พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ Line ID : pete1120

การที่บุคคลบางกลุ่มและรัฐไทยกำลังดำเนินการสร้างพุทธศาสนาแห่งรัฐในขณะนี้ เพื่อนำไปสู่พุทธศาสนาแบบทางการแบบที่บัญชาการโดยรัฐนั้น หากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะพอเปรียบเทียบกับศาสนายุคล่าแม่มดในยุโรปสมัยกลางได้แทบไม่ต่างกัน นั่นคือ ใครบังอาจตีความหรือคิดเห็นต่างจากการตีความคำสอนของศาสนาโดยรัฐ (ที่ประสานงานกับศูนย์บัญชาการศาสนาที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐ) ก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรงแบบเดียวกับผู้ที่ต้องคดีอาญา
หากเป็นสถานการณ์ในเมืองไทยปัจจุบัน ต้องแปลว่า ใครเห็นต่าง (ตีความ) จากพระไตรปิฎกล่ะก็..ถือเป็นมารพระศาสนาตัวร้ายที่จะต้องถูกกำจัดโดยกระบวนการทางอาชญ วิทยากันเลยทีเดียว
อาจารย์ ศ.ดร.สมภาร พรมทา เคยบอกผมว่า กว่าจะมาถึงคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เราอ่านกันอยู่ในปัจจุบัน ต้องผ่าน”บรรณาธิการ”ผู้อยู่เบื้องหลังมาหลายชุดในหลายยุคหลายสมัย ดังนั้นถ้าคิดระยะเวลาประมาณ 2,600 ปี ย่อมนานไม่ใช่เล่น ซึ่งแน่นอนว่าพระไตรปิฎกก็ย่อมมีพัฒนาการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เช่น มีการเพิ่มเติมเนื้อหาโดยพระสังคีติกาจารย์ในช่วงหลัง เป็นต้น
อาจารย์สมภารยังบอกด้วยว่า เนื้อหาในพระไตรปิฎกบางส่วนไม่เนียน คือไม่สอดคล้องซึ่งกันและกัน จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวในเอกสารพระไตรปิฎกอย่างจริงจังตามหลักวิชาการ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุนำมาซึ่งการศึกษาด้านตรรกศาสตร์หรือศาสตร์ว่าด้วยเรื่องของการใช้เหตุผล (ความสมเหตุสมผล)ที่โยงเข้ากับเรื่องทางด้านพุทธศาสนา รวมถึงการศึกษาวิชาพระไตรปิฎกวิเคราะห์
ขณะที่สถานการณ์ในต่างประเทศนั้นมีการศึกษาพระไตรปิฎกเชิงวิชาการอย่างจริงจังไม่ว่าในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ยิ่งเมื่อดูพัฒนาการและแนวโน้มของพุทธศาสนาแล้วปรากฏว่า มีคนให้ความสนใจศึกษาเรื่องนี้แสดงผลการศึกษาไว้มาก เนื่องจากกระแสเสรีนิยมและทุนนิยมส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของพุทธศาสนาอย่างรวดเร็วยิ่ง
เมื่อโลกเปลี่ยน ทั้งคณะสงฆ์และชาวพุทธฝ่ายอื่นๆ ก็คงลักษณาการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย ที่สำคัญ คือ แม้แต่ระบบการตีความคำสอนก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เป็นธรรมดาที่ว่าพุทธศาสนาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันก็ด้วยการตีความคำสอนบางส่วนให้สอดคล้องกับยุคสมัย นอกจากนี้วัฒนธรรมของชาวพุทธหลายอย่างก็เปลี่ยนไปด้วยในขณะเดียวกัน
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศตัวอย่างที่พุทธศาสนาขยายตัวในส่วนของชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์อย่างมีนัยสำคัญ เป็นไปตามที่ นิกเกียว นิวาโนะ (Nikkyo Nivano) ได้เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า พุทธศาสนาในยุคร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานหรือเถรวาท จะมีการประยุกต์หลักธรรมเพื่อใช้กับชีวิตประจำวันมากขึ้น นิวาโนะเอง ได้ศึกษาวิเคราะห์สัทธรรมปุณฑริกสูตรใหม่ โดยตีความให้เป็นคำสอนสำหรับมนุษย์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง นำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง บทวิเคราะห์ของนิวาโนะ เป็นการตอบสนองต่อความต้องการที่จะสร้างนิกายมหายานใหม่ ที่เคารพวิถีที่แท้จริงของการออกบวช (True way of homelessness) สร้างพุทธศาสนาแห่งคฤหัสถ์ขึ้นมาในคริสตสหัสวรรษหน้า
อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และอีกหลายประเทศในยุโรป เป็นตัวอย่างของรัฐที่แยกกิจการของรัฐออกจากศาสนา (secular state) การแยกดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาเป็นคนไม่มีศาสนา หรือจะทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหรือศาสนาไม่ได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รูปแบบของ 3 ประเทศดังกล่าว หากจะเปรียบเทียบกับพุทธศาสนาตามรูปแบบของรัฐไทยคงไม่ได้ เพราะสำหรับรัฐไทยแล้ว รัฐ เป็นฝ่ายออกแบบลักษณะวิธีการศาสนาเอง ผ่านระบบกฎหมายพุทธศาสนา หรือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ. สงฆ์) พ.ศ.2505 แก้ไข พ.ศ. 2535 ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าว เท่ากับรัฐไทยได้ถูกทำให้เป็นรัฐศาสนา (state religion) กลายๆ แล้ว ศาสนาถูกทำให้กลายเป็นสถาบัน
ผลของการทำให้ศาสนาเป็นสถาบันแห่งรัฐ มีทั้งดีและเสีย
ผลดี คือ การสร้างอุดมการณ์เชิงคุณค่าของรัฐ ในเรื่องศีลธรรมและจริยธรรม การปกครองที่อิงกับหลักศีลธรรมในพุทธศาสนา รวมถึงการปกป้องศาสนาในขอบวงของอุดมการณ์เชิงคุณค่าของรัฐ ส่วนผลเสีย ได้แก่ การที่พุทธศาสนา ถูกจำกัดอาณาบริเวณการนิยามและการตีความ โดยรัฐและองค์กรของรัฐเท่านั้น โดยที่การตีความดังกล่าว ก่อให้เกิดการผูกขาดในรูปแบบการแช่แข็งพุทธศาสนาขึ้นในประเทศไทย นอกเหนือไปจากผลเสียด้านการศึกษาพุทธศาสนาที่ถูกล้อมกรอบการประเมินคุณค่าจากการวิเคราะห์หลักศาสนธรรมให้แคบลงอย่างแทบกระดิกไปไหนไม่ได้
การที่พุทธศาสนาถูกจำกัดอาณาบริเวณโดยรัฐ ยังเป็นเหตุให้เกิดความไม่เสมอภาคในแง่ของการปฏิบัติแม้แต่ต่อศาสนิกในศาสนาเดียวกัน และศาสนิกของศาสนาอื่นอีกด้วย เกิดการจัดสรรแบ่งปันผลประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง โดยการสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยรัฐ ยิ่งในสังคมอุปถัมภ์ด้วยแล้ว ศาสนาที่อยู่ในสังคมอุปถัมภ์มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระแสชาตินิยมและจริยธรรมแบบผูกขาด ซึ่งก็แน่นอนว่า ขัดกับหลักจริยธรรมสากลคือ หลักสิทธิมนุษยชน
กรณีของสหรัฐอเมริกา รัฐอเมริกันไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในเชิงการอุปถัมภ์เกื้อกูลศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยตรง เพียงแต่รัฐอำนวยความสะดวกให้ศาสนิกและที่ไม่ใช่ศาสนิกใดในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถือศาสนาเท่านั้น แนวทางในการเข้าไปจัดการหรือเกี่ยวข้องกับศาสนาของรัฐอเมริกัน จึงมีลักษณะเช่นนี้
1. ให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือไม่นับถือศาสนา
2. สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของศาสนิก ต้องไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือความของศาสนิกอื่น หรือความเชื่อของคนที่ไม่มีศาสนา
3. อาศัยหลักพื้นฐานด้านความเชื่อ “เชิงหลักการสิทธิมนุษยชน”ของปัจเจกบุคคล
4. องค์กรศาสนาได้รับการยอมรับในบริบทกฎหมาย( เช่น นิติบุคคล) ซึ่งอาจเป็นองค์กรมุ่งผลกำไร (profit organization) หรือองค์กรไม่หวังผลกำไร (nonprofit organization)ก็ได้
5. เมื่อองค์กรศาสนาถูกยอมรับในบริบทกฎหมาย ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
6. เมื่อรัฐให้สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและแยกศาสนาออกจากรัฐ ว่ากันว่ามีผลเชิงบวกต่อความมั่นคงของรัฐ ในทางที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับรัฐ เพราะอย่างน้อยความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อความศรัทธาต่อศาสนาในรูปแบบรุนแรงจะลดลง
วิลเลียม ไอโบเดน ( Dr. William Inboden) แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส (เมืองออสติน) ซึ่งศึกษาเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างรัฐศาสนากับรัฐโลกีย์ (รัฐฆราวาส- Secular State) พบว่ารัฐศาสนา (Religious Persecution) มีแนวโน้มของความขัดแย้งด้านศาสนาจะเกิดขึ้นในรัฐศาสนามากว่ารัฐโลกีย์ โดยเฉพาะกรณีศึกษาความมั่นคงของอเมริกาเองแสดงให้เห็นว่าการเข้าไปยึดศาสนามาเป็นของรัฐแล้วออกกฎหมายคุ้มครองศาสนาของรัฐนั้น เป็นการขัดกับเจตจำนงความมีเสรีภาพของมนุษย์ เมื่อไรก็ตามที่รัฐเข้าไปกำกับความเชื่อของพลเมืองเมื่อนั้นก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น
สถานการณ์การควบคุมการวิเคราะห์หรือตีความพระไตรปิฎกในเมืองไทย (ในนามการคุ้มครองพุทธศาสนา) ของรัฐไทยที่ระบุว่า หากใครตีความแล้ว นำเสนอประเด็นการตีความต่างจากรัฐไทยอาจมีโทษทางอาญา เรื่องดังกล่าวนอกจากขัดเจตจำนงของความมีเสรีภาพของมนุษย์แล้ว ในอีกแง่หนึ่งยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการล่าพ่อมด แม่มด กันอย่างกว้างขวาง ในข้อหา “บ่อนทำลายศาสนา” ซึ่งมีลักษณะเป็น “ภัยร้ายแรง”
ปิดโอกาสการศึกษาและตีความคำสอนในพุทธศาสนาให้ก้าวหน้าออกไป รวมถึงปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็นภายหลังการตีความ เพราะรัฐถือว่า การกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ผู้ตีความคำสอนศาสนาต่างจากรัฐย่อมถูกลงโทษนานา ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผู้เขียนจึงเชื่อว่าศาสนาที่ถูกบัญชาการหรือควบคุมโดยรัฐจะหาความก้าวหน้า เจริญรุ่งเรืองได้ยาก…