พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์ : ppongnv@gmail.com

เป็น พินิจ ชัยจารีย์ แห่งสมาคมไทยทักษิณฯหรือปัจจุบัน คือสมาคมชาวใต้แคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (แอล.เอ.)ที่่เคยกล่าวกับผมว่า คุณอาศัยกินอยู่หลับนอนในอเมริกาได้ 20 ปี หรือมากกว่านี้ มันยิ่งกว่าคุณจบ ปริญญาเอกหรือดอกเตอร์เสียอีก หากแม้พินิจ อังดรัว ผู้เดินเฉียดปรีดี พนมยงค์ ณ ปารีส …ปิยสหายของผมล่วงลับไปหลายปีดีดักแล้ว แต่ผมจำคำสนทนาของเขากับผมประโยคที่ว่านี้ได้เสมอ
จนกระทั่งผมกลับเมืองไทย ถึงได้ตระหนักความหมายของถ้อยสนทนาของพินิจว่า มันจริงแท้มากขนาดไหน เมื่อพบว่าสังคมไทย บ้าเห่อปริญญาบัตร (degree) มากมายขนาดไหน ตามสำนวนฝรั่ง ก็จัดอยู่ในประเภท crazy (บ้าคลั่ง) ได้เลย จนให้กำเนิด “โจรเสื้อนอก” วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือ“ดอกเตอร์” พวกวิปริต แนวนี้ล้วนแทบไม่ต่างจาก นักตุ้มตุ๋น ผู้แอบอิงอยู่กับค่านิยมของสังคมไทยที่วิปริตผิดเพี้ยนนั้นด้วย
เราจะเห็นวัฒนธรรมหรือค่านิยมอุบาทว์นี้ในสังคมและกลุ่มชนต่างๆ นักการเมือง ดารา นักกีฬา คนทั่วไป หรือแม้แต่พระสงฆ์องคเจ้า ที่ล้วนพากันให้ค่าวุฒิการศึกษาปริญญาเอก-ดอกเตอร์ อย่างไร้เดียงสา ราวกับว่ากลุ่มคนการศึกษาสูงพวกนี้คือเทวาอารักษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ฉะนั้น ซึ่งภาพเหล่านี้ ผมไม่เห็นทั้งในยุโรปและอเมริกา ทั้งที่แบบแผนการศึกษาดังกล่าวล้วนมาจากประเทศตะวันตกเหล่านี้
ในอเมริกามีคนเรียกกลุ่มคนพวกนี้ในทำนองดูถูกดูแคลนเสียด้วยซ้ำ จากความดัดจริต (การใช้ภาษา การแต่งเนื้อแต่งตัว) จากความขี้ตืดไม่ชอบทิปคนบริการ ดีแต่รูปหากนิสัยแย่ไม่เข้าใจโลกไม่เข้าใจสังคม อเมริกันเรียก Monkey suite หรือ “ไอ้สูทลิง” หมายถึงเก๋แต่สูท แต่ใจไม่ถึง ขี้เหนียว ไม่กล้าใช้ชีวิต นี้รวมถึงบรรดากลุ่มคนดอกเตอร์เอาไว้ด้วยอย่างชัดเจน แม้ไม่ใช่ทุกคนก็ตาม
ก็ทำไมเมืองไทยถึงได้มีค่านิยมบ้าเห่อดีกรีการศึกษากันขนาดนี้ โดยไม่สนใจตั้งคำถามว่าวุฒิการศึกษามาจากไหน ผลงานของผู้จบการศึกษาเป็นประการใดบ้าง โดยที่แม้กระทั่งการผลิตหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอกแบบไร้คุณภาพ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) เองกลับหาได้เฉลียวใจฉุกคิดไม่ ปัญหาการตรวจสอบ ปัญหาคุณภาพที่ทวีขึ้นอย่างรุนแรงในยุคปัจจุบัน สถาบันในระดับอุดมศึกษาต่างแข่งกันทำธุรกิจการศึกษามากกว่าเหนืออื่นใด แม้รูปแบบสถาบันอย่างมหาวิทยาลัยกำลังจะปลาสนาการ (Disrupted) ไปในไม่ช้านี้ก็่ตาม แต่ค่านิยมฝังหัวคนไทยแบบเดิมๆ ก็ยังมิได้จืดจางลงไป และมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งก็ยังทำมาหารับประทานกับค่านิยมและความหลงผิดของสังคมไทยอยู่จนนาทีนี้
เห็นได้จากการที่นักการเมือง อย่างเช่น กรณีธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้เป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลไทย ผู้พยายามจะปกปิดที่มาที่ไปของวุฒิการศึกษาระดับดอกเตอร์ของตน ในขณะที่เขาใช้ดีกรีการศึกษาเป็นใบเบิกทางส่วนหนึ่ง สร้างภาพให้ดูดีสำหรับสังคม เมื่อสาวถึงที่มาที่ไปของดีกรี ก็กลับมีปัญหา…
น่าสนว่าการคลั่งปริญญาบัตร หรือดีกรีในประเทศไทยนี้ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบหรือเป็นแค่มองผิวเผินถึงที่มาที่ไปของวุฒิการศึกษาหรือผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งๆ ที่น่าจะสแกน ผลงาน สแกนสาขาหรือความเชี่ยวชาญของผู้จบการศึกษาในขั้นสูงสุดได้ ซึ่งก็จะพบว่า ดอกเตอร์ส่วนใหญ่ของไทยนั้นโหลยโท่ย ไร้ผลงานวิชาการที่เป็นแก่นสาร
โดยนัยนี้ การแสวงหาปริญญาระดับสูงสุดของไทยจึงไม่จำกัดวิธีการหรือจำกัดที่มา ซื้อบ้าง จบมาเพราะลอก (Plagiarism) โกงสอบ มาบ้าง (นับประสาอะไร สถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ยังทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเลย) ว่ากันว่า โจทย์งานวิจัยข้อเดียวในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยบางแห่ง งานวิทยานิพนธ์เปลี่ยนแค่”ชื่อเฉพาะ” เพียงชื่อเดียว นอกนั้นเนื้อหาคงเดิม
ทำกันถึงขนาดนี้ มิพักต้องสงสัยว่า การรับอาจารย์เข้าไปทำงานในบางมหาวิทยาลัยของรัฐนั้น เล่นเส้นเล่นสายอาศัยพรรคอาศัยพวกมากน้อยขนาดไหน ขาดความเกรงใจเจ้าของเงินเดือนคือประชาชนผู้เสียภาษีมากเพียงใด
ไม่รวมพฤติกรรมจ่ายครบจบแน่ซึ่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นฝ่ายกระทำการทุจริตเสียเอง ซึ่งกรณีนี้ สกอ.เองกลับทำหน้าที่ในการตรวจสอบได้อย่างย่ำแย่เต็มทีเช่นกัน ทั้งที่การทุจริตที่ว่านี้ กระทบกับคุณภาพการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาของไทยโดยตรง
เมื่อการณ์เป็นอย่างนี้แล้ว จะหวังคุณภาพจากผู้จบการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาของไทยย่อมยาก ไม่แปลกที่ผู้จบการศึกษาแนวนี้ จะไม่สามารถเชื่อมโยงบริบทงานวิชาการสาขาของตนกับงานวิชาการในแขนงอื่นได้เลย เรียกว่า เรียนมาเพื่อฆ่าตัวตาย (ทางวิชาการ) โดยเฉพาะ..!!
ด้วยค่านิยมบ้าคลั่งปริญญาบัตรแบบนี้ ไม่แปลกที่วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือดอกเตอร์ของคนไทยจึงถูกนำไปใช้ในงานสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น กรรมการงานทอดผ้าป่า งานทอดกฐิน งานรุ่นของโรงเรียน หรือกระทั่งเขียนชื่อติดพวงหรีดในงานศพ ซึ่งก็ยิ่งห่างจากออกไปจากแบบแผนที่มาที่ไปของ “ดอกเตอร์” ในวงเวียนวิชาการมากยิ่งขึ้น
เรามีคนอย่าง สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์กระแสรอง ที่ไม่จำเป็นต้องจบดอกเตอร์ แต่อัจฉริยภาพของเขาก็ปรากฏให้เห็นในแวดวงวิชาการทั่วไป
เรามีคนในท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น ที่มีวิถีแห่งญาณเข้าใจสังคม ชุมชน ความคิดตกผลึกชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องผ่านรั้วมหาวิทยาลัย เหมือนๆ กับที่เรามีคนงานในร้านอาหารไทย และสารพัดการงานในอเมริกา หากประสบการณ์ของพวกเขาเป็นยิ่งกว่าดอกเตอร์ เหมือนดังที่พินิจเคยว่ากับผม, ดอกเตอร์จริงมันควรเป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ?
ส่วนดอกเตอร์กำมะลอ ตามแบบแผนค่านิยมคลั่งดอกเตอร์ของสังคมไทยนั้น พวกเขาน่าจะเป็นนักต้มตุ๋น คนลวงโลกย์ เสียมากกว่า ตราบใดที่ไม่มีผลงานทางวิชาการมายืนยัน ตรวจสอบ
สังคมไทยจึงไม่ควรงมงายกับดอกเตอร์พรรค์ที่ว่านี้….!!!