
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ทำไมสถาบันสันติศึกษาไทยไม่กล้าพูดหรือแสดงความเห็นต่อปัญหาโรฮิงญา ปัญหาในพม่า ที่ทำเอานางอองซานซูจี ไปไม่เป็น และต้องเสียเครดิตการเป็นบุคคลสำคัญสากลด้านสิทธิมนุษยชนเอาดื้อๆ อย่างน้อยก็เครดิตจากรางวัลโนเบลที่เธอเคยได้รับจากยุโรปในช่วงก่อนหน้านี้ หลายคน หลายประเทศไม่พอใจอย่างยิ่งต่อท่าทีของนางซูจีในการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา
การนิ่งเงียบเหมือนเป่าสากต่อปัญหาความทุกข์ร้อนของผู้อพยพชาวโรฮิงญา จากรัฐยะไข่ในพม่า เป็นเครื่องแสดงว่าที่แท้แล้วสถาบันสันติศึกษาในไทยเป็นหน่วยงานตรรกะวิบัติ ปาหี่ เพียงเพื่อเอาตัวรอดในทางการเมืองเชิงองค์กรหรือสถาบันการศึกษา มีอคติ่ในประเด็นเชื้อชาติมากเพียงใด
เพราะสถาบันสันติศึกษาเป็นสถาบันวิชาการซึ่งควรพูดตรงๆ ได้มากกว่าสถาบันอื่นๆ นี้เองแสดงให้เห็นว่าสถาบันสันติศึกษาในไทยมีอาการต้มตุ๋นคนดูมากเพียงใด
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสันติศึกษา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อันเป็นสถาบันวิชาการพุทธศาสตร์ของรัฐไทย (ซึ่งกินเงินงบประมาณของรัฐหรือประชาชน) ถึงกับโหนกระแสขุนน้ำนางนอนฟีเวอร์ (เด็กติดถ้ำเชียงราย) จัดกิจกรรมลมหายใจสันติภาพ สร้างภาพสมาธิบำบัด และสมาธิครอบจักรวาลขึ้น หากสถาบันแห่งนี้ ในฐานะความเป็นสถาบันด้านพุทธศาสตร์เองก็ยังไม่เคยตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาเลย ได้แต่จงใจเลี่ยงบาลี เลี่ยงที่จะตอบคำถามต่อปัญหานี้
พวกเขาอาจคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่หรืออาจคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย หน้าที่ของยูเอ็น แม้แท้จริงแล้วสถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันหลักทางด้านวิชาการสันติศึกษาซึ่งควรตอบปัญหาในแง่ของหลักการสันติศึกษาสากลให้ชาวบ้านรู้ก็ตาม ไม่รวมถึงเหตุที่ว่า สถาบันแห่งนี้ยังเป็นสถาบันศึกษาที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาษีชาวบ้านทุกๆ ปีจากคุณและผม
ในแง่หลักการด้านสันติศึกษาเชิงหลักการ หรือวิชาการแล้วสถาบันการศึกษาเหล่านี้ควรชี้ชัดถึงปัญหาด้านสันติศึกษามากกว่าการเลือกที่จะไม่พูดถึง อุตริเลี่ยงบาลีไปเอ่ยอ้างถึงผลงานของพุทธทาส คานธี หรือแม้แต่แมนเดลา โดยไร้ซึ่งผลงานการปฏิบัติจริงของตนเอง เช่น การลงพื้นที่วิจัย ให้เห็นถึงสภาพปัญหา ยิ่งไม่ต้องพูดถึงปัญหาความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่สถาบันสันติศึกษาแนวพุทธศาสตร์แห่งนี้แทบไม่เคยเอ่ยถึงเอาเลย จึงอาจนับเป็นความล้มเหลวเชิงประจักษ์ที่ชาวไทยควรนำมาคิด วิเคราะห์ เพื่อประเมินบทบาทการทำงานของสถาบันแนวนี้เสียบ้าง ว่าเป็นองค์กรส่วนเกินในทางวิชาการอยู่หรือไม่?
ฤาบางทีสถาบันประเภทนี้ วางตนเสมือนอยู่สังคมยูโทเปีย ไม่รู้ร้อนหนาวของโลกภายนอกว่าเป็นอย่างไร เพราะแท้จริงแล้วโลกนี้ไม่ได้มีแค่การรบราฆ่าฟัน(สงคราม) กับสันติภาพ หากแต่สงครามในโลกยุคปัจจุบัน ยังหมายถึงความปากกัดตีนถีบในเรื่องเศรษฐกิจ สงครามชีวิต นี้คือสงครามในโลกสมัยใหม่ที่สถาบันสันติศึกษาพึงมีส่วนร่วมในการหาแสวงหาแนวทางเพื่อสร้างความปกติของโลกมากกว่าการสร้างวาทกรรมสวยงาม ดัดจริต บนหอคอยงาช้างดังที่แล้วมา เพราะนอกจากไร้ประโยชน์แล้ว มันยังสื่อด้วยว่าสถาบันวิชาการด้านสันติวิธีของท่านยังล้าหลังมากเพียงใด บุคลากรหรือคนทำงานยังขาด “วิสัยทัศน์แบบเส้นตรง”เพียงใด
การมีวิสัยทัศน์แบบเส้นตรงจะช่วยให้งานสันติศึกษามีความน่าเชื่อถือ น่าศรัทธาและมีความเป็นสากลมากขึ้น มากกว่าการมัวประดิษฐ์วาทกรรมสวยๆ แต่ไร้ประโยชน์พ่นใส่สังคม เช่น คำว่า “ลมหายใจสันติภาพ”เป็นต้น
และก็น่าแปลกที่สันติศึกษาวิชาการพุทธศาสตร์ของไทยมีท่าทีที่เอนไปข้างฝ่ายอำนาจนิยมเกือบเต็มตัว การที่จะให้เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน หรือราษฎรไทยตาดำๆ ก็ย่อมจะยากตามไปด้วย
ประสาอะไรกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา หากสถาบันสันติศึกษาคิดว่า สถาบันฯสามารถเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้จริงก็ควรส่งสัญญาณให้แน่ชัด ชัดเจนว่า เป็นกลางจริง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายอำนาจนิยม หรือรัฐเผด็จการ เพราะหากสันติศึกษาเลือกยืนข้างฝ่ายอำนาจนิยมก็แสดงว่าสันติศึกษาถอยห่างออกไกลจากสันติวิธีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ถ้าสันติศึกษายึดมั่นในหลักการสันติวิธีหรือสิทธิมนุษยชนก็ควรยึดมั่นให้ตลอดและเสมอเหมือนกันกับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา ทุกเพศทุกวัยมิใช่หรือ หรือคิดว่า ถ้ามิใช่คนพุทธแล้วมิใช่มนุษย์กระนั้นหรือ? เทียบเคียงแล้ว ร่องตรรกะควรตรงเสมอเหมือนกัน
ใช่หรือไม่? กล้าๆ หน่อยสันติศึกษา !!!