ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ east to west

พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

The East bowed low before the blast

ตะวันออกค้อมศีรษะให้อย่างราบคาบต่อเสียงปืน

In patient, deep disdain;

ในท่ามกลางความทะนงตัวอย่างลึกซึ้งและอดทน

She let he legions thunder past,

เธอ (ตะวันออก) ได้ยอมให้กองทหารยาตราทัพผ่านไปอย่างอึงอล

And plunged in thought again.

แล้วเธอก็เข้าสู่ห้วงแห่งการคิดคำนึงต่อไปอีก

เป็นข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือ”พบถิ่นอินเดีย” เขียนโดย บัณฑิต ยวาหระลาล เนรูห์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอินเดีย แปลโดย อาจารย์ กรุณา กุศลาสัย บัณฑิตเนห์รู ได้ยกข้อความประดุจโศลกหรือบทกวีบทนี้ให้คนอ่านมองเห็นภาพระหว่างตะวันออก และตะวันตกโดยเฉพาะในเรื่องปรัชญาและความเชื่อที่แตกต่างกัน ในช่วงที่ประเทศตะวันตกต่างก็แผ่อิทธิพลผ่านระบอบทหารมายังประเทศตะวันออก และอินเดียเองเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์นี้

ในตอนเดียวกันของหนังสือเล่มนี้ เนรูห์ เขียนว่า “ อินเดีย(สัญลักษณ์ตะวันออก- ผู้เขียน)ให้เกียรติ แก่การคิดคำนึงและผู้ที่คิดคำนึง หรือที่เรียกกันว่า ผู้คงแก่เรียน เสมอมา อินเดียไม่ยอมพิจารณาให้ความเชื่อ ถือว่าผู้ใช้อาวุธหรือผู้มีทรัพย์สินเงินทองนั้นธำรงคุณค่าสูงกว่าผู้มี ปัญญา แม้ในยามตกต่ำทรุดโทรม อินเดียก็ยังยึดมั่นอยู่กับการคิดคำนึงและรู้สึกเป็นสุขใจในการกระทำเช่นนั้น” นับเป็นข้อที่สะท้อนถึงความแตกต่างในด้านความคิด และระบบปรัชญาระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างชัดเจน

นอกจากอินเดียอันเป็นแหล่งอารยธรรมของเอเชียแล้ว ยังหมายถึงจีน อีกประเทศที่เป็นแหล่งอารยธรรมอีกแห่งหนึ่งด้วย ส่วนประเทศอื่นๆในเอเชียที่เหลือรวมทั้งไทยที่รับอารยธรรมจากทั้งสองประเทศ นี้ ก็รวมเรียกว่า ตะวันออกเช่นเดียวกัน
เป็นความจริงที่ว่า ระหว่างตะวันออกและตะวันตกนั้น ให้คุณค่าหรือความหมายของการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน

ตะวันออกแต่เดิมก่อนที่จะได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปนั้น ให้ค่าหรือน้ำหนักทางด้านจิตวิญญาณหรือ ค่าทางด้านปัญญามากกว่าค่าในทางวัตถุ ค่าทางด้านจิตวิญญาณ หรือค่าทางปัญญา หมายถึงการขบคิดและพยายามทำความเข้าใจในกระบวนการของชีวิตทั้งหลายมากกว่าตะวันตก ตะวันตกมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักหรือค่าทางวัตถุมาก่อน จนต่อมาวัฒนธรรมตะวันตกเหล่านี้ได้แพร่ขยายออกไปยังตะวันออกหรือเอเซีย เพราะแม้แต่ประเทศที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของตะวันออกมาก่อน และมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอย่างอินเดีย และจีน ยังไม่ง่ายนักที่จะต้านกระแสแห่งวัตถุนี้

โดยที่เงินตรากลายเป็นปัจจยาการแห่งวัตถุที่สำคัญ คล้ายเป็นตัวแทนของระบบตะวันตกไป ที่อเมริกาคำว่า Oriental ได้ยินกันมากขึ้นเรื่อยๆ คำๆ นี้ใช้กันหลากวัตถุประสงค์ อเมริกันส่วนหนึ่งกำลังหันหน้าไปทางตะวันออก ศาสตร์หลายอย่างของตะวันออกกำลังได้ความสนใจจากอเมริกัน ไม่ว่า จะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ปรัชญา การดูแลกาย จิตใจ และการบำบัดรักษาโรค เป็นเรื่องที่อเมริกันเพิ่มความสนใจขึ้นอย่างมากในช่วง 15 ปีกว่าที่ผ่านมา

