ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ thai labour in Los Angeles


พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
เมื่อ ชัญชนิฐ มาเทอเรลล์ กำลังศึกษาที่ยู.ซี.แอล.เอ.หรือ University of California Los Angeles ในคณะรัฐศาตร์เธอให้ความสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปของชุมชนเอเชียนในเขต ลอสแองเจลิส เคาน์ตี้ โดยได้ทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกับองค์กรไม่หวังผลกำไร(Nonprofit Organization) ของชุมชนไทย และองค์กรไม่หวังผลกำไรของชุมชนเอเชียนอื่นๆ

ช้ญชนิฐ มาร์เทอร์เรล
ผอ.ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย (Thai CDC) นครลอสแองเจลิส

นอกเหนือจากกิจกรรมขององค์กรนักเรียนไทยในเขตแอล.เอ.แล้ว ความสนใจของชัญชนิฐ นำไปสู่การเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนเอเชียนโดยเฉพาะชุมชนไทยที่เธอมีสายเลือดอยู่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากจากเมืองไทยมาตั้งแต่อายุยังน้อย ความรู้สึกในขณะเป็นนักศึกษายู.ซี.แอล.เอ. เต็มไปด้วยความห่วงใยต่อชุมชนไทยในอเมริกา ซึ่งเธอทราบดีหลังจากที่ไปทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเพื่อนเอเชียนและเพื่อนคนไทยที่แอล.เอ.ว่า ชุมชนไทยในอเมริกา โดยเฉพาะทางเขตแอล.เอ.มีปัญหาหลายอย่าง รอการช่วยเหลือและแก้ไข โดยเฉพาะการต้องการความช่วยเหลือจากคนไทยรุ่นใหม่ ที่สามารถสื่อกับอเมริกันได้อย่างไม่ขัดเขิน

ทั้งหมดเป็นสาเหตุให้เมื่อปี 1994 ชัญชนิฐ ดำเนินการก่อตั้งศูนย์ส่งเสริมชาวไทย หรือ Thai Community Development Center เรียกย่อว่า Thai CDC องค์กรไม่หวังผลกำไร วัตถุประสงค์ คือทำงานเพื่อชุมชนไทยในหลายประเด็น โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมและเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ด้วยตระหนักว่า ยังมีขยะอีกมากที่ถูกซุกไว้ใต้ผืนพรม เพราะลำพังรอหน่วยงานราชการไทยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเป็นอันหวังผลได้ยาก

ทั้งโดยปรัชญาการทำงานที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานไม่หวังผลกำไรของเธอกับหน่วยงานราชการไทย อย่างเช่น สถานทูต หรือสถานกงสุล นอกเหนือไปจากปัญหาด้านข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ทำให้เกิดข้อจำกัดกับหน่วยงานราชการไทย ขณะที่เธอเองเป็นคนท้องถิ่น มีความคล่องตัวในการทำงานมากกว่า

การมองปัญหา และวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ทำให้บางครั้งชัญชนิฐ มีความเห็นไม่ลงรอยกับทางการไทย ซึ่งหมายถึงรัฐบาลไทย ดังเหตุการณ์เมื่อปี 2000 และ 2001 ที่รัฐบาลไทยต้องการให้ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย ในฐานะผู้ดูแล ส่งกลับดช.ภานุพงศ์ ไขศรี หรือ “น้องก็อต” อายุ 4 ขวบ ไปยังประเทศไทย หลังจากผู้หญิงไทยสองคนที่พา “น้องก็อต” เข้าอเมริกา ถูกทางการอเมริกันจับกุมที่สนามบินแอล.เอ.เอ็กซ์. เนื่องจากไม่ใช่พ่อแม่ของเด็ก พร้อมตั้งข้อหาลักลอบพาเด็กเพื่อเป็นเครื่องมือบังหน้าอาชีพโสเภณีในภายหลังที่มีการตรวจสอบแบ็คกราวด์ของผู้หญิงทั้งสอง

“น้องก็อต” ที่ถูกเช่ามาจากแม่ที่เมืองไทย ถูกตรวจพบทีหลังว่า ติดเชื้อเอชไอวี(เอดส์) รัฐบาลไทยประสานงานกับสถานกงสุลไทย ที่แอล.เอ.ให้ส่งตัวกลับ แต่ชัญชนิฐไม่ยอม ได้ต่อสู้ร่วมกับองค์กรและทนายสิทธิมนุษยชนในอเมริกาจนเด็กไม่ต้องกลับไทยในที่สุด ด้วยเหตุผล คือ เด็กถูกเช่ามาจากเมืองไทย และแม่ของเด็กมีประวัติที่เลวร้าย อย่างเช่น เคยเป็นโสเภณี เคยค้าเฮโรอีน และถูกจำคุก

ก่อนหน้านั้นเมื่อปี 1995 ชัญชนิฐ ร่วมกับเจ้าหน้าที่อเมริกันที่เกี่ยวข้องทางด้านแรงงาน ตำรวจ และอิมมิเกรชั่น (ตรวจคนเข้าเมือง-ตม.)เข้าทลายโรงงานทอผ้าของคนไทย ที่เมือง อัล มอนเต้ ในเขตลอส แองเจลิส เคาน์ตี้ ปลดปล่อยแรงงานไทยที่ถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส คดีดังกล่าวถูกนำขึ้นศาล เจ้าของกิจการโรงทอถูกสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย แรงงานผู้หญิงไทยเหล่านั้นได้สิทธิเป็นผู้มีถิ่นฐานถาวร(กรีนการ์ด)ในอเมริกา

“ขยะที่ถูกซุกไว้ใต้ผืนพรม” ทำให้ปัญหาหลายอย่างของชุมชนไทยในอเมริกาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด เสมือนทุกอย่างยังคงไปได้สวยงาม คนไทยในเมืองไทย และรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้รับทราบปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยในอเมริกา
อเมริกาเป็นภาพที่สวยงาม หากให้หน่วยงานของรัฐบาลไทยที่อเมริกาอธิบายก็ย่อมออกมาอย่างนั้นเสมอ เพียงแขกวีไอพี เจ้าหน้าที่ระดับสูง หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เป็นบุคคลที่พวกเขาในฐานะตัวแทนของรัฐบาล ต้องคอยต้อนรับและป้อนข้อมูลอันสวยหรูในการเดินทางเยือนอเมริกาแต่ละครั้ง

ศูนย์ส่งเสริมชาวไทย เป็นหนึ่งในหลายองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ช่วยเหลือชุมชนไทย และชัญชนิฐ ในฐานะคนไทยรุ่นใหม่ผู้เติบโตที่อเมริกา สามารถกลมกลืนกับอเมริกันชนได้เป็นอย่างดี พัฒนาการจากความสนใจต่อการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน มีอีกหลายเรื่องที่องค์กรของเธอห้ความช่วยเหลือต่อชุมชนไทยในระนาบลึก ทั้งเกี่ยวพันกับข้อกฎหมาย และความเป็นอยู่ของคนไทยในเขตแอล.เอ.

ขณะเดียวกันสายสัมพันธ์ของชัญชนิฐกับนักการเมืองท้องถิ่นก็มีส่วนช่วยในเรื่องการอำนวยความสะดวกสำหรับการประสานและล็อบบี้ทำงานใหญ่อย่าง การจัดตั้งไทยทาวน์ ซึ่งผ่านการอนุมัติจากซิตี้ เคาน์ซิล (สภาเมือง)ของเมืองแอล.เอ.ในปี 1999 “ไทยทาวน์” ตั้งอยู่บนถนนฮอลลีวูดตะวันออก (East Hollywood Blvd,.) เป็นแหล่งรวมหรือศูนย์กลางของคนไทยและธุรกิจของคนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในอเมริกา ขณะที่ฮอลลีวูดเพิ่งผ่านการอนุมัติจากสภาของรัฐแคลิฟอร์เนีย(State Assembly) ที่มีผู้ว่าการรัฐฯลงนาม ในร่างกฎหมาย 588 (Bill 588 )ให้เป็น “เขตพิเศษ” ของซิตี้ ออฟ ลอสแองเจลิส เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2006

ปี 2005 ชัญชนิฐ ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการด้านวางผังเมืองส่วนกลางของเมืองแอล.เอ. แต่งตั้งโดยเมเยอร์ (นายกเทศมนตรี) แอล.เอ. แอนโตนิโอ วิลลาไรโกซา (Antonio Villaraigosa)

ชุมชนไทยที่แอล.เอ.นั้นใหญ่มากอย่างไม่สามารถประมาณการถึงจำนวนคนไทยได้ เป็นแหล่งเริ่มต้น ของคนไทยในทุกระดับ ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งปัญหาที่สำคัญเช่นเดียวกัน
จากอดีตเมื่อหลายปีที่ผ่านมา การเติบโตของชุมชนไทยทางฟากตะวันตกของอเมริกา ที่มีแอล.เอ.เป็นฐานกระจายนั้น หาได้รับการเหลียวแล และตรวจตราอย่างถ้วนถี่จากหน่วยงานภาคราชการของไทยแต่อย่างใดไม่ ข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการต่างประเทศ หรือกระทรวงอื่น กระทั่งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ย้ายมา แล้วผ่านไปหลายรุ่น หาได้เพิ่มศักยภาพในเชิงผลิตผลมวลรวม ให้เห็นเป็น “รูปธรรม”ไม่

“รูปธรรม” ดังกล่าว หมายถึงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนไทย โดยเฉพาะแรงงานไทยในอเมริกา ซึ่งมีความสำคัญต่อความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาไม่เคยมีการศึกษา หรือวิจัยเรื่องนี้มาก่อน ขณะเดียวกัน “รูปธรรม” ยังหมายถึงการเข้าถึงปัญหาที่คนไทยหรือแรงงานไทยประสบ และหาทางแก้ไข

นอกจากนี้ยังหมายถึง การที่หน่วยงานตัวแทนของรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนชุมชนไทยในอเมริกา ด้วยการให้ความสำคัญกับแรงงานไทย และผู้ประกอบการ นำเสนอข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัดให้ได้รับทราบอย่างเป็นการเป็นงาน

ในเมื่อชุมชนเชื้อชาติเอเชียนอื่นๆในอเมริกาก้าวเลยชุมชนไทยไปไกลแล้ว ดังชุมชนของอินเดีย ของจีน ของเวียดนาม หรือของเกาหลี เฉพาะที่ฟิลิปปินส์นั้น รัฐบาลของประเทศนี้ได้จัดทำโครงการที่เรียกว่า the Red Carpet for Filipinos หรือ Filipinos ’s Red Carpet ซึ่งมีบทบาทเชิงสร้างสรรต่อบรรดาแรงงานจากอเมริกาเป็นอย่างสูง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *