พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

ทำไมถึงต้องพูดถึงไชน่าทาวน์ยูเอสเอ หรือเมืองคนจีนในอเมริกา ก็เพราะว่า เมืองนี้เป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมคนเอเชียในดินแดนตะวันตก คนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาก่อนชาติเอเชียอื่นๆ ล่วงมากว่า 200 ปีแล้ว  ดังนั้นวิวัฒนาการของการตั้งเข้ามาอาศัยอยู่นี้ย่อมเป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษา

ในดินแดน“ลุงแซม”มี ไชน่าทาวน์อยู่หลายแห่ง ที่เด่นๆ และเก่าแก่เห็นจะเป็นไชน่าทาวน์ที่นิวยอร์ค และไชน่าทาวน์ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจำลองแบบความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของคนจีนมาแทบ 100 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว เรียกว่าคนอเมริกันไม่จำเป็นต้องไปเมืองจีนก็สามารถรับรู้วัฒนธรรม ประเพณีจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีตะวันออกได้เลยทีเดียว

ตลอดขณะเหตุการณ์และช่วงหลังการปฏิวัติประเทศ เปลี่ยนการปกครองในประเทศจีน โดยเหมาเจ๋อตุง จวบจนถึงปัจจุบัน ไชน่าทาวน์หลายเป็นแหล่งรวมของมวลชนคนจีนหลากแนวคิด ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์

ปัจจุบัน ไชน่าทาวน์ในอเมริกาหลายแห่ง กลายเป็นสถานที่ที่เผยแพร่วัฒนธรรม พร้อมกับการส่งเสริมนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่ง ที่ดำเนินการผ่านชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลในอเมริกา รวมแม้กระทั่งในด้านการท่องเที่ยวระหว่างอเมริกากับจีน

โดยเหตุที่ไชน่าทาวน์ เป็นสถานที่แรกหรือที่ลงแห่งแรกของคณะทัวร์จากเมืองจีน ในยามที่เศรษฐกิจของจีนดี มีนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมายังอเมริกากันเป็นจำนวนมาก

แทบไม่น่าเชื่อว่าเกือบทุกเที่ยวบินของสายการบินจีน มีผู้โดยสารเต็มลำ (นี้แตกต่างจากสายการบินที่เคยบินมายังฝั่งอเมริกาของบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขาดทุนบักโกรก อย่างเช่น การบินไทย ซึ่งผมไม่ทราบว่าสายการบินเดียวกันนี้จะสามารถใช้ประโยชน์ทางธุรกิจอะไรได้บ้างจากข้อมูลเกี่ยวกับชาวจีนแบบนี้

ผมเห็นภาพที่ว่านี้ ทั้งที่ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโก นิวยอร์คและที่ ลาสเวกัส

สาเหตุ ที่คนจีนสมัยใหม่นิยมเดินทางมายังอเมริกา นอกเหนือจากเหตุผลด้านฐานะทางการเงินของพวกเขาที่ดีขึ้นแล้ว แรงจูงใจในส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราค่าโดยสารเครื่องบินที่เชื่อมโยงถึงต้นทุน การจัดแพคเกจทัวร์ที่ถูกกว่า ยังมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างมากด้วยแม้กระทั่งการที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงในขณะนั้นๆ

ส่วน หนึ่งของการใช้ประโยชน์จากไชน่าทาวน์ คือ มันเป็นสถานที่ที่ถูกพัฒนาเอาไว้สำหรับรองรับธุรกิจข้ามชาติจากเมืองจีน จนกระทั่งมีคำพูดขำๆอยู่ว่า “คนจีนจากเมืองจีนบินมาอเมริกาใช้เวลาเป็นวัน หลับมาบนเครื่อง พอตื่นขึ้นมา ก็ร้องอุทานกับหัวหน้าคณะทัวร์ว่า ลื้อหลอกอั๊วนี่หว่า ก็ไหนบอกว่าจะพาไปเที่ยวอเมริกา(ไง)”

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของชนเชื้อชาติจีนในอเมริกา ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าไปสู่ระบบการทำงานของอเมริกันในแทบ ทุกวงการ แทบทุกแขนง ในหน่วยงานรัฐบาลอเมริกัน วงการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือทีวีกระแสหลัก (ดังก่อนหน้านี้มี คอนนี่ ชัง-Connie Chung แห่ง CNN เป็นอาทิ) ทั้งในแวดวงการเมืองอเมริกันในระดับท้องถิ่นและระดับชาติอีกบานตะไท

หากมองการเติบโตของไชน่าทาวน์หรือชุมชนการค้าชาวจีนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีพัฒนาการมาตลอด ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจของแต่ละเมืองในอเมริกา เช่น ไชน่าทาวน์แอล.เอ. ถูกย้ายและขยายออกไปยังเขตเมืองมอนเทอเรย์พาร์ค เมืองซานเกเบรียล และอีกหลายเมืองตลอดแนวถนนวัลเลย์ บูเลอวาร์ด ซึ่งถือเป็นย่านคนจีนและคนเอเชียนที่สำคัญของแคลิฟอร์เนีย จากไชน่าทาวน์แอล.เอ.ที่แรกย่านถนนบรอดเวย์ ดาวน์ทาวน์แอล.เอ. ที่ตอนนี้พื้นที่ดังกล่าวถูกทดแทนที่โดย “เวียดนามทาวน์”ไปโดยปริยาย

ช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ ย่านมอนเทอร์เรย์ พาร์ค เป็นเมืองอับเฉา แทบไม่มีอะไรเป็นจุดดึงดูด การเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจเชื้อชาติจีนจากไชน่าทาวน์แอล.เอ. ประสานกับการสร้างแรงจูงใจด้านการลงทุนของเมือง(ซิตี้) มอนเทอเรย์พาร์ค และเมืองอื่นๆ ใกล้เคียง ทำให้เมืองต่างๆ ในบริเวณเดียวกันนี้ มีอัตราการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสูงมากเป็นพิเศษ การเพิ่ม การย้ายของของประชากรเอเชียมีมากขึ้น  ขณะ เดียวกันเมืองเจ้าของพื้นที่(ซิตี้) เองก็เก็บภาษีได้มากขึ้น กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของรัฐแคลิฟอร์เนีย แม้กระทั่งในเวลานี้ พร้อมการจับจ่ายใช้สอย บริโภคสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเอเชียนกลับเป็นไปอย่างคึกคัก

การพยายามพัฒนาเมืองด้วยการสร้างแรงจูงใจด้านการลงทุนต่อชุมชนเอเชียนในอเมริกา เป็นไปในทำนองเดียวกับเมืองโอคแลนด์ (แคลิฟอร์เนียภาคเหนือ) ซึ่งเป็นเมืองที่มีท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดชุมชนเวียดนามทาวน์ เมืองแห่งนี้มีอาชญากรรมและยาเสพติดสูงติดอันดับของรัฐ จากนโยบายของเมือง ที่ส่งเสริมการเข้าไปตั้งถิ่นฐานของคนเชื้อสายเวียดนามและเชื้อสายเอเชียนอื่นๆ ซึ่งในเวลาต่อมาได้พลิกเมืองนี้ให้กลายเป็นเมืองการค้าไปในที่สุด พร้อมกับสถิติอาชญากรรมที่ลดลงและการค่อยๆ คลายความหนาแน่นของชุมชนแอฟริกัน-อเมริกันที่มีอยู่แต่เดิมลง

เวลาเอ่ยถึงไชน่าทาวน์หรือเอเชียนทาวน์อื่นๆ หลายคนเข้าใจว่า คนสร้างหรือผู้ก่อตั้งต้องเป็นคนจีนหรือคนเชื้อชาตินั้นๆ ทว่าความจริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะไชน่าทาวน์หลายที่ คนสร้าง หรือคนลงทุนเป็นคนอเมริกัน  “ทาวน์” มาจากการวางแผนของทางซิตี้หรือเมืองนั้นๆ แม้กระทั่งการออกแบบผัง อย่างเช่น ไชน่าทาวน์ลาสเวกัส (ที่ซึ่งในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีก็ขยายตัว ขยายบริเวณออกไปอย่างรวดเร็วมาก) ทั้งนี้ อาจมีข้อยกเว้นในส่วนของสถาปัตยกรรมและการตกแต่ง ที่ต้องอาศัยช่างและผู้ชำชาญที่เป็นคนจีนอยู่บ้าง

ซิตี้ (เทศบาล) มีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดเงื่อนไขการลงทุนแบบเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานในเขตชุมชนหรือเมืองนั้นๆ ไชน่าทาวน์เวลานี้กลายเป็นแหล่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายเมืองใน อเมริกา เพราะคนเอเชียนมีกำลังซื้อสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มชนเชื้อชาติอื่นๆ ในอเมริกา

รวมทั้งเรื่องการซื้อขายวัฒนธรรมหรือโชว์ต่างๆ ก็เป็นกิจกรรมที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน

เป็นไปตามคำพูดที่ว่า คนเชื้อสายจีน (เชื้อสายเวียดนามและเกาหลี) เคลื่อนย้ายไปทางไหน การทำมาค้าขายก็เกิดขึ้นและเจริญเติบโตที่นั่น ต่างจากชนชาติอื่น เช่น แอฟริกัน-อเมริกันหรือลาติโน

แทบไม่น่าเชื่อว่า สินค้าบริโภคในตลาดจีน ตลาดเวียดนาม ตลาดเอเชียน ในอเมริกามีมากกว่า สินค้าบริโภคในประเทศจีน เวียดนาม หรือแม้กระทั่งเมืองไทย พูดง่ายๆ คือ คนที่เมืองจีนหรือเมืองไทย เป็นสินค้าที่เจ้าของประเทศต้นตอสินค้ายังหาซื้อกินยากหรือหาซื้อไม่ได้ แต่สินค้าเอเชียหลายอย่างมีขายในตลาดอเมริกาอย่างครบครัน

ทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจการซื้อ อำนาจเงิน

จากข่าวสารและการคะเนด้วยสายตา ผมเห็นความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น(เมือง) พื้นที่ไชน่าทาวน์และตลาดเอเชียน ยังคึกคัก มีชีวิตชีวาอยู่แทบตลอดเวลา ไม่เกี่ยวกับนโยบายการเมืองหรือยุคสมัย หรือผู้นำอเมริกันคนใดๆ แม้แต่น้อย นโยบายเศรษฐกิจในระดับรัฐบาลกลางจะเป็นอย่างไรก็เป็นไป แต่ไชน่าทาวน์ไม่กระเทือน

ในงานคอนเวนชั่น (โชว์) ที่ลาสเวกัสทุกปี จึงเต็มไปด้วยหน้าชาวเอเชียน ก่อนที่พวกเขาจะไปหาก๋วยเตี๋ยวกิน ในย่านไชน่าทาวน์ หลังเสร็จงานคอนเวนชั่น

ในแง่การเมืองท้องถิ่น ดังเป็นที่ทราบกันดีว่าคนรุ่นใหม่เชื้อสายจีน เข้าไปเป็นตัวแทนจากระบบเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งระดับเมืองถึงระดับรัฐมานานแล้ว การผลักดันในเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุน  เรื่องสวัสดิการแรงงาน ย่อมได้รับการพิจารณา ปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ บนความเข้าใจด้านความหลากหลายเชื้อชาติที่อเมริกันมีมานานแล้ว

ไชน่าทาวน์ ได้ให้กำเนิดธุรกิจและนวัตกรรมการค้าการลงทุน ตลอดถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมตะวันออกหลายอย่าง รวมทั้งให้กำเนิดนักธุรกิจเอเชียนหลายคนที่กำลังเป็นดาวรุ่งในอเมริกาเวลานี้ ที่สำคัญนักธุรกิจรุ่นใหม่เหล่านี้ต่างร่วมใจทำธุรกิจด้วยกันจนประสบผลสำเร็จอย่างอัศจรรย์โดยใช้ฐานไชน่าทาวน์ยูเอสเอ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *