พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาของไทย ปัจจุบันอยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แต่มีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่าการศึกษาระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับครอบงำของรัฐบาลด้านต่างๆ อีกต่อไป หากสถาบันการศึกษาในระดับสูงเหล่านี้ควรแยกตัวออกจากรัฐเป็นเอกเทศ จัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในส่วนการบริหารจัดการ บุคลากร และส่วนวิชาการที่ถือเป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษาจริงๆ
ประการแรก เพราะมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ทำงานด้านวิชาการซึ่งบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ควรเป็นเอกเทศหรืออิสระตามแบบอย่างสถาบันวิชาการสากล ปราศจากมายาคติของมวลชนกลุ่มหรือฝ่ายต่างๆ มหาวิทยาลัยควรเป็นกลไกที่มีความเป็นกลางทางเมืองอย่างยิ่งยวด มีอิสระเด็ดขาดในการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ในฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาที่จะเป็นพลังสะท้อนความเป็นไปของการศึกษาวิจัยเชิงสังคม ทั้งนี้บทบาทของรัฐที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาควรเป็นเรื่องมาตรฐานเบื้องแรกที่มีการจัดสถาบันการศึกษา ส่วนในการประเมินคุณภาพนั้นก็อาศัยรูปแบบการทำงานแบบคณะกรรมการหรือคณะทำงานดุจเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีมาก่อนหน้านี้
ประการที่สอง เพราะการรับเอาๆ งบประมาณทุกปีของสถาบันการศึกษาของรัฐจากรัฐ เป็นทั้งตัวสร้างอคติในทางวิชาการ ส่งผลต่อค่างานวิชาการที่อาจเบี่ยงเบนออกไปจากความเป็นจริงได้มาก เพราะรัฐ(บาล) มีอิทธิพลครอบงำจากงบประมาณที่สถาบันเหล่านั้นได้ มากหรือน้อย
ประการที่สาม เพราะที่ผ่านมามีความลักลั่นในการกระจายงบประมาณให้กับบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทยตามความถนัดเฉพาะทางของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น เช่น มหาวิทยาลัยสงฆ์ฝ่ายพุทธที่เน้นการสอน การเผยแผ่พุทธศาสนา แต่กลับใช้งบประมาณ(ภาษี)รวม ของคนทั้งประเทศซึ่งรวมเงินภาษีของศาสนิกในศาสนาอื่นๆ อยู่ด้วย ประเด็นนี้นับว่าไม่ยุติธรรมกับศาสนิกของศาสนาอื่นๆ ดังกล่าว หรือแม้เงินอุดหนุนสถาบันการศึกษาด้านศาสนาระดับอุดมศึกษาของศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ถ้ามี ก็ต้องยกเลิกไป เพื่อปลดล็อคมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นอิสระอย่างชัดเจนไม่มีนัยอาการดัดจริต มหาวิทยาลัยควรจะอยู่ได้ด้วยการช่วยเหลือตนเอง มากกว่าการพึ่งงบประมาณจากภาครัฐ โดยในชั้นแรกอาจเป็นการค่อยๆ ลดอัตราวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐลง จนถึงที่สุดแล้ว สถาบันการศึกษาเหล่านั้นสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเองได้
ประการที่สี่ เพราะผลพวงของ disruption period หรือ ยุคการล่มสลายของสิ่งเก่า มหาวิทยาลัยแบบเดิมๆ ที่เคยมีอาคาร สถานที่ใหญ่โต ที่เราเคยเราเห็นกำลังจะกลายเป็นซากปรักหักพัง ขณะที่รูปแบบการเรียนการสอนก็จะเปลี่ยนไปด้วยจากพัฒนาการของดิจิตัลเทคโนโลยีซึ่งไร้สถานที่และกาลเวลา
พูดง่ายๆ คือ นักศึกษาสามารถเรียนรู้จากที่ไหนก็ได้ หากมีการสำรวจกัน กระทรวงอุดมศึกษาฯน่าจะพบว่า สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ของไทยกำลังจะกลายเป็นป่าช้าจากป่าคอนกรีตที่เคยเป็นแต่เดิมในยุคเฟื่องฟู เมื่อสองสามทศวรรษที่แล้ว บัดนี้สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากเหลือเพียงซากปรักหักพัง สถาบันราชภัฏในต่างจังหวัดบางแห่ง มีพื้นที่นับ 100 ไร่ แต่เหลือผู้เรียนทุกคณะไม่ถึง 100 คน แบบนี้กระทรวงควรยุบหรือปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ หรือยังต้องการให้สถาบันแบบดังกล่าวผลาญเงินประมาณ เงินภาษี อย่างบ้าคลั่งอยู่ต่อไป โดยที่ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่าต่อไปกระนั้นหรือ?
ประการที่ห้า การกันพื้นที่สถาบันอุดมศึกษาออกไปจากอำนาจรัฐไทย (เหลือแค่การเช็คมาตรฐานการเรียนการสอน) โดยตัดงบประมาณสนับสนุนทั้งหมด นอกจากถือเป็นการประหยัดงบประมาณของชาติแล้ว ยังจะเป็นตัวเร่งให้สถาบันการศึกษาเหล่านี้เกิดการปรับตัวมากขึ้น ผู้บริหารไม่ต้องมัวพะวงรอการจัดสรรงบประมาณจากรัฐอีกต่อไป หากควรพะวงว่า จะช่วยตัวเองอย่างไรมากขึ้น เช่น จะวางแผนของบวิจัยจากสถาบันที่เป็นทุนนานาชาติได้หรือไม่อย่างไร ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจะมีความคิด ความกระตือรือร้นในการหาช่องทางเพื่อให้มหาวิทยาลัยของตนเองอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม
ประการที่หก มหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่สามมารถปรับตัวได้ก็จะล้มหายตายจากไปซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมชาติธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงในแบบเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกมาล่วงหน้าไทยมาก่อนหลายปีแล้ว สถาบันฯ ของไทยจึงควรตั้งรับและยอมรับความจริงของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เมื่อสถาบันฯ เก่าที่อยู่ได้ตายไป ก็จะมีสถาบันฯใหม่ หรือแม้กระทั่งสถาบันฯจากต่างประเทศเข้าทดแทน เป็นการสร้างโอกาสและทางเลือกให้กับผู้เรียนมากขึ้น
ประการสุดท้าย ความเป็นเอกเทศอิสระเสรีทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้น ตราบใดที่รัฐเข้าแทรกแซงน้อย แนวคิดใหม่นอกกระแส หรือกระแสรองก็ย่อมมีโอกาสเติบโตมากขึ้นในทุกสายวิชาการ ไม่ว่าสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ก็ตาม ที่ผ่านมาปัญหาสถาบันการศึกษาอยู่ใต้อำนาจรัฐ คืออุปสรรคการกำเนิดนวัตกรรมเหตุผลสำคัญ เพราะสถาบันฯเหล่านั้นตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐอำนาจนิยม รัฐเผด็จการ ดังนั้นโอกาสของนวัตกรรมด้านต่างๆ ความคิดใหม่ๆ ย่อมแทบไม่มี
ดังนี้แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ถึงคราวที่รัฐไทยควรถอนสมอออกไปจากท่าเรือทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาโดยด่วน หากควรปล่อยให้เป็นเอกเทศและเป็นอิสระทางความคิดจริงๆ เปิดให้ประชาชนฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายรับมีโอกาสได้รับความยุติธรรมจากการเป็นผู้ให้ (จ่ายภาษี) และการเป็นผู้รับ(ผู้เรียน) อย่างเท่าเทียมในฐานะความเป็นราษฎรเท่ากัน โดยทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน การศึกษาในชั้นอุดมศึกษาในไม่มีความจำเป็นต้องดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ด้วยซ้ำ และหากรัฐจะสนับสนุนการศึกษาแล้ว ควรเน้นไปที่ระดับปฐมวัยที่มีความจำเป็นมากกว่า โดยควรทุ่มเททั้งงบประมาณ บุคลากรที่มีคุณภาพไปที่การศึกษาระดับปฐมวัยน่าจะดีกว่าระดับอุดมศึกษาเป็นไหนๆ
การศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นเปรียบเสมือนการบำรุง รดน้ำต้นไม้ที่โตแล้ว ความจำเป็นแทบไม่มี ขณะที่การศึกษาในระดับปฐมวัยเหมือนการบำรุง รดน้ำต้นไม้ที่ยังเล็ก ซึ่งยังจะต้องดูแลบำรุงอย่างดีเพื่อให้ต้นไม้เล็กๆ นั้นอยู่รอดปลอดภัยเป็นต้นไม้ใหญ่แข็งแรงได้นั้นคือความจำเป็น อย่างถึงที่สุด…