ตัวอย่าง ในเรื่องการบำบัดรักษาโรค จะเห็นได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้หน่วยงานของทางการอเมริกันที่เกี่ยวข้องได้จัดวิชาแพทย์จีน แขนงการฝังเข็ม ให้อยู่ระบบวิชาชีพแพทย์ เหมือนแพทย์ในสาขาต่างๆโดยทั่วไป โดยแพทย์หรือหมอฝังเข็มต้องได้ใบอนุญาตประกอบการแพทย์จาก คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อประกาศนียบัตรแห่งการฝังเข็มและการแพทย์แผนตะวันออก (National Commission for the Certification of Acupuncture and Oriental Medicine) นั่นคือ จะต้องผ่านการสอบทั้งข้อเขียน และภาคปฏิบัติจากคณะกรรมการชุดดังกล่าว จึงสามารถออกไปประกอบอาชีพได้ และหากได้ใบอนุญาตดังกล่าวแล้วก็ย่อมมีสิทธิทุกอย่างเท่าเทียมกับแพทย์สาขา อื่นๆโดยทั่วไป

ขณะเดียวกันในอเมริกาเวลานี้ ผู้คนยังนิยมในเรื่องผลิตภัณฑ์สมุนไพรอีกด้วย หากแต่เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเสียเป็นส่วนใหญ่ ร้านค้าผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ อย่างเช่น ผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลกรเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง (Health products หรือ Health food) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น มีเชน หรือเฟรนไชน์ เกิดขึ้นมากมาย

ไม่รวมถึงการศึกษาค้นคว้าศาสตร์ตะวันออก อย่างอายุรเวช การนวด โยคะปฏิบัติ และสมาธิ อเมริกันจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าไปศึกษาวิชาตะวันออกที่จีนและอินเดีย อันเป็นประเทศแม่แบบของอารยธรรมที่ลุ่มลึกนี้ ขณะเดียวกับอเมริกันในประเทศที่ไม่ได้เดินทางไปค้นคว้าศึกษาข้างนอกเองก็ได้ ศึกษา และฝึกปฏิบัติกับผู้รู้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เห็นได้จากการที่เจ้าสำนักต่างๆ จากอินเดีย และจีน รวมถึงชาติที่นับถือพุทธศาสนา อย่างไทย เวียดนาม ทิเบต ฯลฯ ได้รับการเชื้อเชิญไปพูดหรือฝึกปฏิบัติให้คนอเมริกันเป็นเครื่องหมายว่าศาสตร์ตะวันออกกำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย สถานออกกำลังกาย หรือฟิตเนส คลับ แทบทุกที่เวลานี้ มีการฝึกสอนปฏิบัติโยคะ ในหลายรูปแบบ รวมทั้งไทเก๊ก ทั้งหมดมีตำรับตำราให้ศึกษาค้นคว้าทั่วไป ทั้งร้านขายหนังสือ และห้องสมุด

ประเด็นดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศาตร์ตะวันออกหลายอย่าง เช่น การเขียนตำราหรือคู่มือปฏิบัติ และการออกวีซีดี ดีวีดี การฝึกปฏิบัติมาขายกันอย่างเป็นล่ำเป็น จนกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว อย่างแทบไม่เคยเกิดขึ้นในยุคไหน และด้วยเหตุนี้ให้มี “ลูกหลานตะวันออก” จากอเมริกาที่สนใจ และกลับไปศึกษาต้นแบบของศาสตร์ตะวันออกเหล่านี้

ศึกษาค้นคว้าศาสตร์ตะวันออกสำหรับอเมริกันแล้วไม่ง่ายนัก เพราะเกี่ยวข้องกับการปลูกฝัง ภายในสภาวะจิตเบื้องลึกนับแต่เด็กเกิดและโต ซึ่งเป็นคล้ายๆ กับสภาพแวดล้อมที่พวกเขารับมาตั้งแต่แรกเกิดนั่นเอง การจะเปลี่ยนแปลงสภาวะดังกล่าวย่อมไม่ใช้เรื่องง่าย เหมือนกับการล้างซ ิมการ์ด (Sim Card) ออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามอเมริกันหลายคนหาได้ย่อท้อที่จะศึกษากันไม่ แม้สิ่งที่ได้รับ อาจผิดบ้างถูกบ้างก็ตาม แต่เพื่อประสบการณ์ที่ได้รับพวกเขายอมได้

ในช่วงที่ผ่านมาหลายปี ที่เจ้าสำนักต่างๆ กระทั่งลูกศิษย์ของเจ้าสำนักจากประเทศตะวันออกเดินทาง หรือเปิดสอนวิชาความรู้ของตะวันออกในอเมริกา โยคีจากอินเดียก็ไปสอนที่อเมริกาจำนวนมาก โยคีบางคนก็ร่ำรวยด้วยลาภสักการะจากคนอเมริกัน จนกระทั่งเกิดปัญหาในแง่ในการสะสมวัตถุ และนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธา ล่มจมในที่สุด การสอนภาควิชาการ หรือปฏิบัติ ศาสตร์ตะวันออก ในอเมริกา จึงต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะอเมริกาเกิดและโตจากระบบทุนนิยม กระบวนทัศน์เกือบทั้งหมดจึงอนุวัตรไปตามกลไกแห่งทุน ซึ่งต่างจากวิถีตะวันออกที่เป็นไปตามกลไกภายใน ทีเรียกกันว่า จิตวิญญาณ นั่นเอง

การถือวัตถุเป็นที่ตั้งทำให้อเมริกัน (หรืออาจเหมาเรียกว่าตะวันตก) สร้างกลไกลเพื่อปกป้องตนเอง มองตนเองสำคัญอันดับหนึ่ง นำไปสู่กระบวนการจัดการเพื่อเสริมร้างความมั่นคง ไม่ว่าการเก็บสะสม หรือการป้องกัน หรืออีกนัยยะ คือ ระบบความมั่นคงที่เริ่มจากปัจเจก ตลอดไปถึงสังคมโดยรวม ในแง่การสะสมหมายถึง การสะสมทรัพย์ เครื่องอุปโภค บริโภค ในทำนองมือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อเอาหรือได้มาแล้วก็มีการเก็บกักตุนเกิดขึ้น ขณะที่ด้านความมั่นคงของคนตะวันตกนั้น มองได้ตั้งแต่ปัจเจก ซึ่งหมายถึงการป้องกันตนเองจากการคุกคามของศัตรูที่เป็นมนุษย์ หรือสัตว์ หรือภัยธรรมชาติ

ด้วยเหตุนี้เป็นที่มาของการพัฒนาศักยภาพของอาวุธประเภทต่างๆไล่ตั้งแต่มีด ไปจนถึงปืนชนิดต่างๆ ล้วนแต่เพื่อป้องกันตนเอง จากความวิตกหวาดกลัวทั้งสิ้น ในด้านการป้องกันตัวหรือความมั่นคงในแง่ส่วนรวม เป็นที่มา กำเนิดของทหาร และอาวุธโธปกรณ์ที่มีแสนยานุภาพร้ายแรง สามารถทำลายล้างชีวิต ได้เป็นหมื่นเป็นแสน โดยไม่แคร์ต่อระบบศีลธรรมพื้นฐาน

ลึกลงไปในรายละเอียดการป้องกันตนเองในแง่ปัจเจก กรณีการมี “มีด” ของคนตะวันออกเพียงเพื่อการดำรงชีพ หรือการอาชีพ และป้องกันตัวเองจากภัยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ แต่นัยยะของ “มีด”ของอเมริกันหรือผู้คนตะวันตก นอกเหนือจากการอาชีพ และป้องกันตนเองจากผองภัยทั้งหลายแล้ว ยังหมายถึงการสำแดงฤทธิ์เดชแสนยานุภาพของคนๆ นั้นอีกด้วยว่าเขาสามารถล่วงล้ำก้ำเกินหรือเหนือกว่าคนอื่นได้มากขนาดไหน

“มีด”สำหรับเขา(ตะวันตก)จึงไม่ได้มีความหมายแค่เพียงการป้องกัน ตัวเท่านั้น แต่หมายถึงอำนาจที่เขาสามารถแสดงว่าเหนือกว่าคนอื่นรวมไปด้วย จนกระทั่ง “มีด” อย่างเดียวมีอานุภาพที่จะเหนือกว่าคนอื่นไม่เพียงพอ เขาจึงคิดพัฒนาอาวุธชนิดใหม่ขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่า “มีด” รอจนกระทั่งเกิดมี “ปืน” ขึ้น คนที่มีปืนย่อมเหนือกว่าคนที่มี “มีด” เขาย่อมรู้สึกเป็นผู้ยิ่งใหญ่ และมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นที่มีแค่ “มีด” เป็นอำนาจที่เกิดจากการสามารถทำร้ายผู้คนได้โดยไม่อิงติดกับระบบศีลธรรมพื้นฐานเบื้องต้น

แต่การมองของตะวันออก นอกเหนือจาก ความจำเป็นที่จะต้องมี “มีด”เพื่อประโยชน์ใช้สอยแล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เขาจะไม่ใช้มีดไปล่วงล้ำก้ำเกินจนก่อให้เกิดให้อันตรายกับคนอื่นผู้ไม่ใช่ศัตรูที่จะมาทำร้ายเขา (ใช้เพื่อป้องกันตัว) และเขาก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปพัฒนาอาวุธประเภทอื่นให้มีศักยภาพเหนือกว่า “มีด”มากนัก “มีด” เพียงอย่างเดียวก็พอเพียงที่เขาจะต่อกรกับศัตรูที่มาล่วงล้ำได้ โดยตระหนักว่า จิตใจนั้นสำคัญและมาก่อน อีกความหมายก็คือ การต่อสู้ทางจิตใจหรือสติปัญญาต้องมาก่อน ก่อนที่จะมีการต่อสู้กันด้วยกำลัง หากฝ่ายตรงกันข้าม หรือศัตรูจะใช้ “มีด”สู้เสมอด้วย ก็ถือเป็นความยุติธรรมของการต่อสู้ ไม่ว่า คนชนะหรือแพ้ย่อมได้รับเกียรติด้วยกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้การมองของตะวันออกไปถึงขั้นที่เรียกว่า “ปืน”ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งวัตถุ อาจสามารถทำลายวัตถุด้วยกันได้ แต่ “ปืน” ไม่สามารถทำลาย “สภาวะ” หรือ “จิตวิญญาณ”ได้เลย เพราะฉะนั้น ความจริงแล้วตะวันออกไม่เคยกลัวปืน แต่ตะวันออกกลัวเปื้อนมลทินทางวัตถุทีเรียกกันว่า ความชั่วทางศีลธรรมมากกว่า

ตะวันออกเข้าใจต่อ “วัตถุ” เหมือนกับการเข้าใจต่อ“สภาวะ” ตะวันออกไม่ถือว่าการเข้าใจ “วัตถุ” เพียงอย่างเดียวเป็นความสำเร็จ หรือเป้าหมายของชีวิตทั้งในเชิงปัจเจกและส่วนรวม ไม่เหมือนอเมริกันหรือตะวันตก ที่นับถือการเข้าถึงความสำเร็จเชิง “วัตถุ”เป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น การพัฒนาศักยภาพของอาวุธจึงเปลี่ยนจากมีด ไปเป็นปืน เป็นปืนใหญ่ กระทั่งเป็นระเบิดที่มีอานุภาพร้ายแรงในที่สุด อย่างไม่แยแสต่อระบบศีลธรรม ซึ่งเป็นกรอบภายนอกของ “สภาวะ” หรือเป็นเนื้อหาทางด้าน “จิตวิญญาณ”

กล่าวอีกนัยยะหนึ่ง ก็คือ “ระบบปืน” ของชาวตะวันตกนั้นทำลายวัตถุด้วยกันได้ แต่ไม่สามารถทำลาย “ระบบสภาวะ” ที่ชาวตะวันออกนับถือได้ แม้จะใช้วิธีการใดๆก็ตาม และจากประสบการณ์หรือประวัติศาสตร์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว “ระบบปืน”ไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนแต่อย่างใด แม้จนถึงขณะนี้อเมริกันหรือตะวันตก ในระดับปัจเจกก็ยังมีปัญหาการคุกคามทั้งภายในและภายนอกตัวเอง ในระดับมหภาคอาจกล่าวได้ว่า การคุกคามมีทั้งภายในและภายนอกประเทศ อันเป็นผลมาจากการใช้ “ระบบปืน”เข้าไปจัดการกับปัญหาและทุกๆอย่างนั่นเอง

เวลานี้อเมริกันจำนวนมากหันหน้าไปทางตะวันออก แม้ส่วนหนึ่งของจำนวนดังกล่าว จะไม่ได้หยั่งลึกถึงรากเหง้าของตะวันออกอะไรมากมาย แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจยิ่งถึง trend นี้ กระทั่งการจัดระบบการใช้ชีวิตประจำวันของเมริกันทั้งที่บ้าน และที่ทำงานในขณะนี้ในหลายๆอย่างใช้ศาสตร์ตะวันออกช่วยจัดการ อย่างเช่น กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการผ่อนคลายความเครียด ในแง่การทำธุรกิจศาสตร์โบราณของจีนอย่างฮวงจุ้ย ได้ถูกนำมาใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีมูลค่านับพันล้านเหรียญหลาย เมืองในอเมริกา เช่น การออกแบบโรงแรม/บ่อนเอ็มจีเอ็ม แกรนด์ (MGM Grand Hotel & Casino) โรมแรม/บ่อนวินน์ (Wynn Resort &Casino) ที่ลาสเวกัส เป็นต้น

ภาพที่เห็นจากสำนักข่าวเอพี ซึ่งเป็นภาพการเผาศพ Maharishi Mahesh Yogi เจ้าของตำรับการฝึกสมาธิแบบทีเอ็ม (TM-Transcendental Meditation) เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2008 ที่จุดบรรจบกันของแม่น้ำคงคากับแม่น้ำยมุนา ที่มีคนจากตะวันตก รวมทั้งคนอเมริกันจำนวนมากไปร่วมงานนับเป็นภาพที่สะท้อนถึงการให้ความสนใจ ถึงกระบวนการแห่ง “สภาวะ” ในวิถีตะวันออก ภาพที่เห็นนั้น ร่างของโยคี Mahesh ห่อด้วยผ้าสีเหลือง นอนอยู่บนกองฟืนที่จัดวางเรียงซ้อนกัน ก่อนที่พวกลูกศิษย์จะร่วมกันจุดไฟเผาศพของเขาต่อจากนั้น แล้วทุกอย่างก็จบกัน

เพียงแต่ฉากหรือภาพที่เห็นนั้น สะท้อนถึงวิถีชีวิตตะวันออก ในแง่ของธรรมชาติและความเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นเรื่องของความรู้สึกภายใน (Sense)ของตะวันออก ที่มองกระบวนการต่างๆของชีวิตใน เชิง“สภาวะ” ที่เลยนอกเหนือไปจากชั้น “วัตถุ” โดยที่ในส่วนของพิธีกรรมแทบทั้งหมดกระทำกันอย่างเปิดเผย เหมือนเป็นขั้นตอนธรรมดาขั้นตอนหนึ่งของชีวิต
ที่ริมแม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำอีกหลายสายในอินเดีย แม้เวลานี้ก็ยังมีการจัดการพิธีศพแบบเปิดเผยและเรียบง่าย การตายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งความเป็นไปของชีวิต ภาพร่างวัตถุที่นอนแข็งทื่อบนกองฟืนเตรียมเผามีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา นอกเหนือไปจากการสำเหนียกถึงความใกล้ชิดกับความตายของชาวตะวันออก(อินเดีย) จนก่อให้เกิดลักษณะการจัดการในเรื่องพิธีกรรมอย่างเข้าใจต่อ “สภาวะ” เป็นอย่างยิ่ง

ความหมายในเชิงวัตถุ ตายแล้วก็เป็นอันจบกัน หากแต่ในแง่ของ “สภาวะ” แล้วมองลึกไปกว่านั้นมากสำหรับ “สภาวะ” แล้วย่อมสูงกว่า “ปืน”หรืออาวุธใดๆ ในโลก(วัตถุ) การเข้าถึง”สภาวะ” มีแต่แนวทางเดียวคือผ่านการกลั่นกรองจากกระบวนภายใน(สติปัญญา)เท่านั้น กระบวนการภายนอกหรืออีกนัยหนึ่ง กระบวนการแห่งวัตถุไม่สามารถใช้เพื่อเข้าถึงตัว“สภาวะ”ได้เลย

โครงสร้างของระบบทุนของอเมริกาที่ทับถมกันซับซ้อนกันมาเนิ่นนาน เป็นเหตุให้อเมริกันจำนวนมากถอนตัวและมองเห็น “สภาวะ”ได้ยาก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ตระหนักถึงโทษภัยที่อยู่ภายใต้ระบบทุนอัน ซับซ้อนซ่อนเงื่อนดังกล่าว

ประเด็นที่คนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของระบบวัตถุไม่ค่อยได้คำนึง คือ การสิ้นสุดของชีวิต หรือความตาย เพราะคนเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาในทางวัตถุ ดังนั้นจึงใช้วัตถุตอบสนองทุกความต้องการ จนลืมไปว่าวัตถุที่ใช้นั้น ย่อมมีวันเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถควบคุมได้ และต้องสิ้นสุดลงในวันใดวันหนึ่ง พวกเขามักรับไม่ได้กับกระบวนการอันเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตอันเป็นธรรมชาติ จนเป็นเหตุให้ตกอยู่ในอาการพิลาบรำพันไปต่างๆ นานา

คนตะวันออกหลายคนที่ไปปักหลักทำมาหากินในอเมริกา มีการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นคำถามยอดนิยมคำถามหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตที่เหลือช่วงสุด ท้ายว่า พวกเขาจะเตรียมตัวตายกันที่ไหน จะไปตายที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองหรือตายที่อเมริกา

แน่นอนล่ะ ในข้อเท็จจริงแล้ว สำหรับการตาย ไม่มีใครสามารถเลือกสถานที่ หรือเวลาได้ แต่การเตรียมตัวตายอย่างมีความสุข เพื่อเข้าสู่”สภาวะ”ที่ถูกต้องนั้น ตะวันออกมีการกล่าวถึงกันมานานนับพันปี และไม่เหลือวิสัยที่คนธรรมดาจะทำได้

เพราะสำหรับคนธรรมดาแล้ว การตายเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนจะต้องผ่าน ความสุขจากการคำนึงเพื่อเตรียมตัวตายในบางเรื่อง อย่างเช่นการคำนึงถึงบรรพบุรุษของตนว่า พวกเขาเหล่านั้นก็ได้ตายและเผา(หรือฝัง)กันตรงสถานที่นั้น สถานที่นี้ และต่อไปสถานที่แห่งนั้นแห่งนี้ก็ต้องเป็นที่ของตัวเราเองบ้าง ทำให้ความตายดูเหมือนขั้นตอนปกติของชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่หวาดกลัวเสียเหลือเกิน แต่เป็นเรื่องที่สามารถยอมรับได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นทุกข์ไปกับมันมากนัก อย่างที่บอก ตะวันออกมีการสอนเรื่องการเตรียมตัวตายกันมานาน มีหลักการที่ชัดเจนและสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ อเมริกันก็หาได้เลยพ้นไปจากความตายอันเป็นขั้นตอนหนึ่งของชีวิต แต่ในโลกแห่งวัตถุ พวกเขามีวีธีการรับมือที่แตกต่างไปจากวีธีการของตะวันออก หรือบางทีอาจกล่าวได้ว่า วีธีการรับมือของพวกเขา เหมือนไม่เป็นวิธีการรับมือกับความตายเอาเสียเลย แต่น่าจะเป็นการปล่อยเลยตามเลยเสียมากกว่า เพราะวีธีการดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐาน การไม่ล่มสลายของวัตถุ คือ พยายามที่จะไม่พูดถึงการเตรียมตัวตาย หรือหากคนใดต้องตายก็ต้องดึงรั้งกันสุดกำลัง โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ ตะวันออกคำนึงกัน นั่นคือ “ตัวสภาวะ” ความตายในความหมายของอเมริกันหรือตะวันตก(อาจใช้ในเชิงความหมายของระบบ แพทย์แผนปัจจุบัน) จึงเป็นสักแต่ความพยายามที่จะคงไว้ซึ่งสภาพวัตถุ แต่ความหมายของตะวันออก ความตายเป็นเรื่องของสภาวะไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนรูปยักย้ายถ่ายเท (ภพชาติ การกลับชาติมาเกิด เป็นต้น)

เพิ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่ข้อคำนึงในเรื่องวิถีแห่งความตายของอเมริกัน(หรือตะวันตก) ได้เปลี่ยนไป จากการมองความตายเป็นแค่กระบวนการวัตถุเพียวๆ เบนไปสู่กระบวนการที่เป็นสภาวะมากขึ้น ในอเมริกามีการพูดถึงการเตรียมตัว หรือรับมือกับความตายในเชิงระบบการจัดการจากภายใน หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิต

ทั้งหมดนี้ เป็นที่น่าสนใจว่า ข้อคำนึงแบบตะวันออกที่อัสดงมานานปี จากอิทธิพลวัตถุของอเมริกาและตะวันตก กำลังถูกนำมาขยายผลต่อยอดอีกครั้ง ซึ่งถ้าดูจากพัฒนาการของการไหลบ่าเข้าไปของวัฒนธรรมตะวันออกไปยังอเมริกาแล้ว เชื่อว่า วัฒนธรรมตะวันออกที่ครุ่นคิดเรื่องสภาวะจะเบ่งบานในอเมริกาได้ในไม่ช้าพร้อมๆ กับความก้าวหน้าทางวัตถุที่เป็นกระแสตะวันตกที่มีมาแต่เดิม..

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *