่งนี่ย่อมหมายถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทย
ดังเมื่อครั้งหนึ่งเราเคยมีโครงการ “ครัวไทย ครัวโลก”
เพื่อสนับสนุนการส่งออกวัตถุดิบสำหรับป้อนร้านอาหารไทย
ในประเด็นนี้หน่วยงานของรัฐคือ
กระทรวงพาณิชย์ที่มีแขนขาอยู่ในสหรัฐอเมริกาย่อมทราบเป็นอย่างดี
- แรงงาน หมายรวมถึง ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานในร้านอาหาร ซึ่งในปัจจุบันแรงงานในร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แรงงานที่เป็นคนไทยเท่านั้น หากยังเป็นแรงงานหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะแรงงานพื้นฐานมีทักษะน้อยถึงไร้ทักษะอย่างแรงงานเม็กซิกันซึ่งในปัจจุบันมาทำงานในครัวไทยหรืองานบริการหน้าที่อื่นๆ กันมาก ที่สำคัญคือมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไทยนิยมจ้างแรงานเม็กซิกันมากขึ้น เพราะคิดว่ามีความอดทน สู้งานหนักมากกว่าแรงงานไทย
โดยในส่วนของแรงงานไทยนี้ยังแยกออกเป็น 2 ส่วนตามที่ทราบกันดี ก็คือ แรงงานไทยที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแรงงานงานเถื่อนเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในอเมริกาแบบไร้เอกสาร หรือที่เรียกกันว่า โรบินฮู๊ด และแน่นอนว่าเมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ก็สุ่มเสี่ยงที่จะมี “ปัญหาหลังร้าน” ได้ตลอดเวลา เช่น การกดขี่แรงงานหรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส ปัญหาการเอาเปรียบค่าแรง/ค่าจ้างตรงนี้ผิดกฎหมายอเมริกัน แต่เป็นขยะที่ถูกซุกไว้ใต้ผืนพรม แรงงานที่อยู่อย่างผิดกฎหมายแม้โดนเอาเปรียบก็เหมือนน้ำท่วมปากพูดไม่ออก ทั้งไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาให้ตัวเองยอย่างไร สถานกงสุล สถานทูตไทย ในอเมริกาทราบปัญหาดี แต่ก็ได้แค่ยืนดูตาปริบๆ เพราะคิดว่าไม่มีอำนาจที่จะเอื้อมไปถึง เจ้าทุกข์เองก็ไม่ร้องเรียน หน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศเหล่านี้จึงปล่อยให้เหตุการณ์ละเมิดแรงงานเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างซ้ำซาก เป็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดพยายามยามแก้ปัญหานี้กันเลย เพราะคิดว่าเป็นปัญหาโลกแตก
- ทุน หมายถึง
เงินลงทุนในการประกอบการร้านอาหารไทย
แบบอย่างของการช่วยเหลือด้านทุนต่อผู้ประกอบการร้านอาหารไทยที่ดี อย่างเช่น
การช่วยเหลือทุนแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารชาวมาเลเซียในอเมริกา
ที่นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นทุนที่จัดสรรโดยรัฐบาลมาเลเซีย
เมื่อหลายปีมาแล้ว
เม็ดเงินถูกกระจายไปทุกภาคส่วนแก่ร้านผู้ประกอบการร้านอาหารมาเลเซียนในอเมริกา
แต่ในส่วนของร้านอาหารไทย เราเคยมีการหารือถึงเรื่องนี้หลายปีมาแล้ว
น่าจะเป็นสมัยรัฐบาลทักษิณ ตามข้ออ้างของMunchies/Vice
ที่ว่า “รัฐบาล (ไทย)ก็ยังคงให้เงินสนับสนุนต่อไป
ธนาคารไทยอีกหลายแห่งยังได้ให้เงินกู้กับชาวไทยที่ต้องการเปิดร้านอาหารในต่างประเทศด้วย”
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่ารัฐบาลไทยยังมีโครงการนี้อยู่หรือเปล่า
เพราะหากผู้ประกอบการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์
ก็ไม่ได้แสดงนัยว่าเป็นการสนับสนุนโดยรัฐบาลแต่อย่างใด
หากเป็นการปล่อยกู้ให้ลูกค้าของธนาคารตามปกติเท่านั้นเอง
ซึ่งถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แท้จริงแล้ว
ลูกค้าหรือผู้ประกอบการร้านาอาหารไทย
ต้องได้เงินลงทุนที่กู้มาอย่างน้อยก็ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน
ในตอนนี้รัฐบาลไทยน่าจะอยู่เฉยๆ
มากกว่าคิดทำโครงการสนับสนุนหรือสร้างผู้ประกอบการร้านอาหารในต่างประเทศเหมือนเพื่อนบ้านของเราเช่นมาเลเซีย
- องค์ความรู้ หมายถึง
ความรู้เรื่องการทำหรือปรุงอาหารไทย
ที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการและแรงงาน
คือพ่อครัวแม่ครัวในร้านอาหาร ส่วนนี้ในปัจจุบันก็หายไปเฉยๆ
แทบไม่มีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐใดๆ เลย cooking class
ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกกล่าวถึงอย่างมากในอเมริกา โดยเฉพาะแคลิฟอร์เนีย
หายไปจากสารบบของทางการไทยเฉย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
อาจไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้
แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยควรถูกมองในฐานะสมบัติกลางของโลก กล่าวคือ
ไม่ควรมีอยู่ในหัวของคนไทยเท่านั้นหรือคิดว่า
คนไทยเท่านั้นที่ทำอาหารไทยได้ หากแต่ควรอยู่ในหัวของคนทั้งโลก
คนทั่วไปทั่วโลก สามารถเข้าถึงสูตรการทำอาหารไทยได้
เพราะโดยทางอ้อมแล้วไทยเราได้ประโยชน์จากการขายวัตถุดิบในการประกอบอาหารไทยส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
- การท่องเที่ยว หมายถึง การนำอาหารไทยเชื่อมโยงหรือผูกติดกับการท่องเที่ยวไทย ในเมื่อคนอเมริกันหรือคนยุโรปหรือที่อื่นใดในโลกรู้จักอาหารไทยนั่นหมายความว่าพวกเขาย่อมรู้จักประเทศไทยไปด้วยกลายๆ ก็ทำไมเราไม่เอาร้านอาหารไทยที่มีอยู่ทั่วทุกมุมถนนในอเมริกานั้นเอง เป็นแหล่งโปรโมทหรือหรือขายบริการท่องเที่ยวของไทยล่ะ รัฐบาลไทยปล่อยให้โอกาสแบบนี้สูญเสียไปได้อย่างไร การใช้ร้านอาหารไทยที่มีอยู่จำนวนมากในอเมริกาเป็นจุดขายการท่องเที่ยวนั้นมันเทียบไม่ได้เลยกับการที่รัฐบาลมีสำนักงานสาขาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่แอล.เอ.และนิวยอร์ค ที่นับวันในโลกดิจิตัลสำนักงานเหล่านี้จะไร้ค่าลงไปทุกที มิสู้หันมาใช้ร้านอาหารไทย 5000 กว่าร้านให้เป็นประโยชน์เต็มที่ดีกว่า ยุบไปเลยครับสำนักงานททท.ที่ว่า เพราะไม่คุ้มค่ากับการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ
สรุปแล้วรัฐบาลหรือหน่วยงานใดๆ ก็ตาม ยังไม่ควรภูมิใจกับข่าวของ Munchies/Vice ที่ว่านี้ หากควรตระหนักว่าร้านอาหารไทยในต่างแดนเช่นอเมริกายังมีปัญหาให้แก้ไขอยู่มากและรอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่สำคัญคือการหาช่องทางใช้ประโยชน์จากองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารไทยในอเมริกาให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ แรงงาน ร้านอาหารไทยมากกว่าอย่างอื่น รวมถึงผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศด้วย