พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์

มหาวิทยาลัยของไทยนั้น นอกจากนั่งอยู่บนหัวของประชาชนที่สนับสนุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา ผ่านกระจายงบประมาณ(เงินภาษี)ไปยังสถาบันเหล่านี้แล้ว มหาวิทยาลัยของไทยยังมีนัยแห่งการต้มตุ๋มชาวบ้านอยู่ในทีอีกด้วย เพราะแทบไม่เคยเชื่อมโยงกับกระบวนการลผลิตงานวิจัยที่เป็นจริงเป็นจัง กล่าวคือ ไม่สามารถนำผลงานหรือนวัตกรรมมาใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งก็ถือเป็นหน้าที่หลักของสถาบันอุดมศึกษาเท่าๆ กับงานการเรียนการสอน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและง่ายในการประเมินผลงานของมหาวิทยาลัย จึงควรแยกส่วนงานวิจัยออกจากงานสอนออกจากกันให้ชัดเจนมากขึ้น

ในช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยกำลังจะกลายเป็นซากปรักหักพัง คือ กำลังจะโดนกวาดล้าง (disruption) ไปพร้อมๆ กับสิ่งเก่าๆ อีกหลายอย่างในโลกนี้ ขณะเดียวกันโลกเสมือนจริงอย่างโลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ในทุกระดับมากขึ้น การปรับตัวของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่สำหรับมหาวิทยาลัยในเมืองไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ กลับทำตัวเป็นกาฝากทางการศึกษาหากินกับงงบประมาณของรัฐชนิดที่แทบไม่เห็นข้อดีของผลรีเทิร์นอย่างคุ้มค่า

แม้แต่สถาบันอุดมศึกษาในต่างจังหวัดเองที่ขณะนี้แทบจะกลายเป็นสถาบันร้าง เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดน้อยลงอย่างมาก แต่กลับมีการจัดตั้งจัดวางขยายตำแหน่งผู้บริหารวิทยาเขต (สาขา) เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนในทางบริหารกันอย่างคึกคัก นับเป็นการลงทุนที่ไร้ประโยชน์อย่างยิ่ง  กล่าวคือ แทนที่จะยุบวิทยาเขตหรือสาขาของมหาวิทยาลัยจากส่วนกลางไปเสีย รัฐกลับปล่อยให้มีการคอร์รัปชั่นในแง่ของการบริหารจัดการแบบใช้เส้นสายอุปถัมภ์อย่างไม่อายประชาชนผู้จ่ายภาษีสนับสนุน

แหละนี่น่าจะเป็นกโลบายที่น่าสมเพช เพื่อที่จะหน่วงรั้งความเจริญก้าวหน้าของระบบการศึกษาไทยในระดับอุดมศึกษา ที่มีนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวเรือ แต่นายอเนกเองก็กลับชักช้าไม่ใส่ใจ เอาพวกพ้องน้องพี่มากกว่าเอาความจริง จึงทำให้อุดมศึกษาของไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ชนิดอยู่ข้างหลังไม่เห็นฝุ่น

ไม่เพียงแต่ปล่อยให้มีการคอร์รัปชั่นเชิงการบริหารของสถาบันอุดมศึกษาไทย ที่อาศัยพวกมากลากไป ล๊อกสเปคอาจารย์ ความเห็นต่างทางการเมืองถือว่าไม่เข้าพวก และไม่เปิดใจรับเท่านั้น การสร้างระบบการตรวจสอบผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาก็แทบไม่มี ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยต้องรายงานความโปร่งใสทางการเงินส่วนตนต่อสาธารณะ เช่น ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยทุกปี เพื่อให้ชาวบ้าน ผู้ปกครองและนึกศึกษาช่วยประเมินพิจารณ์มหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งก็จะมีผลต่อเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยของรัฐ ของสมาคมศิษย์เก่าของสถาบันเหล่านั้นด้วย ขณะที่มหาวิทยาลัยของไทยเองกลับไม่ใส่ใจและล้มเหลวในเรื่องนี้

ไม่รวมงานหรือหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่ง คืองานวิจัย ที่ชาวบ้านแทบจะไม่เคยเห็นว่าในแต่ละปี มหาวิทยาลัยได้สร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ อย่างไรบ้าง ระดับคุณภาพของชีวิตของชาวบ้านถูกมหาวิทยาลัยชิพท์ (shifting) ไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้มากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนด้านทุนจากรัฐหรือเอกชน หรือองค์กรมหาชนใดๆ ก็ตาม ส่วนใหญ่จะถูกโยนทิ้งถังขยะหลังจากปิดจ้อบไปได้ไม่นาน

ระบบการทำงานสายวิชาการของไทยจึงน่าจะยังเหลวเป๋ว ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แถมในช่วงการเมืองแห่งเผด็จการแบบปัจจุบันยิ่งเต็มไปด้วยอคติ แทบหาความคิดที่เป็นกลางทางวิชาการ ปราศจากอคติ ไม่เจอด้วยซ้ำ ทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า นักวิชาการที่ยืนอยู่บนฐานของความเป็นกลาง เจตนาจะแสวงหาความเป็นจริงโดยแท้นั้นมักจะอยู่เมืองไทยไม่ได้ รัฐเผด็จการไทยคอยแต่จะหาเรื่องรังแกนักวิชาการประเภทแสวงหาความจริงนี้ จนพวกเขาไม่อาจอยู่ในประเทศได้ ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ

ไม่มีอะไรจะกล่าวได้ดีไปกว่าคำพูดที่ว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคน้ำเน่าทางการศึกษา ที่จริงก็ทุกระดับ แต่เฉพาะในระดับอุดมศึกษาที่ผู้เรียนกำลังจะกลายเป็นแรงงานในสังคมในไม่ช้าเท่านั้น การเรียนการสอนแบบสุกเอาเผากินยังกลับระบาดไปทั่ว ทั้งยังถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แสดงให้เห็นว่า ภาพรวมของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยนั้นเฟคแค่ไหน แค่สนองตอบต่อวัฒนธรรมบ้าคลั่งดีกรีหรือวุฒิการศึกษาของสังคมไทยอย่างไรบ้าง คุณภาพของอาจารย์ผู้สอนตามเส้นตามสาย พรรคพวกอุปถัมภ์ ตลอดถึงการเปิดหลักสูตรมาตรฐานต่ำตมมากเพียงใด แถมยังจมอยู่ในคูในหนองน้ำ ไยจะพูดถึงการออกทะเลหลวงซึ่งหมายถึงการแข่งขัน การทำงานร่วมกับสถาบันในต่างประเทศ

ฝ่ายรัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบอุดมศึกษาของไทย จึงควรวางระบบ วางกรอบการประเมินผลงานให้ชัดเจน ไม่ใช้จ้องแต่จะผลาญงบประมาณด้วยวิสัยทัศน์เว่อร์ๆ และอีเดียดย้อนยุค กลับสู่จูราสสิคพาร์ค ด้วยการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกไปอีก ที่ถูกควรจะปิดและลดจำนวนสถาบันฯ ลงด้วยซ้ำ โลกดิจิตัลแล้ว ไม่ควรกลับไปเหมือนสมัยที่มีการใช้ควายไถนา สังคมบุพกาล

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้มีการตั้งเกณฑ์ประเมินโดยแยกส่วนระหว่างงานการเรียนการสอนและงานวิจัย ซึ่งงานประการหลังมหาวิทยาลัยของไทยออกไปในทางโหล่ยโท่ยมากขนาดไหนย่อมเป็นที่รู้กัน อาจารย์แย่งทุนวิจัยกันเรื่องปกติ ที่ไม่ปกติคืองานวิจัยที่ออกมา “เป็นงานวิจัยขยะ” ที่กองพะเนินเทินทึกสูงขึ้นๆ ทุกวัน นับเป็นการลงทุนของรัฐด้านงบประมาณที่สูญเปล่าอย่างยิ่ง

ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาในหัวเมือง ผู้บริหารฯ ไม่น้อย ต่างวิ่งกันหัวหกก้นขวิดเพื่อขอขยายอาณาจักรทางการศึกษาของตัวเอง เสมือนโลกนี้เป็นของข้าพเจ้าคนเดียว ไม่ใช่ห่วงงานวิชาการ งานวิจัยอะไรหรอก ห่วงพรรคพวก ห่วงตำแหน่ง และห่วงเบี้ยหวัดประจำตำแหน่งเท่านั้นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *