พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
สนามบินพัทลุงยังไม่สร้าง : ภายหลังที่ผมได้เขียนบทความลงใน ประชาไท ว่าด้วยความจำเป็นที่ไทยต้องมีสนามบินขนาดเล็ก (https://prachatai.com/journal/2018/12/80254) ไปก่อนหน้านี้ มีปฏิกิริยาตอบกลับมาถึงตัวผู้เขียนจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนั้นมุ่งไปที่การสร้างสนามบินของจังหวัดพัทลุง ส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องของสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวพัทลุง ส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องของประชาชนชาวพัทลุง เนื่องจากต้องการมีสนามบินใกล้บ้าน ขณะเดียวกันก็มีส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย เท่าที่ประมวลส่วนที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานภาคราชการ เช่นกรมการบินพลเรือน การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็นต้น

เท่าที่ผมพอทราบข้อมูล ก็คือ ในสมัยรัฐบาลคสช. ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ได้ทำหนังสือแจ้งความจำนงค์ขอให้มีการก่อสร้างสนามบินไปยัง กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุง และทางกรมท่าอากาศยานได้แจ้งให้ทางจังหวัดทราบว่า ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทในการสร้างสนามบินแห่งใหม่ พร้อมทั้งระบุว่า จังหวัดพัทลุงอยู่ภายในรัศมีวงรอบของสนามบินหาดใหญ่ และสนามบินตรัง โดยการเดินทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร (https://www.prachachat.net/local-economy/news-370830)

จะเห็นการถูกปฎิเสธดังกล่าว ก็ด้วยสาเหตุจากการมองว่า จังหวัดพัทลุงไม่มีศักยภาพทางด้านธุรกิจการบินมากพอ คือ มีคนโดยสารเครื่องบินน้อย ประกอบกับรอบจังหวัดพัทลุงเองมีสนามบินรายรอบถึง 3 สนามบิน ได้แก่ สนามบินตรัง สนามบินหาดใหญ่และสนามบินนครศรีธรรมราช อ้างว่าคนพัทลุงสามารถเดินทางไปขึ้นเครื่องยังสนามบินดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย

แม้ นายสิทธิชัย ลาภานุพัฒนกุล เจ้าของโรงแรมชัยคณาธานี จ.พัทลุง ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง และคณะกรรมการขับเคลื่อนการก่อสร้างสนามบินจังหวัดพัทลุง จะบอกว่า ขณะนี้มี 3 บริษัทจากต่างประเทศ ทั้งบรูไน อังกฤษ และจีน เสนอตัวเข้ามาลงทุนโครงการก่อสร้างสนามบินพัทลุงอย่างครบวงจร ทั้งโครงสร้างสนามบิน สถานที่อบรมฝึกสอนการบิน ศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ศูนย์ฝึกอบรมแอร์โฮสเตส พร้อมโรงแรม สนามกอล์ฟ เป็นต้น การก่อสร้างจะดำเนินการบนที่ดินของกรมธนารักษ์ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง บนพื้นที่ประมาณเกือบ 1,500 ไร่ บริเวณถนนเลียบทะเลสาบสงขลา

ก่อนหน้านี้ จังหวัดพัทลุงได้เคยสำรวจข้อมูลการเดินทางพบว่าชาวพัทลุงเดินทางด้วยเครื่องบินเฉลี่ยปีละ 98,697 คน หรือเดือนละ 8,223 คน หรือวันละ 273 คน โดยใช้บริการสนามบิน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานตรัง รองลงมาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ และท่าอากาศยานนครศรีธรรมรา (https://www.prachachat.net/local-economy/news-370830)

ที่จริงในเรื่องการสร้างสนามบินนี้ ผมไม่อยากให้มองแค่กรณีของจังหวัดพัทลุงเท่านั้น อยากจะให้มองภาพรวมของการสร้างสนามขนาดกลางถึงเล็กทั่วประเทศ (หมายถึงการสร้างสนามบินในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศด้วย) เพื่อรองรับธุรกิจการบินหรือการบินพาณิชย์ในทศวรรษหน้า พัฒนาการจะเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา ขณะนี้เราคุ้นเคยกับการบินพาณิชย์แบบนี้ แบบเดิมๆ แต่รูปแบบการบินพาณิชย์ในอีก 10 ปีหรืออีก 20 ปี ข้างหน้า เราอาจจินตนาการไม่ออก ตอนนี้ขอให้มองไปที่ธุรกิจการบินของประเทศที่ก้่าวหน้าทางธุรกิจการบินอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ผมเองเคยอยู่สหรัฐอเมริกามาก่อน จึงค่อนข้างคุ้นเคยกับระบบการบินของสหรัฐอเมริกาครับ การบินพาณิชย์ของที่นั่น ประกอบด้่วยสนามบินหลัก สนามบินรองจำนวนมากแม้แต่อยู่ในเมืองหรือในเค้าน์ตี้เดียวกัน กล่าวคือมีทั้งแบบสนามบินที่ลงเครื่องขนาดใหญ่และเครื่องเอกชน (Private jet) ขนาดเล็ก ซึ่งประการหลังนี้ผมว่าเมืองไทยรัฐบาลไทยยังมองถึงเรื่องนี้น้อย นี่คือการลงทุนเพื่อหวังผลในระยะยาวครับ อย่ามองสั้นแค่ปีสองปีหรือสี่ห้าปีเท่านั้น หากต้องมองอนาคต 10 ปีขึ้นไป

ถ้าท่านอ่านบทความในประชาไทของผมคงจะเห็นว่าผมสนับสนุนให้มีการสร้างสนามบินขนาดเล็กทั่วประเทศ โดยนัยนี้กรุงเทพ สุวรรณภูมิหรือดอนเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นสนามบินหลักจุดผ่องถ่ายผู้โดยสารในประเทศอีกต่อไป เราจะยกสนามบินในต่างจังหวัดขึ้นเป็น“สนามบินที่เท่าเทียมกัน” แน่นอนล่ะว่า กรุงเทพเป็นเมืองใหญ่มีผู้คนจำนวนมากเราปฏิเสธเป้าหมายหรือจุดหมายการบินไม่ได้ เอาเป็นว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธุรกิจ ดีมานด์ซัพพลายครับ

สนามบินที่เท่าเท่าเทียมกัน หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ระบบการบินของไทยจะเป็นตาข่ายหรือใยแมงมุมทั่วประเทศ เช่น สามารถบินจากตรัง หรือชุมพร ไปอุดรธานี หรือไปเชียงใหม่หรือภูเก็ต โดยจุดหมายการบินไม่จำเป็นต้องเป็นดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิ ในอนาคต เราเชื่อว่าเอกชนไทยจะมีกำลังในการประกอบกิจการสายการบินพาณิชย์มากขึ้น รวมถึงเครื่องบินเอกชนอีกด้วยจำนวนหนึ่ง นี่คือความจำเป็นของการสร้างสนามบินขนาดเล็กเตรียมไว้เผื่ออนาคต ซึ่งผมคิดว่าขณะนี้เอกชนไทยจำนวนหนึ่งได้มีการเตรียมตัวอยู่แล้วในการดำเนินการทั้งในเชิงพาณิชย์และส่วนบุคคล


ในส่วนของจังหวัดพัทลุงนั้น การมองเรื่องศักยภาพในเชิงพาฺณิชย์นั้น ไม่ควรมองเพียงแค่จำนวนผู้โดยสารอย่างเดียว เหมือนที่กรมการบินพลเรือนเคยมองและตอบเป็นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงคราวที่แล้ว หากควรมองถึงอนาคตและการขนส่งคาร์โกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่ต้องขนส่งโดยฉับพลันที่สุดโดยรักษาความสดของสินค้าเอาไว้ ได้แก่ พืช ผัก และผลไม้ท้องถิ่น และด้วยการขนส่งแบบเครือข่ายใยแมงมุมก็จะช่วยให้สินค้าเกษตรนั้นกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของไทยอย่างทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินดอนเมือง เช่น สามารถขนส่งสะตอจากสนามบินพัทลุงไปยังสนามบินอุดรธานี หรือสนามบินวัดไต เวียงจันทน์โดยตรง หรือสนามบินกัวลาลัมเปอร์ก็ได้ ขณะเดียวกันก็สามมารถขนน้องวัวจากฟาร์มสระบุรีกลับไปขายยังพัทลุงได้ นี่คือตัวอย่าง

นอกเหนือไปจากงาน Medical care หรืองานแพทย์ งานช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลที่อุปกรณ์การแพทย์ และมีแพทย์ที่พร้อมกว่าอย่างโรงพยาบาลในอำเภอต่างๆ เข้ากรุงเทพหรือโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า

นอกจากนี้เมื่อมองจากฐานเงินออมของชาวพัทลุง ปรากฏว่า คนพัทลุงมีเงินออมจำนวนมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้ ดังนั้น กำลังซื้อตั๋วเพื่อการเดินทางของคนพัทลุงก็พลอยมากตามไปด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นระบบที่ต่างประเทศเขาทำอยู่แล้วครับ ไม่ใช่ของใหม่ในโลกแต่อย่างใด

แล้วข่าวก็ออกมาว่า จู่ๆ กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม เกิดเปลี่ยนใจอยากจะสร้างสนามบินพัทลุงขึ้นมาเฉยๆ ภายใต้การบริหารงานของ นายถาวร เสนเนียม รมช. คมนาคม ซึ่งคงไม่มีใครแปลกใจหากเป็นนโยบายผู้บริหารของกระทรวงแห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่สั่งให้ดำเนินการศึกษาเรื่องนี้อีกครั้งหวังเป็นมรดกให้กับคนท้องถิ่นและเป็นผลงานของพรรค

การณ์คงมิได้เป็นเช่นนี้เหมือนเมื่อสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งก็น่าแปลกใจในความย้อนแย้งโอละพ่อ ในเหตุผลของกรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคมหน่วยงานเดียวกันนั่นเอง เมื่อก่อนสมัยคสช. บอกสร้างไม่ได้ ตอนนี้บอกสร้างได้ ทำให้คิดได้ว่าหลักการเชิงเทคนิคที่ถูกต้องอยู่ตรงไหนกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ รมช.เจ้ากระทรวงทีมาจากประชาชนเขาพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นซึ่งผมเองเต็มใจอนุโมทนา

การสร้างสนามบินพัทลุงหรือสนามบินขนาดเล็กในจังหวัดต่างๆ จึงไม่ใช่เป็นสิ่งควรมองข้าม หากเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องทำให้เกิดขึ้น รองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตของไทย 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า รวมถึงเทคโนโลยีการบินที่เจริญก้าวหน้าสะดวก เอื่้อให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น

ที่สำคัญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ควรตีตนไปก่อนไข้ ดูถูกประชาชนในพื้นที่ดูถูกนักธุรกิจ หรือผู้เดินทางต่างถิ่น จากต่างประเทศที่จะเข้าไปทำธุรกิจ เข้าไปท่องเที่ยวที่พัทลุงว่า ไม่มีศักยภาพ โดยที่แม้แต่การศึกษาเบื้องต้นก็ยังไม่ได้ลงมือทำเลย


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *