พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
เหตุการณ์ต่างๆเกี่ยวกับชุมชนไทยในอเมริกาได้ถูกเปิดเผยผ่านสื่อ ทั้งสื่อไทยในอเมริกาเอง และผ่านสื่อภายนอกในรูปแบบข่าวสังคมมากกว่ารูปแบบอย่างอื่น โดยเน้นความเคลื่อนไหว และกิจกรรมของชุมชน อย่างเช่น วัด หรืองานปาร์ตี้ตามร้านอาหาร หรือตามสถานบันเทิงต่างๆ หากข้อหลงลืมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอเมริกา
ระบบการจัดการของสื่อในอเมริกาเป็นไปในลักษณะสื่อของใคร ก็ของคนนั้น มีไว้สนองผลประโยชน์ของตนและของกลุ่มตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น การโฆษณาธุรกิจในเครือของตัวเอง ยังไม่เป็นอันหวังถึงลักษณาการแห่งความเป็นมืออาชีพ ขณะที่สื่อของชาติอื่นดังเช่น จีน เวียดนาม และเกาหลีก้าวไปไกลแล้วมากแล้วขนาดใช้ระบบการยิงสัญญาณในระบบพิมพ์ผ่านดาวเทียม ข่าวและข้อมูลจากภายในของแต่ประเทศเหล่านั้นถูกส่งไปพิมพ์ตามเมืองใหญ่ต่างๆที่มีชุมชนขนาดใหญ่ของพวกเขาอยู่ที่นั่น(อเมริกา) โดยผนวกกับข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายอเมริกันและข่าวที่เกิดขึ้นในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ

นอกจากนี้ ข้อมูล ข่าวสารจากอเมริกา ยังถูกตีกลับไปยังประเทศแม่อีกด้วย อย่างเช่น ชุมชนเกาหลี ซึ่งการดำเนินงานของสื่อค่อนข้างอิสระกว่าหลายประเทศ
ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาบุคลากรทางการข่าวอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เช่นการอบรมให้ความรู้ เพิ่มทักษะ ทั้งจากสถาบันการศึกษาในเขตที่สื่อตั้งอยู่ รวมทั้งการฝึกงานร่วมกับสื่อฝ่ายอเมริกัน

ระบบดังกล่าวนับเป็นการผนึกข้อมูลของแต่ละชุมชนในแต่ละประเทศ กับข้อมูลของชุมชนของพวกเขาในอเมริกา ซึ่งจะเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลของการพัฒนาชุมชนทั้งสองที่ ทั้งสองประเทศ ในทำนองมีอะไรเกิดขึ้นบ้างทั้งที่โน่นและที่นี่ ตามด้วยการแก้ปัญหาร่วมกันในแบบทวิภาค

ไม่เหมือนสื่อของไทย ที่ส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์หรือทีวีที่เมืองไทยมานำเสนอ ข่าวในอเมริกาที่เกี่ยวเนื่องและกระทบต่อคนไทยและชุมชนไทย รวมทั้งชุมชนต่างด้าวอื่นๆ กลับไม่มีการให้ความสำคัญมากพอ เช่น ข่าวเกี่ยวข้องด้านกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่า จะเป็นกฎหมายต่างด้าว(Immigration Laws) หรือกฎหมายอื่นๆ ไม่ได้ถูกติดตามและนำเสนออย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งยังไม่มีการแสวงหาข่าว และข้อมูลเอง หากแต่รอข้อมูลจากสื่ออื่นในอเมริกา และอีกส่วนหนึ่งรอข้อมูลจากสื่อต่างๆในเมืองไทย ที่จะนำเสนอออกมาก่อน
ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า ข้อมูลที่นำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยที่อเมริกา ที่เป็นข่าวและบทความจากเมืองไทยบางชิ้นได้ขออนุญาต หรือหารือในเรื่องลิขสิทธิ์จากเจ้าของ สำหรับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่หรือไม่

สื่อสิ่งพิมพ์ไทยในอเมริกาที่ออกหลายสิบเจ้า ขาดความเป็นปึกแผ่นและเอกภาพ ไม่สามารถนำเสนอความเป็นจริงอย่างมืออาชีพ ส่วนใหญ่ผูกติดกับหน่วยงานราชการ อย่างสถานกงสุล สถานทูต หรือหน่วยงานวิสาหกิจเสียเป็นส่วนใหญ่ ขาดการวิพากษ์ชุมชน ระบบ และวัฒนธรรมทั้งไทยและอเมริกันในเชิงลึก

เป็นความจริงที่ว่า ในช่วง 20-30 ปี ที่ผ่านมาชุมชนไทยในอเมริกา เมื่อเทียบกับชุมชนเอเชียนอื่นๆ ยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน คนไทยที่อาศัยในชุมชนได้รับแรงกดดันไม่มากก็น้อยจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการทำมาหากิน ส่วนใหญ่ทำงานกันมากกว่า 10-12 ชั่วโมงต่อวัน หลายคนทำงานวันละ16 ชั่วโมง

ตามรายงานของศูนย์ส่งเสริมชาวไทย ซึ่งมีสำนักงานที่ตั้งที่ นครลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนียภาคใต้ สื่อไม่เพียงยังไม่สะท้อนข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ในชุมชนไทยที่มากพอ หากยังเบนประเด็นด้วยการนำเสนอกิจกรรมโฆษณาชวนเชื่อของภาครัฐเสียมากกว่าอย่างอื่น การเข้าถึงแหล่งข้อมูลในอเมริกาด้วยตัวเองยังมีน้อยมาก

ในสภาคองเกรสมีนักข่าวจากหลายสำนักข่าวต่างประเทศประจำ แต่ไม่มีนักข่าวไทยประจำรายงานความเคลื่อนไหวของระบบและบุคคลทางการเมืองอเมริกัน
ไม่นับรวมปัญหาของสื่อเองที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับที่มาของรายได้ ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองจากการขายข่าว หรือข้อมูลล้วนๆ

เมื่อเร็วๆนี้ มีการเปิดตัวของสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ทั้งจากเมืองไทย และจากอเมริกา(แคลิฟอร์เนีย)เอง แต่ก็ยังขาดการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชุมชนไทยในอเมริกาในภาพรวม ข้อมูลที่นำเสนอ ในบทสัมภาษณ์ และรายงาน ไม่กว้างพอ ยังเป็นกลุ่มเป็นพวก เพราะคนที่นำเสนอข่าวหรือบทรายงานเป็นคนนอก มองจากนอกพื้นที่ ไม่สัมผัสกับวัฒนธรรมเนื้อแท้ของชุมชนไทยในอเมริกา

อาจถูกต้องที่ “ความเป็นกลาง”ของสื่อในความเป็นจริงย่อมไม่มี แต่อย่างน้อย “ความเป็นธรรม”ของสื่อย่อมต้องมีบ้าง นั่นคือ การรายงานตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น!
ขณะเดียวกันบนสถานการณ์เดียวกันนั้น ต้องยอมรับความอ่อนด้อยเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของชุมชนไทยในอเมริกา ในเมื่อส่วนใหญ่ต้องทำงานแบบหาเช้ากินค่ำ เวลาที่จะไตร่ตรองที่มาที่ไปของข้อมูลข่าวสารย่อมมีน้อย ทั้งพื้นฐานของแต่ละคนเองก็ไม่เหมือนกัน
ในยุคปัจจุบันที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานไทยไหลเข้าอเมริกากันจำนวนมากกว่ายุคใด ในยุคที่กระทั่งหน่วยงานราชการไทยเข้าไม่ถึง การนำเสนอเรื่องราวอันเป็นข้อเท็จจริงของสื่อย่อมเป็นสิ่งสำคัญ

อเมริกานับเป็นแหล่งข้อมูลที่มีพลัง การจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องจัดการอย่างเข้าใจ รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับแหล่งข้อมูล รู้ชัดเจนในเงื่อนไขด้านกฎหมายและวัฒนธรรมอเมริกันในระดับที่ดีพอสมควร ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครก็ตามจะเปิดหนังสือพิมพ์ หรือสถานีโทรทัศน์ อย่างไม่แคร์ต่อความรู้พื้นฐาน และระบบจรรยาบรรณแล้วอ้างว่า “ตัวเองเป็นสื่อ”ก็หาได้ไม่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *