ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ thai labour in los angeles

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

“Red -Carpet Treatment ” เป็นโครงการให้ความสำคัญกับบรรดาแรงานฟิลิปปินส์ ของอดีตประธานาธิบดี กลอเรีย มากาพาแกล อาร์โรโย่ (Gloria Macapagal- Arroyo) ด้วยการปูพรมสีแดงเป็นทางยาวที่สนามบินนานาชาติมะนิลา โดยตระหนักว่าแรงงานที่ไปทำงานต่างแดนเป็นผู้เสียสละ และทำประโยชน์ให้กับชาติอย่างสูง นำรายได้เข้าประเทศในแต่ละปีหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่ารายได้จากสาขาธุรกิจใดๆในฟิลิปปินส์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานมากในอันดับต้นๆของโลก ทั้งมีการจัดการ เช่นการฝึกอบรม อย่างเป็นระบบ

รายงานของ เจสัน เดอ พาเริล (Jason De Parle) แห่งนิวยอร์คไทมส์ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาระบุถึง ยุคแห่งการกระจายแรงงานครั้งสำคัญ จากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่มั่งคั่ง ซึ่งขณะนี้รายได้หลักของหลายประเทศเหล่านั้น มาจากรายได้จากการขายแรงงานในต่างประเทศที่คนงานเหล่านั้นไปทำงานอยู่ อย่างเช่น รายได้จากแรงงานของคนศรีลังกา แซงหน้ารายได้จากการขายชา เป็นต้น แต่ท่ามกลางรายได้ที่เกิดขึ้นมหาศาลนั้น ความขมขื่นในครอบครัว และวิถีชีวิตก็เกิดขึ้นด้วย

“แรงงานไทยในอเมริกาขณะนี้มีปัญหาอย่างมาก เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใบทำงาน หรืออยู่อย่างผิดกฎหมาย อีก 69 เปอร์เซ็นต์อยู่อย่างไม่มีประกันสุขภาพใดๆทั้งสิ้น เป็นสภาพที่เครียดและมีแรงกดดันอย่างยิ่ง พวกเขาต้องทำงานกันวันละไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง พ่อแม่ไม่ก็มีเวลาให้ลูก ” ชัญชนิฐ มาเทอเรลล์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai CDC) กล่าวกับผู้เขียนตอนหนึ่ง

“ตอนนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะคองเกรสกำลังเอาจริงเอาจังกับต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ทั้งพรรครีพับลิกัน และเดโมแครตรวมเป็นเสียเดียวกัน คือ “ไม่เอา” และต่อต้านคนต่างด้าวเหล่านี้ ความหวังเรื่องการนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายเป็นเรื่องยาก การยื่นเรื่องต่างๆกับทางการอเมริกันก็จะยากมากขึ้น มีทางเดียว ต้องเป็นเรื่องใหญ่และวิกฤตจริงๆเหมือนที่ศูนย์ส่งเสริมชาวไทยเคยช่วยแรงงานทาสในโรงานทอผ้า ที่เมืองเอลมอนเต้(ชานเมืองแอล.เอ.) ” เธอ กล่าว

สภาพการณ์ดังกล่าว ชัญชนิฐ กล่าวว่า หน่วยงานราชการไทยในอเมริกา ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าเฝ้าดู ไม่กล้าเข้ายุ่งเกี่ยว หรือช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งเพื่อต้องการรักษาหน้าของประเทศ โดยวิถีการทูต ในทำนองเป็นเรื่องภายในประเทศของอเมริกา
งานวิจัยของของศูนย์ส่งเสริมชาวไทย เมื่อไม่นานมานี้แบ่งคนไทยในอเมริกาออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มคนไทยที่เข้ามาตั้งแต่ปี 1950-1965 เป็นการเข้าอเมริกาของคนไทยยุคแรกๆ ส่วนใหญ่มาศึกษา และกลับเมืองไทยประกอบอาชีพในด้านต่างๆ อาจเรียกได้ว่า พวกแทคโนแครต(Technocrats) เช่น รับราชการตามกระทรวงต่างๆ
กลุ่มที่สอง เป็นการเข้ามาอเมริกาของคนไทยยุคกลาง หลังจากกลุ่มที่หนึ่ง ส่วนใหญ่เดินทางมาเพื่อการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่จะทำงานเลี้ยงตัวหรือหาค่าเรียนเองบางครั้ง พร้อมๆกับรับเงินจากทางบ้านที่เมืองไทยด้วย นักเรียนทุนรัฐบาลหรือทุนประเภทอื่นๆก็จัดอยู่ในประเภทนี้
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด เดินทางเข้าอเมริกานับแต่ปี 1980 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มาดิ้นรนหางาน ไม่ค่อยมีการศึกษา ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ไม่เข้าใน และสนใจในเรื่องสิทธิของตัวเอง ได้แต่ทำงานไปวันๆหรือทำงานไปเรื่อยๆ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ อยู่อย่างผิดกฎหมาย และนับวันจะเป็นปัญหามากขึ้น

ชัญชนิฐ เล่าต่อว่า เธอรู้สึกกังวลใจอย่างมาก ต่อคนไทยในกลุ่มที่สาม เพราะโดนข่มเหงจาก นายจ้างในหลายรูปแบบ ทั้งไม่ทราบเรื่องสิทธิของตัวเอง เช่น การหาทนายกรณีถูกเนรเทศกลับเมืองไทย

“ตอนนี้เป็นเรื่องยากมาก กฎหมายออกมาบังคับอย่างเข้มงวดกับคนต่างด้าวมากขึ้น พวกที่ถูกเนรเทศ แม้มีสิทธิ์หาทนาย แต่หากไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรงจริงจนทางการอเมริกันรู้สึกว่าเป็นการทารุณ แบบทาส ต่อแรงงาน หรือมีลูก มีสามีภรรยาที่เป็นพลเมืองอเมริกันอยู่ที่อเมริกา การต่อสู้ทางด้านกฎหมายก็ใช้ไม่ได้ผล” ผอ.ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย ลอสแองเจลิส กล่าว
เมื่อเรื่องเป็นไปในทำนองนี้ คนไทยที่อยู่ใต้ดินหรือเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็เกิดความกลัว หาวิธีการแก้ อย่างเช่น การจ้างแต่งงานกับอเมริกันซิติเซ่น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายปี คนไทยจำนวนมากถูกโกง จากวิธีการดังกล่าว นอกเหนือจากที่บางครั้งการแต่งงานนำไปสู่การบังคับขู่เข็ญ ของฝ่ายที่ได้เปรียบกว่า ที่มีให้เห็นจำนวนมาก

ชุมชนไทยในอเมริกามีช่องโหว่อย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ อย่างเช่น ลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม สถานะของคนไทยและชุมชนไทยในอเมริกาไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ทำให้คุณภาพชีวิตต่ำกว่าคนเชื้อชาติอื่นที่เข้ามาในฐานะผู้อพยพที่ได้สิทธิหลายอย่างจากรัฐบาลอเมริกัน นอกจากนี้ในสถานะของการเป็นผู้อพยพของคนเหล่านั้นทำให้ไม่มีทางเลือกในการกลับประเทศแม่มากนัก จึงต้องพัฒนาชุมชนตัวเองที่อเมริกาก่อน ไม่เหมือนกับคนไทย ซึ่งมีทางเลือกที่จะกลับเมืองไทย ทำให้ไม่มีพลังจูงใจต่อการพัฒนาชุมชนที่อเมริกามากนัก

ที่ผ่านมาศูนย์ฯ ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือชุมชนในหลายเรื่อง สามารถช่วยเหลือคนไทยในเขตลอสแองเจลิสเคาน์ตี้ ในเรื่องต่างๆไม่ต่ำกว่า 300 คน จากหลายกรณี ขณะที่เวลานี้ยังไม่มีหน่วยงานไม่หวังผลกำไร (Nonprofit Organization)หน่วยงานใดที่ช่วยเหลือคนไทยโดยตรงเหมือนศูนย์แห่งนี้

คนไทยส่วนใหญ่ อาศัยอยู่ทางแถบแคลิฟอร์เนียภาคใต้ โดยเฉพาะแอล.เอ.มีคนไทยไม่ต่ำกว่า 350,000 คน

ขณะเดียวกันเมื่อมองความเป็นไปของชุมชนไทยในอเมริกา ที่ผ่านมา และกำลังเป็นไป กิจกรรมในเชิงการช่วยเหลือชุมชนไทยของไทยด้วยกันในอเมริกากลับน้อยมาก หลายคนที่มีกำลังในการช่วยเหลือก็หันไป “ลงทุนช่วยเหลือ” ผ่านการจัดผ่านงานบอลล์ หรืองานปาร์ตี้ หารายได้เพื่อคนไทยในเมืองไทยมากกว่า เพราะคิดว่าตัวเองจะต้องกลับไปอยู่ หรือเกษียณที่เมืองไทยช่วงบั้นปลาย

“แต่คนไทยที่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองไทยในช่วงรีไทร์เหล่านั้น ส่วนใหญ่กลับมาอยู่ที่อเมริกา เพราะพวกเขามีลูกมีหลานที่นี่ สมาชิกครอบครัวก็อยู่ที่อเมริกา แต่ไม่ค่อยมีใครลงลงทุนเพื่อชุมชนไทยที่ใกล้ตัว” ชัญชนิฐกล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *