พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ง่ายมากที่ชาวพุทธจะกล่าวหาใครๆ ว่า เขาเป็นมุสลิมและจ้องทำลายพุทธศาสนา แค่เพียงเขาคนนั้นไม่เห็นด้วยกับแนวทางการบริหารจัดการพุทธศาสนาในรูปแบบที่รัฐไทยกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากเรามีพรบ.สงฆ์ และสำนักพุทธฯ นัยหนึ่งก็คือ รัฐไทยเป็น “รัฐศาสนา” (state religion) นั่นเอง เพราะรัฐไทยมีศูนย์บัญชาการศาสนามาจากส่วนกลาง ไล่เรียงเป็นลำดับลงไป (ของไทยเริ่มจากหัวคือมหาเถรสมาคม-มส.) ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงต่อเนื่องหลังประเด็นการเรียกร้องของม๊อบเยาวชนฯ ใน 3 ประเด็นที่กำลังเข้มข้น ณ เวลานี้

มีการพูดถึงการแยกรัฐออกจากศาสนา (Secular State) เหมือนบางประเทศที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ หนึ่งในนั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา บางคนคิดว่า Secular State คือรัฐไร้ศาสนา ซึ่งนับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก หาก Secular State  เป็นการแยกกิจการของรัฐออกจากกิจการศาสนาอย่างชัดเจน กล่าวคือ รัฐไม่สนับสนุนใดๆ ต่อศาสนาทั้งสิ้น

ส่วนสำคัญสุดคือการสนับสนุนด้านงบประมาณต่อทุกๆ ศาสนา หน่วยงานรัฐทางศาสนา จะต้องถูกยกเลิกทั้งหมด ศาสนิกของแต่ละศาสนาจำเป็นจะต้องสนับสนุนเกื้อกูลกันเอง (ตามกฎหมายรัฐ เช่น จะต้องมีการมีการแจงบัญชีรายรับ/เงินบริจาค รายจ่ายของวัด หรือของโบสถ์ศาสนาต่างๆ ต่อรัฐประจำปีทุกปี เป็นต้น) ดังนี้แล้วข้อครหาเรื่องความ อยุติธรรมเกี่ยวกับเงินอุดหนุนกิจการศาสนาของแต่ละศาสนาย่อมมีอันหมดไป ศาสนาใครศาสนามันชัดเจน ไม่เกี่ยวกับรัฐ เอากันแบบแฟร์ๆ

การเรียกร้องให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ได้พาเราไปไกลสุดกู่และสุดโต่ง ขัดกับหลักการอารยะประชาธิปไตยเสรีนิยมมากขึ้นไปเรื่อยๆ แนวคิดและการให้สัมภาษณ์ของมหาเปรียญ9 อย่างพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ทำให้เราตระหนักว่า ที่แท้ศาสนากับการเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความเสมอภาคตามหลักการประชาธิปไตยโดยตรง การกระจายงบประมาณหรือเงินภาษีของประชาชนพลเมืองย่อมจะถูกนำมาใช้อย่างยุติธรรมไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาไรก็ตาม เพราะพลเมืองทุกศาสนาต้องจ่ายภาษีเหมือนกันทั้งหมด ไม่เกิดอาการลักลั่น ย้อนแย้ง กับหลักการประชาธิปไตยแบบสากลอันอยู่ฝั่งตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดังที่เราเห็นกันมาซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมากมายในเวลานี้

โดยนัยนี้ การอุดหนุนกิจการศาสนาของทุกศาสนาจะต้องยุติลง บุคคลในแต่ละศาสนา เช่นพระสงฆ์ อิหม่าม บาทหลวง ฯลฯ จำเป็นจะต้องสร้างศรัทธาญาติโยมกันเอาเอง ใครสามารถสร้างศรัทธาได้มากก็รับอานิสงส์ไปมากน้อยแล้วแต่ปริมาณศรัทธา ไม่มัวหวังพึ่งรัฐอย่างเดียว ในพุทธศาสนาพระสงฆ์เองย่อมจะต้องเข้าใจว่าบทบาทของตัวเองคือการสร้างศรัทธาต่อญาติโยม สร้างอย่างไร เช่น จะต้องเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมรอบๆ วัด ฯลฯ นิตยภัตเองก็สมควรถูกตัดออกไปเพราะเป็นงบกลางหรือเงินภาษีที่ศาสนิกของทุกศาสนานำมาจ่ายให้ แบบนี้ก็ยุติธรรมดี

ดังที่ทราบกันว่า โลกสมัยใหม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด ทุกสถาบันหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามโลกแล้วย่อมจะดำรงตนเองอยู่ในสังคมไม่ได้ ไม่นานคงอันตรธานไปเป็นแน่แท้

สังคมชาวพุทธก็เช่นเดียวกัน หากไม่ปรับเปลี่ยน ย่อมยากลำบากในการดำรงอยู่ในสังคม หรือแม้แต่การเผยแผ่ศาสนาเอง ที่ผ่านมาเราย่อมทราบดีว่า ชาวพุทธ(หมายถึงพุทธบริษัท 4 ) ได้รับการสนับจากรัฐไทยมากเพียงใด ไม่รวมถึงงบประมาณด้านการศึกษาของสถาบันสงฆ์ไทย ผ่าน 2 มหาวิทยาลัยด้านพุทธศาสนาของชาวพุทธ  แต่กระนั้นสองมหาวิทยาลัยดังกล่าว ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นศักดิ์ศรีคุณค่าที่สังคมไทยหรือสังคมทั่วไปพึงจะได้รับในฐานะของการเป็นองค์กรหรือสถาบันวิชาการอย่างคุ้มค่ากับเงินภาษีของชาวบ้านทุกศาสนาที่ลงทุนไปให้แบบพิเศษๆ

ไม่เพียงแต่สถาบันการศึกษาของชาวพุทธ 2 แห่งดังกล่าว จะเอามือซุกหีบทำเฉยไม่หือไม่อือแถมกินงบประมาณเงินภาษีชาวบ้านแล้ว แผนกสันติศึกษาของสถาบันหนึ่งในสองแห่งนั้น ยังไปเข้าหมู่อยู่ร่วมพวกกับฝ่ายอำนาจ(รัฐ) เสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็นับเป็นความเสื่อมโทรมอย่างใหญ่หลวงในวงการศาสนาซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า ช่วงที่เกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญในเมืองไทยตอนนี้ ทุกฝ่ายมิพึงนิ่งพึงดูดาย โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายพุทธที่มีมโนธรรมเมตตาเป็นเครื่องอยู่อาศัย

เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจหมายถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำของฝ่ายรัฐมากกว่าฝ่ายประชาชน อย่างน้อยฝ่ายประชาชนก็มิได้มีอำนาจและมีอาวุธอย่างเป็นทางการแบบเจ้าหน้าที่รัฐที่สามารถนำมาใช้ในการต่อสู้ในนามของกฎหมายแห่งรัฐท่ามกล่างความขัดแย้งในครั้งนี้

พูดตรงๆ ก็คือเราแทบไม่เห็นบทบาทของเจ้าของกู ในการออกมาบิณฑบาตการฆ่าคน การใช้ความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้เอาเลย (อาจมีอยู่บ้างบางรูป อย่างเช่น เจ้าคุณพิพิธฯ วัดสุทัศน์ฯ) ตรงกันข้ามท่าทีดังกล่าวทำให้เราเห็นว่า “ยศช้างขุนนางพระ” ส่งผลต่อการขยับเขยื้อนสิทธิพลเมืองตามมาตรฐานระบอบประชาธิปไตยได้มากเพียงใด ยศช้างขุนนางพระไม่เพียงแต่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้ประชาธิปไตยของไทยก้าวหน้าเท่านั้น หากแต่ยังเป็นแหล่งสถิตของกลุ่มอำนาจ กลุ่มผลประโยชน์ ที่แอบแฝงเป็นกาฝาก เหลือบ ริ้น หากินกับศาสนาอีกด้วยซ้ำ

นับแต่นี้ต่อไปประเด็นศาสนากับรัฐ น่าจะถูกนำมากล่าวถึงมากขึ้น เป็นเรื่องที่ทั้งพระทั้งชาวบ้านจะต้องตื่นตัวมากขึ้น มากกว่าที่แล้วๆ มา ที่เน้นศรัทธาจริตกันเป็นหลัก ซึ่งอาจเรียกได้ว่า “เป็นสังคมอุดมปันโยม” หาใช่ “สังคมอุดมปัญญา”แต่อย่างใดไม่

ดังนี้แล ตอนนี้ชาวบ้าน เยาวชนกลุ่มต่างๆ ตื่นแล้ว และพวกเขากำลังจะปลุกเจ้ากูทั้งหลายที่กำลังจำวัดในกุฏิให้ตื่นไปด้วย…???

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *